ใช่.. เราทำได้ (จริงหรือ?)

แผนปฏิรูประบบประกันสุขภาพ (Health Care Reform) ของประธานาธิบดีโอบามาได้ผ่านการรับรองจากทั้งสองสภาและนายโอบามาได้จรด ปากกาเซ็นผ่านเป็นกฎหมายไปสดๆ ร้อนๆ ในวันอังคารที่ 23 มีนาคมผ่านมา

เรียกได้ว่าเป็นชัยชนะทางการเมืองที่พรรคเดโมแครตภาคภูมิใจและถือเป็นการ ตัดสินใจเชิงนโยบายที่เปลี่ยนแปลงโฉมหน้าของระบบสวัสดิการด้านสุขภาพ ของอเมริกันครั้งสำคัญก็ว่าได้ เพราะทันทีที่กฎหมายนี้มีผลบังคับใช้ ชาวอเมริกันจำนวนมหาศาลที่เคยถูกกีดกันและเลือกปฏิบัติโดยข้อบังคับและ เงื่อนไขของบริษัทประกันจะได้รับการคุ้มครองและสิทธิประโยชน์ในด้านภาษี เพิ่มขึ้น

หลังจากนายโอบามาและพรรคเดโมแครตได้พักผ่อนให้หายเหนื่อยและหายจากอาการ “แฮงค์โอเวอร์” ในการฉลองชัยชนะครั้งนี้ ก้าวต่อไปของเขาก็จะเป็นการผลักดันเรื่องการรื้อกฎระเบียบของตลาดเงินตลาด ทุน ที่เป็นต้นตอให้เกิดวิกฤติภาคการเงินในปี 2551

จึงน่าจะเป็นโอกาสที่ดีที่จะได้ประเมินผลการดำเนินการตามแผนกระตุ้นเศรษฐกิจ ของประธานาธิบดีโอบามาในช่วงปีที่ผ่านมาเพราะมาตรการชุดดังกล่าวเพิ่งจะมีอา ยุครบ 1 ปีในเดือนกุมภาพันธ์ ก่อนที่ความสนใจของสังคมจะมุ่งไปสู่แผนปฏิรูปด้านสุขภาพและการเงินต่อไป

กฎหมายสร้างการลงทุนและฟื้นตัวทางเศรษฐกิจอเมริกัน (ARRA) หรือกฎหมายการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 17 กุมภาพันธ์ปี 2552 และมีหลักการพื้นฐาน 3 ประการ คือ ช่วยเหลือ, ฟื้นตัว และสร้างการลงทุน (Rescue, Recovery, Reinvestment) โดยใช้ประโยชน์จากงบประมาณจำนวนกว่า 787 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ เพื่อบรรเทาปัญหาและสร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจให้กับสหรัฐ ทั้งในระยะสั้นและระยะยาว

ในแง่ของวัตถุประสงค์ เงินงบประมาณ 787 พันล้านดอลลาร์สหรัฐถูกจัดสรรออกเป็นสามส่วนที่มีขนาดพอกัน โดยหนึ่งในสามส่วนของงบประมาณทั้งหมดจะถูกใช้ในรูปของการลดหย่อนภาษีสำหรับ บุคคลและธุรกิจ อีกหนึ่งในสามส่วนเป็นงบประมาณในรูปของการลดภาษีที่จ่ายช่วยเหลือให้กับผู้ ได้รับผลกระทบโดยตรงจากเศรษฐกิจถดถอย รวมถึงให้กับรัฐบาลมลรัฐและท้องถิ่นเพื่อให้สามารถคงการจ้างงานเดิมไว้ได้ ขณะที่ส่วนสุดท้ายจะเป็นส่วนของการลงทุนโดยตรงของรัฐบาล สำหรับสร้างสาธารณูปโภค การศึกษา สาธารณสุขและลงทุนด้านพลังงาน

