การต่อสู้ทางความคิดในประเด็นบัญญัติ “ศาสนาประจำชาติ”

เรื่องการบัญญัติให้ “พุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติ” ในร่างรัฐธรรมนูญ (รธน.) ฉบับใหม่นั้น เป็นประเด็นที่หลายคนคงได้ติดตามอยู่ห่างๆ รวมทั้งคงจะทำให้นึกกันไปถึงอีกหลายเรื่อง เช่น กระแสจตุคามฯ, ปัญหาความรุนแรงทางภาคใต้, การลงประชามติร่างรธน. ฯลฯ

ในขณะที่ผู้เขียนกำลังเขียนบทความนี้ อยู่ในขั้นตอนที่สมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) กำลังพิจารณาแปรญัตติร่าง รธน. มาตราต่างๆ สำหรับมาตราที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับการบัญญัติ “พุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติ” หรือมาตรา ๒ นั้น ปรากฏว่าสสร. บางท่านขอให้ข้ามการพิจารณาออกไปก่อน ด้วยเหตุผลของความอ่อนไหวของเรื่องนี้ จึงยังไม่ปรากฏความคืบหน้าใดๆ ในกระบวนการร่างรธน.

ในทางคู่ขนาน กลุ่มผลประโยชน์ที่เรียกตนเองว่า “องค์กรชาวพุทธแห่งประเทศไทย” และกลุ่มพระภิกษุสงฆ์ฝ่ายสนับสนุนกลุ่มหนึ่ง พยายามกดดันสสร.ฯ เพื่อให้บรรจุข้อความว่า “พุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติ” ในร่าง รธน. ก่อนนำออกให้ลงประชามติ โดยพระภิกษุกลุ่มดังกล่าวได้ทำการอดข้าวประท้วงมาแล้วเป็นเวลากว่าครึ่งเดือน และประกาศว่าจะกดดันรุนแรงขึ้น โดยกระทำสิ่งที่เรียกว่า “อหิงสธรรมขั้นอุกฤษ” ซึ่งถูกขยายความว่า “เป็นการปฏิบัติ เพื่ออุทิศต่อพระรัตนตรัยตามหลักธรรมของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า”! (i)

ถึงแม้ว่าอนาคตของร่างรธน. ฉบับนี้จะมีความเปราะบาง ทั้งจากเงื่อนไขของผลการลงประชามติและจากเงื่อนไขอื่น เช่น หากมีการปฏิวัติซ้ำ หรือหากถูกแทนที่ด้วยร่างรธน.ฉบับใหม่กว่า ภายหลังการเลือกตั้งและจัดตั้งรัฐบาล (หากการเลือกตั้งสามารถเกิดขึ้น) แต่ดูเหมือนประเด็น “ศาสนาพุทธประจำชาติ” นี้ จะก่อให้เกิดวิวาทะที่ก้าวข้ามบริบทของปัญหาการเมือง และแสดงตนให้เห็นว่าไม่เป็นเพียงกระแสที่ลดความแรงลงไปเช่นกระแสอื่น

ส่วนหนึ่งอาจมาจากข้อเท็จจริงที่ว่า ทั้งฝ่ายสนับสนุนและฝ่ายคัดค้าน ซึ่งประกอบด้วยทั้งสงฆ์และฆราวาสนั้น ต่างมีจุดร่วมกันที่สำคัญประการหนึ่ง คือ มองเห็น “ความจริง” ของสังคมว่าอาจถึงเวลาที่ต้องสังคายนาพระพุทธศาสนาในประเทศไทย!

หากเราดึงตนเองออกจากอารมณ์และอคติที่มีต่อฝ่ายที่เราเห็นด้วยและไม่เห็นด้วยแล้ว อาจเห็นว่าวิวาทะระหว่างทั้งสองฝ่ายซึ่งพยายามนำเหตุและผลของตนมาต่อสู้คัดง้างกันนั้น สะท้อนชุดของเหตุผลที่ดูเหมือนเป็นคนละชุด แต่แท้จริงแล้ว ชุดของเหตุผลทั้งสองนั้นอยู่บนฐานของความเชื่อและความกลัวที่ไม่ต่างกันนัก นั่นคือ ต่างเชื่อว่าสังคมกำลังเสื่อมโทรมทางด้านศีลธรรมจริยธรรม และตระหนักดีถึงความอ่อนแอและถดถอยของศาสนาพุทธในแง่ของศรัทธาและการเป็นหลักยึดเหนี่ยวจิตใจพุทธศาสนิกชน โดยเฉพาะ เมื่อถูกนำไปเปรียบเทียบกับอิทธิพลและพื้นที่ของความเชื่อหรือลัทธิอื่นในสังคมไทย

