รอยต่อของยุคสมัย

ได้อ่านบทความของอาจารย์สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล จากเว็บของ “ศิลปวัฒนธรรม” ฉบับวันที่ ๑ มกราคม ๒๕๕๐ เรื่อง เมื่อถวัติ ฤทธิเดช เข้าเฝ้าขอขมาพระปกเกล้า แล้วอยากจะนำมาถ่ายทอดต่อ เผื่อว่าผู้ที่สนใจจะติดตามไปอ่านประกอบความรู้

ในบทความดังกล่าว อาจารย์สมศักดิ์ได้พยายามค้นคว้าหาหลักฐานยืนยันต้นตอของเรื่องเล่าเกี่ยวกับการฟ้องร้องคดีอาญาโดยสามัญชน คือ นายถวัติ ฤทธิเดช ผู้นำกรรมกร-รถราง ต่อพระเจ้าแผ่นดิน (รัชกาลที่ ๗) ซึ่งต่อมาได้กลายเป็นเรื่องเล่ากึ่งตำนานที่ถูกอ้างถึงบ่อยครั้งโดยบรรดานักกฎหมาย

แม้กระทั่งในบทความของคุณวิษณุและบวรศักดิ์ก็อ้างถึงเหตุการณ์นี้ว่า “เป็นสาเหตุให้เกิดการกำหนดข้อความมาตรฐานในรัฐธรรมนูญฉบับต่างๆ ที่ว่า ผู้ใดจะกล่าวหาหรือฟ้องร้องพระมหากษัตริย์ในทางใดๆ มิได้

อย่างไรก็ตาม อาจารย์สมศักดิ์ค้นพบว่าข้อเท็จจริงเชิงประวัติศาสตร์นั้นไม่สอดคล้องและคลาดเคลื่อนจากความเข้าใจทั่วไปของนักกฎหมายดังกล่าว

เนื่องจากการฟ้องร้องจริงๆ ไม่เคยเกิดขึ้น (ถึงแม้จะมีความพยายามร่างคำฟ้องร้องและการแถลงผ่านสื่อ) และการณ์ก็ยุติเมื่อนายถวัติ ฤทธิเดช ทำพิธีกล่าวคำขอขมาเพื่อขอพระราชทานอภัยโทษจากพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ ที่จังหวัดสงขลา

หลักฐานสำคัญที่อาจารย์สมศักดิ์นำมาประกอบในบทความนี้ คือ รายงานการเข้าเฝ้าขอขมาพระปกเกล้าของถวัติ ฤทธิเดช จากหนังสือพิมพ์ประชาชาติรายวัน ที่ลงติดต่อกันถึง ๓ วัน คือระหว่างวันที่ ๒๗ ถึง ๒๙ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๗๖ โดยถอดความมาจากการสัมภาษณ์นายถวัติ ประกอบกับการเล่าเสริมโดยหม่อมเจ้าวรรณไวทยากร หรือ "ท่านวรรณ" ผู้ทรงเป็นเจ้าของประชาชาติและทรงอยู่ในการเข้าเฝ้าของถวัติด้วย

ผมเห็นว่ารายงานที่อาจารย์สมศักดิ์นำมาเผยแพร่นั้น ไม่สามารถถูกตัดตอนมาเพียงบางส่วนในที่นี้ได้ เพราะจะทำให้เกิดการตีความที่คลาดเคลื่อน รวมทั้งลดทอนใจความสำคัญบางส่วนไป แต่จะขอหยิบยกแง่มุมที่คิดว่าสำคัญซึ่งได้รับจากบทความและรายงานดังกล่าวมาพูดถึง

ประการแรก เราคงรู้สึกประหลาดใจปนช็อคกับความคิดเรื่องการฟ้องร้องทางกฎหมายโดยสามัญชนต่อพระเจ้าแผ่นดินที่เกิดขึ้นในสมัยนั้น เนื่องจากเหตุการณ์ทำนองนี้เป็นสิ่งที่ไม่สามารถเกิดขึ้นได้ในบริบททางสังคม (จารีตและกฎหมาย) ปัจจุบัน

เหตุผลสำคัญคงมาจากข้อเท็จจริงที่ว่า สังคมไทยในขณะนั้นเพิ่งก้าวเข้าสู่ระยะเปลี่ยนผ่านของระบบการปกครอง (จากสมบูรณายาสิทธิราชมาเป็นประชาธิปไตย แบบมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข) ทำให้แนวความคิดเรื่อง “รัฐธรรมนูญ” ยังใหม่มากสำหรับทั้งรัฐบาลผู้ใช้กฎหมายและประชาชน (และยังคงเป็นจริง จนกระทั่งปัจจุบัน)

