ครู นักเรียนกับหนังสือ “สมบัติผู้ดี” ?

ในระหว่างที่กลับมาเยี่ยมบ้านที่เมืองไทย ทุกเช้าผมจะได้ฟังการเล่าข่าวและคุยข่าวจากรายการวิทยุที่พ่อเปิดระหว่างทานอาหารเช้า

ถึงจะไม่ได้รับอะไรมากไปกว่าข้อมูลข่าวสาร และความคิดเห็นของผู้ฟังที่โทรศัพท์เข้าไปเพื่อระบายความคับข้องใจ แต่ก็ทำให้ผมได้ติดตามประเด็นข่าวที่กำลังเป็นที่สนใจวันต่อวัน

เช้านี้ มีการพูดคุยกันอย่างมากเกี่ยวกับปัญหาด้านการศึกษา โดยเฉพาะสถานภาพทางสังคมที่ตกต่ำของอาชีพครู รวมทั้งปัญหาจริยธรรมของครูและปัญหาคุณธรรม จริยธรรมของเด็ก

ส่วนใหญ่จะหยิบยกตัวอย่างของครูที่บังคับสอนพิเศษกับเด็กเพื่อเพิ่มรายได้ให้กับตนเอง และเรื่องที่ผู้ใหญ่มองว่าเป็นปัญหาสำหรับเด็กคือเด็กสมัยนี้มีจิตใจคับแคบและไม่มีสัมมาคารวะต่อผู้ใหญ่

ผู้จัดรายการ (ทั้งสองคน) ได้เสนอว่าควรมีการนำวิชา “ศีลธรรม” “จริยธรรม” และ “หน้าที่พลเมือง” กลับมาสอนใหม่ในโรงเรียน นอกจากนี้ ยังพูดกันไปถึงการเสนอให้สำนักพิมพ์ต่างๆ นำหนังสือ “สมบัติผู้ดี” กลับมาพิมพ์เพื่อจัดจำหน่ายอย่างกว้างขวางอีกครั้ง (ครับ ไม่ได้ล้อเล่น เรื่องจริง!)

เหตุเกิดเพราะคณะกรรมการอะไรสักอย่างเกี่ยวกับการศึกษา (ที่ผมเองไม่สามารถจำชื่อได้ เพราะไม่คิดว่าเป็นสาระสำคัญสำหรับผม) ได้เสนอให้นำประเด็นเรื่องคุณธรรมและจริยธรรมขึ้นมาเป็นวาระแห่งชาติ

ผมเอง ไม่คิดว่าการแก้ปัญหาคุณธรรมและจริยธรรมของทั้งเด็กนักเรียนและครูจะสามารถทำได้โดยการเพิ่มวิชาศีลธรรมและหน้าที่พลเมืองในหลักสูตร และไม่แน่ใจด้วยว่าหนังสือ “สมบัติผู้ดี” จะเป็นหนึ่งในทางออกของปัญหาที่ว่ามาข้างต้น

ยังไม่ต้องพูดถึงว่าปัญหานี้ โดยตัวของมันเองเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นจริงหรือไม่ หรือการมองว่ามันเป็นปัญหา จะเป็นปัญหาซะเอง

ยังไงก็ตาม ผมเองโชคร้าย (หรือโชคดีก็ไม่ทราบ) ที่เกิดไม่ทันได้เรียนวิชาศีลธรรมและหน้าที่พลเมือง รวมทั้งไม่มีโอกาสได้เห็นหน้าตาของหนังสือโด่งดังที่ว่า จึงไม่สามารถพูดได้อย่างเต็มปากว่าเนื้อหาของวิชาและหนังสือเหล่านี้ ล้าสมัยเกินไป หรือมีพลังเพียงพอในการจัดการกับสิ่งที่เรามองว่าเป็นปัญหาหรือไม่

อันนี้อาจจะต้องลองสอบถามหาข้อมูลจากพี่ๆ หลายคน ที่มีแววจะได้เรียนและได้อ่านหนังสือที่ว่า (ซึ่งอาจไม่มีใครกล้ายอมรับ...) ในระหว่างนี้ ผมคงจะต้องอาศัยวิธีคิดแบบหยาบๆ ที่อาจจะไม่สอดคล้องกับ “หน้าที่พลเมืองที่ดี” ในแบบของผมต่อไป

ผมคิดว่า ด้วยบริบทของสังคมที่เปลี่ยนไป เราอาจจะต้องปรับมุมมองและวิธีคิดต่ออาชีพครูและ “หน้าที่พลเมือง” หรือ “ศีลธรรมจรรยา” ที่ดีของเด็กเสียใหม่ หรือไม่??

