กระแสต้าน “การเปลี่ยนแปลง” ความท้าทายล่าสุดของโอบามา

คอลัมน์มุมมองบ้านสามย่าน หน้าการเมือง ทัศนะวิจารณ์
กรุงเทพธุรกิจ วันที่ 16 กันยายน 2553
โดยเกรียงศักดิ์ ธีระโกวิทขจร



28 สิงหาคม พ.ศ. 2506 มาร์ติน ลูเธอร์ คิง จูเนียร์ได้กล่าวสุนทรพจน์ประวัติศาสตร์ที่ลินคอลน์เมมโมเรียล ในวอชิงตัน ดีซี ซึ่งทุกคนยังจดจำวลีอมตะที่ว่า “ผมเองมีความฝัน (I have a dream)”

47 ปีต่อมา คนอเมริกันร่วมแสนมาชุมนุมในวันและสถานที่เดียวกัน เพื่อประกาศ “ฟื้นฟูเกียรติภูมิ” (Restoring Honor) ของอเมริกากลับคืนมา ในงานนี้ มีแขกสำคัญอย่างซาราห์ เพ-ลิน อดีตผู้ลงสมัครชิงตำแหน่งรองประธานาธิบดีครั้งที่ผ่านมาจากพรรครีพับลิกัน และมีผู้จัดและพิธีกรหลักคือ นายเกลน เบ็ค นักจัดรายการวิทยุและโทรทัศน์ช่อง “ฟ็อกซ์นิวส์” ซึ่งเป็นที่รู้จักดีจากจุดยืนแบบอนุรักษ์นิยม

ที่เป็นตลกร้ายก็คือ ฝูงชนที่มาชุมนุมกันในนามของ “Tea Party Patriots” (คำแปลตรงตัวคือ ผู้รักชาติงานเลี้ยงน้ำชา) เพิ่งถูกโจมตีจากองค์กรพิทักษ์สิทธิคนผิวสีในสหรัฐฯ NAACP ว่ามีรูปแบบของการเหยียดสีผิวในขบวนการเคลื่อนไหว แต่กลับนำมรดกของมาร์ติน ลูเธอร์ คิงมาใช้เป็นสัญลักษณ์อ้างอิงอันหนึ่งในการชุมนุม

ทั้งนี้ ชื่อ “ทีปาร์ตี้” อ้างอิงกลับไปถึงเหตุการณ์ “บอสตัน ทีปาร์ตี้” ในปลายศตวรรษที่ 18 ขณะที่อเมริกายังเป็นอาณานิคมของอังกฤษ ในขณะนั้น ประชาชนได้ประท้วงการเก็บภาษีชาจากอังกฤษโดยโยนถุงชาจำนวนมากลงในอ่าวบอสตัน เหตุการณ์นั้นกลายเป็นสัญลักษณ์สำคัญของการประท้วงการเก็บภาษีจากรัฐบาลที่ ไม่ได้เป็นตัวแทนของประชาชน เนื่องจากชาวอเมริกันไม่มีผู้แทนของตนในสภาของอังกฤษที่เป็นเจ้าอาณานิคมและ ออกกฎหมายบังคับเก็บภาษีจากสินค้าต่างๆ

เว็บไซต์ของเครือข่ายทีปาร์ตี้ได้นิยามขบวนการของตนไว้ว่า “ที ปาร์ตี้ คือ ขบวนการเคลื่อนไหวในระดับรากหญ้าที่ต้องการสร้างความตระหนักต่อประเด็นต่างๆ ที่ท้าทายความมั่นคง อธิปไตยหรือความสงบเรียบร้อยภายในชาติอันเป็นที่รัก นั่นคือ สหรัฐอเมริกา” ส่วนในถ้อยแถลงภารกิจ (Mission Statement) ของกลุ่มผู้รักชาติทีปาร์ตี้ ได้ระบุว่าแรงผลักดันให้เกิดการเคลื่อนไหวที่สำคัญคือ การใช้จ่ายและการเก็บภาษีที่สูงเกินไปของรัฐบาล ภารกิจของขบวนการนั้นจึงเป็นการเรียกร้อง ให้ความรู้ จัดตั้งและขับเคลื่อนให้ผู้คนได้ร่วมกันกำกับนโยบายสาธารณะเพื่อให้สอดคล้อง กับคุณค่าหลัก 3 ประการคือ ความรับผิดชอบทางการคลัง รัฐบาลที่ถูกจำกัดโดยรัฐธรรมนูญและตลาดเสรี!

