“ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง” หลังยุคทักษิณ

ความสอดคล้องของ “ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง” กับระบบเศรษฐกิจทุนนิยมกลายเป็นประเด็นที่มีความสำคัญมากในสังคมไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ภายหลังเหตุการณ์รัฐประหาร ๑๙ กันยายน ๒๕๔๙ เนื่องจากเหตุผลที่สำคัญสองประการ

ประการแรก หลังจากที่คณะรัฐประหาร ซึ่งเรียกตนเองว่า “คณะปฏิรูปการปกครองในระบบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (คปค.)” ได้เข้ายึดอำนาจ พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น และได้จัดตั้งคณะรัฐบาลรักษาการณ์เพื่อเข้าบริหารประเทศ นโยบายทางเศรษฐกิจของประเทศไทยภายใต้การบริหารของอดีตนายกฯ ทักษิณและรัฐบาลพรรคไทยรักไทย ที่ถูกเรียกรวมๆ ว่านโยบายเศรษฐกิจแบบ “ทักษิโณมิคส์” ก็ถูกโจมตีอย่างหนักหน่วงและต่อเนื่องจากรัฐบาลรักษาการณ์ จากนักวิชาการและข้าราชการสายอนุรักษ์นิยมที่มีบทบาทในสังคมไทยมากขึ้นภายหลังเหตุการณ์รัฐประหาร

เป็นที่น่าสังเกตว่า ถึงแม้นักวิชาการจำนวนไม่น้อย ทั้งที่ดำรงตำแหน่งทางการเมืองในฝ่ายตรวจสอบ และที่อยู่ในรั้วมหาวิทยาลัยและเป็นผู้นำการเคลื่อนไหวของภาคประชาชน จะได้วิพากษ์การดำเนินนโยบายทางสังคมและเศรษฐกิจใน “ระบอบทักษิณ” มาอย่างต่อเนื่องก่อนหน้าที่จะมีการทำรัฐประหาร แต่ก็ทำให้เกิดผลในวงจำกัดและไม่มีอานุภาพเท่ากับที่นักวิชาการและข้าราชการสายอนุรักษ์นิยมทำในยุคหลังทักษิณ (นอกจากนี้ คำถามที่น่าสนใจคือ ในยุคก่อน ๑๙ กันยายนนั้น นักวิชาการและข้าราชการกลุ่มหลังนี้ได้แสดงจุดยืนและบทบาทต่อต้าน “ระบอบทักษิณ” ต่อสาธารณะมากน้อยเพียงใด)

ประการที่สอง ประจวบเหมาะกับสถานการณ์ทางการเมืองที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว ในยุคหลังทักษิณ ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงได้เพิ่มความสำคัญขึ้นในสังคมไทยอย่างฉับพลัน จริงอยู่ว่า ถึงแม้นักวิชาการ หน่วยงานราชการและเอกชนจะให้ความสนใจและพูดถึงแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง ที่เกิดจากกระแสพระราชดำรัสของในหลวง ในวันที่ ๔ ธันวาคม ๒๕๔๐ (ภายหลังจากวิกฤตเศรษฐกิจในปี ๒๕๔๐) มาโดยตลอด แต่ภายหลังยุคทักษิณ แนวทางเศรษฐกิจพอเพียงก็ได้เปลี่ยนบทบาทจาก “อุดมคติแบบทางเลือก” มาเป็นแนวทางหลักที่รัฐบาลและบุคคลในตำแหน่งสำคัญของประเทศนำไปขยายผลในวงกว้าง จนก่อให้เกิดข้อถกเถียงและคำถามสำคัญ เกี่ยวกับเนื้อหาและแนวทางปฏิบัติที่เป็นรูปธรรม อย่างที่พบเห็นในสื่อต่างๆ ในปัจจุบัน

