การเมืองหลังประชามติ อย่าให้กลายเป็นประชายุติ

ร่างรัฐธรรมนูญ (รธน.) ฉบับปี 2550 ได้ผ่านการรับรองโดยการลงประชามติ ด้วยคะแนน 14,727,407 เสียงต่อ 10,747,310 เสียงหรือคิดเป็นร้อยละ 57.81 ต่อ 32.19 ของจำนวนผู้มาใช้สิทธิ และขณะที่ผู้เขียนกำลังเขียนบทความนี้ (คือเย็นวันศุกร์ที่ 24 สิงหาคม 2550) ในหลวงได้ทรงลงพระปรมาภิไธยรัฐธรรมนูญฉบับนี้เรียบร้อยแล้ว จึงเป็นที่แน่นอนว่าคนไทยทุกคนได้รธน. ฉบับที่ 18 มาใช้ ไม่ว่าจะได้ไปรับ/ไม่รับ หรือแม้กระทั่งได้ไปใช้สิทธิครั้งนี้หรือไม่ก็ตาม

นี่อาจจะไม่ใช่เวลามาวิเคราะห์ว่ารธน. 2550 ซึ่งถือเป็นผลผลิตของการรัฐประหาร (i) (ถึงแม้จะผ่านการรับรองจากกระบวนการที่คล้ายคลึงกับประชาธิปไตยทางตรงก็ตาม) มีความเป็นประชาธิปไตยแค่ไหน หรือมีการจัดสรรโครงสร้างอำนาจทางการเมืองอย่างไร เพราะมันได้ผ่านการรับรองและกลายเป็นรธน. ใหม่ของประเทศไทยเป็นที่เรียบร้อย

และคงไม่ต้องเสียเวลาฝันกลางวันว่าประเทศไทยได้กฎหมายสูงสุดกลับคืนมาแล้ว เพราะประสบการณ์อันใหม่สดได้สอนให้เรารู้ว่ารธน.ของไทยไร้ความศักดิ์สิทธิ์โดยสิ้นเชิง (ตราบเท่าที่ความชอบธรรมทางการเมืองสามารถเกิดจากอำนาจและกำลัง แทนที่จะเป็นหลักการนิติรัฐ) เนื่องจากรธน. ของไทยมีอายุโดยเฉลี่ยเพียงฉบับละ 4 ปี 5 เดือน กฎหมายทั่วไปกลับมีอายุยาวนานกว่าและหลายฉบับกลับใช้มาตั้งแต่ก่อนปี 2500 จนถึงปัจจุบัน

คงจะต้องยกคำกล่าวของรศ.ดร. ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ ที่อ้างอิงงานของศ. ดร. เสน่ห์ จามริก เกี่ยวกับรธน.ของประเทศไทยที่ว่า “...รัฐธรรมนูญคือผลรวมของบรรดากฎหมายทั้งหลายที่ใช้อยู่ในอาณาจักรหรือประเทศ มองอีกด้านหนึ่งรัฐธรรมนูญกลายเป็นอัตชีวประวัติของสัมพันธภาพทางอำนาจ” (การเมืองไทยกับพัฒนาการรัฐธรรมนูญ, 2529:24) และเสริมอย่างลึกซึ้งว่า “...ลักษณะเด่นของรธน.ไทยอยู่ที่การสะท้อนความขัดแย้งและการเปลี่ยนแปลงของอำนาจการเมืองชนชั้นนำเป็นหลัก รัฐธรรมนูญไม่ใช่กฎหมายสูงสุดในการกำกับการปกครองให้ดำเนินไปได้อย่างสงบสันติ ในทางกฎหมาย รัฐธรรมก็เป็นเพียงผลรวม ไม่ใช่ที่มา...”

....

จากนี้ไป ความสำคัญจะต้องมุ่งไปที่การแก้ไขรัฐธรรมนูญ !

