Réflexion sur “เสียงของความเงียบ”

(แรงบันดาลใจจาก “เสียงของความเงียบ” « le silence bruissant » ใน http://faywanrug.unblog.fr/ )

เป็นเรื่องน่าแปลก และอาจจะดูเหมือนขัดแย้งในตัวเอง ที่เรามักจะรู้สึกหรือสัมผัส “ความมีตัวตน” ของตัวเราเองเมื่อเราอยู่คนเดียว

ที่พูดอย่างนั้นก็เพราะเราไม่อาจจะเกิดคำถามต่อความมีตัวตนของเรา (ในที่นี้ หมายถึงตัวฉัน) ถ้าหากไม่มีสิ่งที่เรียกว่าคนอื่น หรือพูดอีกอย่างก็คือ เราไม่อาจคิดคำนึงถึงความเป็น “ข้างใน” ได้ ถ้าหากไม่มีสิ่งที่อยู่ “ข้างนอก”

ยังไงก็ตาม มันอาจไม่ขัดแย้งกันอย่างที่ว่ามาก็ได้ เพราะเรามักรู้สึกถึงตัวตนของเรา เมื่อเราประสบกับ “ความขาดหายไป” ของสิ่งมีชีวิตอื่น ซึ่งอาจถูกแทนที่ด้วยสิ่งไม่มีชีวิต (ที่เราไม่เคยมีปฏิสัมพันธ์ด้วย) ที่เคยอยู่ข้างนอก แต่กลับคุกคามเข้ามาภายในอาณาเขตของ “ข้างใน”

อย่างที่เฟย์ยกตัวอย่างงานของ Sartre ว่า "...ตู้เสื้อผ้า โต๊ะอ่านหนังสือ เก้าอี้ ผ้าม่าน ฯลฯ ทุกสิ่งเหล่านี้ “ดำเนินชีวิต” ของมันต่อไป โดยที่ไม่จำเป็นต้องมีเรา โดยที่ไม่สนใจเรา “มันมีชีวิตของมัน”"

เมื่อพูดถึง "ความขาดหายไป" ของสิ่งมีชีวิตอื่น บ่อยครั้ง มันนำมาซึ่ง "ความเหงา" หรือ "การใคร่ครวญที่มากเกินไป" ที่มักทำให้เรารู้สึกถึงการมีอยู่ของตัวเรา

ความเหงาอาจจะเป็นความรู้สึกขาดหายไปของคนอื่น ของเพื่อนหรือคนที่เคยอยู่ใกล้ชิด ซึ่งอาจจะสะท้อนความต้องการที่จะแบ่งปัน หรือในมุมตรงกันข้ามคือความต้องการที่จะแก่งแย่งก็เป็นได้

เมื่อไม่สามารถแบ่งปันหรือแก่งแย่ง (เพราะไม่มีใครให้แบ่งปันหรือแก่งแย่ง) จึงแสดงอาการหรือสัญญาณออกมา

ในขณะที่ความใคร่ครวญที่มากเกินไป ซึ่งมักจะเป็นการโจมตีของความรู้สึกผิดชอบชั่วดีนั้นก็มักทำให้เราเกิด “วิกฤตของความมีตัวตน” ได้เสมอ

เพราะ “ความคิด” นั้นคือความมีตัวตนในระดับที่ลึกซึ้งที่สุด ที่เราไม่อาจปฏิเสธได้ ตาม cogito, ergo sum หรือ je pense donc je suis ของ Descartes (Les Principes de la philosophie, article 7)

Descartes กล่าวว่าในขณะที่เราสงสัย เรารู้ว่าเรามีตัวตนอยู่จริง เพราะมีความสงสัยและมีใครบางคนที่กำลังทำการสงสัย หรือ « tandis que je doute, je sais que j'existe, car s'il y a un doute, c'est qu'il y a nécessairement quelqu'un qui est là pour douter »

จึงเป็นไปได้ว่า “ความเงียบภายนอก” ที่มักเกิดขึ้นขณะอยู่คนเดียว ได้ทำให้ “เสียงภายในหัว” ของเราดังขึ้น จนเรารู้สึกถึง “ความเงียบที่มีเสียง” ของเฟย์นั่นเอง

