ผลประโยชน์ของชาติ (ไทย) และประชาชน (พม่า)

จากคอลัมน์ "มุมมองบ้านสามย่าน" หน้าทัศนะวิจารณ์ กรุงเทพธุรกิจ วันที่ 2 ธันวาคม 2553


ถึงแม้การเลือกตั้งทั่วไปของพม่าในวันที่ 7 พฤศจิกายนที่ผ่านมาจะถูกวิจารณ์ว่าไม่อาจนำไปสู่กระบวนการปรองดองและ ประชาธิปไตยภายในพม่าอย่างแท้จริงได้ แต่หลายประเทศกลับปรับเปลี่ยนนโยบายและท่าทีในทางเศรษฐกิจกับรัฐบาลใหม่ของ พม่าอย่างรวดเร็วหลังจากการเลือกตั้งเพิ่งผ่านพ้นไปไม่นาน ล่าสุด นางอองซานซูจีได้ออกมาแสดงความผิดหวังที่อินเดียเปลี่ยนท่าทีต่อรัฐบาลพม่า ภายหลังการเลือกตั้ง โดยอินเดียหันไปเจรจาเรื่องการลงทุนกับรัฐบาลใหม่แทนที่จะสนับสนุนพรรคกา เมืองฝ่ายค้านของเธออย่างที่เคยเป็นมา

ในช่วงก่อน หน้าการเลือกตั้งนั้น มีการวิพากษ์วิจารณ์ผู้นำประเทศในอาเซียน โดยเฉพาะนายกฯ อภิสิทธิ์ของไทยที่ไม่แสดงท่าทีวิพากษ์ (critical) อย่างเพียงพอต่อการจัดการเลือกตั้งที่ไม่โปร่งใสและไม่เปิดกว้าง ยิ่งไปกว่านั้น รัฐบาลไทยก็ไม่รีรอที่จะแสดงความยินดีกับ “การเปลี่ยนแปลง” ในพม่าถึงแม้ทั่วโลกจะมีข้อกังขากับผลการเลือกตั้งครั้งนี้ก็ตาม ทั้งนี้ นายกฯ อภิสิทธิ์พร้อมคณะได้เดินทางเยือนพม่าอย่างเป็นทางการในวันที่ 11 ตุลาคม 2553 มีการวิเคราะห์ในสื่อภาษาต่างประเทศไม่น้อยว่าประเด็นสำคัญที่นายกฯ หยิบขึ้นมาหารือกับผู้นำพม่าคือ กรณีด่านการค้าแม่สอด- เมียวดีและท่าเรือริมฝั่งแม่น้ำเมย 20 แห่งที่ถูกทางการพม่าสั่งปิดชั่วคราวมาตั้งแต่ต้นเดือนกรกฎาคม เพื่อตอบโต้การสร้างเขื่อนป้องกันตลิ่งโดยเอกชนรายหนึ่งในฝั่งไทยที่ทางการ พม่าอ้างว่าทำให้เกิดการลุกล้ำร่องน้ำของตน

ที่ผ่านมา ทางการพม่ามักใช้การปิดด่านเป็นเครื่องมือตอบโต้ไทยหากมีการกระทบกระทั่งกัน เกิดขึ้นเนื่องจากผลประโยชน์ของนักธุรกิจไทยจากการค้าชายแดนนั้นถือว่ามีมูลค่า มหาศาล ข้อมูลจากกรมการค้าต่างประเทศแสดงให้เห็นว่าการปิดด่านที่ผ่านมาทำให้ผู้ส่ง ออกของไทยต้องสูญเสียรายได้เป็นมูลค่าเฉลี่ย 100 ล้านบาทต่อวัน

ผลการวิจัยเรื่อง “บทบาทของกลุ่มธุรกิจไทยในการกำหนดนโยบายความสัมพันธ์ไทย-พม่า, 1988- ปัจจุบัน” โดยนักวิชาการจากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์แสดงให้เห็นว่า นโยบาย ด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศที่ไทยมีต่อพม่าตั้งแต่ปี 2531 จนถึง 2548 นั้นมีความเป็นเอกภาพและความต่อเนื่องสูงมาก กล่าวคือ เป็นไปในทิศทางเดียวกันไม่ว่าจะรัฐบาลใด คือมุ่งให้ความสำคัญกับความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจกับพม่าเป็นหลัก โดยปัจจัยหลักที่กำหนดนโยบายและการดำเนินนโยบายเชิงบวกต่อพม่าก็คือ ผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจร่วมกันระหว่างภาครัฐกับภาคธุรกิจ โดยเฉพาะกลุ่มธุรกิจที่มีลักษณะเป็นสถาบันซึ่งมีอิทธิพลสูงอย่างหอการค้า จังหวัดและสภาหอการค้าไทย

