วิพากษ์อารมณ์โหยหา “ศูนย์การค้า” ของคนเมือง

เขม่าควันไฟและคราบดินปืนยังไม่ทันจางหายไปจากถนนธุรกิจกลางกรุงเทพฯ บรรยากาศก็ดูเหมือนจะถูกเร่งให้กลับคืนสู่สภาพ “ปกติ” ที่จังหวะการหมุนของเงินไวกว่าการเต้นของชีพจรอย่างน่าใจหาย

ในฐานะคนหนึ่งที่สนใจศึกษาระบบทุนนิยม โดยเฉพาะกระบวนการตัดสินใจและพฤติกรรมของตัวละคร ในระบบ ปรากฏการณ์ที่คนชั้นกลางในกรุงเทพฯ จำนวนมากไม่รีรอที่จะกระโจนกลับเข้าสู่สมรภูมิการบริโภคนั้นเป็นเรื่องน่าสนใจ ยิ่งเมื่อพิจารณาความรุนแรงที่พึ่งเกิดขึ้นด้วยแล้ว ก็ยิ่งขับเน้นให้ภาพของความกระตือรือร้นที่จะกลับไป “ช็อป” ดูน่าขันและน่าศึกษาขึ้นไปอีก

แน่นอนว่ากิจกรรมทางเศรษฐกิที่ต้องหยุดชะงักไปก่อนหน้านี้ไม่ส่งผลดีกับภาคธุรกิจ ปฏิกริยาเชิงรุกของผู้ประกอบการที่กำลังโหมแคมเปญลดราคาสินค้าเพื่อชดเชยการขาดทุนจึงเป็นเรื่องเข้าใจได้ แต่สำหรับผู้บริโภค ซึ่งไม่ว่าจะมีสถานะเป็นมนุษย์เงินเดือนหรือไม่ก็ตาม อารมณ์ “โหยหาศูนย์การค้า” เป็นพฤติกรรมที่น่าวิเคราะห์เพราะสะท้อนลักษณะทางสังคมและมานุษยวิทยาเศรษฐกิจของเราบางประการ

ลุค โบลตานสกี (Luc Boltanski) และอีฟ ชีอาเปลโล (Eve Chiappello) นักสังคมวิทยาชาวฝรั่งเศสซึ่งศึกษาวาทกรรมด้านการบริหารจัดการสมัยใหม่โดยวิธีที่เรียกว่าสังคมวิทยาของทุนนิยม (sociology of capitalism) พยายามศึกษาว่าอะไรเป็นเหตุให้ผู้คนถูกดึงดูดเข้าไปสัมพันธ์กับระบบทุนนิยม ทั้งที่ “ระบบทุนนิยมนั้นถือเป็นระบบที่ไร้สาระหรือไม่มีเหตุและผล (capitalism is an absurd system)”

ที่ว่าไร้สาระก็เพราะโดยเนื้อแท้แล้ว ทั้งนายทุนและลูกจ้างที่กินเงินเดือนต่างมีความสัมพันธ์เชิงขัดแย้งกับระบบทั้งสิ้น กล่าวคือ ผู้เป็นเจ้าของปัจจัยการผลิตหรือนายทุนนั้นไม่สามารถจะหยุดอยู่นิ่งได้ท่ามกลางภาวะการแข่งขันกันสะสมทุน ทำให้ไม่เคยได้บรรลุถึงเป้าหมายสุดท้ายของตน ขณะที่ลูกจ้างหรือมนุษย์เงินเดือนเองยิ่งไม่เคยมีชีวิตที่ดีขึ้น เพราะนอกจากจะต้องสูญเสียความสามารถในการควบคุมปัจจัยการผลิตของตนนั่นคือแรงงานแล้ว ยังต้องสุ่มเสี่ยงกับความไม่แน่นอนจากวิกฤตเศรษฐกิจและการตกงานที่เกิดขึ้นอย่างสม่ำเสมอ นอกจากจะผันตัวเองไปเป็นนายทุนซะเอง ซึ่งก็ทำไม่ได้ง่ายๆ และถึงจะทำได้ ก็ต้องพบกับความเสี่ยงและการแข่งขันไม่สิ้นสุดอยู่ดี

