การโต้กลับของทุนอเมริกัน (จบ) : เศรษฐศาสตร์เพื่อนายทุนของรีพับลิกัน

ตีพิมพ์ในคอลัมน์มุมมองบ้านสามย่าน หน้าทัศนะวิจารณ์ กรุงเทพธุรกิจ 1 มิถุนายน 2554

ปฏิกิริยาของคนอเมริกันที่มองเห็นข้อบกพร่องของระบบทุนนิยมหลังจากวิกฤติซับไพร์มและเศรษฐกิจตกต่ำในสหรัฐ ทำให้เกิดการ
เคลื่อนไหวเพื่อผลักดันให้เกิดสวัสดิการสังคมมากยิ่งขึ้น ตัวอย่างที่สำคัญ คือ การปฏิรูประบบประกันสุขภาพโดยผ่านกฎหมาย Affordable Care Act ในปีที่แล้ว ที่ต้องการเพิ่มประสิทธิภาพและความครอบคลุมให้กับเมดิแคร์ (Medicare) โครงการประกันสุขภาพสำหรับผู้ที่มีอายุสูงกว่า 65 และคนพิการ รวมทั้งเพิ่มเติมสิทธิและประโยชน์ของคนกลุ่มอื่นภายในช่วงเวลา 4 ปี

ถึงแม้ประธานาธิบดีโอบามาต้องใช้ความพยายามอย่างสูงในการผ่านกฎหมายดังกล่าว แต่ "วิกฤติหนี้สาธารณะ" ที่กำลังเป็นประเด็นร้อนสำหรับรัฐบาลขณะนี้กำลังเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดการหันหลังกลับของนโยบายแบบรัฐสวัสดิการ ร่างข้อเสนองบประมาณสำหรับปีงบประมาณหน้าจากฝ่ายรีพับลิกันถึงกับเสนอให้แปรรูปโปรแกรมเมดิแคร์ไปสู่ผู้ให้บริการที่เป็นเอกชน

ภายใต้ระบบทุนนิยมที่ชูคุณค่า "ปัจเจกชนนิยม" นั้น เมดิแคร์เป็นหนึ่งในไม่กี่โปรแกรมที่มีเค้าโครงใกล้เคียงกับโครงการภายใต้ระบบรัฐสวัสดิการมากที่สุด ความจริง การเกิดขึ้นของเมดิแคร์นั้นมีเหตุผลเชิงประวัติศาสตร์ที่ค่อนข้างเฉพาะเจาะจง เพราะโครงการนี้เกิดขึ้นในสมัยของประธานาธิบดีลินดอน จอห์นสัน ซึ่งถือว่ามีอำนาจทางการเมืองสูงที่สุดคนหนึ่งในประวัติศาสตร์ หลังจากได้รับคะแนนเสียงอย่างท่วมท้นในการเลือกตั้ง ไม่ว่าประธานาธิบดีจอห์นสันจะมีเจตจำนงในการสร้างระบบประกันสุขภาพทั่วหน้าหรือไม่ ในที่สุด เขาก็ทำให้เกิดระบบประกันสำหรับคน 2 กลุ่ม คือ เมดิแคร์สำหรับผู้สูงอายุ คนพิการและเมดิเคด (Medicaid) สำหรับคนยากจนที่สุด ทั้งนี้ ความพยายามที่จะผลักดันให้เกิดระบบประกันสุขภาพทั่วหน้าขึ้นมาจากสองระบบนี้ก็ล้มเหลวมาตลอดช่วง 40 ปีที่ผ่านมาด้วยเหตุผลสำคัญ คือ ข้ออ้างในเรื่องของต้นทุนมหาศาลในแง่ของการบริหารจัดการ

จากมุมมองของผู้ที่สนับสนุนนโยบายแนวสวัสดิการ ข้อเสนอให้ลดบทบาทของรัฐในระบบประกันสุขภาพขณะนี้เป็นเพียงจิ๊กซอว์เพียงตัวเดียวของภาพใหญ่ นั่นคือ ความพยายามของฝ่ายอนุรักษนิยมที่จะผลักดันนโยบายแนวเสรีนิยมใหม่ โดยใช้ปัญหาหนี้สาธารณะเป็นข้ออ้าง