นอกจากประเด็นการปิดด่าน ยังมีการวิเคราะห์กันว่าสาเหตุที่นายกฯ อภิสิทธิ์มีท่าทีโอนอ่อนต่อรัฐบาลทหารพม่าเป็นพิเศษก่อนการเลือกตั้ง ก็เพราะในขณะนั้น รัฐบาลไทยกำลังรอผลการเจรจาทางธุรกิจครั้งสำคัญกับผู้นำเผด็จการของพม่า นั่นคือ โครงการพัฒนาท่าเรือน้ำลึกดาเวย (หรือทาวอย ชื่อเดิมของเมืองนี้ที่บางคนเรียกว่าทวาย) ซึ่งในที่สุด บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวลลอปเมนท์ได้ลงนามกับการท่าเรือของพม่าเมื่อวันที่ 2 พฤศจิกายนหรือหลังจากการเดินทางเยือนพม่าของนายกฯ อภิสิทธิ์ 3 สัปดาห์ สัญญาฉบับนี้ให้สิทธิลดหย่อนภาษีและสัมปทานกับอิตาเลียนไทยในการดำเนินการ ก่อสร้างส่วนของอุตสาหกรรมหนักในโครงการท่าเรือน้ำลึกนี้ถึง 70 ปี รวมถึงสัมปทานในส่วนอุตสาหกรรมเบาอีก 40 ปี ซึ่งอาจจะสามารถต่อสัมปทานได้อีกในอนาคต


ในระหว่าง การประชุมอาเซียนซัมมิทครั้งที่ 15 ในเดือนตุลาคม 2552 นั้น นายกอภิสิทธิ์ได้ลงนามในสัญญาร่วมกับนายกฯ ของพม่าเพื่อผลักดันโครงการนี้ในระดับยุทธศาสตร์ชาติไปก่อนหน้าแล้ว รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์เองก็ได้เดินทางไปสำรวจพื้นที่และพบปะกับ รัฐมนตรีของพม่าหลายหน จึงไม่เป็นที่น่าแปลกใจถ้าหากรัฐบาลไทยจะไม่ อยากพูดความจริงเรื่องการเลือกตั้งให้ระคายหูผู้นำพม่า โดยเฉพาะก่อนวันที่นักธุรกิจไทยจะได้เค็กชิ้นใหญ่นี้ ยังไม่ต้องพูดถึงอำนาจต่อรองของพม่าที่มีเหนือไทยเนื่องจากไทยต้องพึ่งพาพลังงานจากก๊าซธรรมชาติจากพม่าเป็นสัดส่วนที่สูงมาก

โครงการพัฒนาท่าเรือน้ำลึกดาเวยนั้นถือเป็นโครงการพัฒนาขนาดใหญ่ที่สุดเท่าที่เคย เกิดขึ้นในประเทศพม่า ภายในพื้นที่โครงการพัฒนานี้ยังประกอบด้วยโครงการขนาดใหญ่อีกจำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็นนิคมอุตสาหกรรม โครงการพลังงานไฟฟ้าจากถ่านหิน โรงกลั่นน้ำมันและท่อส่งก๊าซ รวมถึงระบบสาธารณปูโภคพื้นฐานอย่างเช่น ถนนขนาด 8 เลน ฯลฯ ทั้งนี้ ในมุมมองของอาเซียน โครงการพัฒนาท่าเรือน้ำลึกดาเวยนี้จะมีความสำคัญในเชิงยุทธศาสตร์อย่างมาก เพราะจะเป็นท่าเรือน้ำลึกที่จะเชื่อมต่ออาเซียนกับทะเลจีนใต้โดยผ่านทะเล อันดามันและเป็นประตูสู่อินเดีย นอกจากนี้ยังช่วยให้เรือขนส่งสินค้าไม่ต้องไปอ้อมช่องแคบมะละกาอย่างที่ทำ กันในปัจจุบันสำหรับประเทศไทย รัฐบาลเองมีโครงการที่จะสร้างถนนเชื่อมต่อกาญจนบุรีกับดาเวยโดยตรง เพื่อเชื่อมตลาดของไทยเข้ากับท่าเรือน้ำลึกแห่งใหม่ทางด้านอันดามัน เพราะท่าเรือน้ำลึกหลักของไทยไม่ว่าจะเป็นแหลมฉบังหรือมาบตาพุดล้วนตั้งอยู่ ในฝั่งอ่าวไทยทั้งสิ้น รวมทั้งความฝันของเอกชนที่จะมีท่าเรือน้ำลึกปากบาราทางฝั่งอันดามันก็ได้รับ แรงต่อต้านอย่างรุนแรงจนต้องพับโครงการเก็บไป

