ประชานิยมสมชื่อ (๑)

แน่นอนหลายคนรู้ว่า ประชานิยมมาจากคำภาษาอังกฤษว่า Populism เพราะเป็นคำยอดฮิตติดหู ที่เราได้ยินได้ฟังกันบ่อยครั้งในปัจจุบัน แต่น้อยคนที่จะเข้าใจถึงนิยาม และธรรมชาติที่แท้จริงของประชานิยม

คำว่า “ประชานิยม” โดยแท้จริงแล้ว มีความหมายแตกต่างและกว้างกว่าที่เราเข้าใจกันในปัจจุบันพอสมควร กล่าวคือ คำว่า Populism ในความหมายดั่งเดิมนั้น หมายถึง ปรัชญาทางการเมืองหนึ่ง ซึ่งอาศัยศิลปะในการโน้มน้าวมวลชนให้เคลื่อนไหวในการยึดคืนอำนาจจากกลุ่มผู้นำ elite ที่ผูกขาดการปกครอง โดยอ้างประโยชน์ของผองชนในการก่อการยึดคืนอำนาจดังกล่าว ไม่ว่าจะโดยการชักจูงให้เกิดความห่วงใยทางเศรษฐกิจ สังคมหรือมโนธรรมของส่วนรวม และนักคิดในศตวรรษที่ 18 ต่างเห็นพ้องต้องกันว่าลัทธินี้สามารถใช้เป็นเครื่องมือในการสร้างอุดมคติต่างๆ เช่น ชาตินิยม หรือแม้กระทั่ง การเหยียดชาติ ผิว หรือเผ่าพันธุ์

กลุ่มเป้าหมายของ Populism จึงเป็นได้ทั้งกลุ่มคนในพื้นที่ใดพื้นที่หนึ่ง หรือชนชั้นทางสังคม ที่มักจะเป็นกลุ่มผู้ใช้แรงงาน และชนชั้นล่าง ไปจนถึงชั้นกลาง

อย่างไรก็ตาม ความหมายในปัจจุบัน เริ่มแปลเปลี่ยนไปตามบริบทของสังคมและการเมืองที่เปลี่ยนไป ปัจจุบัน ประชานิยมถูกนำมาใช้ในความหมายที่แคบลงคือ ใช้กับรูปแบบของกิจกรรมทางการเมือง เพื่อเป้าหมายในการได้มาซึ่งอำนาจทางการเมือง โดยพรรคการเมืองที่อยู่ในอำนาจ ซึ่งมีตัวอย่างที่ชัดเจนจากรัฐบาลเผด็จการในลาตินอเมริกา เมื่อกึ่งศตวรรษที่ผ่านมา

หากจะหานิยามของประชานิยม ในทางเศรษฐศาสตร์ ก็เป็นเรื่องยากไม่น้อยที่จะพบข้อสรุปของนิยามที่ตายตัว อย่างไรก็ดี ผู้ศึกษาประชานิยมในทางเศรษฐศาสตร์มักนิยามคำนี้ ในเชิงเนื้อหา (substantive approach) มากกว่าการให้น้ำหนักกับรูปแบบ (formalist approach) ดังที่ได้กล่าวถึงข้างต้น

ในทางเศรษฐศาสตร์ ประชานิยมจึงหมายถึง การใช้กลุ่มของนโยบาย/มาตรการทางเศรษฐกิจ (หรือการสัญญาว่าจะดำเนินการ) เพื่อเป้าหมายในการเรียกเสียงสนับสนุนทางการเมือง

ความคิดเห็น

บทความที่ได้รับความนิยม