อาจารย์นิธิ เอียวศรีวงศ์ นักคิดแนวหน้าบ้านเรา ได้เขียนเอาไว้อย่างยอดเยี่ยมในหลายที่และหลายโอกาสเกี่ยวกับ “ครู” และ “ระบบการศึกษา” ของบ้านเรา ผมเองได้เรียนรู้อย่างมากจากท่าน

ท่านได้เคยเขียนเรื่อง “ครู” ในมติชน สุดสัปดาห์ วันที่ ๑๐ ธันวาคม ๒๕๓๙ (รวบรวมใน “มหาวิทยาลัยเที่ยงวัน” โดย ศิลปวัฒนธรรมฉบับพิเศษ สำนักพิมพ์มติชน) เอาไว้อย่างน่าสนใจว่า ทุกครั้งที่เราพูดถึงการปฏิรูปการศึกษา จะมาจบลงทุกครั้งเสมอที่ปัญหาครู กล่าวคือ ว่ากันด้วยเรื่องสถานภาพของครูที่ตกต่ำและครูด้อยคุณภาพ เพราะคนเก่งไม่เรียนครูและค่าตอบแทนที่เป็นตัวเงินของครูต่ำเกินไป

และทุกครั้งเสมอไป ก็ต้องเสนอทางออกด้วยการหาวิธีให้คนเก่งมาเรียนครูและเพิ่มค่าตอบแทนที่เป็นตัวเงิน เรียกได้ว่าเป็นปัญหาและทางออกคลาสสิกในทุกวงสนทนา ไม่เว้นในห้องประชุมของภาครัฐ

ในความเห็นของท่าน การแก้ปัญหาโดยพยายามรักษาอาชีพครู (ซึ่งดูเหมือนจะเป็นอาชีพที่ล้าสมัย) เอาไว้ อาจจะทำได้ไม่นานนัก เนื่องจากระบบการศึกษาของไทยได้ผลิตครูที่มีวิธีการสอนไม่สอดคล้องกับสภาพสังคมที่เปลี่ยนไปในปัจจุบัน

กล่าวคือ บทบาทของครูแบบดั้งเดิมที่เป็นเพียงผู้ส่งผ่านข้อมูลหรือ “ความรู้อัดกระป๋อง” แบบเก่านั้น ถือว่าหมดพลังและความหมายลงไปอย่างสิ้นเชิงในโลกโลกาภิวัตน์ที่ข้อมูลข่าวสารหลั่งไหลท่วมท้น เนื่องจากข้อมูลใหม่ก็เกิดขึ้นตลอดเวลา การส่งผ่าน “ความรู้สำเร็จรูป” แบบอัดกระป๋องที่ครูเคยทำจึงเป็นไปไม่ได้

จริงๆ แล้ว การ“รับรู้” หรือ “เรียนรู้” แบบที่เราทำในโรงเรียนนั้นก็ไม่เพียงพอที่จะทำให้เกิด “ความรู้” เนื่องจาก ความรู้ต้องเกิดจากการสร้างของผู้เรียนเอง โดยผู้เรียนสามารถเชื่อมโยงข้อมูลที่ได้รับเข้ากับตัวเองและโลก

การเรียนและการสอนที่เราใช้อยู่ โดยแก่นของมัน จึงไม่สนับสนุนให้เกิดความรู้ แต่เป็นการเรียนรู้เท่านั้น

ด้วยประการทั้งปวง ครูจึงอาจจะต้องเปลี่ยนบทบาทมาเป็น “ผู้จัดการการเรียนรู้” นอกจากนี้ ระบบการศึกษาอาจจะต้องปรับปรุงไปเป็นระบบที่สร้างให้ทุกคนเป็นครูและนักเรียนในเวลาเดียวกัน

ที่ว่ามาทั้งหมดนี้ ก็ยังไม่ได้พูดถึงเรื่องศีลธรรมหรือจริยธรรมเลยด้วยซ้ำ

เป็นเพราะระบบการศึกษาของเรามีเป้าหมายในการเชิดชู “คนเก่ง” มากกว่า “คนดี” และการศึกษาแบบตะวันตกที่เราลอกแบบมานั้นก็ไม่ได้สอนให้คนเป็นคนดีแต่อย่างใด

