Modern States and Genocide : reaction to news

1.
ระหว่างปี 1915-1920 กลุ่ม Muslim Turks ในจักรวรรดิออตโตมัน ดำเนินการสังหารหมู่ชาวอาร์เมเนียน จำนวนกว่า 1.5 ล้านคนอย่างโหดเหี้ยมและต่อเนื่อง จนชาวอาร์เมเนียนเกือบสูญสิ้นเผ่าพันธุ์

ปัจจุบัน ประเทศอาร์เมเนีย ซึ่งหลังจากอยู่ภายใต้การปกครองของสหภาพโซเวียตกว่า 70 ปีและสถานปนาเป็นรัฐอิสระในปี 1991 มีประชากรเพียง 3 ล้านคน

จักรวรรดิออตโตมัน ซึ่งกลายมาเป็นตุรกีในปัจจุบัน ไม่เคยยอมรับการกระทำดังกล่าว ประเทศฝรั่งเศสใช้เรื่องนี้เป็นเหตุผลสำคัญอันหนึ่งในการไม่ยอมรับตุรกีเข้าร่วมสหภาพยุโรป

2.
ระหว่างปี 1933-1945 รัฐบาลนาซีของเยอรมัน และกลุ่มรัฐร่วมอุดมการณ์ ดำเนินการสังหารหมู่และฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวยิวในยุโรป เป็นจำนวนทั้งสิ้นกว่า 6 ล้านคน เหตุการณ์ครั้งนี้ก่อให้เกิดการกระจัดกระจายย้ายถิ่นฐานของชาวยิวจำนวนมหาศาลไปทั่วโลก อีกทั้งยังส่งผลให้เกิดการเรียกร้องให้สถาปนาดินแดนของชาวยิว ภายหลังสงครามโลกครั้งที่สองสงบ ซึ่งเป็นที่มาของการเกิดประเทศอิสราเอล ในปี 1947 (และยังเป็นปัญหาแก่งแย่งดินแดนกับปาเลสไตน์ จนกระทั่งปัจจุบัน)

เหตุการ์ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวยิว อย่างเป็นระบบ โดยกำหนดเป็นนโยบายและเป้าหมายทางการเมือง พร้อมทั้งใช้เครื่องมือและหน่วยงานของรัฐ ครั้งนี้ ถูกเรียกด้วยคำว่า Holocaust โดยในช่วงแรกนั้น รัฐบาลนาซีได้สังหารหมู่ชนกลุ่มน้อยอื่นเช่น Gypsie Slavic Poles Russians รวมทั้งกลุ่มทางการเมืองเช่น คอมมิวนิสต์ โซเชียลลิสต์ รวมทั้งพวกรักร่วมเพศ ประมาณว่าผู้ที่ถูกสังหารที่ไม่ได้เป็นยิวมีประมาณ 1.9 ล้านคน


3.
ช่วงระหว่างเดือนเมษายน ถึง พฤษภาคม 1994 ชาวรวันดา กว่า 8 แสน ถูกสังหารในช่วงเวลาไม่ถึง 100 วัน ผู้เสียชีวิตส่วนใหญ่เป็นชนกลุ่มน้อยชาว Tutsi ซึ่งถูกสังหารโดยชาว Hutu

ชนวนของเหตุการณ์นี้คือ การตายของอดีตประธานาธิบดี Juvenal Habyarimana ซึ่งเป็นชาว Hutu รัฐบาลฝรั่งเศสกล่าวหาประธานาธิบดีคนปัจจุบัน Paul Kagame ว่าอยู่เบื้องหลังเหตุการณ์ดังกล่าว ในขณะที่ฝ่ายหลังปฏิเสธและ กล่าวหารัฐบาลฝรั่งเศส พร้อมทั้งนายกรัฐมนตรีคนปัจจุบันว่าต้องมีส่วนร่วมรับผิดชอบ (หนังสือพิมพ์ Nouvel Obs.com, 7 Dec 2006)

ที่น่าแปลกใจคือ ทั้งสองชนเผ่าใช้ภาษาเดียวกัน มีวัฒนธรรมร่วมกัน

4.

ในปี 2003 เกิด Genocide ขึ้นอีกในประเทศซูดาน ประชาชนกว่า สี่แสนคนถูกสังหาร ในขณะที่ สองล้านคนต้องพลัดถิ่น และอีกกว่า สามจุดห้าล้านคนดำรงชีวิตอยู่โดยพึ่งพาความช่วยเหลือจากต่างประเทศ เหตุการณ์นี้ยังไม่ได้รับความสนใจมากนักในวงกว้าง

เหตุการณ์ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ ทุกครั้งที่กล่าวไปในข้างต้น มีทั้งส่วนที่เหมือนและแตกต่างกัน ไม่ว่าในแง่ของสาเหตุ ปัจจัยแวดล้อมทางสังคม วัฒนธรรมหรือผลกระทบ

ในฐานะปัจเจกบุคคล คำถามเชิงมโนธรรมที่สำคัญคือ อะไรคือมูลเหตุที่ทำให้มนุษย์สามารถกระทำการรุนแรงและทำลายล้างซึ่งกันและกันได้ถึงเพียงนี้

ในฐานะนักวิชาการ แน่นอนว่าการศึกษาอย่างละเอียด เป็นรายกรณี จะเป็นประโยชน์อย่างที่สุด อย่างน้อยในเชิงประวัติศาสตร์ เพื่อสร้างบทเรียนสำหรับรัฐและประชาชนของรัฐในปัจจุบัน ความรู้และเข้าใจปัญหาจะช่วยให้การจัดการปัญหามีประสิทธิภาพมากขึ้นและลดต้นทุนทางสังคมที่จะต้องสูญเสียไปโดยเปล่า

เพราะท่ามกลางสังคมโลกโลกาภิวัฒน์และโลกของข้อมูลข่าวสาร ความรุนแรงสามารถปะทุขึ้นอย่างฉับพลันและลุกลามอย่างรวดเร็ว ด้วยเชื้อเพลิงของอคติและอวิชา บนพื้นฐานของความแตกต่างทางวัฒนธรรม ศาสนา และความเชื่อ



References
1. Adalian Rouben, “The Armenian Genocide: Context and Legacy”, Armenian National Institute, http://www.armenian-genocide.org/
2. BBC news “Rwanda: How the Genocide Happened”, 1 April 2004
3. Holocaust Encyclopedia http://www.ushmm.org/wlc/en/
4. Nouvel Obs.com “Rwanda: Kagamé accuse Villepin d'avoir soutenu le génocide”, 7 Dec 2006
5. The World Bank countries data
6. www.SaveDarfur.org

ความคิดเห็น

noka กล่าวว่า
การฆ่าล้างเผ่าพันธ์ุในรวันดา เกิดขึ้นจากการแบ่งชนชั้นของสีผิวและปัญหาความยากจน ทั้งถูกละเลยจากประเทศพัฒนาเพียงเพราะรวันดาไม่ใช่ประเทศที่มีผลกำไรทางเศรษฐศาสตร์เพียงพอที่ใครจะยื่นมือเข้าช่วยเหลือ ก่อเกิดโศกนาฎกรรมที่ไม่น่าจะบานปลาย
การพูดภาษาเดียวกันไม่ได้หมายความว่ามนุษย์จะละเว้นการทำทารุณกรรมกันและมีตัวอย่างมากมายที่แสดงถึงการเอาเปรียบเชิงสังคม เชื้อชาติที่ยังคงอยู่และยังมีความรุนแรง

บทความที่ได้รับความนิยม