เราอยากให้รัฐตัดสินใจอะไรแทนเราบ้าง? (๒)

ก่อนที่จะพูดถึง Paternalism ต่อไป ก็เป็นเรื่องจำเป็นที่เราจะต้องหาจุดยืนให้กับตนเอง เนื่องจากเป็นไปไม่ได้ที่เราจะสามารถตอบสนองกับสิ่งใดโดยไร้หลักยึดทางความคิด ในที่นี้ ขออนุญาตใช้แนวคิดแบบ liberalism เป็นฐานทางความคิด

และก็คงจะต้องนิยาม liberalism ให้พอเข้าใจโดยสังเขปก่อน แนวคิดแบบ liberalism ในความหมายเริ่มแรกหรือในปลายศตวรรษที่ 18 และต้นศตวรรษที่ 19 นั้น ยึดถือเสรีภาพเป็นเป้าหมายหลักและมองเห็นปัจเจกบุคคลเป็นหน่วยสุดท้ายที่สำคัญที่สุด ในขณะที่ ปลายศตวรรษที่ 19 ความหมายของ liberalism เริ่มที่จะโน้มเอียงไปใช้อธิบายผู้ที่ยึดถือสวัสดิการและความเท่าเทียมกันเป็นสำคัญ และเป็นทางเลือกแทนที่เสรีภาพ ยิ่งไปกว่านั้น ในศตวรรษที่ 20 ความหมายกลับสวนทางไปในทางที่สนับสนุนการแทรกแซงของรัฐ อย่างไรก็ดี ความหมายที่เปลี่ยนไปปรากฏรุนแรงในด้านที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจมากกว่าการเมือง ซึ่งในทางการเมือง liberalism ในศตวรรษที่ 19 และ 20 ยังคงมีจุดร่วมในการสนับสนุนสถาบันการเมืองแบบรัฐสภาและการมีผู้แทน ถึงแม้จะเห็นแตกต่างกันในประเด็นของ nationalization (Milton Friedman, Capitalism and Freedom)

เมื่อเรายืมแนวคิดแบบ liberalism มาใช้ เราก็จะตอบคำถามสำคัญประการแรก คือเรื่องของขอบเขตที่เหมาะสมของการแทรกแซงของรัฐได้ไม่ยาก ในฐานะของผู้ที่ยึดถือเสรีภาพและปัจเจกบุคคลเป็นเป้าหมายสำคัญ ก็เห็นว่ารัฐควรที่จะแทรกแซงการกระทำของบุคคล ตราบเท่าที่การกระทำนั้นส่งผลเสียกับผู้อื่นเท่านั้น (เช่นเดียวกับที่ John Stuart Mill เขียนในบทความ On Liberty ในปี 1869)

ดังนั้น กฎหมายห้ามสูบบุหรี่ในที่สาธารณะจึงเป็นเรื่องที่ยอมรับได้ ในมุมมองของการเคารพเสรีภาพส่วนบุคคลที่เรายึดถือ นอกจากนั้น การห้ามสูบบุหรี่ในที่ส่วนบุคคลหรือทำให้บุหรี่เป็นสิ่งผิดกฎหมายนั้นจึงเป็นไปไม่ได้และขัดกับหลักการที่เราเห็นว่าเป็นธรรม

คราวนี้ ลองมาดูประเด็นอื่นที่น่าสนใจ เช่น การกำหนดโดยรัฐธรรมนูญไทยฉบับปี 2540 ให้การเลือกตั้งเป็นหน้าที่ และกำหนดบทลงโทษในการเพิกถอนสิทธิทางการเมืองเมื่อไม่ไปใช้สิทธิ์

พิจารณาให้ดีแล้ว จะเห็นว่าประเด็นนี้ไปไกลเกินกว่าเสรีภาพและการแทรกแซงที่กำลังพูดถึง

ประการแรก การบังคับ(โดยผ่านกระบวนการทางการเมือง) ให้คนไปใช้สิทธิ์เลือกตั้ง ซึ่งเป็นสิทธิพื้นฐานของมนุษย์และสิทธิทางการเมืองที่ประชาชนมอบให้รัฐนั้น ได้ก่อให้เกิดคำถามเชิงปรัชญาที่ขัดแย้งในตัวเอง

ประการต่อมา อาจจะฟังดูมีเหตุผล หากกล่าวว่าการไม่ไปใช้สิทธิ์เลือกตั้ง เท่ากับละเลยหน้าที่ของพลเมืองที่ดี จึงควรแลกเปลี่ยนด้วยการเสียสิทธิทางการเมืองบางอย่าง แต่การกำหนดบทลงโทษเท่ากับกำหนดให้การไปใช้สิทธิ์คือทางเลือกที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ของประชาชน

ประการสำคัญ ถ้ามองให้ลึกซึ้งต่อไป เท่ากับบังคับโดยทางอ้อมให้ประชาชนต้องเลือกผู้สมัครไม่คนใดก็คนหนึ่ง เพราะการงดออกเสียงนั้นไม่มีความหมายทางการเมือง (มีความหมายทางสังคมแต่ไม่มีความหมายทางกฎหมาย)เนื่องจากรัฐธรรมนูญนี้ไม่ได้สร้างนัยสำคัญให้กับเสียงที่งดออกเสียง ยกตัวอย่าง มีผู้สมัครรับเลือกตั้งเพียง 1 คนในเขตนั้น จะถือว่าได้รับการเลือกตั้งก็ต่อเมื่อได้รับเสียงมากกว่า 20 เปอร์เซ็นต์ของผู้ไปใช้สิทธิ แทนที่จะเป็น 20 เปอร์เซ็นต์ของผู้ไปใช้สิทธิและไม่งดออกเสียง

ถึงแม้กระบวนการที่เกิดขึ้นจะไม่ชัดเจน แต่เมื่อบุคคลมีประสบการณ์และผ่านกระบวนการเรียนรู้ ก็ทำให้สามารถตระหนักได้ว่าการไปใช้สิทธิเลือกตั้งโดยงดออกเสียงนั้นไม่มีความหมายทางการเมือง

เท่ากับรัฐธรรมนูญนี้ได้สร้างพฤติกรรมทางการเมืองใหม่ ที่ขัดกับหลักประชาธิปไตยคือ บังคับให้คนต้องเลือกผู้สมัครคนใดคนหนึ่ง

นอกจากนี้ ยังถือว่าขัดกับแนวคิดแบบเสรีอย่างสิ้นเชิง เนื่องจากการไม่เปิดโอกาสให้คนออกจากทางเลือกที่กำหนดได้ (Opt-Out) เป็นการทำลายกระบวนการตัดสินใจของคนตั้งแต่เริ่มต้น

ความคิดเห็น

บทความที่ได้รับความนิยม