นอกจากนี้ เราอาจมองว่าเหตุการณ์นี้สะท้อนถึงช่วงเวลาอันยากลำบากสำหรับสถาบันสูงสุดในสังคมไทย ที่ยังคงมีความทรงจำอันใหม่สดจากภาพการล่มสลายของสถาบันกษัตริย์ในยุโรปและรัสเซีย (ซึ่งถูกเน้น ด้วยภัยคุกคามจากอิทธิพลที่กำลังแผ่ขยายอยู่รอบๆ ของระบอบคอมมิวนิสต์)

นายถวัติ ทูลกับรัชกาลที่ ๗ ภายหลังได้รับพระราชทานอภัยโทษว่า ตนนั้นได้กระทำการดังกล่าวไปด้วยความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ กล่าวคือ นายถวัติเห็นว่าภายใต้ระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยที่พระองค์ทรงอยู่ภายใต้กฎหมายเฉกเช่นเดียวกับประชาชนคนไทยทั้งหลายนั้น ตามหลักเหตุและผลของตน เมื่อพระองค์ทรงกระทำละเมิดชื่อเสียงของเค้า เค้าก็น่าจะสามารถฟ้องร้องเอาผิดทางอาญากับพระองค์ได้

พระองค์ทรงตรัสว่าราษฎร์จะฟ้องร้องเอาผิดกับในหลวงไม่ได้ และทรงยกตัวอย่างว่าแม้ประธานาธิบดีในระบบสาธารณรัฐนั้น ก็ไม่อาจถูกฟ้องร้องดำเนินคดีทางอาญาได้

ประการต่อมา ซึ่งเกี่ยวเนื่องมาจากการนำระบอบประชาธิปไตยมาใช้ ทำให้เกิดคำถามสำคัญต่อขอบเขตของพระราชอำนาจของพระเจ้าแผ่นดิน เนื่องจากสังคมเลือกที่จะรักษาโครงสร้างเดิมบางประการที่ผูกพันเหนียวแน่นกับสังคมไทย (จนทำให้การเมืองไทยในปัจจุบัน เป็นประชาธิปไตยแบบไทยที่มีเอกลักษณ์และอุปสรรคเฉพาะตัว)

ในประเด็นของการหาทางออก โดยใช้วิถีทางแบบไทย แทนที่จะรื้อร้างและหันไปพึ่งโครงสร้างใหม่จากตะวันตกนั้น เห็นได้จากการลงเอยด้วย “พิธีกล่าวคำขอขมา” ต่อพระเจ้าแผ่นดินและขอพระราชทานอภัยโทษ (ซึ่งมีงานวิจัยบางชิ้นอ้างถึงพิธีขอขมาในทำนองเดียวกันของอาจารย์ปรีดี พนมยงค์ต่อรัชกาลที่ ๗ เมื่อได้ใช้ถ้อยคำรุนแรงในจดหมายของคณะราษฎร์เพื่อขอให้ทรงพระราชทานประชาธิปไตย)

ส่วนที่มีความสำคัญในรายงานข่าวของหนังสือพิมพ์ประชาชาติรายวันฉบับนี้ คือบทสนทนาตอบโต้ระหว่างรัชกาลที่ ๗ กับนายถวัติ ที่อาจสะท้อนลักษณะความสัมพันธ์ระหว่างพระเจ้าอยู่หัวกับราษฎร์สามัญชน ที่เราสามารถมองเห็นความคลุมเครือ ซึ่งเป็นผลมาจากการผสมระหว่างแนวคิดเดิมแบบเจ้าชีวิต-ข้าชีวิตกับอิทธิผลของแนวคิดใหม่จากตะวันตกในเรื่องสิทธิ เสรีภาพและเสมอภาคระหว่างบุคคล ที่ถูกครอบลงมาจากระบอบประชาธิปไตย

หนึ่งในคุณค่าของบทความดังกล่าวนี้ ก็คือ ทำให้เรามองเห็นความสับสนของโครงสร้างสังคมใหม่ ที่จัดรุปแบบความสัมพันธ์และความรับผิดชอบระหว่างบุคคลระดับต่างๆ ในรัฐอย่างคลุมเครือ

นี่เป็นเพียงบางส่วนที่ได้จากบทความและรายงานที่ถูกหยิบยกขึ้นเป็นหลักฐานเท่านั้น

ความคิดเห็น

บทความที่ได้รับความนิยม