สมาชิกของทีปาร์ตี้เชื่อว่ารัฐธรรมนูญของสหรัฐฯ ได้คุ้มครองปัจเจกชนจากการถูกรัฐบาลเก็บภาษีสูง เพื่อให้แต่ละคนมี “เสรีภาพส่วนบุคคล” ในการใช้จ่ายรายได้หรือเงินที่หามาจากน้ำพักน้ำแรงของตนเอง พวกเขาจึงคัดค้านการจัดทำงบประมาณแบบขาดดุลของรัฐบาลที่จะนำไปสู่การเก็บ ภาษีในอัตราสูงในอนาคต รวมถึงปฏิเสธการจัดหาสวัสดิการทุกประเภทให้แก่ประชาชน

การชุมนุมในนามของทีปาร์ตี้เริ่มต้นขึ้นครั้งแรกในปี 2552 และค่อยๆ ขยายตัวจนกลายเป็นเครือข่ายทั่วประเทศ ปัจจุบัน เครือข่ายมีกิจกรรมทั้งเล็กและใหญ่ ไม่ว่าจะเป็นการอบรม การจัดตั้งและรวมตัวอย่างต่อเนื่อง การชุมนุมเรียกร้องที่ผ่านมาคือ การคัดค้านโครงการจัดการสินทรัพย์ที่มีปัญหา (Troubled Asset Relief Program) ของอดีตประธานาธิบดีจอร์จ บุช ซึ่งเป็นมาตรการช่วยเหลือสถาบันการเงินที่ประสบปัญหา การคัดค้านแผนกระตุ้นเศรษฐกิจหรือกฎหมายสร้างการลงทุนและฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ อเมริกัน (American Recovery and Reinvestment Act) ของประธานาธิบดีโอบามา รวมถึงปฏิเสธการปฏิรูประบบสวัสดิการสาธารณสุข

เราสามารถพูดได้ว่าแก่นกลางของข้อเรียกร้องของขบวนการคือ การลดบทบาทของรัฐบาลทั้งในทางเศรษฐกิจและสังคมลงให้เหลือเพียงบทบาทของ “ผู้คุมกฎ” และรักษาความสงบเรียบร้อย นอกจากนี้ สาวกของทีปาร์ตี้ก็เชื่ออย่างบริสุทธิ์ใจว่า เสรีภาพส่วนบุคคลคือรากฐานของสังคมประชาธิปไตยขณะที่ตลาดเสรีเป็นผลผลิตของ เสรีภาพส่วนบุคคลดังกล่าว

คำสัมภาษณ์ผู้เข้าร่วมชุมนุมในวันที่ 28 สิงหาคมตามหน้าสื่ออเมริกัน ทำให้ได้เห็นสิ่งที่น่าตกใจก็คือ ผู้สนับสนุนทีปาร์ตี้ต่างสะท้อนทัศนคติที่ตรงกันในทำนองว่าคนรวยคือคนที่ทำงานหนัก ส่วนคนจนคือคนขี้เกียจ ดังนั้น การกระจายรายได้โดยรัฐจึงเป็นเรื่องไม่ยุติธรรม!

ถึงแม้ “ความฝัน” ของมาร์ติน ลูเธอร์ คิงที่เคยอยากเห็นลูกหลานชาวอาฟริกันอเมริกันได้ดำเนินชีวิตอยู่ใน สังคมอย่างมีเกียรติและศักดิ์ศรีเฉกเช่นเดียวกับพลเมืองผิวขาวจะเป็นจริง ขึ้นมาแล้วก็ตาม (ถึงขั้นที่มีประธานาธิบดีผิวสีเป็นคนแรกด้วย!) แต่เราต้องไม่ลืมว่าคนอเมริกันจำนวนมากก็ยังคงวิ่งไล่ตามความฝันในแบบ “อเมริกันดรีม” ทั้งที่ช่องว่างระหว่างคนรวยและคนจนนั้นมีแต่จะเขยิบห่างออกไปเรื่อยๆ

ถ้าหากวิกฤตเศรษฐกิจครั้งหลังสุดได้กระตุกให้เราหันหลังกลับมาทบทวนระบบ เศรษฐกิจที่ตั้งอยู่บนฐานของอุดมการณ์เสรีนิยมในระดับโลกแล้วละก็ ในสังคม ไทยเอง สังคมอเมริกันน่าจะเป็นตัวแบบสุดโต่งที่เราสามารถนำมาตั้งคำถามและถกเถียง อย่างกว้างขวางว่านี่คือ คุณค่าที่เราอยากจะปลูกฝังในสังคมไทยหรือไม่? ผมคิดว่าน่าจะมีใครรับเป็นเจ้าภาพในประเด็นสำคัญเช่นนี้ โดยเฉพาะในขณะที่สังคมกำลังตื่นตัวกับปัญหาความเหลื่อมล้ำและความไม่เป็น ธรรมทางเศรษฐกิจและสังคมอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน

ความคิดเห็น

บทความที่ได้รับความนิยม