ไอทีวี (ต่อ)

ค่อนข้างแน่นอนว่า จอภาพไอทีวีจะไม่ดำต่อไป เพราะกรมประชาสัมพันธ์จะเข้าไปดำเนินการต่อทันที

ยังไงก็ตาม คำถามที่สำคัญต่อไปคือ ในเมื่อความเป็นสื่อเสรี โดยไม่ถูกควบคุมจากการเมืองหรือกลไกของรัฐได้จบสิ้นลงแล้ว ประชาชนจะรู้สึกอย่างไรกับการเปิดดำเนินการต่อไปของไอทีวี?

ความไม่พอใจส่วนใหญ่เกิดจากความสงสารต่อชะตากรรมของเหล่าพนักงานไอทีวีที่ถูกลอยแพ เพียงอย่างเดียวหรือไม่? ถ้าหากใช่ ทางออกนี้ก็ไม่เลวร้ายนัก เพราะกรมประชาสัมพันธ์รับปากจะดูแลพนักงานเหล่านี้ ในลักษณะของการทำสัญญาจ้างผลิตรายการ

สำหรับพนักงานไอทีวีเอง ค่าตอบแทนและสภาพการทำงานต้องเปลี่ยนไป จะพอใจหรือไม่นั้นเป็นอีกเรื่องหนึ่ง ส่วนความมีประสิทธิภาพของการบริหาร ในมุมของการบริหารงบประมาณรัฐ ภายใต้เงื่อนไขและข้อจำกัดของการแก้ไขปัญหาพนักงานไอทีวีก็จะเป็นอีกประเด็นหนึ่ง

หรือความคับข้องใจส่วนใหญ่เกิดจากการไม่เห็นด้วยที่รัฐไม่เข้าไปจัดการปัญหาไอทีวี ในลักษณะที่ช่วยให้ไอทีวีสามารถดูแลตัวเองได้ และยังคงรักษาความเป็นสื่อที่อยู่นอกเหนือการจัดการของรัฐอยู่ ?

ถ้าหากใช่ ความพึงพอใจต่อการแก้ไขปัญหาไอทีวี (โดยการมอบหน้าที่ให้กรมประชาสัมพันธ์เข้าไปดำเนินการ) ของนายกฯ และรัฐมนตรี รวมทั้งข้าราชการอาจจะสะท้อนความเข้าใจและการรับรู้ความต้องการของประชาชนที่คลาดเคลื่อน

วันนี้ หลายคนพูดถึงชัยชนะของประชาชน โดยไม่ตระหนักว่าเราต้องแลกมันมาด้วยทีวีที่ดำเนินการโดยรัฐอีกช่อง และไม่มีใครตั้งคำถามว่าผู้บริหารใหม่ของไอทีวีจะเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับและมีส่วนในการกลั่นกรองเนื้อหาอย่างไร

นอกจากนี้ การอุ้มพนักงานไอทีวีด้วยเหตุผลทางสังคมนั้นคงไม่ผิดอะไรมากนัก แต่คงจะต้องทบทวนถึงความสมเหตุผล (ทั้งในเชิงหลักการและความคุ้มทางธุรกิจ) ของการเพิ่มภาระของรัฐในการเข้าไปดูแลทีวีเพิ่มอีกหนึ่งช่อง รวมทั้งต้องเข้าไปจัดการกับหนี้สินของไอทีวีต่อเอกชนอื่น ส่วนคำถามที่แฝงอยู่จึงเป็นเรื่องของวิธีเข้าไปจัดการกับปัญหาของไอทีวีต่อไป เช่น สถานะของไอทีวีในอนาคตจะเป็นอย่างไร รัฐจะถือโอกาสนี้วางรากฐานสำหรับการปรับเปลี่ยนสถานีทีไอทีวีไปเป็นสื่อสาธารณะเต็มตัวต่อไป หรือมีทางเลือกอื่นเช่น เปิดประมูลให้กับเอกชนรายใหม่เข้ามาบริหาร โดยมีเงื่อนไข (ที่ดูจะเป็นแรงจูงใจมากกว่า) เกี่ยวกับการจ้างพนักงานเดิมในระยะแรกนั้นหรือไม่

แต่วันนี้ดูเหมือนว่าทุกคนจะพึงพอใจอยู่กับแค่ประโยคที่ว่า “ไอทีวีจอไม่มืดอีกต่อไป”

ผมเองเป็นแฟนไอทีวีตั้งแต่บริหารโดยทีมข่าวจากเนชั่นและมองเห็นความแตกต่างในแง่คุณภาพของเนื้อหาและวิธีการนำเสนอที่เด่นชัดขึ้นเรื่อยๆ จนกระทั่งปัจจุบัน และไอทีวีก็พยายามอย่างหนักก่อนหน้านี้ เพื่อสร้างความรับรู้กับผู้ชมว่าตนแตกต่างจากทีวีช่องอื่น (ถ้าอยากจะทำ เพราะมีช่วงที่ละเลยต่อสิ่งเหล่านี้ไปนานพอสมควร จนกระทั่งมีข่าวจะถูกปิดออกมา)