ทั้งนี้ อาจกล่าวได้ว่า ความสำคัญและบทบาทของ “ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง” ได้เพิ่มทวีคูณขึ้นตามพระราชบารมีและพระราชอำนาจของพระเจ้าอยู่หัวฯ ซึ่งสะท้อนให้เห็นจากภาพความจงรักภักดีและ “กระแสเสื้อเหลือง” ที่ถึงขีดสุด ภายหลังวันที่ ๑๙ กันยายน หรือภายหลังยุคทักษิณนั่นเอง

กระแสเศรษฐกิจพอเพียงจึงเกิดขึ้นบนยอดคลื่นของกระแสเสื้อเหลือง จนคำว่า “พอเพียง” กลายเป็นคำยอดนิยมติดปากในสังคมไทย ที่ได้ยินได้ฟังกันจน “เกินพอ” นอกจากนี้ ยังถูกนำไปใช้อย่างฟุ่มเฟือย แม้กระทั่งในบริบทของบริโภคนิยมก็ตาม

ความจริงแล้ว ข้อถกเถียงเกี่ยวกับตัวเนื้อหาและแนวทางปฏิบัติที่เป็นรูปธรรมของ “ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง” เกิดขึ้นมานานในหมู่นักวิชาการสาขาเศรษฐศาสตร์ แต่ประเด็นนี้ เพิ่งกลายเป็นบทสนทนาในวงกว้างของสังคม เนื่องจากเหตุผลสองประการข้างต้น อย่างไรก็ตาม สิ่งที่น่าสนใจยิ่งจากปรากฏการณ์นี้ก็คือ “ปรัชญาเศรษฐกิจแบบพอเพียง” กลับได้รับการตีความไปในทางต่างๆ อย่างหลากหลายและไร้บทสรุป ซึ่งยิ่งนานวัน ก็ยิ่งสร้างความสับสนให้กับทุกคนมากขึ้น ยิ่งเมื่อถูกนำไปวางเทียบเคียงกับระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยมด้วยแล้ว ก็ยิ่งทำให้เกิดข้อสงสัยอย่างถึงที่สุด เพราะสิ่งที่รัฐบาลไทยทุกสมัยทำมาตลอด (ตั้งแต่เปลี่ยนแปลงการปกครองในปี ๒๔๗๕) ก็คือการผลักดันประเทศไทยเข้าสู่กระแสทุนนิยมอย่างไม่มีทางหันหลังกลับ

จึงไม่เป็นเรื่องแปลกที่หลายคนจะพยายามสรุปความของแนวทางเศรษฐกิจพอเพียงไปในแบบกว้างๆ และกลางๆ ว่า นี่คือแนวทางของการใช้ชีวิตอย่างไม่ประมาทนั่นเอง เพราะนี่ดูเหมือนจะเป็นเพียงนิยามอันเดียวของเศรษฐกิจแบบพอเพียง ที่พอจะนำมาใช้ได้กับเศรษฐกิจไทยในวันนี้ โดยประชาชนไม่ต้องเปลี่ยนพฤติกรรมแบบสุดขั้วและไม่ต้องเลือกเส้นทางใหม่ในการดำเนินชีวิต

ถ้าหากจะมองหาระบบเศรษฐกิจที่สอดคล้องกับ “ปรัชญาเศรษฐกิจแบบพอเพียง” แล้วละก็ หลายคนทราบดีว่าเศรษฐกิจพอเพียงน่าจะใกล้เคียงกับ “เศรษฐกิจแบบพอยังชีพ” มากที่สุด แต่ถ้าหากเศรษฐกิจแบบพอยังชีพ คือตัวแทนของเศรษฐกิจพอเพียงแบบที่เราต้องการจะไปให้ถึงแล้วละก็ การประกาศเลือกแนวทางเศรษฐกิจพอเพียงของรัฐบาลนั้น หมายถึงงานใหญ่ที่รอรัฐบาลอยู่ข้างหน้า และนั่นหมายถึงการปฏิรูปทางด้านโครงสร้างอย่างสำคัญที่รัฐบาลจะต้องเขียนเป็นแผนแม่บทเพื่อการพัฒนาในระยะยาว

