โครงการท่าเรือน้ำลึกทวาย ยุทธศาสตร์การพัฒนาแบบ “ช่างมัน ไม่ใช่บ้านเรา”

 (เผยแพร่ครั้งแรกในคอลัมน์มุมมองบ้านสามย่าน กรุงเทพธุรกิจ 12 มกราคม 2555)

นักธุรกิจภาคอุตสาหกรรมและสื่อมวลชนมักวาดภาพโครงการพัฒนาท่าเรือน้ำลึกทวายในลักษณะ “ขุมทอง” ที่รัฐบาลไทยและภาคธุรกิจต้องรีบฉกฉวย เพื่อเพิ่มโอกาสและศักยภาพด้านการแข่งขันของไทยท่ามกลางกระแสการปรับยุทธศาสตร์การลงทุนเพื่อตอบรับกับการหลอมรวมทางเศรษฐกิจในภูมิภาค

บทวิเคราะห์และรายงานต่างๆ เกี่ยวกับโครงการท่าเรือน้ำลึกทวายจึงโน้มเอียงไปในทางโฆษณาความมหึมาของโครงการนี้ เช่น พื้นที่นิคมอุตสาหกรรมภายในโครงการมีขนาดใหญ่กว่านิคมฯ มาบตาพุดถึง 10 เท่า นอกจากนี้ ยังจัดสรรพื้นที่สำหรับอุตสาหกรรมหนักและเบาแทบทุกประเภทที่เราจะมีจินตนาการไปถึง ไม่ว่าจะเป็นโรงถลุงเหล็ก โรงไฟฟ้าพลังงานถ่านหิน โรงกลั่นน้ำมันและอุตสาหกรรมปิโตรเคมี ปุ๋ยและกระดาษ ฯลฯ

9 มกราคมที่ผ่านมา รัฐมนตรีด้านพลังงานของพม่าเพิ่งประกาศยกเลิกส่วนของโรงไฟฟ้าพลังงานถ่านหินภายในโครงการท่าเรือน้ำลึกทวายตามที่วางแผนไว้ หลังจากรัฐบาลได้เห็นผลการศึกษาและได้ฟัง “เสียงของประชาชนในพื้นที่” เกี่ยวกับความกังวลเรื่องผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ 

ประสบการณ์ในอดีตเกี่ยวกับโครงการขนาดใหญ่ในพม่า โดยเฉพาะเรื่องการละเมิดสิทธิมนุษยชน การใช้แรงงานบังคับ การยึดที่ดินและบังคับโยกย้ายประชาชน ฯลฯ ทำให้คาดการณ์กันตั้งแต่ปรากฏข่าวโครงการท่าเรือน้ำลึกทวายว่านี่คงเป็นอีกโครงการที่จะก่อให้เกิดผลกระทบในหลายด้านเช่นที่ผ่านมา อย่างไรก็ตาม การเคลื่อนไหวล่าสุดของรัฐบาลพม่าในกรณีนี้ รวมทั้งการชะลอการสร้างเขื่อนมิตโซนผลิตกระแสไฟฟ้าพลังน้ำขนาดใหญ่ทางตอนเหนือทำให้หลายฝ่ายที่กำลังจับตากระบวนการพัฒนาประชาธิปไตยในพม่าเริ่มมีทัศนคติที่ดีต่อรัฐบาลพม่ามากขึ้น เพราะดูเหมือนว่ารัฐบาลพม่าจะสนใจภาพลักษณ์ของตนในสายตาประชาคมโลกขึ้นมาก

อย่างไรก็ดี เป็นเรื่องค่อนข้างตลกร้ายอยู่เหมือนกันที่ประชาชนในทวาย รวมทั้งองค์กรและเครือข่ายที่ติดตามประเด็นสิ่งแวดล้อมและสิทธิมนุษยชนอันเนื่องมาจากโครงการขนาดใหญ่ในพม่ากลับต้องหันมาระแวดระวังรัฐบาลและเอกชนไทยมากกว่ารัฐบาล “ประชาธิปไตยแบบควบคุม” ของพม่า ส่วนสำคัญมาจากยุทธศาสตร์เรื่องโครงการท่าเรือน้ำลึกทวายของรัฐบาลและเอกชนไทยนั้นสะท้อนให้เห็นถึงความพยายามที่จะแสวงหาประโยชน์จากเพื่อนบ้านโดยไม่สนใจว่าผลกระทบที่จะเกิดขึ้นตั้งแต่ต้น ไม่ว่าจะเป็นผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม สุขภาพและวิถีชีวิตของชาวบ้าน เมื่อต้นปีที่แล้ว สื่อได้รายงานคำพูดของนายณรงค์ชัย อัครเศรณี ว่าประเทศไทยคงจะต้องพับโครงการอย่างเซาท์เทิร์นซีบอร์ดและโครงการท่าเรือน้ำลึกปากบาราแล้วหันไปมุ่งส่งเสริมการลงทุนขนาดใหญ่ของไทย โดยเฉพาะในด้านอุตสาหกรรมหนักที่ทวายแทน เนื่องจากโครงการเหล่านี้ในประเทศไทยไม่สามารถเดินหน้าได้ เมื่อประชาชนในพื้นที่ประท้วงและต่อต้านอย่างต่อเนื่อง!