โดยส่วนตัว รู้สึกว่าเราให้ความสนใจกับปัญหาของไอทีวีช้าเกินไป ในเมื่อการเปลี่ยนแปลงในไอทีวีและปัญหาที่เกิดขึ้นตั้งเค้าให้เห็นก่อนหน้านี้เป็นเวลานาน (ดูได้จากบทความที่ผมเขียนข้างต้น) ต้องบอกว่า ผมเองรู้สึกผิดหวังที่สังคมไทยอ่อนปวกเปียก และคนไทยเฉื่อยแฉะต่อปัญหาในสังคมต่างๆ โดยเฉพาะส่วนที่ทับซ้อนกับการเมือง

เมื่อคราวที่ได้กลับไปเมืองไทยเดือนก่อน ได้พบกับเพื่อนหลายคนที่มีหน้าที่การงานดี มีการศึกษาดี แต่หลังจากได้พูดคุยก็ทำให้เข้าใจว่าทำไมสังคมเราอ่อนปวกเปียกขนาดนี้ ในเมื่อคนเหล่านี้ไม่ได้สนใจหรือใส่ใจต่อสิ่งที่เกิดขึ้นในสังคมแม้แต่น้อย เป็นเรื่องน่าเสียดายยิ่ง

ความคิดเห็น

noka กล่าวว่า
ว่ากันว่าการบริหารคือหัวใจของการอยู่รอด

ผลกระทบของการมีไอทีวีหรือไม่มีไอทีวีคงมีน้อยเกินไปที่สังคมส่วนใหญ่จะตื่นตัวตั้งแต่ตอนแรก เนื่องจากเป็นทีวีเสรีมาได้ไม่นานแต่ถ้าหากเกิดขึ้นกับช่องเจ็ดหรือช่องสาม อาจจะมีคนออกอาละวาดแบบหัวฟัดหัวเหวี่ยง

ที่จริงเป็นเรื่องน่าเสียดายที่รายการทีวีอิสระจะถูกกลืนหายไปหรือกว่าจะมีช่องใหม่ขึ้นมาก็ต้องใช้ทั้งเงินและเวลาไม่ใช่น้อยที่จะสร้างแบรนด์ให้เด่นชัด ช่องทีวีที่มีประโยชน์และสาระนั้นถูกแทนที่ด้วยทีวีต่างชาตือย่างช่วยไม่ได้

คงไม่มีใครไม่ดูหนัง HBO หรือสารคดีต่างชาติเมื่อต้องจ่ายค่าสมาชิกไปแล้วคือมีทางเลือกมากขึ้นจนไม่แยแสช่องไอทีวีของไทยที่หลังๆการดำเนินงานก็ไม่ได้โดดเด่น ไม่มีรายการอะไรที่ดึงคนดูแบบจริงๆ จังๆ หรือมีก็ไม่ได้โปรโมทดีพอ อันนี้จากความเห็นของคนดูทีวีที่มีทางเลือก

ส่วนคนที่ไม่ได้เสียเงินค่าสมาชิกรายการทีวีแบบกล่องหรือชาวบ้านชาวช่องทั่วไปถึงแม้อยากจะให้ไอทีวีคงอยู่ไว้ก็คงไม่มีปัญญาจะไปทำอะไรได้ ในเมื่อมันเป็นเรื่องที่เหมือนจะไกลตัว แต่อย่างที่บอกถ้าหากว่าเป็นช่องเจ็ดเกิดวิกฤตแบบนี้เข้าให้ รับรองตื่นตัว ตื่นเต้นตั้งกะรู้ข่าวแน่นอน เพราะลืมตามาก็ดู หลับตาไปก็เห็นเหมือนมันอยู่ในสายเลือด ส่วนรายการจะดีหรือไม่ดีไม่ได้สนใจขนาดนั้น อาจจะมีบ่นแต่ก็เห็นดูกันไม่เปลี่ยน

การที่ไอทีวีจะถูกถอดถอนแล้วทำให้เกิดหยุดคิดขึ้นมาว่าให้คงอยู่เถิด เพราะเป็นช่องอิสระทางเลือกสำหรับสื่อ แต่ไม่เห็นว่าสื่อที่ทำอยู่หลังจากการออกไปยกทีมของเนชั่นจะโดดเด่นไปกว่าทีวีธรรมดาช่องอื่นมากนัก คงเพราะการบริหารจัดการที่ไม่สอดคล้องกัน คือมีการเมืองข้างในมากเกินกว่าจะทำรายการได้อิสระจริงจัง มีหนี้สิน มีการกดดันจากข้อสัญญา และอื่นๆที่ผู้บริหารถ้าไม่เก่ง เจ๋ง ก็เดี้ยงอย่างที่เป็นอยู่นั่นเอง หรือคนอื่นคิดว่าไง
ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า
นั่นซิเนอะคนอยู่เมืองไทยอย่างเราไม่ค่อยได้ใส่ใจกับข่าวสารที่ว่ามากเท่าไหร่ จริงๆด้วย
อาจเพราะว่า วิถีการใช้ชีวิตมีเรื่องอีกมากมายให้วุ่นวายและรับผิดชอบ
ทั้งชีวิตของตัวเองและก็ชีวิตของผู้อื่น(ที่อยู่ในอุ้งมือเรา)
อันนี้ไม่รู้ว่าจะเรียกว่าข้ออ้างได้หรือเปล่า
หวังว่าตัวเองจะไม่ได้มีส่วนที่ทำให้สังคมไทยต้องอ่อนปวกเปียกไปนะ

บทความที่ได้รับความนิยม