คัมภีร์แห่งการปฏิวัติพฤษภา’ 68



ตามที่ผู้เขียนได้เขียนบทความสั้นๆเกี่ยวกับเทศกาลหนังเมืองคานนส์ในช่วงพฤษภา’68 (Mai 68) ของฝรั่งเศสไปเมื่อไม่นานมานี้ ผู้เขียนเองตระหนักว่าจำเป็นอย่างยิ่งที่ผู้อ่านจะต้องเข้าใจบริบททางสังคม เศรษฐกิจและการเมืองที่แวดล้อม และปัจจัยต่างๆ ที่ประกอบกันจนเป็นเหตุให้เกิดการลุกขึ้นเรียกร้อง “การปฏิวัติสังคม” โดยเฉพาะอย่างยิ่งอิทธิพลทางความคิดที่มีต่อนักศึกษาในยุคนั้น

ดังนั้น ก่อนหน้าที่ละอองแห่งความทรงจำของพฤษภา ’68 ในฝรั่งเศสจะจางหายไปเมื่อพ้นเดือนนี้ ผู้เขียนถือโอกาสแปลและเรียบเรียงบทความที่ว่าด้วยหนังสือสำคัญที่มีอิทธิพลต่อ “ความคิดปี 68” ทั้งหมด 3 เล่ม โดยเริ่มจากเล่มแรก มาให้อ่านประกอบความรู้กันในตอนนี้



De la misère en milieu étudiant ต้นฉบับ

ถึงแม้จะมีลักษณะคล้ายคู่มือมากกว่า เพราะมีเพียง 32 หน้า แต่หนังสือที่มีชื่อยาวมากอย่าง
De la misère en milieu étudiant, considéré sous ses aspects économique, politique, psychologique, sexuel et notamment intellectuel et quelques moyens pour y remédier
หรือ “ว่าด้วยทุกข์เข็ญในหมู่นักศึกษา เมื่อพิจารณาจากมุมมองเศรษฐกิจ, การเมือง, จิตวิทยา, ทางเพศและโดยเฉพาะอย่างยิ่งทางปัญญาชน และวิธีการบางอย่างในการแก้ไข” ยังคงเป็นเอกสารสำคัญทางประวัติศาสตร์ของพฤษภา’ 68

De la misère en milieu étudiant เขียนโดย Mustapha Khayati สมาชิกคนหนึ่งของ Internationale Situationniste (IS) ถูกนำออกเผยแพร่ครั้งแรกโดยเหล่าสมาชิกของ IS ที่เมือง สตราสบูร์กในเดือนพฤศจิกายนปี 1966 หนังสือเล่มนี้บอกเล่าสภาพชีวิตของนักศึกษาในขณะนั้นได้อย่างแยบคายและแสบสัน นอกจากนี้ ยังนำเสนอแนวคิดแบบ Situationniste ได้เป็นอย่างดี เมื่อพิจารณาในเชิงประวัติศาสตร์แล้ว หนังสือเล่มนี้มีส่วนโดยตรงต่อเหตุการณ์ scandale de Strasbourg (แปล : scandal of Strasbourg) ซึ่งเป็นหนึ่งในปฐมบทของพฤษภา ’68

ภายหลังจากแจกครั้งแรก De la misère en milieu étudiant ได้รับความสนใจอย่างสูง จนต้องมีการผลิตรอบสองกว่าหมื่นเล่มนับแต่เดือนมีนาคม 1967 และยังได้รับการแจกจ่ายไปยังต่างประเทศ

เนื่องจากหนังสือพยายามหยิบยกประเด็นหลากหลายขึ้นมา ด้วยพื้นที่ที่จำกัดจึงทำให้มีลักษณะค่อนข้างรวบรัดและอัดแน่น อย่างไรก็ตาม โดยสาระสำคัญแล้ว หนังสือกล่าวถึงการวิเคราะห์สถานะของนักศึกษา, วิกฤติของมหาวิทยาลัย, ลักษณะสุดโต่งของวัยรุ่น หรือแม้กระทั่งการวิจารณ์ “สินค้าทางวัฒนธรรม” ซึ่งในประเด็นนี้ เราสามารถพบการวิเคราะห์เช่น “ในการแสดงเชิงวัฒนธรรม นักศึกษาพบว่าตัวเองตกอยู่ในฐานะสานุศิษย์ที่เชื่อฟังคำสอนอีกครั้ง [...] ในยุคที่ศิลปะได้ตายลง ยังมี (นักศึกษา) กลุ่มหลักที่เหนียวแน่นต่อโรงละครและคลับของคนรักหนัง ซึ่ง (นักศึกษา) เป็นผู้บริโภคที่กระหายอยากที่สุดต่อศพแช่แข็ง (ของศิลปะ) ที่ถูกกระจายออกไปภายใต้หีบห่อพลาสติกใสในห้างสรรพสินค้าสำหรับแม่บ้านที่ต้องการ (บริโภค) ปริมาณมากๆ [...] ที่ใดไม่มี “ศูนย์วัฒนธรรม” นักศึกษาก็จะสร้างมันขึ้น”