เพราะจิตวิญญาณของการดำเนินชีวิตในเศรษฐกิจแบบพอยังชีพนั่นคือ “ชุมชนและผลผลิตเพื่อยังชีพในครัวเรือน”

ลองหันมาถามตัวเองก่อนเถอะว่า “นานแค่ไหนแล้ว ที่ภาคเกษตรกรรมตายจากประเทศไทยไป และนานแค่ไหนแล้ว ที่ กำไรกลายเป็นตัวตั้งของการผลิตและเป้าหมายของการดำเนินชีวิต ของทั้งเมืองและชนบทไทย?”

เศรษฐกิจไทยเปิดตัวสู่ระบบทุนนิยมหรือ “ระบบเศรษฐกิจแบบตลาด” เป็นครั้งแรก เมื่อไทยทำสนธิสัญญาเบาริ่ง(i) ในปี พ.ศ. ๒๓๙๘ ภายหลังจากสนธิสัญญาฉบับนี้ ระบบเศรษฐกิจไทยขยายการผลิตเพื่อการค้าเป็นครั้งแรก โดยเฉพาะในภาคกลาง หลังจากที่ระบบเศรษฐกิจเคยพึ่งพาเกษตรกรรมที่ผลิตเพื่อยังชีพแบบพอเลี้ยงตัวเองได้ ไม่ใช่ผลิตเพื่อขาย สำหรับประเทศไทยในพุทธศักราช ๒๕๕๐ นี้ เรามีระบบเศรษฐกิจแบบตลาดอย่างเข้มข้น ยิ่งไปกว่านั้น ระบบเศรษฐกิจยังพึ่งพาตลาดภายนอกประเทศอย่างสูง

ถ้าหากหัวใจของ “ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง” นั้นเป็นเพียงความไม่ประมาทในการดำเนินชีวิตหรือธุรกิจแล้วละก็ ปรัชญานี้ก็ดูจะเข้าทีและแพร็คติคอล เพราะใช้ได้ดีในระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยม ที่เรากำลังดำเนินอยู่ อย่างนั้น ผมคิดว่าเก็บเรื่องเศรษฐกิจพอยังชีพ เอาไว้คุยกันหลังจากวิกฤตเศรษฐกิจรอบใหม่ ก็คงจะดี จะได้ไม่มีใครสับสน...

note
i.ศ.ดร. ฉัตรทิพย์ นาถสุภา ชี้ให้เห็นใน ประวัติศาสตร์เศรษฐกิจไทย (๒๕๔๕) ว่ามีงานวิจัยร่วมสมัยอย่างน้อย ๓ ชิ้นที่ยืนยันว่าระบบเศรษฐกิจไทยเริ่มเปิดสู่ระบบทุนนิยมอย่างมีนัยสำคัญ ภายหลังสนธิสัญญาเบาริ่ง นั่นคือ ๑) วิทยานิพนธ์ปริญญาเอกของพระองค์เจ้าดิลกนพรัตน์ ชื่อ “Die Landwirtschaft in Siam” (ประวัติศาสตร์การเกษตรประเทศสยาม), ๒) “การสำรวจเศรษฐกิจชนบทประเทศสยาม, ค.ศ. 1930-1931” (Siam Rural Economic Survey, 1930-1931, 1931) ของศาสตราจารย์ Carle C. Zimmerman, ๓) The Economical Development of Siam During the Last Half Century ของ J. Homan van der Heide ลงพิมพ์ใน Journal of the Siam Society เล่ม 3 ปี1906.