ฝ่ายสนับสนุนนั้น อ้างถึง “ความจำเป็น” ที่ต้องบัญญัติ “พุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติ” ไว้ในรธน. เนื่องจากเหตุผลสำคัญ ๓ ประการคือ (ก) ความเสื่อมโทรมทางศีลธรรมของปัจเจก (โดยเฉพาะบรรดานักการเมือง) และของสังคม (ข) อันตรายหรือภัยคุกคามจากศาสนาและลัทธิความเชื่ออื่น ที่เข้ามายึดพื้นที่ในสังคมไทย โดยใช้กลยุทธ์ทางการตลาดและกลยุทธ์อื่นๆ (ii) (ค) โอกาสในการสถาปนาศาสนาพุทธให้ลงหลักปักฐานอย่างมั่นคง อย่างที่บูรพกษัตริย์ทั้งหลายทรงพยายามกระทำมาตั้งแต่อดีตกาล

ในขณะที่ฝ่ายคัดค้านนั้น (ง) เลือกที่จะตั้งคำถามกับพุทธศาสนาแบบไสยศาสตร์ที่ยึดครองตำแหน่งสำคัญในสังคมไทย และเสนอแนะให้จัดการกับปัญหาที่รากเหง้า นอกจากนี้ (จ) หวั่นเกรงว่าการบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญจะนำมาซึ่งความรุนแรงและการเผชิญหน้าระหว่างศาสนา ซึ่งจะไปซ้ำเติมปัญหาภาคใต้ สุดท้าย (ฉ) มองไม่เห็นความจำเป็นของการกระทำดังกล่าวและพยายามชี้ให้เห็นถึงข้อจำกัดของรัฐและกฎหมายรัฐธรรมนูญ

อาจกล่าวได้ว่า เหตุผลประการสำคัญที่สุดของฝ่ายสนับสนุนน่าจะเป็นความเกรงกลัวว่าพุทธศาสนาในประเทศไทย จะประสบกับภาวะวิกฤตศรัทธา โดยเป็นผลมาจากการคุกคามและแผ่ขยายอิทธิพลของศาสนาและลัทธิความเชื่ออื่น (หรือข้อ (ข) ข้างต้น) ในขณะที่เหตุผลเรื่องความเสื่อมโทรมของจิตใจคน รวมทั้งโอกาสในการสถาปนาพุทธศาสนาในประเทศไทยนั้น เป็นเพียงเหตุผลแวดล้อมประกอบ ซึ่งเหตุผลสองประการหลังนี้ ก็ถูกโต้แย้งและหักล้างโดยเหตุผลของฝ่ายที่ไม่เห็นด้วย ดังจะกล่าวต่อไป

ในทางตรงกันข้าม ฝ่ายคัดค้าน ซึ่งในบริบทของวิวาทะนี้ แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนถึงธรรมชาติของการเป็นฝ่ายปฏิกริยา (คือพยายามมาโดยตลอดในการสะท้อนกลับ เพื่อหักล้างเหตุผลของฝ่ายแรกที่ดูไม่มีน้ำหนัก) ก็เกรงกลัวว่าการบัญญัติศาสนาพุทธเป็นศาสนาประจำชาตินั้น หากทำสำเร็จ จะยิ่งเป็นการเชิดชูพุทธศาสนาแบบไสย์หรือพุทธพาณิชย์ ซึ่งเป็นพุทธปลอมนั้น ให้ฝังรากลงในสังคม อย่างที่ไม่มีทางจะเยียวยารักษาในภายหลังได้

จึงอาจกล่าวได้ว่า โดยเนื้อแท้แล้ว การต่อสู้เพื่อแย่งชิงพื้นที่ทางความคิดนี้ก็สะท้อนความกลัวของทั้งสองกลุ่มที่ไม่แตกต่างกันนัก นั่นคือ กลัวการครอบงำของลัทธิความเชื่ออื่นที่ไม่ไช่ความเชื่อหลักที่ตนศรัทธา กล่าวคือ ขณะที่ฝ่ายแรกอาจจะต้องการสถาปนาพระพุทธศาสนานิกายเถรวาทให้แน่นแฟ้นอย่างถาวร ฝ่ายหลังนั้นต้องการให้สังคมตาสว่างและหลุดพ้นจากความเชื่องมงายในไสยศาสตร์และพุทธพาณิชย์ที่ครอบงำสังคมไทย