ทำไมต้องมุ่งความสนใจไปที่การแก้ไขรัฐธรรมนูญ แทนที่จะเป็นการเลือกตั้งที่ทุกฝ่ายกำลังให้ความสำคัญอย่างสูงอย่างที่เป็นอยู่ภายหลังประชามติ ผู้เขียนเห็นว่ามีเหตุผลง่ายๆ และเด่นชัดหลายประการคือ ประการแรก ข้อบกพร่องหลายประการของรธน. 2550 นี้เป็นที่ประจักษ์ ทั้งต่อสายตาของผู้ที่คัดค้านรธน. ก่อนการลงประชามติ และต่อสายตาของผู้ที่มีส่วนในขั้นตอนการร่างเองด้วย (ii) ถึงขนาดที่ประเด็นเรื่องการแก้ไข รธน.ฉบับนี้ในภายหลัง หากผ่านการลงประชามติแล้ว กลายเป็นความเข้าใจสาธารณะ (และอาจมองว่ากลายเป็นเงื่อนไขโดยนัยอันหนึ่ง เพื่อให้ประชาชนไปลงประชามติเพื่อรับรธน.นี้ก็ได้)

สาเหตุสำคัญที่กลุ่มเคลื่อนไหวและภาคประชาชนจำเป็นจะต้องมุ่งมั่นมากขึ้นเพื่อผลักดันการแก้ไขรธน.นี้ต่อไปในอนาคตมาจากสัญญาณที่เริ่มบ่งบอกให้เห็นว่า ผู้ที่อยู่ในอำนาจทั้งในส่วนของ คมช. รัฐบาลและชุดของสภาร่างฯ นั้นต่างไม่มีความจริงใจและไม่ตระหนักถึงความจำเป็นในการแก้ไขรธน. อย่างแท้จริงภายหลังจากรธน.นี้ผ่านการรับรองและถูกนำมาใช้ (iii)

ประการต่อมา กลไกเพื่อให้เกิดการเลือกตั้งนั้นเกิดจากเงื่อนไขที่กำหนดไว้ในรธน.ใหม่และกฏหมายประกอบที่จะประกาศใช้อยู่แล้ว หรือพูดง่ายๆ ว่าการเลือกตั้งเกิดขึ้นได้เองโดยอัตโนมัติ (ไม่ว่าวันนี้เราจะใช้รธน.ฉบับปี 2550 หรือ 2540 นั่นคือไม่ว่าผลการลงประชามติจะออกมาอย่างไร) ในขณะที่การแก้ไขรัฐธรรมนูญจะไม่สามารถเกิดขึ้นได้เลยหากไม่มีความเห็นพ้องต้องกันในสังคม และเมื่อพิจารณาจากประวัติศาสตร์ของการเมืองไทยและพฤติกรรมของผู้อยู่ในอำนาจแล้ว ก็ไม่สามารถเกิดขึ้นได้ หากปราศจากการกดดันจากภาคสังคมและประชาชน

ทั้งนี้ การเคลื่อนไหวกดดันเพื่อแก้ไขรธน. นี้จะเกิดขึ้นไม่ได้ หากกระแสของการปฏิรูปการเมืองยังไม่เบ่งบานเต็มที่ อย่างเช่นที่เคยเกิดภายหลังปี 2535 และนำไปสู่การร่างรธน.ฉบับปี 2540 ที่ผ่านมา นั่นหมายความว่าเงื่อนไขที่จำเป็นที่จะต้องมีเป็นอันดับแรกคือ ความเข้าใจของสังคมว่า “การแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2550 เท่ากับการปฏิรูปการเมือง” จะต้องเกิดขึ้นก่อน

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่กำลังปรากฏภายหลังการลงประชามติ กลับสะท้อนภาพและบรรยากาศของสังคมที่ตรงกันข้ามกับบรรยากาศหลังปี 2535 กล่าวคือ บรรยากาศทางการเมืองส่อเค้าการกลับมาของการผูกขาดทางการเมืองจากนักการเมืองรุ่นเก่าและนักเลือกตั้งหน้าเดิมๆ ในขณะที่ความสนใจทางการเมืองของประชาชนค่อยๆ เลือนไป

ผู้เขียนเองเกรงว่าภายหลังจากการทำประชามติ ปรากฏการณ์เลือนหรือลดทอนลงไปของความสนใจทางการเมืองของประชาชน ซึ่งหมายถึงความต้องการมีส่วนร่วมของประชาชนที่ลดลงไปด้วยนั้นอาจจะเกิดขึ้น เนื่องจากทัศนคติของคนส่วนใหญ่ที่มีก่อนหน้าไปลงประชามติในทำนองว่า “เมื่อรธน.ผ่านและเกิดการเลือกตั้ง ทุกอย่างจะเดินหน้าต่อไปได้”