***เขียนขึ้นเพื่อเผยแพร่ในวารสารออนไลน์ ของสมาคมนักเรียนไทยในประเทศฝรั่งเศส เดือนมิถุนายน ๒๕๕๐

ความคิดเห็น

ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า
ขอบคุณสำหรับงานเขียนดี ๆ และประเทืองความรู้ครับ

คำว่า “เศรษฐกิจพอเพียง” กลายเป็นคำพูดที่ยอดนิยมจริง ๆ ได้อ่านและได้ยินทุกครั้งที่ติดตามข่าวสารของสังคมไทย

ผมก็เป็นคนหนึ่งที่สับสนมาก ๆ ในความหมายและทิศทางของการนำ “ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง” มาใช้ในการเป็นนโยบายขับเคลื่อนกลไกเศรษฐกิจของชาติ เกี๊ยงเคยพูดถึงการแบ่งในระดับจุลภาคและมหภาค ซึ่งผมเองก็ยังไม่สารมารถเข้าใจได้ หวังว่าคุณคงจะนำมาขยายความต่อนะครับ

ขอพูดถึงมุมมองทางกฎหมายบ้าง ร่าง รธน. 2550 อ้างถึงคำว่า “เศรษฐกิจพอเพียง” ไว้ 2 มาตรา โดยกำหนดไว้ในหมวด 5 แนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐดังนี้

ส่วนที่ 4 แนวนโยบายด้านศาสนา สังคม การศึกษา และวัฒนธรรม
มาตรา 79 รัฐต้องดำเนินการตามแนวนโยบายด้านสังคม การศึกษา และวัฒนธรรมดังต่อไปนี้
(3) พัฒนาคุณภาพและมาตรฐานการศึกษาให้สอดคล้องกับความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและสังคม สนับสนุนให้ผู้เรียนมีความคิดสร้างสรรค์ สร้างเสริมและปลูกฝังความรู้และจิตสำนึกที่ถูกต้องเกี่ยวกับคุณธรรม จริยธรรม แนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงความรู้รักสามัคคี ความมีระเบียบวินัย พัฒนาคุณภาพผู้ประกอบวิชาชีพครูและบุคลากรทางการศึกษาและจัดสรรงบประมาณเพื่อการศึกษาอย่างเหมาะสมและเพียงพอ

ส่วนที่ 7 แนวนโยบายด้านเศรษฐกิจ ในมาตรา มาตรา 82 กำหนดว่า “รัฐต้องส่งเสริมและสนับสนุนให้มีการดำเนินการตามแนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง”

ในขณะเดียวกันมาตรา 83 กำหนดรองรับระบบทุนนิยมไว้โดยให้รัฐต้องดำเนินการตามแนวนโยบายด้านเศรษฐกิจดังต่อไปนี้
(1) สนับสนุนระบบเศรษฐกิจแบบเสรีโดยอาศัยกลไกตลาด และสนับสนุนให้มีการพัฒนาเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน โดยต้องยกเลิกและละเว้นการตรากฎหมายและกฎเกณฑ์ที่ควบคุมธุรกิจที่ไม่สอดคล้องกับความจำเป็นทางเศรษฐกิจ และต้องไม่ประกอบกิจการที่มีลักษณะเป็นการแข่งขันกับเอกชน เว้นแต่มีความจำเป็นเพื่อประโยชน์ในการรักษาความมั่นคงของรัฐ รักษาผลประโยชน์ส่วนรวม หรือการจัดให้มีสาธารณูปโภค