เป็นที่น่าสังเกตว่าถึงแม้เหตุผลเรื่องภัยคุกคามจากศาสนาหรือลัทธิอื่นนี้ จะเป็นเหตุผลสำคัญที่รบกวนจิตใจของฝ่ายสนับสนุน โดยเฉพาะกลุ่มที่มีอุดมคติแบบอนุรักษ์นิยม (และอยู่ในตำแหน่งที่สามารถผลักดันกฎหมายได้!) แต่ข้อกล่าวอ้างเกี่ยวกับอันตรายและภัยคุกคามจากศาสนาและลัทธิอื่นนั้น ก็ไม่ได้ถูกนำมาใช้อย่างเปิดเผยและชัดเจนนัก เพราะอาจก่อให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์ตามมาอย่างรุนแรง ฝ่ายนี้จึงเลือกที่จะหยิบยกหรืออ้างอิงเหตุผลเชิงประวัติศาสตร์และวัฒนธรรม (ข้อ (ค) ที่กล่าวไปแล้วข้างต้น) ที่คลุมเครือและยากที่จะหักล้าง เพราะอ้างอิงถึงบทบาทและพระราชกรณียกิจของกษัตริย์ไทยหลายพระองค์ที่ทรงเคยทำนุบำรุงศาสนาและเคยแสดงให้เห็นว่า “ศาสนาพุทธคือศาสนาประจำชาติไทย” โดยพฤตินัย

ซึ่งประเด็นนี้เอง ดังที่ได้เกริ่นในข้างต้นแล้วว่า เป็นเพียงเหตุผลแวดล้อมของฝ่ายสนับสนุนและถูกหักล้างโดยง่ายจากฝ่ายที่ไม่เห็นด้วย ซึ่งสามารถชี้ให้เห็นว่าประวัติศาสตร์ที่กำลังพูดถึงนั้น ตนก็สามารถตีความไปในอีกทางหนึ่งได้ว่าผู้ปกครองหรือกษัตริย์หลายพระองค์ในอดีตก็ทรงระมัดระวังอย่างมากในการอุปถัมภ์พุทธศาสนาโดยไม่ให้เกิดความรู้สึกว่าได้ทรงไปลดทอนหรือกีดกันเสรีภาพในการเผยแผ่และนับถือศาสนาอื่น นอกจากนี้ ข้อเท็จจริงที่ว่าศาสนาพุทธนั้นเป็นศาสนาประจำชาติไทย “โดยพฤตินัย” อยู่แล้วนั้น ก็ถูกนำมาใช้โต้แย้งอย่างได้ผลเช่นเดียวกัน

ประเด็นของการพยายาม “เล่น” กับสิ่งที่ดิ้นได้และลื่นไหลไปตามการตีความนี้ ปรากฏชัดเจนในความเห็นที่ขัดแย้งกันระหว่างสองกลุ่มต่อคำถามที่ว่า “การบัญญัติศาสนาพุทธเป็นศาสนาประจำชาตินั้นจะนำมาซึ่งความขัดแย้งและความรุนแรงระหว่างศาสนาหรือไม่” เพราะในขณะที่ฝ่ายหนึ่งอ้างว่าการกำหนดศาสนาประจำชาติไว้ในรธน. นั้น จะยิ่งซ้ำเติมปัญหาความรุนแรงทางภาคใต้ที่กำลังดำเนินอยู่ อีกฝั่งหนึ่ง กลับหักล้างว่าการกระทำดังกล่าว จะยิ่งนำพาความสงบมาสู่สังคมไทยโดยเร็ว เพราะศาสนาพุทธมีลักษณะสำคัญของการเป็นศาสนาแห่งสันติภาพ (iii)

หากจะพิจารณาอย่างลึกซึ้งในมุมมองทางด้านอุดมคติแล้ว ตรรกะของฝ่ายสนับสนุนที่ว่าการบัญญัติศาสนาพุทธเป็นศาสนาประจำชาติ จะช่วยเยียวยารักษาความเจ็บป่วยของสังคมหรือความเสื่อมโทรมทางด้านศีลธรรมของคนในสังคมได้สำเร็จ ตั้งอยู่บนสมมุติฐานที่ว่า รัฐไทยและองคาพยพของรัฐจะสามารถทำหน้าที่กลไกของการบังคับใช้ ตรวจสอบและลงโทษอย่างมีประสิทธิภาพ กฎหมายจะสามารถกำหนดกรอบของพฤติกรรมของคนในสังคมให้เป็นไปในแบบที่ควรจะเป็น ตามอุดมคติความเชื่อที่สะท้อนพระธรรมวินัย และในทางปฏิบัติ รัฐจะถูกกำหนดกรอบจากรธน. ให้ตรากฎหมายลูกออกบังคับใช้ในเรื่องการสนับสนุนและส่งเสริมพุทธศาสนาอย่างจริงจัง มากกว่าที่เคยเป็นมา

ซึ่งจุดนี้เอง ทำให้เกิดข้อโต้แย้งจากผู้ที่ไม่เห็นด้วย ที่พยายามอธิบายถึงจุดบอดของตรรกะนี้ โดยเฉพาะในเรื่องข้อจำกัดของรัฐและเครื่องมือของรัฐ รวมทั้งของกฎหมายรัฐธรรมนูญ โดยหยิบยกตัวอย่างความล้มเหลวของรัฐในการสนับสนุนและคุ้มครองสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานขึ้นมาเปรียบเทียบให้เห็นได้ อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ว่าเหตุผลของฝ่ายคัดค้าน จะดูมีน้ำหนักเพียงใด แต่ล้วนเป็นชุดเหตุผลที่ดูเหมือนถูกออกแบบมาเพื่อหักล้างเหตุผลของกลุ่มแรกโดยเฉพาะ ยิ่งไปกว่านั้น ทั้งหมดก็เข้าใจยากสำหรับคนทั่วไป เพราะยืนอยู่บนฐานของตรรกะที่ปฏิเสธความเชื่อที่ครอบงำสังคมอยู่ทั้งสิ้น