หรือพูดอีกอย่างว่า ชัยชนะของฝ่ายเสียงข้างมากในประชามติ อาจจะนำไปสู่ปรากฏการณ์ “ประชายุติ” อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ทัศนคติหรือความเข้าใจในทำนองว่า “เมื่อเกิดการเลือกตั้ง ทุกอย่างจะเดินไป” สะท้อนให้เห็นว่าเรามักมอง “ประชาธิปไตย” ในฐานะผลสำเร็จหรือเป้าหมาย (iv) ซึ่งมักถูกนำไปผูกโยงกับการเลือกตั้ง ซึ่งเป็นเพียง “พิธีกรรม” หรือวิธีการที่พื้นฐานที่สุดในการใช้สิทธิทางประชาธิปไตย จะว่าไปแล้ว วิธีคิดแบบนี้เอง ก็เป็นจุดเริ่มต้นให้เกิดรัฐประหารในวันที่ 19 กันยายน 2549 ขึ้น เพราะภายหลังการเลือกตั้งในปี 2544 และ 2548 ประชาชนส่วนใหญ่ก็ถือว่าหมดหน้าที่ จึงปล่อยให้รัฐบาลทักษิณ 1 และ2 มีอิสระเต็มที่ในการบริหารประเทศตามใจชอบ จนทำให้เกิดความเสียหายและกลายเป็นข้ออ้างให้ทหารเข้ายึดอำนาจอย่างที่เห็นในปัจจุบัน

ประการสุดท้าย ซึ่งก็เชื่อมโยงกับประเด็นของชัยชนะของเสียงข้างมากหรือฝ่ายรับรธน. นั้น ก็คือ “การตีความ 10 ล้านเสียง” หรือเสียงของผู้ไม่รับรัฐธรรมนูญ

เป็นที่น่าสนใจมากว่า จำนวนเสียงของผู้ไม่รับรธน.ในการลงประชามตินั้นมากถึงขนาดทำให้ฝ่ายที่รณรงค์เพื่อคว่ำรธน.ฉบับนี้เองยังต้องฉงนสงสัย นักวิชาการในกลุ่มคัดค้านรธน. ก็ยังยอมรับว่าการรณรงค์ไม่รับรธน. จากกลุ่มของนักวิชาการอิสระและกลุ่มเคลื่อนไหวอื่นๆ น่าจะมีผลต่อการตัดสินใจของประชาชนไม่มากนัก (v) ดังนั้น การอธิบายหรือตีความนัยทางการเมือง หรือแม้กระทั่งนัยทางเศรษฐกิจในการตัดสินใจของประชาชนที่ไม่รับ รธน. ในครั้งนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในบริบทของพื้นที่นั้นจึงมีความสำคัญมาก (เช่น ผลการลงประชามติของพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้, พื้นที่ภายใต้กฎอัยการศึก, พื้นที่ที่มีปัญหาความยากจนอย่างรุนแรง ฯลฯ) เพราะผลการลงประชามติครั้งนี้ทำให้เราตระหนักว่าสังคมไทยไม่เข้าใจความรู้สึกนึกคิดของ “คนไทย” ในความหมายกว้างเลยแม้แต่น้อย (vi) เนื่องจากไม่มีทั้งวิธีคิด ข้อมูลและการวิเคราะห์เป็นฐานในการอธิบาย และความรู้สึกนึกคิดในทางการเมืองของประชาชนที่รับรู้กันผ่านสื่อกระแสหลักนั้นก็มักจะเป็นเพียงตัวแทนของความรู้สึกนึกคิดของกลุ่มคนชั้นกลางในเมืองที่สามารถเข้าถึงสื่อได้มากกว่าเท่านั้น