โบลตานสกีและชีอาเปลโลอธิบายว่าพลังที่ตรึงผู้คนไว้กับระบบที่เปราะบางนี้ สามารถอธิบายได้ในสองระดับ ระดับแรกหรือระดับนามธรรม คือระบบคุณค่าและความเชื่อในสังคมซึ่งถูกใช้เพื่ออธิบายและสร้างความชอบธรรมให้กับทุนนิยม (ในความเป็นจริง ตัวของระบบมีพลวัตรและปรับเปลี่ยนรูปร่างไปตามช่วงเวลา) ทั้งสองคนเรียกระบบคุณค่านี้ว่า “จิตวิญญาณของทุนนิยม (Spirit of capitalism)” ซึ่งแตกต่างกันไปในแต่ละสังคม ส่วนในระดับที่สองหรือระดับรูปธรรม คือการแสดงออกของระบบความเชื่อดังกล่าวในมิติเศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรม ในรูปของความรู้สึกของแต่ละคนภายหลังทำกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ไม่ว่าจะเป็นความตื่นเต้นและท้าทาย ความมั่นคงหรือแม้กระทั่งความเป็นธรรมก็ตาม

การศึกษาระบบคุณค่าและความเชื่อที่สนับสนุนการพัฒนาของทุนนิยมในสังคมไทยถือเป็นเรื่องท้าทายและอาจช่วยให้เราสามารถทำความเข้าใจพฤติกรรมชนชั้นกลางไทยอย่างเป็นระบบมากว่าการคาดเดาอย่างที่ทำกันอยู่ในขณะนี้ โดยเฉพาะปรากฏการณ์โหยหาศูนย์การค้าของชนชั้นกลางที่กำลังถูกวิจารณ์อย่างหนักจากกลุ่มที่พยายามเรียกร้องความเป็นธรรมจากการกระทำของรัฐและเจ้าหน้าที่
ผู้เขียนขออนุญาตยกตัวอย่างสโลแกนจากแคมเปญกระตุ้นการใช้จ่ายของห้างสรรพสินค้าแห่งหนึ่ง (ซึ่งได้รับผลกระทบจากการชุมนุมที่ราชประสงค์โดยตรง) ที่เชิญชวนให้คนกลับไป “ช็อปให้หายคิดถึง” เพราะมีนัยที่สะท้อนการทำงานของวาทกรรมในระบบทุนนิยมที่น่าสนใจ

นักภาษาศาสตร์เชื่อว่า “วาทกรรมเชิงทุนนิยม (capitalist discourse)” มักเชื่อมโยงการบริโภคเข้ากับความรักหรือความต้องการ (love or desire) โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ฌาคส์ ลากอง (Lacan) นักจิตวิเคราะห์ที่มีชื่อเสียงได้กล่าวว่าทุนนิยมเป็นระบบที่ทำงานอยู่บนความรู้สึกทั้งสองอย่างนี้ วาทกรรมในทุนนิยมจึงมักจะออกมาในรูปของการทำให้คนเชื่อว่าเรากำลังขาดความสุข แต่ความสุขก็สร้างขึ้นได้ด้วยตัวเราเองโดยไม่ต้องรอ ผ่านทางการบริโภค

ภายในสังคมที่มีการบริโภคเข้มข้นหรือบริโภคนิยม จะมีการจัดความสัมพันธ์ภายในสังคมใหม่ เพราะวาทกรรมทุนทำงานโดยผ่านการสร้างความสัมพันธ์แบบประธานกับกรรม (subject-object) หรือผู้กระทำกับผู้ถูกกระทำ แทนที่จะเป็นประธานกับประธาน (subject-subject) ซึ่งเป็นรูปแบบความสัมพันธ์พื้นฐานที่เท่าเทียมกันของคนในสังคม ความสัมพันธ์ระหว่างคนจึงถูกแทนที่ด้วยความสัมพันธ์ระหว่างคนกับวัตถุสิ่งของ ลากองจึงเชื่อว่าลัทธิบริโภคนิยมมีผลในลักษณะต่อต้านสังคม (anti-social effect) และมีแนวโน้มที่จะทำลายสายใยและความผูกพันระหว่างผู้คนภายในสังคมลง

ไม่รู้ว่าเป็นการโยนบาปให้ระบบทุนนิยมมากเกินไปหรือไม่ ถ้าจะบอกว่าทุนนิยมและบริโภคนิยมกำลังทำลายสายสัมพันธ์ของคนภายในสังคมไทยลง เมื่อเห็นผู้คนจำนวนมากหลบหนีจากความจริงไปหา “ความสุข” ตรงที่คนไทยเคยประหัตประหารกันเมื่อไม่กี่วันก่อน ราวกับว่าไม่มีอะไรเคยเกิดขึ้น !

(เผยแพร่ครั้งแรกในคอลัมน์ "มุมมองบ้านสามย่าน" กรุงเทพธุรกิจ 24 มิถุนายน 2553)

ความคิดเห็น

บทความที่ได้รับความนิยม