ความพยายามของนักวิชาการบางท่านที่ต้องการชี้ให้เห็นว่า “การนำพุทธศาสนาไปผูกติดกับรัฐอย่างที่กำลังทำนั้น อาจเป็นวิธีการที่ไม่ถูกต้องนัก” (vi) ก็ถูกวิจารณ์กลับว่าเป็นการนำทฤษฎีการเมืองการปกครองตะวันตก (คือการแบ่งแยกระหว่างอาณาจักรและศาสนจักร) มาใช้อย่างผิดที่ผิดทางกับบริบทของเมืองไทย และก็เข้าตำราเดียวกับที่นักวิชาการสายรัฐศาสตร์ส่วนใหญ่ในบ้านเราถูกวิจารณ์ว่าตัดขาดจาก “ความเป็นจริง” (ซึ่งหมายถึง “ประชาธิปไตยแบบไทยๆ”) เมื่อพยายามอธิบายการเมืองไทยด้วยตรรกะของประชาธิปไตยแบบตะวันตก

ในประเด็นหลังสุดนี้ ซึ่งเป็นประเด็นเรื่องความสามารถในการอธิบาย “ความจริง” ของวิธีคิดหรือทฤษฎีใดทฤษฎีหนึ่งนั้น (เช่นเราจะสามารถอธิบายความสัมพันธ์ระหว่างศาสนาพุทธกับรัฐไทย โดยเริ่มต้นจากความรู้แบบตะวันตกได้หรือไม่?) ในบริบทของสังคมไทย ก็กลับกลายเป็นเรื่องของการเลือกใช้วิธีคิดหรือทฤษฎีใดทฤษฎีหนึ่งที่ “จริงกว่า” วิธีคิดหรือทฤษฎีอื่น ยิ่งไปกว่านั้น ในประเด็น “พุทธศาสนาประจำชาติ” นี้ก็ยิ่งซับซ้อนขึ้นไปอีกขั้น เพราะหัวใจของปัญหาไม่ได้เป็น “เรื่อง” ของวิธีคิดหรือทฤษฎีมากไปกว่าเป็น “เรื่อง” ของ “ความจริง” หรือสิ่งที่เรากำลังพยายามเข้าไปอธิบาย

ความพยายามทัดทานการบัญญัติศาสนาพุทธเป็นศาสนาประจำชาติใน รธน. ของฝ่ายคัดค้านนี้จึงเป็นสิ่งที่ยากจะสำเร็จ เพราะฝ่ายคัดค้านเองไม่ได้ตระหนักว่าพวกตนกำลังใช้วิธีคิดที่ “จริงน้อยกว่า” ในสายตาของสังคม ที่ถูกครอบงำด้วยวิธีคิดอีกแบบ (ที่จริงกว่า) มิหนำซ้ำ ยังกำลังเข้าไปยุ่งกับสิ่งที่เป็น “ความจริงสูงสุด”

สุดท้ายแล้ว นอกจาก “ความจริง” ที่เป็นแก่นแท้ นั่นคือเรื่องของ “อนัตตา” แล้ว ความจริงใดจะเป็นความจริงอื่นได้ ก็เป็นเรื่องของสังคมและ “อำนาจ” จะตัดสินทั้งสิ้น เพราะคำอธิบายหรือวิธีคิดไหนที่เป็น “อภิมหาอรรกถาธิบาย” (v) หรือวิธีคิดที่ครอบงำสังคมอยู่นั่นแหละ ที่สามารถปฏิเสธคำอธิบายอื่นๆ ได้อย่างชอบธรรม