ไม่ต้องพูดถึงคำอธิบายของนักการเมือง ผู้อยู่ในอำนาจหรือแม้กระทั่งนักวิชาการบางราย ที่ตื้นเขิน ขาดการอ้างอิงกับสถิติและเป็นเพียงความเห็นที่เต็มไปด้วยอคติ ซึ่งพยายามสรุปว่าจำนวนเสียงไม่รับรธน. ที่กระจุกตัวในภาคเหนือและภาคอีสานนั้น เป็นเพียงภาพสะท้อนของผู้จงรักภักดีในกลุ่มอำนาจเก่าหรือเป็นผลสำเร็จจากการซื้อเสียงของนักการเมืองฝั่งตรงข้าม ซึ่งคำอธิบายแบบนี้ก็ข้ามไม่พ้นหลุมที่เราจมอยู่มานาน ที่ยังคงหมกมุ่นอยู่กับ “ผีอำนาจเก่า” ที่ตามหลอกหลอนสังคมไทยถึงแม้เจ้าตัวจะไม่อยู่ในประเทศแล้วก็ตาม และผู้เขียนเห็นว่าภายหลังจากเหตุการณ์รัฐประหารจนกระทั่งถึงวันลงประชามตินั้น ความกลัวผีตนนี้มีความรุนแรงถึงขั้นครอบงำสังคมไทยอย่างหนัก จนทำให้คนในเมืองจำนวนไม่น้อยก็ไปลงประชามติรับรธน. เพื่อหวังจะกำจัดผีอำนาจเก่าที่พูดถึงนี้

ถ้าหากสังคมไทยยังคงหนีไม่พ้นความกลัวนี้ มันก็จะถูกใช้เป็นเครื่องมือทางการเมืองต่อไป และเป็นที่แน่นอนว่า ภายหลังประชามติ การเมืองจะเข้าสู่ยุค “ประชายุติ” และยุคการผูกขาดของนักการเมืองหน้าเก๊าเก่า... เข้าตำราผีซ้ำด้ำพลอยเลยละครับ

Note

i. ดูการวิเคราะห์รธน. 8 ฉบับที่เป็นผลผลิตจากรัฐประหารในอดีคได้จาก จารีตรัฐธรรมนูญไทยกับสันติประชาธรรม โดย รังสรรค์ ธนะพรพันธุ์ เอกสารประกอบการปาฐกถาพิเศษ ป๋วย อึ้งภากรณ์ 9 มีนาคม 2550
ii. ปาฐกถาในหัวข้อ “ฐานะและบทบาททางประวัติศาสตร์ของรัฐธรรมนูญในระบบประชาธิปไตยไทย” ในรายการเสวนา “แลไปข้างหน้า สังคม-การเมืองไทยหลังลงประชามติ 19 สิงหา” จัดโดยเครือข่าย 19 กันยา ต้านรัฐประหาร และกลุ่มพลเมืองภิวัฒน์ เมื่อวันที่ 13 สิงหาคม คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.)
iii. นายจรัญ ภักดีธนากุล สมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ รวมทั้งฝ่ายสนับสนุนรธน. 50 ท่านอื่นที่เข้าร่วมการดีเบตรับ/ไม่รับร่างรธน. เมื่อวันที่ 3 สิงหาคม 2550 เคยกล่าวยอมรับอย่างเปิดเผยถึงข้อบกพร่องของรธน. ฉบับนี้ พร้อมทั้งถึงกับเสนอแนวทางการแก้ไขรธน. โดยอ้างอิงวิธีการของการร่างรธน. ฉบับ 40
iv. ตัวอย่างที่ชัดเจนคือ การให้สัมภาษณ์ภายหลังรู้ผลการลงประชามติ ของนต.ประสงค์ สุ่นศิริ ประธานคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ที่ว่า “รัฐธรรมนูญแก้ไขไม่ได้ง่ายๆ และขณะนี้ รัฐธรรมนูญก็ยังไม่ได้ประกาศใช้ แต่กลับมาเรียกร้องให้แก้ไข ซึ่งมองว่าเป็นการเรียกร้องเพื่อผลประโยชน์ของตัวเอง โดยไม่ได้มองว่าประชาชนจะได้อะไร”
iv. นั่นหมายความว่า ภายในระบอบ “ประชาธิปไตย” ในความหมายของกระบวนการ (process) หรือวิธีการ (means ไม่ใช่ end) ประชาชนมีหน้าที่ไม่จบสิ้นในการตรวจสอบรัฐบาลและผู้แทนของตน (ในขณะเดียวกัน ก็มีสิทธิในการใช้บุคคลเหล่านี้เป็นกระบอกเสียงและเครื่องมือเพื่อปรับปรุงคุณภาพชีวิตของตนให้ดีขึ้น) และต้องทำประกอบกับองค์กรอิสระที่ทำหน้าที่ตรวจสอบ
v. ดูบทสัมภาษณ์ รศ. ดร. อรรถจักร สัตยานุรักษ์ ใน สัมภาษณ์ ‘อรรถจักร สัตยานุรักษ์ : ความหมายของเสียง 10 ล้านเสียง “วันนี้คนจนมีสำนึกของชนชั้น” ! ใน http://www.prachatai.com/05web/th/home/page2.php?mod=mod_ptcms&ContentID=9332&SystemModuleKey=HilightNews&System_Session_Language=Thai
vi. ผู้เขียนเห็นว่าบทความที่อธิบายปรากฏการณ์ 10 ล้านเสียงได้อย่างดีนั้น คืองานของ ศรายุธ ตั้งประเสริฐ ที่พยายามอธิบายวิธีคิดของชาวมุกดาหาร ดู คนอีสาน : เราถูกทำให้แพ้ตั้งแต่ยังไม่ได้ลงประชามติ ใน http://www.prachatai.com/05web/th/home/page2.php?mod=mod_ptcms&ContentID=9334&SystemModuleKey=HilightNews&System_Session_Language=Thai