ในแง่ของการใช้จ่ายงบประมาณ กฎหมายฉบับนี้กำหนดให้มีการใช้จ่ายงบประมาณจำนวนดังกล่าวให้เสร็จสิ้นภายใน ระยะเวลาถึง 10 ปี แต่ด้วยความจำเป็นเร่งด่วนในการกระตุ้นกิจกรรมทางเศรษฐกิจเพื่อชดเชยกับการ ลดลงของอุปสงค์รวม (aggregate demand) ระหว่างที่เกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอย ชุดมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจฉบับนี้จึงออกแบบให้เกิดการใช้มาตรการทางการคลัง ตลอดช่วง 2 ปีแรกหลังจากที่กฎหมายการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจประกาศใช้หรือระหว่างปี 2552-2553 ในปริมาณเงินที่เท่ากัน ขณะที่งบประมาณอีกกว่า 100 พันล้านดอลลาร์สหรัฐที่เหลือจะถูกใช้จ่ายเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจในปีถัดไป คือ หลังจากปี 2554 เป็นต้นไป

ณ สิ้นปี 2552 รัฐบาลสหรัฐได้ดำเนินการทางการคลังไปแล้วคิดเป็นเงินงบประมาณกว่า 263 พันล้านดอลลาร์สหรัฐหรือประมาณหนึ่งในสามส่วนของแผนการใช้งบประมาณทั้งสิ้น 787 พันล้านดอลลาร์สหรัฐในรูปของภาษีที่ลดลงให้แก่ครัวเรือนและภาคธุรกิจ รวมทั้งได้ใช้จ่ายงบประมาณในรูปของการลงทุนโดยผ่านรัฐบาลท้องถิ่นในโครงการ และกิจกรรมต่างๆ คิดเป็นเงินกว่า 150 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ

การประเมินผลการดำเนินงานตามแผนกระตุ้นเศรษฐกิจชุดนี้ โดยเฉพาะในแง่ของการใช้จ่ายงบประมาณ รายงานที่สำนักงานงบประมาณของสภาคองเกรส (Congressional Budget Office) ร่วมกับสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจของประธานาธิบดี (Council of Economic Advisers) เปิดเผยว่า ภายหลังจากครบรอบ 1 ปีของการใช้กฎหมายการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ ผลที่เกิดขึ้นคือ มีการสร้างงานหรือรักษาตำแหน่งงานที่อาจจะสูญเสียไปเพราะเศรษฐกิจถดถอยไว้ ได้กว่า 2 ล้านตำแหน่ง เนื่องจากการจ้างงานในภาคเอกชนที่เกิดขึ้นจากการลงทุนโดยรัฐบาลท้องถิ่นและ มลรัฐ รวมทั้งองค์กรไม่แสวงหากำไร

รายงานการประเมินผลการดำเนินการตามกฎหมายสร้างการลงทุนและการฟื้นตัวทาง เศรษฐกิจอเมริกันของหน่วยงานต่างๆ ต่างชี้ไปในทางเดียวกันว่าชุดมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจได้ทำให้เกิดผลกระทบใน แง่บวกอย่างมีนัยสำคัญต่อการปรับตัวของเศรษฐกิจสหรัฐ ทั้งนี้ ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศที่แท้จริงได้เริ่มขยับสูงขึ้นในไตรมาสที่ 3 ของปี 2552 ขณะที่การเพิ่มขึ้นของจำนวนงานที่เกิดจากการเลิกจ้างลดเหลือเพียงหนึ่งในสิบ ส่วนของจำนวนที่เคยเกิดขึ้นในไตรมาสแรก

ถึงแม้ว่าโอบามาจะประสบความสำเร็จในการผลักดันกฎหมายสำคัญสองฉบับ ภายหลังจากการเข้ารับตำแหน่งเพียงหนึ่งปีเศษ และความเชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจอเมริกันก็เริ่มมีมากขึ้น อย่างไรก็ตาม ความท้าทายที่แท้จริงที่ยังรอคอยการพิสูจน์จากเขา น่าจะเป็นความท้าทายในเชิงอุดมการณ์และแนวคิดเศรษฐกิจการเมือง ซึ่งนายโอบามาจะต้องผลักดันให้เกิดการทบทวนและปฏิรูปกระบวนทัศน์เกี่ยวกับ “ระบบเศรษฐกิจ” ที่เป็นธรรมยิ่งขึ้นในสังคมอเมริกันอย่างแท้จริงให้ได้

ตีพิมพ์ในมุมมองบ้านสามย่าน กรุงเทพธุรกิจ วันพฤหัสบดีที่ 01 เมษายน พ.ศ. 2553

ความคิดเห็น

บทความที่ได้รับความนิยม