อ้างอิง
(i) ผู้จัดการออนไลน์ วันที่ ๑๗ มิถุนายน ๒๕๕๐ และอ่านประกอบ “องค์กรชาวพุทธนับพันชุมนุมกดดัน ส.ส.ร.บรรจุพุทธศาสนาใน รธน.”, “พระสงฆ์ปะทะเจ้าหน้าที่ หลังพยายามบุกเข้าสภา”, ผู้จัดการออนไลน์ วันที่ ๑๑ มิถุนายน ๒๕๕๐ และ “แกนนำสงฆ์ชุมนุมยืดเยื้อ กดดัน สสร. บัญญัติพุทธศาสนาไว้ในรัฐธรรมนูญ” ผู้จัดการออนไลน์ วันที่ ๗ มิถุนายน ๒๕๕๐
(ii) รายการคมชัดลึก “พุทธศาสนา ในรัฐธรรมนูญ ๕๐” วันที่๑๓ มิถุนายน ๒๕๕๐ ทาง http://www.nationchannel.com
(iii) ดูงานเขียนเกี่ยวกับศาสนาประจำชาติของพระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตโต) เช่น เมื่อประชาธิปไตยที่ไม่ประสีประสา มาเจอปัญหาศาสนาประจำชาติ ถึงแม้ท่านจะไม่ได้แสดงความเห็นไว้เด่นชัดว่าสนับสนุนหรือคัดค้านการบัญญัติพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติ แต่งานเขียนของท่านถูกอ้างอิงเสมอจากฝ่ายสนับสนุนแนวคิดนี้
(iv) พระพุทธศาสนาที่ไม่ผูกติดกับรัฐ (Buddhism without State) โดย ชาญณรงค์ บุญหนุน ภาควิชาปรัชญา
คณะอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร, หนังสือพิมพ์มติชน วันที่ ๔ พฤษภาคม ๒๕๕๐
(v) POSTMODERN : ชะตากรรมโพสต์โมเดิร์นในอุ้งมือนักปรัชญาการเมืองโบราณ, ไชยันต์ ไชยพร ๒๕๕๐

ความคิดเห็น

ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า
ศาสนาเมื่อบัญญัติเป็นกฏหมายขึ้นมา อะไรจะเกิดขึ้น อันนี้น่าคิด

จะเห็นด้วย ไม่เห็นด้วยก็ว่ากันไป แต่หากร่างรัฐธรรมนูญขึ้นจริง ผลของมันจะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงหรือไม่ อย่างไร

เป็นเรื่องจริงแท้ที่ศาสนาทำให้คนฆ่ากันตายมามากมายในอดีต ทั้งของโลกตะวันตก เช่นนิกายโปรแตสแต๊นกับนิกายแคทอลิกที่ก็เคยนองเลือดกันมาไม่รู้เท่าไหร่ และความเป็นจริงในปัจจุบันของบางศาสนาก็ยังดำเนินอยู่อย่างที่เราก็ทราบกันดี เพราะความเชื่อที่ต่างกัน มุมมองของการดำเนินกิจกรรมทางศาสนาที่ต่างกัน

และขณะนี้ เรากลับพยายามทำให้ศาสนาพุทธของเราซับซ้อนมากขึ้นด้วยกลไกทางกฏหมายจากเหตุอ้างอิงเรื่องของความเสื่อมทางศาสนา (โดยหลักๆ)

อยากถามว่าหากมีกฏหมายบังคับขึ้นมาจริงๆ กรมการปกครองทางศาสนาจะศักดิ์สิทธิ์ขึ้นอย่างนั้นหรือ จะตรวจตราได้จริงหรือ จะช่วยกระตุ้นให้ศาสนาเข้มแข็งขึ้นอย่างนั้นหรือ

เป็นเรื่องที่น่าตระหนักว่าการบัญญัติเป็นกฏหมายขึ้นมา อาจทำให้เกิดประเด็นขัดแย้งทางความคิดเรื่องศาสนาจากการตีความทางกฏหมายเข้ามาอีก แยกออกเป็นฝักเป็นฝ่ายให้อีรุงตุงนัง

กฏหมายนั้นมีก็เป็นเรื่องดีที่จะกำหนดกรอบ ตีระเบียบให้กับชุมชนขยาย แต่นั่นย่อมหมายความว่ามันต้องปฏิบัติได้จริง บังคับแล้วเกิดผลในเรื่องความสงบสุขของสังคมส่วนรวม

ศาสนาพุทธในสังคมไทยเสื่อมลง มันจะรุ่งเรืองขึ้นมาจากการมีกฏหมายได้หรือ

คำว่าศาสนา(พุทธ)รุ่งเรืองก็มีความหมายจากการทำนุบำรุงพระพุทธศาสนาโดยพุทธศาสนิกชน มีการสร้างวัด เข้าวัด ช่วยเหลือชุมชน แบ่งปัน โอบอ้อมอารีกัน สังคมนั้นก็สงบสุข

อย่าลืมว่าศาสนาเป็นเรื่องของความเชื่อ (ส่วนบุคคล) เป็นอิสระทางความคิด การเอากฏหมายเข้ามาตีกรอบเรื่องนี้จะให้ประโยชน์กับใครโดยรวมกันแน่

หันไปมองเรื่องพื้นฐานง่ายๆว่าจะส่งเสริม หากิจกรรมให้กับชุมชน เพื่อให้มีส่วนร่วมในพุทธศาสนา โดยร่วมกับทางกรมศาสนาที่ก็มีอยู่แล้ว ทำให้ศาสนาเข้มแข็งขึ้น แบบนั้นน่าจะเกิดประโยชน์กับสังคมโดยรวม ไม่เกิดการแบ่งแยกทางความคิดเช่นที่เป็นอยู่ขณะนี้

ยาวมาก...แต่สงสัยจริงๆ ... จากพุทธศาสนิกชนคนธรรมดา
ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า
แหม ขอโทษนะคะ เขียนว่าเป็นกฏหมายซะเป็นวรรคเป็นเวร ที่ถูกต้องต้องเรียกว่าบัญญัติเป็น ศาสนาประจำชาติ ให้คนถกกัน เถียงกัน เวลาไม่มีอะไรทำนั่นเอง ... เวลาอ่านก็แปลงนิดนึงนะคะว่า บัญญัติ (บังคับ) ให้เป็น...