นอกจาก ผลประโยชน์ของภาคธุรกิจและผลพลอยได้ทางเศรษฐกิจของไทยแล้ว รัฐบาลไทยเองต้องการผลักดันให้อุตสาหกรรมของไทยเคลื่อนย้ายฐานไปใช้ทรัพยากร ของนิคมอุตสาหกรรมในดาเวยมากขึ้น เนื่องจากบทเรียนที่รัฐบาลและภาคอุตสาหกรรมได้รับจากกรณีมาบตาพุด ทั้งนี้ นายกได้กล่าวถึงเรื่องนี้ในรายการเชื่อมั่นประเทศไทยกับนายกฯ ว่า “อุตสาหกรรมบางอย่างนั้นไม่เหมาะสมที่จะตั้งในประเทศไทย” จึงเป็นสาเหตุให้เกิดแผนที่จะสร้างนิคมอุตสาหกรรมในโครงการพัฒนาท่าเรือนำ ลึกดาเวยขึ้น

หลังจากกรณีมาบตาพุด โครงการขนาดใหญ่ในประเทศไทยจะต้องผ่านการประเมินทางด้านสิ่งแวดล้อมรวมทั้ง การตรวจสอบจากภาคประชาชนที่เข้มงวดขึ้น อย่างไรก็ตาม ในประเทศพม่าที่รัฐบาลยังคงอยู่ในความควบคุมของผู้นำทหารนั้น ประเด็นเกี่ยวกับผลกระทบจากโครงการพัฒนาขนาดใหญ่ในด้านสิ่งแวดล้อมหรือ สุขภาพของประชาชนไม่อยู่ในความสนใจของรัฐบาลแม้แต่น้อย ข้อมูลล่าสุดแสดงให้เห็นว่าหลังจากที่อิตาเลียนไทยได้เข้าไปดำเนินการก่อ สร้างในพื้นที่แล้ว บริษัทก็ยังไม่มีนโยบายและแนวทางที่ชัดเจนเกี่ยวกับการชดเชยให้กับผู้ที่ ต้องอพยพออกจากพื้นที่

ขณะที่ผู้กำหนดนโยบายตั้งแต่ ระดับเลขาธิการของอาเซียน นายกฯ ของไทยไปจนถึงนักธุรกิจต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่าโครงการพัฒนาขนาดใหญ่จะ ช่วยสร้างความเป็นอยู่ที่ดีให้กับประชาชนพม่า ข้อเท็จจริงกลับแตกต่างออกไปจากความเชื่อดังกล่าว ทั้งนี้ โครง สร้างพื้นฐานทางเศรษฐกิจของพม่าที่ยังอยู่ในยุคดึกดำบรรพ์ ความสามารถที่จำกัดในการจัดการเศรษฐกิจขนาดใหญ่ของข้าราชการพม่า ประกอบกับระบบการเมืองที่ขาดความโปร่งใสและการมีส่วนร่วมจากประชาชนจะเป็น ปัจจัยที่ทำให้โครงการขนาดใหญ่ยิ่งสร้างความเหลื่อมล้ำและก่อให้เกิดการ ทำลายวิถีชีวิตของประชาชนในพื้นที่มากขึ้น

ในเมื่อรัฐบาลเผด็จการซ่อนรูปของพม่าไม่เคยถามประชาชนว่าต้องการอะไรและ ประชาชนก็ไม่มีสิทธิที่จะพูด คงเป็นเรื่องเหลือเชื่อที่รัฐบาลและนักธุรกิจไทยจะสามารถทำให้ประชาชนพม่ามี ความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นอย่างที่กล่าวอ้าง

ความคิดเห็น

บทความที่ได้รับความนิยม