หนัง (สือ (การ์ตูน)), ความรัก, ชีวิต, และการเมือง ๒ (ต่อ)








๒.

คนไทยหลายคนอาจขัดเคืองและสงสัยว่าภาพยนตร์ถูกเรียกว่าศิลปะแขนงหนึ่งได้อย่างไร?

ประการแรก เราคงต้องแยกให้ออกจากกันระหว่างสิ่งที่เป็น “อุตสาหกรรมภาพยนตร์”และ “ภาพยนตร์” ที่หมายถึงศิลปะของการเล่าเรื่อง ประการต่อมา ที่เราอาจจะไม่เคยชินนักกับการเรียกมันว่าศิลปะ เพราะเราเองเคยชินกับผลผลิตของอุตสาหกรรมภาพยนตร์หรือหนังที่ถูกสร้างขึ้นเพื่อขาย (คือเพื่อรายได้หรือกำไรเป็นสำคัญ) ที่มักต้องประนีประนอมกับการเอาใจตลาด รวมทั้งกองเซ็นเซอร์

หรือพูดให้สั้นแต่เข้าใจยาก หนังไทยส่วนใหญ่ไม่ได้ถูกสร้างขึ้นเพื่อตัวของมันเอง (หรือเพื่อสนองตัณหาผู้สร้างเอง) ถ้าไม่เข้าใจ ให้นึกถึงความคิดใกล้เคียงในการอธิบายงานศิลปะที่มีความเป็นนามธรรมสูงว่าเป็นการทำงานศิลปะเพื่อศิลปะ

นอกจากนี้ หนังในความเข้าใจของคนไทยมักหมายถึงความบันเทิง (คือดูแล้วต้องไม่เครียด ไม่งง) ทัศนคติในแบบนี้ที่ครอบงำคนส่วนใหญ่ก็ย้อนกลับไปกำหนดรูปแบบและเนื้อหาของหนังไทยเอง ทำให้หนังไทยเองจำเป็นจะต้องเป็นความบันเทิง เพื่อความอยู่รอด (แต่ไม่ได้หมายความว่าความบันเทิงกับความเป็นศิลปะจะแยกจากกันเด็ดขาด) ยังไงก็ตาม การที่หลายคนไม่เชื่อว่าหนังเป็นศิลปะ ก็ไม่ได้ทำลายความจริงที่ว่าภาพยนตร์คือศาสตร์แขนงหนึ่งของศิลปะ

เมื่อภาพยนตร์สามารถเป็นศิลปะ มันก็ทำหน้าที่รับใช้ผู้ชมและผู้สร้างได้มากกว่าให้ความบันเทิงเพียงอย่างเดียว มันสามารถถูกใช้ให้ความรู้ เป็นกระบอกเสียงสะท้อนปัญหา/ความต้องการ เผยแพร่ความคิด อุดมคติ ระบายความรู้สึกและนึกคิด หรือแม้กระทั่งเป็นงานวิจัย

เช่นหนังของผู้กำกับฝรั่งเศสจำนวนไม่น้อย คืองานวิจัยสังคมชั้นดี เช่นงานของ Jean-Luc Godard ซึ่งได้เห็นในสารคดีว่าเคยส่งสคริปหนังที่เขียนเสร็จไปให้นักสังคมวิทยาอย่าง Pierre Bourdieu ขณะยังมีชีวิตอยู่ได้วิจารณ์ หรืองานของ Claude Lelouche ที่ ๒ เรื่องที่แล้ว คือ Entre adults (2007) และ Nos amis les terriens (2007) ก็ถามคำถามพื้นฐานเดียวกันเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างชาย-หญิงแบบชีวิตคู่ (ในกรณีของวงการหนังไทย เราก็มีอภิชาตพงศ์)

เห็นได้ชัดว่าโจทย์ในการทำหนังของผู้สร้าง สะท้อนความพยายามตั้งคำถามเพื่ออธิบายและเข้าใจสังคม (หรือแม้กระทั่งสิ่งที่เกิดขึ้นภายในตัวมนุษย์) หรือหากไม่สามารถพบคำอธิบายได้ ก็เพื่อให้เกิดคำถามมากขึ้นและลึกซึ้งขึ้น ทั้งที่ผู้กำกับเหล่านี้อาจทำไปโดยไม่ได้ตระหนักรู้ตัว เพราะเพียงต้องการ “จับ” ภาพของสังคมที่ตนรู้สึกว่ากำลังเปลี่ยนแปลง เพื่อ “ฉาย” ให้คนเห็น แต่ขั้นตอนและกระบวนการในการสร้าง กลับกลายเป็นการลงพื้นที่สำรวจ และตัวหนังเองก็กลายเป็นผลงานวิจัยสังคมและมนุษย์ที่ลึกซึ้ง

นอกเหนือไปจากภาพยนตร์แบบที่ว่ามานี้ ที่เกือบจะสองขาเหยียบเข้าไปอยู่ในพื้นที่ของเรื่องที่แต่งขึ้น (fiction) และตัวละครสมมติ (ที่ถอดแบบและจำลองตัวละครที่มีอยู่จริงในสังคม) เทคนิคของภาพยนตร์ในวันนี้ ถูกนำไปใช้ในการบันทึกเรื่องราวที่เกิดขึ้นจริงโดยตรงมากขึ้น ทั้งที่ยังคงความงามของการเล่าและดำเนินเรื่องแบบภาพยนตร์ (แต่ผู้ชมรู้ว่าสร้างจากเรื่องและตัวละครจริง) และแบบที่ใช้วิธีการแบบสารคดี

ความคิดเห็น

บทความที่ได้รับความนิยม