ประชานิยมสมชื่อ (๒)

ดังนั้น นโยบายประชานิยมในทางเศรษฐศาสตร์ ในความหมายในที่ชัดเจน จึงหมายถึง ความพยายามในการสร้างแรงสนับสนุนทางการเมือง โดยใช้นโยบายเชิงอุปถัมภ์ ที่มีผลในการกระจายรายได้ แต่ไม่ได้เพิ่มความสามารถในการผลิตหรือระดับการศึกษาของแรงงาน หรือกล่าวอีกนัยหนึ่ง นโยบายประชานิยมนั้นคือ ราคาที่ผู้มีอำนาจปกครองจ่ายเพื่อซื้อเวลาทางการเมือง เป็นการชั่วคราว เท่านั้นเอง

ทั้งนี้ ดร.ตีรณ พงศ์มฆพัฒน์* ได้กล่าวในบทความ “ทำไมทุกคนจึงเสียหายจากประชานิยม**” ว่า นโยบายประชานิยมเป็นการเคลื่อนไหวทางการเมืองที่สร้างภาระอย่างมาก ทั้งในแง่ของสังคมโดยรวมและต่อประชาชนที่ยากจนเอง

โดยในบทความดังกล่าว ดร.ตีรณ พงศ์มฆพัฒน์ ได้แสดงให้เห็นว่า นโยบายประชานิยมได้สร้างภาระให้กับสังคมโดยผ่าน
๑. ความล้มเหลวของวิกฤตทางเศรษฐกิจ เนื่องจากนโยบายประชานิยมไม่ได้แก้ปัญหาของระบบเศรษฐกิจ ซึ่งเป็นปัญหาเชิงโครงการ แต่ยังตอกย้ำปัญหาใหม่ โดยการกระตุ้นให้เกิดอุปสงค์ในระยะสั้น ซึ่งนำไปสู่ปัญหาการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดและเงินเฟ้อตามมา
๒. ความสูญเปล่าทางการคลัง เนื่องจากการใช้จ่ายของภาครัฐเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจโดยหวังผลทางการเมือง มักไม่ได้อยู่บนพื้นฐานของการใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพและนำไปสู่การขาดวินัยทางการคลัง นอกจากนี้ นโยบายลักษณะนี้จะขาดประสิทธิผลในการกระตุ้นอุปสงค์รวม ทำให้การนำเข้าเพิ่มสูงขึ้นแล้ว และการบริโภคที่งบประมาณมิได้ตกไปยังโครงการที่คุ้มค่าจริงๆ
๓. ภาระของคนจน โดยผ่านทางผลกระทบของเงินเฟ้อ เพราะการสร้างภาวะเงินเฟ้อนั้นเป็นความไม่เป็นธรรมทางเศรษฐกิจ เนื่องจากเงินเฟ้อเป็นเสมือนภาษีทางอ้อมที่คนจนไม่สามารถผลักภาระได้เหมือนภาคธุรกิจ ดังนั้น ในหลายประเทศที่ดำเนินนโยบายเศรษฐกิจมหภาคแบบประชานิยม คนจนจึงเสียประโยชน์มากกว่าประชาชนกลุ่มอื่นๆ

ถ้าหากพรรคการเมืองที่อยู่ในอำนาจวันนี้ ยังไม่หยุดใช้นโยบายประชานิยมแก้ปัญหาวิกฤตทางการเมือง เชื่อแน่ว่า ระบบเศรษฐกิจของไทย ก็อยู่บนความเสี่ยงที่จะประสบกับวิกฤตเศรษฐกิจอีกครั้ง หากแต่คราวนี้ ปัญหาของภาระหนี้สิน เกิดจากกลุ่มรากหญ้าหรือกลุ่มคนที่ยากจนที่สุดในประเทศ ซึ่งจะเป็นการซ้ำเติมปัญหาความยากจนให้ทรุดหนักไปอย่างไม่สามารถประเมินได้

* คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
** คอลัมน์ ดุลยภาพดุลยพินิจ โดย ตีรณ พงศ์มฆพัฒน์ มติชนรายวัน วันที่ 01 ธันวาคม พ.ศ. 2547 ปีที่ 27 ฉบับที่ 9762

ความคิดเห็น

The southpaw guy กล่าวว่า
แวะมาเยี่ยม

ต๊ะ

บทความที่ได้รับความนิยม