จากการเดินทางของผู้เขียนเพื่อเก็บข้อมูลในพื้นที่และสัมภาษณ์ชาวบ้านในพื้นที่ซึ่งได้รับผลกระทบ ผู้นำชุมชน นักธุรกิจและพระ รวมทั้งกลุ่มอาสาสมัครที่ติดตามโครงการนี้ ปรากฎว่าชาวบ้านส่วนใหญ่มีทัศนคติที่ไม่สู้ดีนักกับรัฐบาลไทยและบริษัทผู้รับสัมปทานในการก่อสร้างและดำเนินโครงการท่าเรือน้ำลึกทวาย (นั่นคือ บริษัทอิตาเลียนไทย ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด) เนื่องจากพวกเขาได้รับรู้ทัศนคติและท่าทีของรัฐบาลไทยต่อการตัดสินใจผลักดันโครงการนี้จากสื่อ ขณะที่พวกเขาไม่เคยได้รับข้อมูลเกี่ยวกับโครงการท่าเรือน้ำลึกทวายจากในพื้นที่เลย ไม่ว่าจากเจ้าหน้าที่ท้องถิ่นหรือตัวแทนของบริษัท

ตามข้อมูลจากการศึกษา พบว่าพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากโครงการท่าเรือน้ำลึกทวานประกอบด้วย 2 ส่วน ส่วนแรกคือ พื้นที่ที่ถูกกำหนดให้เป็นโครงการท่าเรือน้ำลึก ซึ่งไม่ค่อยมีประชาชนอาศัยอยู่นักเพราะเป็นพื้นที่สีเขียว (ที่อุดมสมบูรณ์ อยู่ติดกับชายหาด โดยปกติเป็นสถานที่ท่องเที่ยวของคนในพื้นที่) อีกส่วนคือ ส่วนที่ถูกกระทบจากการก่อสร้างถนนเชื่อมมายังประเทศไทย (road link) และเส้นทางลำเลียงสำหรับการก่อสร้าง (transmission line) ที่เชื่อมต่อตัวเมืองทวายกับโครงการ ทั้งนี้ การสร้างและขยายเส้นทางทั้ง 2 ทำให้ต้องเวนคืนที่ดินจากประชาชนซึ่งตั้งบ้านเรือนหรือเพาะปลูกอยู่สองข้างทาง ปรากฏว่าได้มีขั้นตอนการขึ้นทะเบียนรายการที่ดินและทรัพย์สินเช่น ประเภทและจำนวนต้นไม้ที่อยู่บนเส้นทางเวนคืนไปตั้งแต่กลางปีที่ผ่านมา โดยไม่มีการให้ข้อมูลเกี่ยวกับการจ่ายเงินชดเชยที่ชัดเจนกับชาวบ้านเหล่านี้ ที่สำคัญไปกว่านั้น ทุกคนพูดเป็นเสียงเดียวกันว่าความบกพร่องในการให้ข้อมูล รวมทั้งการจ่ายค่าชดเชยเกี่ยวกับการเวนคืนที่ดิน น่าจะมาจากการบริหารจัดการของบริษัทผู้ได้รับสัมปทาน ซึ่งทำงานร่วมกับบริษัทแม็กซ์ เมียนมาร์ ผู้รับเหมาช่วงเกี่ยวกับการจัดการในพื้นที่

ผู้เขียนไม่ทราบว่าความบกพร่องในการบริหารจัดการโครงการนี้เป็นผลมาจากความต้องการที่จะแสวงหากำไรสูงสุดของบริษัทที่รับผิดชอบเพียงอย่างเดียวหรือไม่ สิ่งที่ทราบแน่ชัดและบอกได้ก็คือ สิ่งที่เราเห็นว่าเป็น “ขุมทอง” ของเรานั้น สำหรับประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากโครงการนี้ เขากลับเห็นว่ามันเป็น “ภัยคุกคาม”

เรากำลังพูดกันมากเรื่องการทำอาเซียนให้เป็น “ประชาคมแห่งการแบ่งปันและเอื้ออาทร (caring and sharing community)” ถ้าหากเราหมายความแบบนั้นจริงๆ ผู้เขียนคิดว่าก็ควรจะต้องยกเลิกโครงการที่กำลังสร้างความบาดหมางระหว่างประเทศไทยและเพื่อนบ้านลักษณะนี้

ความคิดเห็น

บทความที่ได้รับความนิยม