นอกจากนี้ ยังอาจถือว่าหนังสือเล่มนี้เป็นการกล่อมเกลาและหล่อหลอมให้มองการปฏิวัติเฉกเช่นเดียวกับการเฉลิมฉลองและการละเล่น โดยหนังสือเล่มเล็กแต่ชื่อยาวนี้จบลงด้วยวลีสัญลักษณ์ที่กลายเป็นคำขวัญสำหรับคนในรุ่น 68 ว่า “ใช้ชีวิตอย่างไม่สูญเปล่าและรื่นรมย์อย่างเสรี ปราศจากอุปสรรค”



Traité de savoir-vivre à l’usage des jeunes générations (1967)
Raoul VANEIGEM

ในขณะที่ De la misère en milieu étudiant หนังสือเล่มแรกที่ได้กล่าวถึงไปในตอนที่แล้ว มีลักษณะคล้ายเป็นเครื่องมือสื่อสารระหว่างนักศึกษาด้วยกันเอง รวมทั้งเป็นกระบอกเสียงของพวกเขาเพื่อตีแผ่ปัญหาและระบายความคับข้องใจไปสู่สังคมและผู้อยู่ในอำนาจ หนังสืออีกเล่ม คือ Traité de savoir-vivre à l’usage des jeunes générations หรือ “บทความว่าด้วยการรู้จักใช้ชีวิต เพื่อคนรุ่นหนุ่มสาว” ของ Raoul VANEIGEM นั้น กลับเป็นการสื่อสารจากกลุ่ม Internationale Situationniste (IS) ไปยังวัยรุ่น โดย Traité de savoir-vivre มีความสำคัญอย่างยิ่งในฐานะผู้วางรากฐานความคิดปัจเจกนิยมในสังคมแบบจารีตของฝรั่งเศสขณะนั้น

Traité de savoir-vivre (1967) คือผลจากการทำงานร่วมกันระหว่าง Raoul VANEIGEM กับวารสาร L’Internationale Situationniste เป็นระยะเวลาถึง 7 ปี ซึ่ง VANEIGEM นำบทความบางส่วนที่เคยลงในวารสารดังกล่าวมาปรับปรุงและตีพิมพ์ใหม่ในหนังสือเล่มนี้

เนื้อหาส่วนใหญ่ของ Traité de savoir-vivre คือแนวความคิดของกลุ่ม situationniste เช่น การวิจารณ์ศาสตร์และวิธีการพัฒนาเมืองสมัยใหม่ (modern urbanism), การวิจารณ์ศิลปะ Pop Art หรือกระทั่งความคิดใคร่ครวญต่อ “แทคติค” หรือยุทธวิธีการต่อสู้ของมวลชน ทั้งนี้ หัวใจแกนกลางของหนังสืออยู่ที่การวิจารณ์สังคมฝรั่งเศสซึ่งถูกกัดกร่อนหรือถูกทำให้เสื่อมโทรมจาก “อำนาจ” ซึ่งผู้แต่งหมายถึง ภาพหรือภาพลักษณ์ที่คนกำหนดให้กับสังคม

เสน่ห์ของหนังสือเล่มนี้ ซึ่งทำให้เกิดแรงสั่นสะเทือนในหมู่วัยรุ่นคนหนุ่มสาวที่เกิดอาการ “เบื่อหน่าย” สังคมช่วงก่อนปี 68 และเป็นเอกลักษณ์เฉพาะของ VANEIGEM ที่ทำให้เขาต่างจากเพื่อนร่วมขบวนการคนอื่น คือการกล่าวถึง “ความปรารถนา” และ “การบรรลุเป้าหมายด้วยตนเอง”



« Jouissez sans entraves » : รื่นรมย์อย่างไร้อุปสรรค
การปะทะของค่านิยมใหม่กับจารีตของสังคม

นอกจากนี้ เขาได้ประณามสังคมแห่งการบริโภคและสัญลักษณ์ที่ถูกสร้างขึ้นจากสังคมดังกล่าวอย่างรุนแรง เนื่องจากสังคมแบบนี้ทำให้ปัจเจกบุคคลที่เป็นสมาชิกต้องผิดหวัง ดังที่เขากล่าวว่า “ชัยชนะของสินค้าเหนือมนุษย์นั้น ทำให้คนกลายเป็นผีดิบที่ไร้ชีวิตจิตใจ” ในแง่นี้ Traité de savoir-vivre คือคัมภีร์ที่แท้จริงของปัจเจกชนนิยมสมัยใหม่ ซึ่งในมุมหนึ่ง สะท้อนความผิดหวังของมนุษย์ที่เคยฝากความหวังไว้กับอุดมการณ์ต่างๆ