อย่างไรก็ดีหลักๆก็อย่างที่เขียนแหละค่ะ
ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า
ได้ยินมาจากหนึ่งในกลุ่มผู้เรียกร้องให้บรรจุถ้อยคำศักดิ์สิทธินี้ว่า เหตุผลเพราะศาสนาพุทธกำลังจะเสื่อม เนื่องจากรัฐไม่สนใจ รัฐให้เงินสนับสนุนมัสยิด แต่รัฐไม่ให้เงินสนับสนุนวัด

หากวัดจะจัดกิจกรรมทางศาสนาจริงผมว่าเงินบริจาคที่ได้จากศรัทธาประชาชน เหลือเฟือ เกินพอ

เงินพวกนี้ไม่เคยได้รับการตรวจสอบ

ผมเคยบวชอยู่เพียงสองสัปดาห์กว่าๆ เชื่อไหมครับ ได้เงินบินทบาตรมาเกือบสองพัน

ด้วยความที่ผมไม่ได้คิดจะบวชเป็นอาชีพ ผมเลยเอาเงินถวายให้วัดไป

พระไทยในเมืองไม่มีจนหรอกครับ

โดยเฉพาะในเมืองใหญ่เจ้าอาวาสมีรถเบนซ์กันทั้งนั้น

ในกทม.มีไว้ประดับบารมีไม่พอ หลายปีก่อนลงข่าวถึงขั้น "สะสม" ไว้ยี่สิบกว่าคัน

แล้วออกมาพูดว่าง่ายๆว่า "อาตมาชอบเบนซ์ โยม"

เงินใคร?? เงินศรัทธา?? เอาไปใช้ถูกศรัทธาหรือไม่??

ผมหละสนับสนุนให้ล้วงเงินออกมาจากย่ามพระจริงๆ เอาออกมาทำเป็นทุนให้เกิดประโยชน์ เช่น เลี้ยงเด็กกำพร้า ให้ทุนการศึกษาเด็ก

ดีกว่าเอาไว้ทำประโยชน์ส่วนตนของพระ

พระดีๆตามป่าตามเขามีเยอะ แต่ผมเห็นท่านสงบในธรรม ไม่เห็นเขามาเย้วๆเรียกร้องเรื่องทางโลกเขาเลย

อย่างไรก็ตามครับ ถ้ากลุ่มพระที่เรียกร้องมาปรึกษาผมว่า "ทำยังไงถึงจะยัดถ้อยคำศักดิ์สิทธิลงในรัฐธรรมนูญปี 50 ให้ได้"

ผมก็จะยังยืนยันในคำตอบเดิมว่า "ท่านเอาถ้อยคำศักดิ์สิทธิของท่านไปใส่ไว้ในกฎหมายลูกต่างๆเถิด"

"เพราะกฎหมายเหล่านั้นอายุยืนกว่ารัฐธรรมนูญไทย"
ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า
ขอบคุณสำหรับงานเขียนดี ๆ อีกชิ้นหนึ่ง เชื่อว่าเป็นประเด็นที่ผู้เขียนน่าจะเห็นตรงกับผมคือ ประเด็นนี้น่าสนใจมาก ๆ แต่ต้องระวังอย่างยิ่งและลำบากในการวิจารณ์

ตอนนี้ฝ่ายสนับสนุนในประเด็นดังกล่าวได้ยกตัวอย่างของประเทศที่มีบทบัญญัติของสานาไว้ในรัฐธรรมนูญขึ้นมาหลายประเทศ (http://www.palungjit.com/board/showthread.php?p=602091) รวมทั้งงานวิจัยเรื่อง Religion and Economic Growth โดย Robert J. Barro กับ Rachel M. McCleary แห่ง Harvard University, http://www.economics.harvard.edu/faculty/barro/papers/Religion_and_Economic_Growth.pdf,

ผมขอเวลาทำความเข้าใจบริบทของประเทศอื่น ๆ และบทความที่อ้างถึงข้างต้นก่อนแล้วผมจะมาร่วมแสดงความคิดเห็นเพิ่ม