อันที่จริง ภายใต้การบริหารของประธานาธิบดีโอบามาหลังวิกฤติเศรษฐกิจ เราอาจมองความแตกต่างระหว่างนโยบายที่เสนอโดยเดโมแครตและรีพับลิกันจากแว่นอุดมการณ์เศรษฐกิจได้ชัดเจนขึ้น ขณะที่การจัดการปัญหาเศรษฐกิจของนายโอบามาได้รับอิทธิพลจากเศรษฐศาสตร์สำนักเคนส์เซียนที่เน้นการใช้เครื่องมือทางการคลังอย่างภาษีและงบประมาณรายจ่ายเป็นหลัก ข้อเสนอจากตัวแทนของรีพับลิกันกลับได้รับอิทธิพลจากสำนักการเงินนิยม (Monetarism) ที่มองว่าเป้าหมายของการแทรกแซงควรจะเป็นการควบคุมอัตราเงินเฟ้อ ไม่ใช่การจ้างงานอย่างที่ฝ่ายเคนส์เซียนให้ความสำคัญ

นโยบายแบบเคนส์เซียนเกิดขึ้นจากข้อเสนอเชิงทฤษฎีของจอห์น เมย์นาร์ด เคนส์ (John Maynard Keynes) นักเศรษฐศาสตร์ชาวอังกฤษที่เห็นว่ารัฐบาลควรเข้าแทรกแซงระบบเศรษฐกิจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงที่เกิดเศรษฐกิจตกต่ำเพื่อเพิ่มอุปสงค์ที่แท้จริงให้แก่ตลาด แนวนโยบายที่ประยุกต์จากข้อเสนอของเคนส์มีส่วนอย่างมากในการฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศอุตสาหกรรมหลังจากวิกฤติเศรษฐกิจโลกในทศวรรษ 1930 จนถึงหลังสงครามโลกครั้งที่สอง ส่วน นักเศรษฐศาสตร์ที่มีอิทธิพลอย่างสูงต่อสำนักการเงินนิยม คือ มิลตัน ฟริดแมน (Milton Friedman) ซึ่งเชื่อว่านโยบายการเงินเป็นเครื่องมือที่สำคัญในการใช้ป้องกันภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ ซึ่งขัดแย้งกับแนวความคิดของเคนส์ที่เชื่อว่าในระหว่างที่เกิดเศรษฐกิจตกต่ำนั้น การใช้นโยบายการเงินจะไม่ก่อให้เกิดผลใดๆ รัฐบาลจึงควรใช้งบประมาณแบบขาดดุล เพื่อสร้างการลงทุนและการจ้างงานเอง

ถึงแม้ฟริดแมนจะเสียชีวิตไปแล้วในปี 2549 แต่แนวคิดของฟริดแมนยังคงมีอิทธิพลอย่างสูงต่อนายทุนและกลุ่มอนุรักษนิยมที่สนับสนุนระบบเศรษฐกิจแบบเสรีนิยม ฟริดแมนมีความเชื่อส่วนตัวว่าเสรีภาพส่วนบุคคลรวมถึง "เสรีภาพในการประกอบการ" นั้น เป็นคุณค่าที่สำคัญที่สุดเหนือกว่าความเสมอภาคหรือความเป็นธรรม นอกจากนี้ แนวคิดของฟริดแมนที่ว่าตลาดมีกฎเกณฑ์ที่คล้าย "กฎธรรมชาติ" ของตนเองควบคุมอยู่ ยังสอดคล้องกับอุดมการณ์เศรษฐกิจของฝ่ายอนุรักษ์ที่ต้องการลดบทบาทของรัฐลงให้น้อยที่สุด และปล่อยให้เอกชนดำเนินการเองทุกอย่าง