(6) กำกับให้การประกอบกิจการมีการแข่งขันอย่างเสรีและเป็นธรรม ป้องกันการผูกขาดตัดตอนไม่ว่าโดยทางตรงและทางอ้อม และคุ้มครองผู้บริโภค
มาตรา 83 (1) และ (6) น่าจะเทียบได้กับมาตรา 87 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย 2540 ซึ่งกำหนดว่า “รัฐต้องสนับสนุนระบบเศรษฐกิจแบบเสรีโดยอาศัย กลไกตลาด กำกับดูแลให้มีการแข่งขันอย่างเป็นธรรม คุ้มครอง ผู้บริโภค และป้องกันการผูกขาดตัดตอนทั้งทางตรงและทางอ้อม รวมทั้งยกเลิกและละเว้นการตรากฎหมายและกฎเกณฑ์ที่ควบคุม ธุรกิจที่ไม่สอดคล้องกับความจำเป็นทางเศรษฐกิจ และต้องไม่ประ กอบกิจการแข่งขันกันเอกชน เว้นแต่มีความจำเป็นเพื่อประโยชน์ ในการรักษาความมั่นคงของรัฐ รักษาผลประโยชน์ส่วนรวม หรือ การจัดให้มีการสาธารณูปโภค”

ที่ต่างกันอย่างชัดเจนและมีนัยยะสำคัญระหว่างร่างมาตรา 83 และมาตรา 87 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย 2540 น่าจะอยู่ตรงที่คำว่า “การพัฒนาเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน”

สิ่งที่ผมยังคงสงสัยและพยายามทำความเข้าใจคือ ระบบเศรษฐกิจแบบเสรีโดยอาศัยกลไกตลาดจะดำเนินการควบคู่ไปกับนโยบายปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงอย่างไรให้เป็นแบบคู่ขนานและไม่ก่อให้เกิความขัดแย้งในการบริหารงานด้านเศรษฐกิจ

[สมมติว่ารัฐดำเนินการตามแนวนโยบายฯ ที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญจริง ๆ และร่าง รธน. นี้ผ่านการลงประชามติและบังคับใช้เป็นกฎหมาย]

ระบบกลไกตลาดแบบที่ผมเข้าใจคือการปล่อยให้เอกชนแข่งขันกันเองแบบเอาเป็นเอาตาย ชัยชนะของฝ่ายหนึ่งย่อมหมายถึงการที่อีกฝ่ายหนึ่งต้องออกไปจากตลาดและล้มเลิกกิจการไป ดังนั้น การที่สามารถผูกขาดตลาดได้ (Monopolist) จึงเป็นการกระทำที่ชอบด้วยกฎหมายตราบเท่าที่วิธีการที่ใช้ในทางธุรกิจนั้นเป็นการแข่งขันโดยชอบด้วยกฎหมาย (Competition on the merit) Monopoly จึงเป็นแรงจูงใจและเป็นรางวัลสำหรับผู้ที่ประสบความสำเร็จในการแข่งขัน ซึ่งศาลสูงของสหรัฐอเมริกาก็ยอมรับและยืนยันในหลักการนี้

ในขณะที่สหภาพยุโรปนั้น ระดับของทุนนิยมดูจะน้อยกว่าของอเมริกาคือยังคงให้ความสำคัญกับการมีผู้ประกอบการรายย่อยอยู่ในตลาดและไม่ได้ชัดเจนอย่างของอเมริกาที่ว่า “การแข่งขันคือการฆ่ากันให้ตายในทางธุรกิจ” เพราะอย่างน้อยศาลของสหภาพยุโรปก็ยืนยันในหลักการของ Free competition/Right to compete สำหรับผู้ประกอบการรายย่อย

อย่างไรก็ตามพื้นฐานของระบบทุนนิยมของโลกตะวันตกคือการตอบสนองความต้องการส่วนตัว ผลิตและใช้จ่ายอย่างไม่มีขีดจำกัด โดยรวมคือมีองค์ประกอบของการไม่รู้จักพออยู่ในตัว ในขณะที่ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงบ่งบอกอย่างชัดเจนถึงความพอดี พออยู่ ซึ่งเรียกว่าสวนทางอย่างสิ้นเชิงกับทุนนิยมปัจจุบันไม่ว่าจะแบบอเมริกันหรือยุโรป

