ตาดูดาว เท้าติดดิน

ทุกวันนี้ เราแหงนหน้ามองท้องฟ้าน้อยลง อาจจะเป็นเพราะแสงสีในสังคมเมือง ทำให้เรามองเห็นวัตถุบนท้องฟ้าได้ยากขึ้นหรืออาจจะเป็นเพราะความเจริญทางวัตถุ ทำให้เราสนใจกับสิ่งต่างๆ ที่อยู่บนพื้นดินจนลืมแหงนหน้าขึ้นมองท้องฟ้าอย่างเคย หรืออาจจะเป็นทั้งสองกรณีประกอบกัน

อาจกล่าวได้ว่า ในอดีต มนุษย์เคยให้ความสนใจกับธรรมชาติโดยเฉพาะท้องฟ้า รวมทั้งปรากฏการณ์ธรรมชาติเป็นอย่างมาก ทั้งนี้เพราะมนุษย์ยังมีความรู้เกี่ยวกับธรรมชาติ ตนเองและโลกน้อยมาก เราจึงเกิดความกลัว ความสงสัย รวมทั้งความจำเป็นในการเอาชนะอุปสรรค

หรือว่าวันนี้ มนุษย์ไขปริศนาของธรรมชาติจนหมดสิ้นแล้ว ?? หรือว่าพฤติกรรมที่เปลี่ยนไปนี้สะท้อนความคิดว่ามนุษย์รู้สึกพึงพอใจกับความรู้ที่ตนพัฒนาและสั่งสมมาจนกระทั่งปัจจุบัน ?? โดยลำพัง ผมคงจะไม่สามารถตอบคำถามเหล่านี้ได้ แต่จะขอชี้ให้เห็นว่ามนุษย์ในอดีตนั้น ได้เรียนรู้อะไรจากการแหงนหน้ามองท้องฟ้า

ย้อนกลับไปในยุคกรีก หรือประมาณหกศตวรรษก่อนยุคของเรานั้น (ประมาณสองพันปีที่แล้ว) อาจกล่าวได้ว่านักดาราศาสตร์คนแรกมีชีวิตอยู่ในช่วงเวลานี้ ผู้ที่ศึกษาดาราศาสตร์ในปัจจุบันได้ให้เครดิตกับ Thalès de Milet (ชาวกรีกที่อาศัยในดินแดนเอเชียไมเนอร์หรือชายฝั่งด้านตะวันตกของตุรกีในปัจจุบัน) ว่าเป็นคนแรกที่เปลี่ยนมุมมองของการมองท้องฟ้าและจักรวาลจากยุคก่อนหน้าเขา ที่มักจะตีความปรากฏการณ์ในท้องฟ้าโดยใช้ความเชื่อในเรื่องเวทมนต์คาถา สิ่งเหนือธรรมชาติและ mythology และถือว่าความคิดของเขาเป็นเส้นแบ่งระหว่างวิธีการศึกษาจักรวาลในแบบโบราณและปัจจุบัน คือ ใช้การสังเกตและหลักการของเหตุผล

ถึงแม้ทฤษฎีของ Thalès de Milet จะยังห่างไกลจากความเป็นจริงที่เราค้นพบในเวลาต่อมา กล่าวคือ เขาเชื่อว่าน้ำเป็นธาตุที่สำคัญที่สุด และโลกเป็นวัตถุที่ลอยอยู่เหนือน้ำ โดยมีท้องฟ้าเป็นเพดานของโลก และดาวคือกลุ่มแก็สที่แพร่ออกจากโลกและติดไฟอยู่บนท้องฟ้า แต่การเสนอมุมมองนี้ก็ถือว่าเป็นการวางรากฐานของวิทยาศาสตร์สมัยใหม่แบบที่เราใช้ในปัจจุบัน

