ทั้งหมดแถวตรง…. ขวาหัน....

เป็นโอกาสที่ดีที่จะพูดคุยกันถึงเรื่อง “กฎ” ในโอกาสที่สังคมไทยกำลังวุ่นอยู่กับการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ เพราะอย่างที่ทุกคนทราบดี รัฐธรรมนูญก็คือ กฎหมายสูงสุดของการปกครองประเทศซึ่งถือว่าเป็นกรอบหรือ “กฎ” สำหรับสังคม

อย่างที่ได้เคยเขียนถึงแนวคิดของการกำหนดกฎไปแล้วครั้งหนึ่ง ในบทความ The rules of the game เมื่อเดือนมีนาคมปีที่ผ่านมา แต่สถานการณ์ทางการเมืองได้เปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก จึงขอหยิบเรื่องนี้ขึ้นมาพูดอย่างละเอียดอีกครั้ง

คำว่า “กฎ” ในที่นี้ แตกต่างจากสิ่งที่เราเรียกว่า “คำสั่ง” หรือ “ระเบียบ” ตรงที่ กฎหรือกฎเกณฑ์ที่กำลังพูดถึง คือ กรอบกว้างๆ ที่กำหนดพฤติกรรมในระดับของการตัดสินใจหรือระดับการวางแผน โดยระบุเพียงเป้าหมายแต่ไม่ได้ชี้ชัดลงไปถึงวิธีการของการกระทำ

ในขณะที่ คำสั่งหรือระเบียบนั้น ระบุชัดเจนถึงสิ่งที่ต้องกระทำและห้ามกระทำ โดยลงลึกไปถึงสถานการณ์หรือกรณีปลีกย่อย เพื่ออุดช่องโหว่ที่จะเปิดโอกาสที่เกิดการฝ่าฝืน

พูดอีกอย่างก็คือ กฎในความหมายที่ใช้กับรัฐธรรมนูญนั้น เป็นเสมือนเข็มทิศและคู่มือการใช้งานและมีนัยของการสร้างและการมองไปในอนาคต ในขณะที่คำสั่งหรือระเบียบมีนัยของ “การป้องกัน” และการควบคุมสถานการณ์ปัจจุบัน ซึ่งมีความ “ชั่วคราว” แฝงอยู่อย่างมาก เพราะสถานการณ์สามารถเปลี่ยนแปลงได้ในอนาคต

นิยามของกฎและระเบียบในข้างต้น จึงทำให้เราเข้าใจตรงกันว่า ตัวอย่างของกฎจราจรนั้นคือระเบียบในความหมายที่กำลังพูดถึงและคำว่า “กฎ” ที่ใช้จนเคยชินนั้น อาจจะทำให้ความเข้าใจถึงกฎในความหมายของการสร้างและการมองไปในอนาคตนั้น เข้าถึงได้ยากในความเข้าใจแบบผิวเผิน

นอกจากนี้ มีแนวคิดของความตกลงปลงใจระหว่างทุกๆ ฝ่ายที่เกี่ยวข้องในการสร้างกฎ ในขณะที่ระเบียบหรือคำสั่งนั้น สะท้อนแนวคิดของการกำกับหรือกำหนดโดยฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งหรือคนใดคนหนึ่ง

คำสั่งหรือระเบียบจึงใช้ได้อย่างดีกับวิธีการควบคุมคนหมู่มาก เช่น การออกคำสั่งและควบคุมกำลังทหาร

ความแตกต่างของตัวกฎและระเบียบที่ว่าไปทั้งหมดนี้ ได้กลับมากำหนดวิธีการและเวลาของการสร้างกฎและการสร้างระเบียบ (หรือการออกคำสั่ง) คือ บอกว่าจะสร้างอย่างไรและเมื่อใด

ในแนวคิดของกฎและเกมส์นั้น เราจึงควรกำหนดกฎเกณฑ์ให้เสร็จก่อนที่จะเริ่มเล่ม เพราะการสร้างกฎนั้น มีส่วนสำคัญในการกำหนดเป้าหมายขององค์รวม จึงกำหนดทางเลือกซึ่งก่อให้เกิดการเอื้อหรือลดทอนประโยชน์ของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ การเปลี่ยนแปลงหรือเพิ่มเติมจึงอาจก่อให้เกิดข้อถกเถียงเรื่องความเป็นธรรมได้

เมื่อเปรียบเทียบกับคำสั่งหรือระเบียบ ซึ่งอยู่ในตรรกของการควบคุม และละเลยคุณค่าของความเท่าเทียม แต่อ้างอิงแนวคิดของลำดับชั้น (hierarchy) นั้น จึงถูกสร้างและสร้างใหม่เมื่อใดก็ได้ โดยไม่ถูกตั้งคำถาม

ย้อนกลับมาที่การเมืองไทย ในขณะที่เรากำลังจะร่างรัฐธรรมนูญหรือสร้างกฎเพื่อกำหนดทิศทางและเป้าหมายของสังคม ที่เราต้องการให้เป็นในอนาคต

เรากลับมองเห็นความเลวร้ายตั้งแต่เริ่มต้น เมื่อคนที่จะมาทำหน้าที่กำหนดกฎนั้น มาจากตรรกของการออกคำสั่งและระเบียบ รวมทั้ง เราเองมองไม่เห็นความงดงามเลยในขั้นตอนของการสรรหาบุคคลเหล่านี้ จากข่าวความวุ่นวายในการลงคะแนนเสียงเพื่อเลือกกันเอง

เมื่อผู้ที่จะมาเขียนกฎไม่เห็นความสำคัญของกฏ (และที่เลวร้ายพอกัน พวกเขาสะท้อนวิธีคิดว่าผลสำเร็จนั้นสร้างความชอบทำให้กับวิธีการหรือขั้นตอน) คนเหล่านี้ก็ไม่ต่างจากหุ่นเชิดที่ถูกสั่งหันซ้ายหันขวา ที่ไร้จิตวิญญาณและความคิด

ด้วยประการทั้งปวง การร่างรัฐธรรมนูญฉบับเผด็จการนี้จึงไร้ความชอบธรรมและขัดต่อหลักการของสัญญาประชาคม

ก็คงไม่น่าแปลกใจนัก ถ้าจะมีใครอ้างเหตุล้มกระดานเกมส์นี้อีกในอนาคต

ความคิดเห็น

บทความที่ได้รับความนิยม