อย่างไรก็ตาม VANEIGEM ไม่ได้ทอดทิ้งให้ปัจเจกชนต้องเผชิญกับโชคชะตาโดยลำพังหรือไม่ได้ปล่อยให้ต้องผจญกับความสงสัยเคลือบแคลงทั้งหลายด้วยตนเอง เพราะเมื่อมองลึกลงไปข้างหลังวาทกรรมต่างๆ เกี่ยวกับความจำเป็นในการสร้างเหตุการณ์หรือสถานการณ์ตามปรัชญาของพวก situationniste ที่เขาและเพื่อนร่วมอุดมการณ์พยายามเสนอแล้ว เราจะเห็นว่าเขายังได้ใช้วัตถุดิบจากแหล่งอื่น เช่น ปรัชญาโบราณและศาสนา นอกจากอิทธิพลความคิดตามแบบมาร์กซ์ เนื่องจากเขาได้จบการศึกษาด้านประวัติศาสตร์ของภาษาในยุคโรมัน (roman philology) ซึ่งข้อนี้เองคือความเป็นแบบฉบับของเขาอีกประการ

สำหรับ VANEIGEM แล้ว “ปัจเจกชนที่ได้รับการปลดปล่อย (จากพันธนาการของสังคม : ผู้แปล) ไม่สามารถละทิ้งสังคมได้ ในขณะเดียวกันก็ไม่สามารถแอบซ่อนอัตลักษณ์อย่างที่เคยเป็นมาเช่นเดิม”



หนังสือเล่มสุดท้ายที่จะกล่าวถึง ในฐานะคัมภีร์แห่งการปฏิวัติของพฤษภา ’68 คือ La Société du Spectacle (1967) หรือ “สังคมแห่งมหรสพ” ของ Guy DEBORD

สังคมฝรั่งเศสเคยให้ความสำคัญกับ La Société du Spectacle ในฐานะหนังสือที่มีอิทธิพลต่อความคิดยุคก่อนพฤษภา ’68 เช่นเดียวกับงานอย่าง La Chinoise ของ Jean-Luc GODARD หรือตำราปรัชญาของ Herbert MARCUSE เพียงเท่านั้น กระทั่งในเวลาต่อมา วงการสื่อจึงได้ค้นพบว่าหนังสือเล่มเล็กนี้ได้เสนอการวิเคราะห์ในเรื่อง “อำนาจของภาพ” ไว้อย่างแยบยลที่สุด

อย่างไรก็ตาม อาจกล่าวได้ว่า เราเองมีความเข้าใจต่อหนังสือเล่มนี้เพียงผิวเผินในช่วงแรกและใช้เวลาไม่น้อยกว่าจะสามารถเข้าถึงแก่นสารที่แท้ของงานบุกเบิกชิ้นนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง กว่าจะตระหนักว่างานชิ้นนี้ไปไกลกว่าการเสนอวิธีวิเคราะห์แบบวัตถุนิยมประวัติศาสตร์ของมาร์กซ์และแองเกิลที่ใช้กันอยู่ เนื่องจาก DEBORD ได้เสนอวิธีการสร้างแนวทางปฏิบัติให้กับการปฏิวัติ

DEBORD นำสมมุติฐานของ Georg LUKACS มาพัฒนาแนวคิดเรื่องการแปลสภาพจากสินค้าเป็นมหรสพ โดยผ่านความคิดเรื่องการกลายเป็นวัตถุของปัจเจกชน อาจกล่าวได้ว่านี่คือการวิเคราะห์ว่าด้วยเรื่องของทรราชย์ที่มาในรูปแบบใหม่ สำหรับ DEBORD แล้ว เมื่อพิจารณาจากบทบาททางประวัติศาสตร์ของชนชั้น ชนชั้นแรงงานเพียงชนชั้นเดียวเท่านั้นที่จะสามารถเปลี่ยนแปลงเส้นทางของสิ่งต่างๆได้ นอกจากนี้ “มหรสพ” เป็นปฏิปักษ์กับประวัติศาสตร์และการเคลื่อนไหวของประวัติศาสตร์ โดยผ่านปัจจัยหลายอย่าง เช่น การพัฒนาจนถึงขีดสุดของการบิดเบือนความจริง การทำให้คนเฉื่อย การแยกฝูงชนออกจากความเป็นจริง รวมทั้งการสร้างข้อจำกัดของการชม



เขาได้กล่าวว่า เรื่องโกหกเกี่ยวกับชีวิตดำรงอยู่ทุกหนแห่ง เพราะ “ในโลกที่กลับตาลปัตรอย่างแท้จริง ความจริงคือชั่วขณะหนึ่งของความเท็จ”



แปลและเรียบเรียงจากบทความเรื่อง Les Livres qui ont enflammé les esprits หรือ “หนังสือที่จุดดวงวิญญาณให้ลุกโชน” โดย Yan CIRET ในนิตยสาร Le Magazine Littéraire, Hors-série No 13, Avril- Mai 2008

ความคิดเห็น

บทความที่ได้รับความนิยม