จะไปให้ไกลถึง... สุดแดน


ตามที่ระบุเอาไว้ที่ปก หนังสือ “จะไปให้ไกลถึงไหนกัน” คือ ความเรียงและเรื่องราวว่าด้วยการเดินทาง ของสุดแดน วิสุทธิลักษณ์*

สุดแดน เดินทางไกลสมชื่อของตัว เพราะจารึกการเดินทางของเขา บอกให้รู้ว่าเขาไปเยี่ยมเยือนสถานที่ต่างๆ ตั้งแต่สุโขทัย เวียตนาม ฮ่องกง อินเดีย เนปาล ทิเบต จอร์แดน ตุรกี... จนกระทั่งเปรู

ยังไงก็ตาม การเดินทางของเขาไม่ได้เป็นเส้นตรง ไม่ว่าจะมองจากมิติของเวลาหรือสถานที่

เขามักเชื้อเชิญให้ผู้อ่านติดสอยห้อยตามเขาเดินทางผ่านมิติที่ 3 ด้วยพาหนะคือ “ความคิดคำนึง” และ “การใึคร่ครวญ” ที่เป็นแบบฉบับและมีอานุภาพ ซึ่งแทบจะทุกครั้ง ต้องยอมรับว่าเราก็ถูกดึงเข้าร่วมขบวน “การเดินทางของความคิด” อย่างไม่ทันได้ตั้งตัว

และบ่อยครั้ง เราเองก็ติดค้างอยู่ในพื้นที่ที่ทับซ้อนระหว่างมิติเวลาและมิติของความคิด ...อย่างพออกพอใจ


เมื่อมนุษย์จ้องมองวันเวลา


หลายครั้ง การคิดคำนึงถึง “เวลา” ในขณะเดินทางของสุดแดน ย้ำเตือนว่าเวลาไม่ได้เดินเป็นเส้นตรงเสมอไป เขายังแสดงให้เห็นอีกว่า เราอาจดึงตัวเองออกจากกฎธรรมชาติของเวลา และเติบโตขึ้นได้แม้ขณะเดินทางถอยหลัง

ยังไงก็ตาม เขาก็ไม่ลืมที่จะเตือนให้เราตระหนักถึงข้อจำกัดของมนุษย์ รวมทั้ง ความโหดร้ายและน่าสะพรึงกลัวของสิ่งที่เรียกว่า “เวลา”


ความฝันใต้รองเท้า


สุดแดนคือนักฝันตัวยง และการเดินทางสำหรับเขา คือการสานฝัน ตรวจตราฝัน ปลุกตัวเองจากฝัน รวมทั้งตามหาฝันใหม่ๆ

ความฝันสำหรับเขา หลุดจากกฎเกณฑ์ของการแบ่งโลกจินตนาการและโลกของความจริง มันจึงไร้ขีดจำกัด และมีชีวิตของมันเอง ฝันจึงสามารถเติบโตหรือเจ็บป่วยได้

สำหรับเขาแล้ว ความฝันอาจเป็นเหมือนอวัยวะอันหนึ่ง ...


พบ พลบ และการจากลา


แน่นอน การเดินทางเน้นย้ำภาพของการพบและการพลัดพรากมากขึ้นกว่าการอยู่ติดถิ่น แต่การเดินทางทำให้สุดแดนไปไกลกว่าการพบและลาจากผู้คนหรือสถานที่

เขามักตั้งคำถามกับ “การมาถึงและจากไปของเวลา” “การรอคอย” รวมทั้ง “สิทธิในการเผชิญกับการมาถึง” ที่เหลื่อมล้ำกัน อันเกิดจากน้ำมือมนุษย์

นอกจากการเดินทางซึ่งนำไปสู่การพบ ลาจาก รวมทั้งการรอคอยที่แสนทรมานแล้ว การแสวงหาและการสำรวจยังเป็นสิ่งที่ครอบงำความคิดของเขา

ในฐานะนักมานุษยวิทยา เขาชี้ให้เห็นถึง “เสน่ห์”ของการค้นหา และ “ความลุ่มหลง” ของเขาต่อการสำรวจ ยังไงก็ตาม เราได้เรียนรู้จากสุดแดนว่า สิ่งที่จะตามมาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้จากการสำรวจ คือการยึดครอง รวมทั้งภาพสะท้อนของมันนั่นคือการปลดปล่อย