ยังไงก็ตาม ผมไม่สามารถพูดถึงปัญหาศีลธรรมหรือจริยธรรมต่อไปได้ ในเมื่อผมเองไม่เห็นว่า การที่เด็กไม่มีกริยามารยาทแบบไทยเหมือนแต่ก่อนนั้นจะเป็นปัญหาสำคัญ “การเปลี่ยนแปลง” ในลักษณะดังกล่าว อาจจะเป็นผลของปัญหาอื่น ซึ่งเราต้องมองให้ลึกลงไปกว่านี้หรือไม่ ?? อันนี้เราคงต้องช่วยกันคิด

สุดท้าย ผมคิดว่าการสอนทางด้านคุณธรรมและจริยธรรมที่ได้ผลดีและมีประสิทธิภาพสำหรับเด็ก น่าจะเป็นการทำตัวอย่างให้เด็กเห็น เพราะเด็กนั้นเรียนรู้จากประสบการณ์ไม่น้อยทีเดียว

หรืออาจจะเป็นไปได้ว่า ไม่มีผู้ใหญ่ที่น่ายกมือไหว้เหลือสักเท่าไหร่ในสังคมไทย...

ความคิดเห็น

Mr.Bhumindr BUTR-INDR กล่าวว่า
ความจริงเรื่องจริยธรรมของครูบาอาจารย์นี่ผมว่าคงเป็นการยากที่จะเอามาเป็นเกณฑ์วัดระดับนะครับ แต่ผมมองมานานแล้วว่าปัญหามันน่าจะเกิดที่สิ่งแวดล้อมและแรงจูงใจ(ขอพูดในฐานะที่เป็นลูกครูคนหนึ่ง)
ในกรณีของไทยถ้าเราจะมองในเชิงประวัติศาสตร์ ก่อนหน้าที่สมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯจะนำการศึกษาออกนอกระบบเฉกเช่นตะวันออก เราเคยรำเรียนในวัด
ผมมองว่าสมัยก่อน วัด พระ จริยธรรม การศึกษาและการยอมรับนับถือมันมาขนาบคู่กัน แต่เรื่องคุณภาพและมาตราฐานอาจแตกต่างกันไปตามสังคม
เมื่อเราเอาการศึกษาแยกออกจากวัฒนธรรม(ในที่นี้หมายถึง วัด)ความเปลี่ยนแปลงครั้งหนึ่งเริ่มเกิดขึ้น

หลังจากระบบศักดินาเริ่มจาง ยกตัวอย่างเช่น สมัยก่อนพวกครูบาอาจารย์อาจมีระบบจูงใจเพิ่ม เช่น การได้ยศฐาบรรดาศักดิ์ติดตัว อย่าง พระยา เป็นต้น ในครั้นต่อมาสิ่งเหล่านี้ถูกแยกออกไป นี่คือความเปลี่ยนแปลงเล็กๆน้อยๆ

ภายหลังจากระบบทุนเป็นตัวกำหนดสังคม แรงจูงใจเห็นจะไม่ใช่"เกียรติ"อีกต่อไปแต่เป็น "กิน"หมายถึง ปากและท้อง เพราะทุกอย่างถูกกำหนดด้วยการซื้อขาย เราจะสังเกตได้ในช่วยที่เราเป็นเด็ก ครูที่สอนดีๆในโรงเรียนจะออกไปสอนอย่างมีคุณภาพที่นอกโรงเรียนหรือ การสอนพิเศษ เพราะค่าตอบแทนที่แตกต่างหรือสิ่งจูงใจอะไรกันแน่ครับ
ผมคิดอยู่เสมอว่าประเทศเราให้ความสำคัญที่ปลายเหตุเสมอ เช่นเรื่องนี้เป็นต้น ในระยะยาวเราคงได้เห็นอะไรบ้างในช่วงชิวิตเรา

วันก่อนผมได้กลับไปหาคุณแม่บุณธรรมที่เป็นคนฝรั่งเศส ตอนนี้เป็นคุณครูที่สอนเด็กเล็ก แม่บ่นกับผมว่าเด็กฝรั่งเศสเองมีปัญหามากเช่นกัน อายุสิบกว่าขวบยังเขียนไมได้เลยก็มี เค้ากลุ้มใจกับเด็กๆมากจนไม่มีกะใจไปสอน ผมไม่สนตัวเด็กหรอกครับแต่สนที่ตัวครูซึ่งก็คือแม่ผม ทำไมเป็นครูที่มีคุณภาพจริงๆ?

นี่ละครับผมขอมาบ่นนิดๆ อิอิ

บทความที่ได้รับความนิยม