The rules of the game

หันมาดูสถานการณ์การเมืองปัจจุบันของทั้งประเทศไทยและฝรั่งเศส จะเห็นว่า นายกรัฐมนตรีของทั้ง 2 ประเทศ มีจุดร่วมกันอย่างหนึ่ง คือ ต่างก็กำลังได้รับแรงกดดันจากประชาชนให้ลาออกจากตำแหน่ง และทั้งสองคนก็ปฏิเสธที่จะทำตามข้อเรียกร้องนั้น

ต่างกันตรงที่ ผมเห็นว่า นายกทักษิณควรลาออกตั้งนานแล้ว แต่ นายก Dominique de Villepin นั้นไม่สมควรออกจากตำแหน่งเพียงเพราะประเด็นของ CPE (Contrat Premier Embauche - มาตรการซึ่งรัฐบาลหวังว่าจะสามารถแก้ไขปัญหาการว่างงาน โดยเฉพาะของแรงงานที่พึ่งจบใหม่ได้)

สิ่งที่น่าสนใจมากกว่า ที่น่าสังเกตจากการเมืองภาคประชาชนของทั้งสองประเทศ คือ ประเด็นของความบกพร่องของหลักการเสียงข้างมากและความไม่สมบูรณ์ในการเคารพความต้องการของเสียงข้างน้อยในระบอบประชาธิปไตย

ในฟากของฝรั่งเศส การออกมาเรียกร้องให้รัฐบาลทบทวนและยกเลิกการนำกฎหมายเกี่ยวกับ CPE มาใช้ โดยกลุ่มนักเรียน นักศึกษาเสียงข้างมาก ที่ถึงขนาดบล็อคห้องเรียนและมหาวิทยาลัย ไม่ให้สามารถทำการเรียนการสอนได้ จนกลายเป็นปัญหายืดเยื้อลุกลามไปในโรงเรียนมัธยมปลายและทำให้เกิดความรุนแรงบนท้องถนนนั้น เป็นเพียงด้านหนึ่งของเหรียญในความพยายามจัดการกับปัญหา เพราะในอีกด้านหนึ่ง การปิดกั้นกีดขวางการเรียนที่ยืดเยื้อ ทำให้เกิดกลุ่มที่ไม่พอใจและพยายามเรียกร้องสิทธิของตนในการเข้าห้องเรียน จนทำให้เกิดคำถามที่น่าสนใจ (และน่าขบขัน) ว่า จะเรียกร้องเกี่ยวกับการทำงานไปเพื่ออะไร ในเมื่อไม่สามารถเข้าห้องเรียน (และเรียนให้จบ) ได้

จำได้ว่า รายงานข่าวหลายๆ ครั้งได้แสดงให้เห็นภาพการโหวตของกลุ่มนักศึกษา ในการเลือกที่จะใช้หรือไม่ใช้มาตรการในการปิดกั้นและกีดขวางดังกล่าว และทุกครั้งก็จบลงด้วยชัยชนะของเสียงข้างมากที่ต้องการให้ใช้ปฏิบัติการบล็อคห้องเรียน

โดยส่วนตัว ผมเห็นว่าการโหวตนั้น เหมาะสมกับทางเลือกที่เราไม่รู้ว่าจะเกิดผลอย่างไรจากการเลือกทางเลือกแต่ละทาง หรืออาจจะเรียกว่า ไม่มีความเห็นที่ชัดเจนไปในทางเลือกใดทางเลือกหนึ่ง ดังนั้นในการชี้ขาดจึงต้องอาศัยการโหวต อย่างไรก็ตาม สำหรับการเลือกที่รู้แน่ชัดเป็นการล่วงหน้าว่า จะต้องมีการสูญเสียของกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งเพื่อแลกมาซึ่งความสำเร็จในการเดินหน้าต่อนั้น การโหวตดูจะไม่เป็นวิธีที่น่าพึงพอใจ

ส่วนในฟากของเมืองไทย ปัญหาลึกซึ้งกว่ามาก ทั้งนี้ การแยกไม่ออกระหว่างประชาธิปไตยและหลักการเสียงข้างมาก (หรือที่แย่ไปกว่านั้นคือ ความเข้าใจว่า ประชาธิปไตยคือการเลือกตั้งเท่านั้น) เป็นอุปสรรคที่สำคัญต่อการจัดการความขัดแย้งทางการเมือง ซึ่งเป็นปัญหาเฉพาะหน้า และนำไปสู่ความไม่เป็นธรรมในการจัดสรรทรัพยากรโดยผ่านกระบวนการทางการเมือง ซึ่งจะเป็นปัญหาในระยะยาว

ทำไมต้องพูดถึงหลักการเสียงข้างมาก ? และชี้ให้เห็นข้อบกพร่องของการโหวตอย่างง่าย?

เพราะการเลือกกฏกติกานั้นสำคัญอย่างยิ่งต่อการดำเนินไปของเกมส์ การเลือกกติกาที่มีข้อบกพร่อง ย่อมนำไปสู่ผลที่ไม่เป็นธรรมและเปิดโอกาสให้เกิดความขัดแย้งได้ง่าย

ในปัจจุบันที่สังคมเศรษฐกิจมีความซับซ้อนและเต็มไปด้วยความแตกต่าง(ทางด้านฐานะ เชื้อชาติ รสนิยมและทัศนคติ) รวมทั้งความขัดแย้งของประโยชน์ (ระหว่างชนชั้น กลุ่มประชากร กลุ่มอาชีพ) การดำเนินนโยบายหรือมาตรการใดๆ ย่อมหมิ่นเหม่ต่อการสร้างความเหลื่อมล้ำ หากไม่มีความระมัดระวัง นอกจากนี้ การตัดสินความเป็นธรรมในสังคม ไม่สามารถทำได้โดยการพิจารณาผลของนโยบายหรือมาตรการเป็นรายกรณี เพราะจะเกิดความยุ่งยากและต้นทุนของเงินและเวลาที่สูง

การกำหนดกฏกติกา (The Rules of the Game) ที่ทุกคนเห็นว่าเป็นธรรม ถือเป็นการสร้างสถาบันในระดับที่เหนือขึ้นมาและ เป็นวิถีทางที่เหมาะสมและมีประสิทธิภาพอย่างยิ่ง ที่จะประหยัดต้นทุนของสังคมในการจัดการความขัดแย้งที่จะเกิดขึ้น

การหาฉันทามติต่อลักษณะของรัฐธรรมนูญจึงเป็นเรื่องสำคัญอย่างมาก ต่อการก้าวต่อไปของประเทศไทย ไม่เพียงแต่ในภาคการเมืองเท่านั้น แต่ในภาคสังคมและเศรษฐกิจ ก็ต้องพึ่งพากติกาทางการเมืองที่เป็นธรรมเช่นกัน

คำถามเรื่องการเลือก The Rules of the Game ของการเมืองที่เป็นธรรมนั้น คงจะเป็นประเด็นเชิงปรัชญาและจริยธรรมที่ยากเกินความสามารถของผมได้ อย่างไรก็ดี เราสามารถถกเถียงและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับหลักเกณฑ์ที่ใช้ร่วมกันได้ เพื่อให้เกิดหลักการที่เหมาะสมที่จะนำมาใช้จัดการกับปัญหาของสังคม

ความคิดเห็น

บทความที่ได้รับความนิยม