ความคิดเห็น

ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า
ความคิดเห็นนี้ถูกลบโดยผู้ดูแลระบบของบล็อก
ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า
ความคิดเห็นนี้ถูกลบโดยผู้ดูแลระบบของบล็อก
Kriangsak กล่าวว่า
ความคิดเห็นนี้ถูกผู้เขียนลบ
ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า
ความคิดเห็นนี้ถูกลบโดยผู้ดูแลระบบของบล็อก
noka กล่าวว่า
ชอบที่คุณช้างกล่าวถึงเรื่องอัตตาและการละวางมาก แต่ก็ยากจริงๆที่จะทำเช่นนั้น ในเมื่อเรายังไม่ได้หลุดจากการอยู่ร่วมกันกับคนหมู่มาก (ไม่พยายามจะหลุดด้วย) เราจึงได้รับสิ่งที่เรียกว่าสุขและทุกข์จากอัตตาของเราเอง

ความเงียบนั้นช่วยผ่อนคลายจิตที่หนักเพราะทุกข์ได้ในบางขณะและหรือทำให้จิตตกมากขึ้นได้เช่นกัน ถึงแม้ว่าเราจะรู้ทันมันจากการได้พิจารณาความรู้สึก"ข้างในใจ" แต่จะให้ละวางคงยังไม่สามารถอย่างที่คุณช้างเองก็ยอมรับเหมือนกัน

อย่างไรก็ดี การได้อยู่กับความเงียบแบบไม่เงียบจริง(คืออาจจะมีใครที่เดินผ่านมาและผ่านไปแต่ก็ไม่ได้ทำลายความเงียบของเราเช่นการนั่งคิดอะไรเงียบๆในสวนสาธารณะ) หลายครั้งที่รู้สึกสงบและเป็นสุขได้เพียงเพราะเราเลือกที่จะคิดถึงสิ่งที่รักและทำให้สุขใจ ต้องพยายามเลือกที่จะคิดและรู้จักมองโลกในแง่ดีก็จะช่วยให้เรามีความสุขขึ้น

เขียนไปก็คิดไปว่าเราทำได้ดีพอหรือยัง
ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า
"จากหลักพุทธ สู่ปรัชญาสังคม - ว่าด้วยเรื่องอัตลักษณ์แบบอนัตตา"

จริงๆแล้วสำหรับเฟย์ อัตตาที่ทุกคนได้เขียนมานั้น (ไม่ว่าจะในรูปแบบใดๆ - รูปแบบของสาเหตุ ก็คือความทุกข์ หรือรูปแบบของการพยายามหลุดพ้น ก็คือการปล่อยวาง)ไม่ได้มาจากสังคมหรือการที่เราอยู่ร่วมกับผู้อื่นมากเท่ากับมาจากการที่เรารู้ว่า"มีเรา" รู้ว่าเราคิด เรารู้สึก รู้ว่าเรามีอยู่

หรือพูดอีกอย่างว่า อัตตา ในความเข้าใจของเฟย์ มาจากการที่เรารู้ว่าเรากำลัง"เป็น"อัตตานั่นเอง นั่นแหล่ะที่อันตรายที่สุด ที่ยากที่สุดที่จะไม่ยึดมั่นถือมั่น ไม่ยึดให้มั่นไม่ถือให้นิ่ง

จากที่ได้อ่านคำสอนเรื่อง อัตตา ของพระที่พี่ช้างได้เสวนาด้วยแล้ว ทำให้เฟย์นึกถึงหนังสือที่กำลังอ่านอยู่ ซึ่งพูดถึงเรื่อง sujet หรือ subject ผ่านปรัชญาสายต่างๆในประวัติศาสตร์ยุโรป

แนวคิดเรื่องอัตตานี้ของชาวตะวันตก -ซึ่งเป็นแนวคิดที่เป็น"ราก"ฐานของวัฒนธรรมของเขา เป็นแนวคิดที่ทำให้ตะวันตกเป็นเช่นนี้ในปัจจุบัน ประวัติศาสตร์ของอัตตาเท่ากับประวัติศาสตร์ของการสร้างยุโรปในทุกมิติเลยก็ว่าได้