ความคิดเห็น

ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า
ขออนุญาตแสดงความคิดเห็นและข้อสงเกตบางประการครับ

ออกตัวก่อนว่า หากครั้งนี้ผมมีสิทธิออกเสียงลงประชามติ ผมก็จะลงมติรับรัฐธรรมนูญ ไม่ใช่ว่าเพราะผมเห็นว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้มีประโยชน์หรือดีกว่าฉบับที่ผ่านมาหรือว่าเห็นด้วยกับการรัฐประหารแต่ประการใด แต่เพราะว่าการลงประชามติครั้งที่ผ่านมา โดยความเป็นจริงได้ถูกแปรเปลี่ยนเป็นการลงประชามติเพื่อเลือกระหว่างระบบอบทักษิณฯ กับไม่เอาระบอบทักษิณ ภายใต้สถานการณ์เช่นนี้ หากผมมีสิทธิลงประชามติฯ ผมก็จะกัดลิ้นให้ผ่านไป

ตอนนี้ก็ยังอ่านรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ไม่จบเลยครับ ถ้าเอาแค่ว่าเนื้อหาดีไม่ดี ตอนนี้ก็ยังตอบได้ไม่หมดเลยว่าดุลยภาพของสังคมจะเป็นอย่างไรจากการใช้รัฐธรรมนูญฉบับนี้ เชื่อว่าประเด็นเนื้อหานี้คงมีโอกาสได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันต่อ ๆ ไปครับ

พูดเรื่องรัฐธรรมนูญและการจัดองค์กรทางการเมืองทีไรก็อยากสนองความใคร่ทางวิชาการเรื่อยเลยครับ เสียดายที่ไม่ค่อยได้อ่านหรือศึกษาในด้านนี้

ประเด็นหลักที่อยากแสดงความคิดเห็นคือ เรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ จากระทู้ของเกี๊ยงที่นำเสนอมาผมตั้งขอสังเกต (ที่ผมเองก็ไม่มีคำตอบ ดังนี้ครับ

Political Ignorance
ผมเห็นว่าบ้านเรามีปัญหาเรื่อง Political Ignorance ซึ่งเชื่อว่าเกี๊ยงเองก็คงจะเห็นด้วย การเฉยเมยของประชาชนต่อการเมืองน่าจะส่งผลอย่างมีนัยยะสำคัญต่อคุณภาพของรัฐธรรมนูญ (รัฐธรรมนูญที่มีประสิทธิภาพน่าจะได้มาจากการมีส่วนร่วมของประชาชนในวงกว้าง) ดังนั้นเพื่อให้ได้รัฐธรรมนูญที่มีประสิทธิภาพ ประชาชนต้องเข้ามามีส่วนร่วมมาก ๆ เพื่อให้ได้ collective decision ที่แท้จริง แต่จะแก้ปัญหาเรื่องนี้ได้อย่างไรครับ คงไม่ใช่แค่การรณรงค์ผ่านสื่ออย่างแน่นอน เพราะนั่นคงเป็นเพียงแค่การแพร่กระจายของข่าวสารอย่างไรประสิทธิภาพ(manipulated information)