ไม่ว่าจะเป็นการยึดครองหรือปลอดปล่อยให้เป็นอิสระทางกายภาพ ความคิดหรือความรู้สึก


ที่อยู่ของความโศรกเศร้า


สิ่งหนึ่งที่อาจเรียกว่าเป็นอภิสิทธิ์ของผู้เดินทาง คือการได้สวมบทของแขกและผู้สังเกตการณ์ ในฐานะผู้สังเกต เรามักมองเห็น (และได้ยิน) อะไรต่ออะไรชัดเจนกว่าผู้อยู่อาศัยจนเคยชิน

อภิสิทธิ์นี้ทำให้เราสามารถเข้าถึง “เหตุผล” ได้ดีกว่าก็จริง แต่มันก็ไม่ได้สร้างภูมิคุ้มกันเราจากการถูกกระทบของความรู้สึกเลย

ในฐานะแขกและผู้ไปเยือน หลายต่อหลายครั้ง สุดแดนต้องเผชิญกับสถานการณ์ที่ขาข้างหนึ่งเหยียบอยู่บนฐานที่มั่นคงของเหตุผล แต่อีกข้างกลับก้าวถลำเข้าไปในหล่มของอารมณและความรู้สึก

"เมื่อเหตุผลเงียบ หัวใจก็เริ่มพูด"


กลางทางของชีวิต

สุดแดนมักจะเปรียบเทียบวิธีคิดเรื่องจุดเริ่มต้นและที่หมายของการเดินทางกับชีวิต แต่สิ่งที่เขาทำได้ดีที่สุด คือ สอนเราว่าระหว่างทางนั้นคือส่วนที่อาจจะสำคัญที่สุด และเรามักจะหลงลืม

เช่นเดียวกับสุดแดน ที่การเดินทางภายนอกมักนำเขาไปสู่การเดินทางและสำรวจ “ภายใน” เราต้องเผชิญกับคำถามเชิงปรัชญามากมาย ทั้งเรื่องการเกิด การตาย การสืบทอด ตัวตนและความเป็นอื่น ...

สุดท้ายแล้ว การเดินทางร่วมกับเขา ทำให้เรากลับมาสู่จุดเริ่มต้น ที่พบว่าเราไม่เป็นคนเดิมอีกต่อไปแล้ว


จะไปให้ไกลถึงไหนกัน


ในขณะเดินทางอยู่กลางถนนของชีวิต เราเองไม่ต่างจากสุดแดน ที่เคยเผชิญกับความสงสัย หวาดหวั่นและลังเลใจต่อการเดินทางข้างหน้า เมื่ออ่านหนังสือเล่มนี้จบ ผมยังไม่มีคำตอบให้กับคำถามนี้

ได้แต่บอกกับตัวเองว่า "อย่างน้อยก็โชคดีที่เส้นทางของเราได้มาตัดกัน"


ขอบคุณความคิดและความสวยงามจากหนังสือ ของพี่สุดแดน (เดียว)

-------------------------------------------------------------------------------
* ทำงานเขียนบทสารคดีโทรทัศน์ อาทิ โลกสลับสี และโลกสีน้ำเงิน ก่อนที่จะมาเป็นอาจารย์คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ปัจจุบัน กำลังทำปริญญาเอกอยู่ที่ประเทศฝรั่งเศส มีผลงานหนังสือ 2 เล่ม คือ จะไปให้ไกลถึงไหนกัน และไกลตา ใกล้ใจ และบทความเผยแพร่ตามวารสารและนิตยสารจำนวนไม่น้อย

ความคิดเห็น

ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า
"จะไปให้ถึง...(ไหนนะ?)"เป็นงานเขียนที่ชวนระทึกทางปัญญานัก มีความลุ่มลึกดังสุรีย์ต้องผืนน้ำที่สงบใส หากแต่ประกายแสงที่หักเลี้ยวลดลอดทะลุในกระแสชั้นมหรรณพเป็นเกลียวกลอกนั้นมิอาจจะใช้สสารใดล่วงหยั่งได้ ผิว่าไร้แสงแห่งตบะจิตปัญญา

ในเวลาเดียวกัน คำวิจารณ์ก็งดงามไม่แพ้ผลงานต้นฉบับ ทำให้ข้าพเจ้า "คลั่งมาก"

ขอแสดงความชื่นชมอย่างจริงใจ
ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า
ขอบคุณมาก ๆ นะครับ
muslin กล่าวว่า
ขอบคุณค่ะ

บทความที่ได้รับความนิยม