ในยุคสมัยเดียวกัน Anaximandre ได้พัฒนาแนวความคิดนี้ โดยเสนอข้อสันนิษฐานหลายประการที่กลายเป็นแนวความคิดพื้นฐานสำคัญเกี่ยวกับลักษณะของโลกและจักรวาล โดยเขามองว่าโลกมีลักษณะเป็นทรงกระบอก โดยมนุษย์อาศัยอยู่บนผิวนอก และโลกนั้น ลอยอยู่ในท้องฟ้าที่มีรูปทรงกลมปิดหรือ sphère โดยมีระยะห่างจากทุกด้านเท่ากัน เขายังไปไกลถึงขนาดคาดเดาและกำหนดระยะห่างเป็นตัวเลขให้กับดวงจันทร์และดวงอาทิตย์จากท้องฟ้าที่ว่า

Pythagore ซึ่งเป็นนักปรัชญาและนักคณิตศาสตร์ในยุคสมัยเดียวกันนั้น ได้ก่อให้เกิดสำนักของการศึกษาที่ใช้คณิตศาสตร์เป็นเครื่องมือสำคัญ และถือว่าตัวเลขคือหัวใจของทุกอย่าง รวมทั้งของโลก เขาได้สนับสนุนแนวคิดของรูปทรงกลมปิดหรือ sphère และเสนอว่าโลกก็มีรูปทรงกลมบรรจุอยู่ในรูปทรงกลมอีกทีหนึ่ง

ดาวเคราะห์ที่เรารู้จักอื่นๆ เช่น ดาวพุธ ดาวศุกร์ ก็ถูกสันนิษฐานว่ามีรูปทรงกลมปิดเช่นเดียวกับโลกและต่างโคจรอยู่รอบโลก ข้อสันนิษฐานของโลกกลมนี้ได้รับการยืนยันอย่างมั่นคงในอีกศตวรรษต่อมา เมื่อมนุษย์สังเกตปรากฏการณ์ต่างๆ เช่น การเห็นเสากระโดงเรือก่อนเมื่อมองจากฝั่งหรือเงาโค้งของโลกบนดวงจันทร์เมื่อเกิดจันทรุปราคา

อย่างไรก็ดี การพิจารณาลักษณะของโลกบางประการก็ยังอยู่บนหลักการที่ผิด เช่น โลกมีความคงที่ และเป็นศูนย์กลางของการโคจรของดาวอื่นๆ จนกระทั่ง Démocrite และ Leucippe ได้เสนอและขยายอิทธิพลของแนวคิดเกี่ยวกับอะตอม และขัดแย้งความเชื่อว่าโลกมีลักษณะเสถียรและคงที่ รวมทั้งทำลายความเชื่อเรื่องศูนย์กลางของโลกไป

การมองโลกในลักษณะนี้ ก็ได้พัฒนาควบคู่กับปรัชญาของ Epicure ที่มีอิทธิพลทางความคิดในตะวันตกไปอีกหลายศตวรรษ

นักปรัชญาที่มีอิทธิพลต่อการศึกษาดาราศาสตร์และการมองโลกอย่างมากอีกสองคนนั้น คนแรกคือ Platon (427-347) ซึ่งแทนที่วิธีการใช้เลขคณิตของปิธากอรัสด้วยเรขาคณิตที่เขาเชื่อว่าจะนำไปสู่ความจริงสมบูรณ์ที่จะอธิบายโลกในอุดมคติได้ อิทธิพลของเขาทำให้การศึกษาดาราศาสตร์โดยเน้นการสังเกตปรากฏการณ์จริงที่ได้รับการพัฒนามาต้องลดความสำคัญลงไปในยุโรปจวบจนกระทั่งศตวรรษที่ 14 ก็ว่าได้ ส่วนอีกคนคือ Aristote (384-322) ซึ่งถึงแม้จะได้รับอิทธิพลแนวคิดของ Platon อย่างมาก แต่กลับสนับสนุนให้กลับมาศึกษาวิทยาศาสตร์แนวทดลองที่สังเกตจากปรากฏการณ์จริง โดยใช้เครื่องมือที่สำคัญคือ คณิตศาสตร์และตรรกศาสตร์ แต่เป็นที่น่าสังเกตว่าสำหรับเขา จักรวาลมีความสมบูรณ์และจีรังยั่งยืน ในขณะที่โลกมีลักษณะเป็นหนึ่งเดียวไม่เหมือนใคร ไม่ยั่งยืนแต่เป็นศูนย์กลาง โดยความเคลื่อนไหวตลอดเวลาของโลกและดวงจันทร์นั้น เกิดจากส่วนประกอบสำคัญคือ อีเธอร์ (ether) ซึ่งส่วนหลังนี้มีอิทธิพลต่อแนวคิดของการศึกษาฟิสิกส์จนกระทั่งศตวรรษที่ 20