อีกประการหนึ่งการที่คนเพิกเฉยต่อการเมืองผมมองว่าไม่ได้เป็นเพราะว่าเขาไม่ดีหรืออะไร ถ้าใช้ศัพท์ทางเศรษฐศาสตร์ ก็จะเรียกได้ว่า Rational ignorance หรือเกิดจากสภาพปัญหาแบบ rational irrationality ประมาณนั้น

Level of Information
ระดับของข้อมูลข่าวสารหรือองค์ความรู้แค่ไหนถึงจะเพียงพอต่อการมีส่วนร่วมในทางการเมืองอย่างมีประสิทธิภาพก็เป็นอีกประเด็นหนึ่ง แค่ปัญหาเรื่อง Collective action กับ free-rider ในการแสวงหาองค์ความรู้ก็ยากเต็มทีที่จะแก้ไข (ผมมองว่าประชาชนกลุ่มนี้ rational นะครับที่จะ free-ride โดยไม่แสวงหาองค์ความรู้)

ผมเชื่อว่าเกี๊ยงคงเห็นด้วย (ถ้าไม่ใช่ ก็ต้องมาแก้สมติฐานกันหใหม่นะครับ) ว่าการมีส่วนร่วมของประชาชนนั้นไม่ใช่อาศัยแค่คนจำนวนมากเป็นพอ แต่ต้องเป็นจำนวนที่มีคุณภาพด้วย ไม่งั้นคงไม่มีปัญหาพวกมากลากไปให้ปวดหัว

เนื่องจากองค์ความรู้มันมีราคาของมันในการได้มา ปัญหาที่ผมอยากตั้งข้อสังเกตคือเกี๊ยงเห็นว่าองค์ความรู้ระดับใดจึงจะเพียงพอ เพราะระดับองค์ความรู้จะเป็นตัวคัดผู้ที่เข้ามามีส่วนร่วมหรือมีบทบาทในการแก้ไขรัฐธรรมนูญหรือพัฒนาระบบการเมือง

1. Deliberative voters (i) ที่มีความรู้ความเข้าใจในระดับที่ดีมาก ๆ ซึ่งผมเชื่อว่าหายากเต็มที (ผมเชื่อว่าเกี๊ยงก็จัดอยู่ในประเภทนี้) ซึ่งไม่ง่ายเลยที่จะสั่งสมความรู้ความเข้าใจมาได้ระดับนี้

2. Minimalistic Schumpeterian (ii) ที่ประชาชนมีความรู้ในระดับไม่ต้องมาก แต่อาศัยการกลไกของ Repeat game เช่น ไม่เลือก ในคราวหน้า แต่กลไกของเมืองไทยผมว่ารูปแบบนี้ไม่ได้ผล เพราะมัน re-brand กันบ่อยและง่าย

3. Burkean trusteeship (iii) ที่น่าจะเข้ากับสภาพปัจจุบันของสภาพส่วนใหญ่ของสังคมไทยที่ประชาชนเลือกคนที่คิดว่าดีกว่าตนเอง มีความสามารถมากกว่าตนเอง แล้วปล่อยให้ผู้แทนไปกำหนดนโยบายหรือเลือกรูปแบบเอาเอง

มันคงยังมีแบบอื่นอีกหลายแบบ หลายแนวคิด แล้วมันก็คงมีบริบทที่เหมาะสมกับสภาพบ้านเมืองของเรา แต่ความรู้และความสามารถผมมีจำกัด เท่าที่พอหาอ่านได้ ถ้าเอาจุดนี้เป็นจุดเริ่มต้นในการคิด ผมก็ว่ายากเต็มทีที่จะหาจุดสมดุลของประเทศ

Shortcuts
ถ้าสามารถมีอะไรที่ช่วยให้ประชาชนเข้าถึงองค์ความรู้ได้ดีมากขึ้น เช่น สื่อสารมวลชน องค์กรทางวิชาการ มหาวิทยาลัย ครูบาอาจารย์ ใครที่มาทำการศึกษาเปรียบเทียบให้เห็น ทั้งบทเรียนจากอดีตหรือผลที่จะเกิดจากนโยบายปัจจุบัน ก็คงเป็นเรื่องที่ดี แต่ปัญหาคือส่วนใหญ่มี Asymmetric information ทั้งนั้น ผมไม่ได้บอกว่ามีไม่ได้ แต่ปัญหาคือเราไม่รู้ว่าเขามี ทั้งเรื่องความลึกซึ้ง ความจัดเจนในการวิเคราะห์อีก ฯลฯ