เบื้องต้นผมมองในเชิง Political economy เป็นประเด็นหลัก คือ องค์กรทางศาสนาบางกลุ่มกำลังพยายามจะแสวงหาประโยชน์จากการดำเนินการดังกล่าวหรือไม่ เพราะเมื่อมีการกำหนดให้ศาสนาพุทธเป็นศาสนาประจำชาติอย่างชัดเจน ก็จะต้องมีการตรากฎหมายลูกออกมา/หรือแก้กฎเกณฑ์ที่มีอยู่หรือไม่ เพื่อกำหนดโครงสร้างการจัดการ ระบบการปกครองคณะสงฆ์ (รวมทั้งเงินประจำตำแหน่งและอำนาจบังคับสั่งการ ฯลฯ ดังนี้ จะมีผลให้เป็นการแผ่ขยายมากขึ้นหรือทำให้เป็นระบบมากขึ้นหรือไม่ คำถามคือเพื่อประโยชน์ของใคร กลุ่มคณะสงฆ์บางกลุ่มหรือเพื่อพระธรรมวินัย

ในเชิงพุทธรรม
ผมขอยกเอาคำครูบาอาจารย์ที่ผมเคารพมากล่าวแทน(จะได้ไม่เป็นกลากที่หัว) และผมเชื่อว่าพระธรรมวินัยนั้นครบถ้วนสมบูรณ์ที่สุดในการอธิบายปรากฎการณ์ต่างๆ ในทางพระพุทธศานา

หลวงปู่พุทธะอิสระ (http://www.onoi.org/)
หลวงปู่พุทธอิสระกล่าวในรายการ สภาท่าพระอาทิตย์ ภาคสนทนาธรรมเมื่อวันที่ 15 มิถุนายน 2550 ผมสรุปใจความได้ว่า

“พระธรมมคำสั่งสอนเท่านั้นที่จะเป็นศาสดาของพระศาสนาภายหลังต่อจากพระพุทธเจ้าปรินิพพาน หากพระธรรมยังคงอยู่และบุคคลยังคงเลื่อมใสศรัทธานั่นก็หมายความว่าศาสนาพุทธจะยังคงได้รับการธำรงค์สืบต่อไป และการที่บุคคลจะศรัทธาได้ สาวกในพระศาสนาก็ต้องปฎิบัติตนให้เป็นที่เลื่อมใสศรัทธาด้วย คือ ปฎิบัติดี ปฎิบัติชอบตามพระธรรมวินัย และไม่มีประโยชน์อันใดที่จะให้กฎหมายรัฐธรรมนูญมามีค่าเหนือกว่าพระธรรมวินัย ศาสนาพุทธเป็นเรื่องของการปล่อยวาง การละจากสมมติ เป็นเรื่องของผู้ละ ลด เลิกและหมดกาม หาประโยชน์อะไรที่จะให้พวกคนใฝ่ในกามและติดกามมากำหนดชะตาของพระศาสนา” (โดยสรุป ๆ จากที่ผมเคยมีโอกาสฟังธรรมจากหลวงปู่ฯ หลาย ๆ ครั้งนะครับ)

เมื่อวันที่ 22 มิถุนายน 2550 ในรายการสภาท่าพระอาทิตย์ ภาคสนทนาธรรม หลวงปู่ฯ ได้ตอบกระทู้ธรรมในประเด็นการเรียกร้องดังกล่าวอีกครั้งหนึ่ง สุปความได้ว่า

“วันนี้เพื่อจะให้ได้รัฐธรรมนูญมาต้องทำขนาดนี้ วันหน้าหากจะให้มีกฎหมายลูกจะมิต้องทำยิ่งกว่านี้หรือ…. ถูกหรือผิดที่จะมีชีวิตอยู่ต่อไปโดยการขีดเขียนของผู้มีชีวิตที่มากด้วยกาม….กฎหมายไม่ใช่พระธรรมวินัย….พระธรรมวินัยยังอยู่ครบมิได้ขาดเลย แต่ที่ขาดคือคนทำตาม…แล้วพระที่ไม่ดีจะหมดไปจากศาสนาหรือไม่ (ถ้าบัญญัติ) รวมทั้งเสนออีกด้วยว่าหากจะเอาเช่นนั้นก็อยากให้เสนอไปด้วยว่าให้นำเงินของสมภารทุกรูป วัดทุกวัดรวมเข้าสู่กองกลางด้วย (เพื่อใช้ประโยชน์ในการพระศาสนาอย่างแท้จริง) ตามพุทธพจน์ในพระสุตตันฎปิฎกกล่าวว่า (มีภิกษุทูลถามพระพุทธองค์ว) พระพุทธองค์กล่าวตอบว่า พระศาสนาจะเสื่อมก็ต่อเมื่อ สงฆ์ไม่เคารพสงฆ์และสงฆ์ไม่ปฎิบัติตามพระธรรมวินัย….การอดอาหารไม่ใช่ทางสายกลางตามที่พระพุทธองค์ทรงสั่งสอน….การรุกรานโดยศาสนาอื่นไม่เท่ากับการที่เรารุกรานตัวเราเอง….พระสารีบุตรก็เคยกราบทูลถามพระพุทธองค์ว่า จะทำอย่างไรไม่ให้พระพุทธศาสนาต้องเสื่อมลงอย่างศาสนาเชน พระพุทธองค์ตรัสตอบไปว่า ไม่ต้องวางมาตรการใด ๆ เพราะตราบที่พระสงฆ์และบริษัทสี่ยังศรัทธาและประพฤติตามธรรมวินัย ตราบนั้นก็ยังถือว่าธรรมวินัยของเราตถาคตยังเจริญรุ่งเรือง….เป้าประสงค์จริง ๆ ของการเรียกร้องคือการรักษาตำแหน่งของผู้มีอำนาจไว้ คนที่จะได้ประโยชน์คือคนที่มีตำแหน่งอยู่ ไม่ใช่พระศาสนา….”