ในหนังสือชื่อ "Méditations", Descartes
-ผู้วางรากฐานปรัชญาแนว rationnalisme โดยหัวใจสำคัญคือการพยายามตั้งคำถามกับเรื่องอัตตา- หลังจากที่ได้ตั้งคำถามและ"สงสัย"กับทุกๆเรื่อง แม้กระทั่งเรื่องการมีตัวตนหรือไม่ของ"กู" (ขอส่งความระลึกถึงท่านพระพุทธทาส) ได้สรุปความคิดของเขาไว้ได้เป็น 1 ประโยคคือ "cogito ergo sum" (ใน "Discours de la Méthode") หรือ I think,therefore i am. หมายความว่า ณ วินาทีที่เราคิด แม้ว่าในความจริงแล้วเราจะไม่มีตัวตนอยู่ เราไม่สามารถปฎิเสธได้ว่าเรากำลัง"คิด"อยู่ เพราะฉะนั้น เราจึงมีตัวตน ณ วินาทีที่เราคิด เพราะฉะนั้นความจริงสูงสุดที่เราไม่สามารถ"สงสัย"ได้เลยก็คือ เราคิด เราจึงเป็นเรา "กูคิด ตัวกูจึงมี"

นั่นหมายความว่า ในอนิจจัง ในความเปลี่ยนแปลงตามกาลเวลา แม้ว่าเราจะเปลี่ยนไปเพียงใด เราก็ยังเป็น"เรา"อยู่ดี หาได้เป็น"คนอื่น"ไม่ เพราะฉะนั้น เราจึงมี อัตตาจึงมี

อัตตาเป็นเสาเข็มของระบบสังคม ของระบบความคิด และระบบการพัฒนาของยุโรป

ช่างไกลกันเหลือเกินจากสังคมไทย เรียกได้ว่าแนวคิด cartésien นี้ตรงกันข้ามกับแนวคิดที่เป็นรากฐานของสังคมไทย สังคมที่ถูกสร้างอัตลักษณ์ความเป็นไทยมาจากแนวคิดเรื่อง "อนัตตา" สังคมที่พื้นฐานทางความคิดได้รับอิทธิพลมากจาก 1 วลี "อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา" หาได้มาจาก 1 ประโยคของ Descartes ไม่

สังคมที่ระบบความคิด ระบบการมองโลกมีจุดเริ่มต้นดั้งเดิมมาจากการที่ตัวกูมิใช่ของกู ไม่มีกู

จึงทำให้เรายอมรับการมีชนชั้น ยอมรับความไม่เสมอภาคเพียงเพราะเกิดมาไม่เท่ากัน ยอบรับระบบเจ้าขุนมูลนาย โดยไม่ "ตั้งคำถาม" ไม่ "สงสัย"ว่าถูกต้องหรือไม่ ว่าทำไม ว่าอย่างไร ว่าเขตจำกัดที่ใด

ระบบความสัมพันธ์ของคนในสังคมไทยจึงถูกสร้างขึ้นบนพื้นฐานของการไม่เรียกร้องสิทธิ บนพื้นฐานของการเคารพเชื่อฟังคำสั่งสอนของบรรพบุรุษโดยไม่มีเงื่อไข บนพื้นฐานของการยอมรับสิ่งที่เป็นอยู่ สิ่งที่"ก็มันเป็นเช่นนั้นเอง" บนพื้นฐานของประวัติศาสตร์แบบ propaganda กรอกหู กรอกสมอง กรอกความคิดเช้า สาย บ่าย เย็น

แต่อัตลักษณ์ทางสังคมในแง่ที่เฟย์ได้พูดมานี้กำลังถูกทำให้เปลี่ยน คนที่อยู่ในระบบความสัมพันธ์แบบอนัตตานี้กำลังถูกคุกคามจากฝากฝั่งตะวันตก จากกระแสโลกาภิวัฒน์ทางการสื่อสารและจากกระแสทุนนิยมทางความคิด เราเริ่ม "ตั้งคำถาม" เราเริ่ม "สงสัย"

ทำไม?

เฟย์ไม่ได้พูดว่าสังคมใดดีกว่าหรือเหนือกว่าสังคม เพียงแต่ชี้ให้เห็นถึงความแตกต่างของระบบสังคม 2 สังคมที่มีพื้นฐานมาจากระบบความคิดเรื่องอัตตาที่แตกต่างกัน ซึ่งนำมาสู่ระบบความสัมพันธ์ทางสังคมของคนในสังคมที่แตกต่างกัน ซึ่งนำมาสู่"ระบบความคิด"ที่แตกต่างกัน (ขอใส่เครื่องหมายคำพูดให้กับคำนี้ เพราะหมายถึง ระบบความคิดสั้นๆ ไม่มีคำเช่น "ทางปรัชญา" "ทางสังคม" "ของโครงสร้างรัฐ" ต่อท้าย)

บทความที่ได้รับความนิยม