สรุปจริง ๆ คือ อาจจะมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญก็ได้ แต่ก็โดยการดำเนินการจริงๆ โดยคนกลุ่มเล็ก ๆ ประกอบด้วยการรับฟังความคิดเห็นในวงกว้างและประชาชนมีส่วนร่วมและตื่นตัวบนพื้นฐาน กรอบและเนื้อหาที่ทำให้เชื่อว่าดี (สินค้าลงขาย) เชื่อว่าลักษณะนี้ก็คงเป็นอีกด้านหนึ่งของปลายทางที่เกี๊ยงก็คงไม่อยากเห็นเหมือนกัน

สุดท้ายผมเองก็ไม่มีคำตอบว่าจะแก้ปัญหาเรื่อง Political ignorance / rational irrationality ยังไง เพียงแต่อยากตั้งเป็นข้อสังเกตเท่านั้นครับ

เข้าเรื่องบ้าง นอกเรื่องบ้างก็ขออภัยมา ณ ที่นี้ด้วยนะครับ เนื่องจากช่วงนี้ถูกอวิชชา ประเภทความไม่อยากมีไม่อยากเป็นเข้าครอบงำ

(i) Amy Gutmann, Dennis Thompson (2002) Deliberative Democracy Beyond Process Journal of Political Philosophy 10 (2), 153–174

(ii) Joseph Schumpeter, Capitalism, socialism and democracy , Repr.. - London [u.a.] : Routledge, 1992

(iii)http://en.wikipedia.org/wiki/Edmund_Burke
noka กล่าวว่า
เวลานี้บรรยากาศการเมืองสดชื่นไปด้วยเงินตราเดินสะพัด อีกทั้งพรรคหน้าใหม่ก็ผุดขึ้นมาราวกับดอกเห็ด ประหนึ่งฤดูใบไม้ผลิทางการเมือง

เสียดาย... ที่ประปนไปด้วยเห็ดเน่า เห็ดพิษที่มีชื่อแปลกๆ .. พรรคแทนคุณแผ่นดินอีสานเพื่อ... เก๋มาก ยาวจนจำเกือบไม่ได้ เห็นเขาว่า มีเบื้องหลังเบื้องลึก...คนกลุ่มเก่าๆ ที่เขาเพิ่งโละฐาน แล้วก็สร้างฐานใหม่ (Rebrand อันนี้หรือเปล่าเอ่ย)

รัฐเขาบอกว่าจะเริ่มให้ความรู้กับประชาชนเพื่อกระตุ้นให้เกิดความตื่นตัวทางการเมือง การเลือกตั้ง--เอาป้ายไปติดนะ คนนี้ชื่อไร จบอะไร นโยบายสวยหรูดูดี ทำได้ไม่ได้ค่อยว่ากัน ให้เข้าไปได้ก่อน--ตรวจสอบยังไง เขาหลอกป่ะ?

จะก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง คงจะเกิดคำถามว่าการเมือง"ให้"อะไรก่อน (คงต้องมีคำตอบมาว่าก็แล้วคุณ "ให้" อะไรกับการเมือง..คงยาว) อะไรจะดีขึ้นหากคนหันมาสนใจ ที่ผ่านมาไม่ว่าจะมีการปรับเปลี่ยน ปฏิรูป ก็ไม่เห็นมีอะไรที่ทำให้การเมือง "ต่าง" ออกไป ถึงกับมีคนกล่าวมาให้ได้ยินว่า รธน.เองก็เถอะ มีคนที่เขียน แก้อยู่ในวงแคบๆแค่ไม่กี่คนตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาหลายปี (จริงเท็จแค่ไหนไม่ทราบ หากมีใครขยายให้ทราบก็คงดี)

คุณภาพชีวิตคนไทยดีขึ้นมั้ย ดีอย่างไร ในวงแคบหรือวงกว่้าง หากว่าไม่ก่อให้เกิดอย่างชัดเจน ณ ขณะนี้ ที่บรรยากาศทางด้านอื่นยังคงสภาพก้ำกึ่งระหว่างดีพอใช้กับพอทน การกดดันที่จะเกิดก็ไม่ง่ายเพราะมันยัง "ทน" ได้

บทความที่ได้รับความนิยม