หรือว่าประเทศของเราจะสร้างโมเดลการพัฒนาทางเศรษฐกิจอีกรูปแบบซึ่งก็ไม่ผิดอะไร แต่ที่น่าจะผิดก็คือทำไมคนในชาติอย่างผมที่น่าจะถือได้ว่ารับรู้ข้อมมูลข่าวสารในระดับที่มากพอต่อการตัดสินใจกลับไม่สามารถเข้าใจได้ (หรือผมโง่จริง ๆ หว่า เข้าตำรายิ่งเรียนยิ่งโง่ ยิ่งโตยิ่งเซ่อ)

ในทางทฤษฎี ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงเป็นส่วนหนึ่ง/แขนงหนึ่งของ “พุทธเศรษฐศาสตร์” ซึ่งอยู่ระหว่างการพัฒนาและศึกษาวิจัยเพื่อให้เกิดการตกผลึกทางความคิดและสามารถนำไปใช้ได้ในทางปฎิบัติ โดยส่วนตัวผมมองว่าสังคมที่จะพัฒนาบนแนวความคิดของพุทธเศรษฐศาสตร์ได้คือสังคมที่ปกครองโดยธรรม คือ “ธรรมาธิปไตย” ไม่ใช่แค่ “ประชาธิปไตย” ซึ่งพลเมืองในรัฐนั้น ๆ มีความสำคัญอย่างมากต่อระบบธรรมาธิปไตย ซึ่งก็สวนทางอย่างสิ้นเชิงจากสังคมโลกส่วนใหญ่ที่เป็นอยู่ รวมทั้งสังคมไทยในปัจจุบันด้วย

คราวนี้มาถึงความพยายามยัดเยียดปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงลงในร่าง รธน. 2550 สำหรับผมก็ไม่ต่างอะไรกับการพยายามเอาพระพุทธศาสนาไปเขียนไว้ในรัฐธรรมนูญ (ธรรมและพระวินัยเท่านั้นที่จะจรรโลงพุทธศาสนาได้ ไม่ใช่เอาศาสนาพุทธอันเป็นเรื่องของผู้หมดกาม ลด ละและเลิกกามไปให้พวกที่อุดมด้วยกามเป็นผู้เขียน และกำหนดโครงสร้าง)

เอาเข้าจริงๆ ประเทศไทยที่ต้องอยู่ในสังคมโลกไม่มีทางที่จะหลีกหนีจากระบบทุนนิยมได้เลย ผมกลับมองว่าน่าจะปล่อยให้แนวคิดเรื่องเศรษฐกิจพอเพียงเป็นนโยบายทางเลือกมากกว่า (ไม่ต้องไปเขียนไว้) ใครจะสนับสนุนก็ให้สนับสนุนไป ให้มีการศึกษาและประยุกต์ต่อไปเพื่อให้เกิดผลได้ในทางปฏิบัติที่เป็นรูปธรรมและสามารถจับต้องได้

ที่สำคัญคนจะได้ไม่สับสนว่าจะเอาอย่างไรกันแน่กับประเทศชาติครับ

ผมเองก็สนับสนุนและศรัทธาในพระพุทธศาสนารวมทั้งเศรษฐศาสตร์วิถีพุทธ (เดี๋ยวะโดนข้อกล่าวหาว่าเป็น “มารศานา” และ “ไม่จงรักภักดี” ของพวกที่พยายามจะใส่เสื้อเหลืองโชว์บางกลุ่ม) เพราะเชื่อว่าเป็นแนวทางเดียวที่สังคมโลกจะอยู่อย่างเป็นสุขและไม่เบียดเบียนกันอย่างแท้จริง และเป็นหนทางอันนำไปสู่การพัฒนาที่ยังยืนได้ เพียงแต่ผมไม่เห็นด้วยที่จะยัดเยียดอะไรให้ใครเพราะเราเชื่อว่าดี ปล่อยให้เป็นไปตามเหตุและปัจจัยดูจะเหมาะสมกว่า ถ้าอยากทำก็คือให้ความรู้ที่ถูกต้อง ให้คนเป็นผู้มีความคิดชอบและปฎิบัติชอบตามหลักอริยมรรค (สำคัญมาก ๆ แต่กลับไม่มีใครทำ) ให้เกิดจากความต้องการโดยองค์รวม (Bottom up) ไม่ใช่แบบ Top down ที่กำลังทำกันอยู่
ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า
ขอเพิ่มอีกหน่อยครับ บังเอิญไปอ่านมาแล้วเจอตัวอย่างในการประยุกต์ใช้ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงในเชิงอักษรอย่างเป็นรูปธรรมมาก ๆ

ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ได้จัดทำคู่มือเรื่อง “หลักการกำกับดูแลกิจการที่ดีสำหรับบริษัทจดทะเบียน ปี 2549” (The Principles of Good Corporate Governance For Listed Companies
2006) เพื่อส่งเสริมหลักการบริหารจัดการที่ดีแก่บริษัทจดทะเบียนฯ

สนใจดูที่นี่ครับ http://www.set.or.th/th/regulations/corporate/download/CG_Principle_2005.ZIP

ในบทนำของคู่มือฯ ดังกล่าวได้เขียนไว้ได้นี้ครับ

หลักการที่ดีในการกำกับดูแลกิจการมีความสอดคล้องกับปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชดำรัสชี้แนะเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน ซึ่งเป็นปรัชญาที่มุ่งเน้นความสมดุลและพร้อมต่อการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว โดยให้ความสำคัญกับการใช้ความรู้อย่างรอบคอบ ระมัดระวัง และคำนึงถึงคุณธรรม ซึ่งตรงกับหลักการพื้นฐานของการกำกับดูแลกิจการที่ดี

ผมอ่านดูแล้วก็ปรากฎชัดเจนว่านี่มันแบบเดียวกับที่เขาใช้กันประเทศที่พัฒนาแล้วชัด ๆ (Cadbury Report 1992, OECD Principles of Corporate Governance 2004, US-Final NYSE Corporate Governance Rules 2003, UK-The Combined Code on Corporate Governance 2006)

สนใจดูได้ที่นี่ครับ http://www.ecgi.org/codes/all_codes.php

ผมไม่ได้บอกว่าผิดนะครับที่เอาตัวอย่างมากจากประเทศที่เขาพัฒนาแล้ว แต่ที่จะหยิบเป็นประเด็นคือประเทศเหล่านี้เขาใช้ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงด้วยหรือ

ในคู่มือฯ ดังกล่าวอ้างถึงคำว่า “ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง” เฉพาะแต่ที่บทนำตามที่ผมยกมาข้างต้นเท่านั้นและไม่มีการกล่าวถึงอีกเลย มีคำว่า “จริยธรรม” อยู่สองที่ แต่ก็แปลมาจากคำว่า Business Ethic มากกว่า สรุปคือไม่มีเนื้อหาอะไรในคู่มือฯ เลยที่ทำให้เห็นความเชื่อมโยงในเชิงรูปธรรมระหว่าง “ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง” และ Corporate Governance

แต่โชคยังดีที่คู่มือฯ มันไม่มีสภาพบังคับ หรือถึงมีก็หาทางเลี่ยงได้ ก็เลยช่วยลดความสับสนไปได้บ้าง เพราะสุดท้ายก็ No rules at all

หมายเหตุ: ไม่ได้บอกว่า “ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง” นำมาประยุกต์ใช้ไม่ได้ในหลัก Corporate Governance นะครับ แค่จะบอกว่าที่เขียนไว้ในบทนำกับเนื้อหามันไม่มีอะไรเกี่ยวกับปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงเลยเท่านั้นเอง และก็เป็นอีกตัวอย่างหนึ่งของภาครัฐในการปรับใช้ “ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง”

บทความที่ได้รับความนิยม