หลวงพ่อปราโมทย์ (http://www.wimutti.net/pramote/)
หลวงพ่อฯ เทศนาไว้ที่ศาลาลุงชิน (http://larndham.net/larndham/salashin.html) เมื่อที่ 17 มิถุนายน2550 (http://www.wimutti.net/download/pramote/25500617.mp3)
ไม่ได้กล่าวถึงประเด็นนี้ไว้โดยตรง แต่ผมว่าสามารถนำมาอธิบายปรากฎการณ์ในขณะนี้ได้

ธัมมะจักกัปปะวัตตะนะสูตร เป็นธรรมเทศนากัณฐ์แรกของพระพุทธเจ้า ในพระธรรมเทศนากัณฐ์ดังกล่าวก่อนที่พระองค์จะกล่าวถึงทางดับทุกข์ (ทางสายกลาง) พระองค์ทรงกล่าวถึงสิ่งอันไม่ควรปฎิบัติของบรรพชิตก่อน มีอยู่สองประการคือ “กามะสุขัลลิกานุโยค” และ “อัตตะกิละมะถานุโยค”

“กามะสุขัลลิกานุโยค” คือ การปล่อยตัวให้ชุ่มในกาม (กิเลส) หมายถึงการที่ปล่อยใจให้ชุ่มไปในอารมณ์ทางหู ตา จมูก ลิ้น กาย ใจ เป็นความปรุงแต่งฝ่ายชั่ว

“อัตตะกิละมะถานุโยค” คือ การทรมานตนให้ลำบาก คือการทรมานใจ บังคับใจ ให้ผิดไปจากสภาวะธรรมตามความเป็นจริง เป็นความปรุงแต่งฝ่ายดี แต่ไม่ใช่ดี ที่ดีคือไม่ปรุงแต่ง

ทั้งสองประการเป็นหนทางที่ผิดและไม่ใช่ทางสายกลางตามพระพุทธศานา ไม่ใช่ทางแห่งความหลุดพ้น

จากธรรมมะที่หลวงพ่อฯ กล่าว เราคงพอสรุปได้ว่าการดำเนินการของคณะสงฆ์กลุ่มหนึ่งตอนนี้เป็นเรื่องที่ถูกต้องตามพระธรรมวินัยหรือไม่ครับ
ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า
ประเด็นที่คุณปกป้องกล่าวข้างต้นตรงกับที่หลวงปู่พุทธะอิสระกล่าวถึงในรายการสภาท่าพระอาทิตย์ทั้งสองครั้งที่ผมอ้างถึงมาก ๆ คือแทนที่จะเรียกร้องดังกล่าวควรออกมาเรียกร้องว่าให้จัดการระบบทรัพย์สินในพระศาสนาเสียใหม่ให้เป็นไปตามพระธรรมวินัย ซึ่งเบื้องต้นก็คือเอามาเป็นทรัพย์ส่วนกลางให้หมด (จากสมภาร เจ้าคณะตำบล ภาค จังหวัด พระสังฆาธิการ ฯลฯ จากวัดต่าง ๆ ดังนี้ภิษุสงฆ์จะได้ไม่ยึดติดและปล่อยวาง

ถ้าออกมาเรียกร้องแบบนี้ด้วยผมก็อาจเห็นด้วยกับการเรียกร้องในประเด็นรัฐธรรมนูญและมองได้อย่างไม่มีอคติเพราะเชื่อแน่ว่าไม่มีวาระแอบแฝง แต่เท่าที่จำความได้ในชีวิตผม ไม่เคยได้ยินสงฆ์ผู้ดำรงสมณศักดิ์ทั้งหลายกล่าวถึงประเด็นการจัดการทรัพย์สินให้เป็นไปตามธรรมวินัยเลย มีแต่จะทำให้ระบบการปกครองคณะสงฆ์เป็นแบบทางโลกมากขึ้น ๆ และแน่นอนมันสวนทางกับพระธรมมวินัย

ด้วยจิตศรัทธาในพระศานาครับ

บทความที่ได้รับความนิยม