แนวคิดของฟริดแมนเรื่องเสรีภาพของเอกชนนั้นถูกนำมาประยุกต์เป็นรูปธรรมในร่างงบประมาณของสภาผู้แทนที่ผ่านการลงคะแนนของสภาล่างไปเมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา ภายในร่างงบประมาณที่เสนอโดยนายพอล ไรอัน ผู้แทนวิสคอนซินจากพรรครีพับลิกันและประธานคณะกรรมการพิจารณาร่างงบประมาณของสภาคนปัจจุบัน มีข้อเสนอสำคัญ 4 เรื่อง คือ ประการแรก ลดงบประมาณรายจ่ายของรัฐบาลลง โดยเน้นที่รายจ่ายบริหารของหน่วยงานรัฐและการปรับลดพนักงานของรัฐลง ประการที่สอง กำจัดกฎระเบียบที่ควบคุมธนาคารและภาคธุรกิจ ประการต่อมา คือ การปฏิรูประบบภาษี และสุดท้าย แปรรูประบบสวัสดิการของรัฐ

ในข้อเสนอที่นายไรอันเป็นผู้ร่างและตั้งชื่อว่า "เส้นทางสู่ความมั่งคั่ง (Path to Prosperity)" นั้น มีฐานคิดว่ากฎเกณฑ์ข้อบังคับรวมทั้งภาษีจำนวนมากที่เกิดขึ้นภายหลังการบริหารของนายโอบามานั้นมีความซับซ้อน ทำให้นักลงทุนสับสนและมีอิสระในการดำเนินการต่างๆ น้อยลง จึงต้องกำจัดกฎระเบียบเหล่านี้ออกไปและปฏิรูประบบภาษีเสียใหม่ นอกจากนี้ ในมุมมองของนายไรอัน สิ่งที่น่ากลัวมากกว่าการว่างงาน คือ เงินเฟ้อ!

วิกฤติหนี้สาธารณะเป็นอุปสรรคสำคัญที่ประธานาธิบดีโอบามากำลังเผชิญหน้าและวิธีการจัดการกับหนี้สาธารณะเป็นเงื่อนไขสำคัญที่อาจมีผลตัดสินใจว่าเขาจะได้กลับมาทำหน้าที่ประธานาธิบดีในสมัยที่สองอีกหรือไม่ ทั้งนี้ ประธานาธิบดีโอบามาเสนอแผนที่จะลดภาระหนี้สาธารณะภายในระยะเวลา 12 ปี โดยใช้การหั่นงบประมาณในด้านต่างๆ ร่วมกับการเพิ่มภาษีไปพร้อมกัน ขณะที่ทางข้อเสนอจากขั้วรีพับลิกันนั้นสุดโต่งกว่า คือ ใช้เวลาเพียง 10 ปีโดยไม่มีการปรับเพิ่มภาษี แต่ใช้การตัดลดและโอนถ่ายภาระต่างๆ ออกไปจากภาครัฐแทน

ถึงแม้ผลสำรวจที่เพิ่งเผยแพร่ออกมาในวันที่ 21 พฤษภาคม ได้แสดงให้เห็นว่าคนอเมริกันจำนวนถึง 78% ไม่เห็นด้วยกับการลดการอุดหนุนของรัฐในโครงการเมดิแคร์ รวมทั้งโครงการอื่นๆ เพื่อแก้ปัญหาหนี้สาธารณะ แต่ข้อเสนอแบบสุดโต่งจากฝ่ายอนุรักษนิยมกลับผ่านความเห็นชอบของสภาล่างและได้รับเสียงสนับสนุนถึง 40% จากสภาสูง เป็นอย่างผู้เขียนได้อ้างคำพูดของพอล ครุกแมน และนาโอมิ ไคลน์ ไว้ในตอน (1) ของบทความชุดนี้ว่า ฝ่ายอนุรักษ์ไม่เคยลังเลที่จะใช้ยาขนานแรง เพื่อยัดเยียดการปฏิรูปขนานใหญ่ให้กับสังคม เมื่อใดก็ตาม ที่เกิดสิ่งที่พอจะเรียกว่าได้ว่า "วิกฤติ"

พวกเขาไม่เคยรีรอที่จะโน้มน้าวใจเราว่าถึงเวลาแล้วที่จะ "พลิกวิกฤติให้เป็นโอกาส" แต่คำถาม ก็คือ โอกาสสำหรับใคร?

ความคิดเห็น

บทความที่ได้รับความนิยม