ทฤษฎีของ Aristote ได้ทำให้ Héraclide du Pont พัฒนาแนวคิดที่สำคัญคือ โลกหมุนรอบของแกนตัวเอง เป็นเวลายี่สิบสี่ชั่วโมง รวมทั้งมีหลักฐานกล่าวว่าเขาเองได้เสนอข้อสันนิษฐานว่าดาวพุธและดาวศุกร์หมุนรอบดวงอาทิตย์ ซึ่งถือเป็นความรุดหน้าก้าวใหญ่ก่อนจะมีการพัฒนาความรู้ในยุคต่อมา

แม้อาณาจักรของกรีกจะสิ้นอิทธิพลลงทางการเมืองในเวลาต่อมา แต่อิทธิพลทางด้านปรัชญาและวัฒนธรรมได้ฝังรากลึกและมีอิทธิพลต่อองค์ความรู้ของตะวันตกจนกระทั่งปัจจุบัน

ถึงแม้นี่จะเป็นแค่ส่วนเสี้ยวหนึ่งของพัฒนาการของการศึกษาโลกและจักรวาล แต่ก็ถือเป็นช่วงเวลาสำคัญเพราะเป็นช่วงของการเริ่มต้นวางรากฐานวิทยาศาสตร์ และมรดกที่สำคัญของยุคนี้คือ แนวคิดเรื่องความมีเหตุผล (rationalité) ซึ่งเปลี่ยนวิธีการคิดของมนุษย์จากการตีความธรรมชาติโดยความเชื่อเหนือธรรมชาติ มาเป็นการสังเกตและศึกษาสิ่งที่เกิดขึ้นโดยใช้เหตุผล

สิ่งที่เราสามารถเรียนรู้จากวิธีการมองโลกและจักรวาลคือ การเรียนรู้ว่ามนุษย์อยู่ตรงจุดใดของระบบหรือบ้านที่เราอาศัยอยู่นี้และเปรียบเสมือนกระจกสะท้อนเงาของเราเอง การศึกษาประวัติศาสตร์ของปรัชญาจะทำให้เราเข้าใจความผิดพลาดของมนุษย์ในอดีต ความสำคัญตนผิดว่ามนุษย์และโลกคือศูนย์กลาง รวมทั้งการพยายามเอาชนะและทำลายธรรมชาติ อย่างไม่มีทางเรียกกลับคืนมาได้

ไม่น่าเชื่อว่า ทุกวันนี้ มนุษย์บางคนก็ยังเชื่อว่าโลกคือศูนย์กลางของจักรวาล !!

บทความนี้ได้รับแรงบันดาลใจจากรายการวิทยุ France culture : Science et Conscience สัมภาษณ์ Jean- François Robredo ส่วนเนื้อหาเกี่ยวกับปรัชญากรีกและดาราศาสตร์ เรียบเรียงจาก “Grèce : Le Berceau du Cosmos”, Jean-François Robredo, Ciel et Space

ความคิดเห็น

บทความที่ได้รับความนิยม