บทเรียนจากแอปเปิ้ลและฟ็อกคอนน์ การละเมิดสิทธิอย่างเป็นระบบ โดยตลาด


(เผยแพร่ครั้งแรก คอลัมน์มุมมองบ้านสามย่าน กรุงเทพธุรกิจ 1 มีนาคม 2555)

เมื่อต้นเดือนมกราคมที่ผ่านมา ภาพการประท้วงของคนงานโรงงานฟ็อกคอนน์ (Foxconn) ในเมืองเซินเจิ้นกว่า 150 คนที่พยายามฆ่าตัวตายหมู่ด้วยการกระโดดออกจากตึกของโรงงานปรากฎเป็นข่าวใหญ่ไปทั่วโลก ข่าวดังกล่าวได้สะกิดให้สื่อมวลชนเริ่มหันมาสนใจปัญหาเรื่องสภาพการทำงานและความเป็นอยู่ของคนงานในโรงงานฟ็อกคอนน์ ผู้ผลิตชิ้นส่วนอิเล็คทรอนิกส์สัญชาติไต้หวันรายใหญ่ที่สุดในเขตอุตสาหกรรมพิเศษเซินเจิ้นทางตอนใต้ของจีน

ฟ็อกคอนน์รับจ้างผลิตชิ้นส่วนอย่างแผงวงจรและจอแอลซีดี ซึ่งเป็นส่วนประกอบสำคัญของอุปกรณ์อิเล็คโทรนิคส์ ไม่ว่าจะเป็น MP3 โทรศัพท์มือถือ รวมทั้งแทปเลตพีซีที่คนไทยกำลังนิยม ให้กับแบรนด์ข้ามชาติอย่างแอปเปิ้ล โซนี และฮิวเลตต์ แพคการ์ด

ความสามารถในการผลิตชิ้นส่วนอิเล็คโทรนิคส์ ด้วยต้นทุนต่ำภายในระยะเวลาอันรวดเร็ว ทำให้ฟ็อกคอนน์กลายเป็นผู้รับจ้างเหมาช่วง (outsourcer) รายใหญ่ที่สุดที่ซุเปอร์แบรนด์อย่างแอปเปิ้ล ไว้ใจให้ทำหน้าที่เป็นซัพพลายเออร์หลักให้กับสินค้าชูโรงอย่างไอโฟนและไอแพด ทั้งนี้ ผู้บริหารของฟ็อกคอนน์เคยให้สัมภาษณ์ในปี 2553 ว่าโรงงานฟ็อกคอนน์ในเซินเจิ้นสามารถผลิตไอโฟน 4s หนึ่งเครื่องด้วยเวลาเพียง 1.5 วินาที หรือ 90 เครื่องในเวลา 1 นาที (137,000 เครื่องต่อวัน) !

สภาพกดดันในการทำงานเพื่อผลิตสินค้าในอัตราเร่งที่น่าตกใจนี้เป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้คนงานฟ็อกคอนน์ในเซินเจิ้นจำนวนมากเลือกที่จะปลิดชีวิตตัวเองโดยกระโดดออกจากตึกของโรงงาน รายงานข่าวกล่าวว่าปี 2553 ซึ่งเป็นปีที่แอปเปิ้ลเร่งผลิตไอโฟนเพื่อป้อนความต้องการของตลาด ปรากฏว่าจำนวนคนงานพยายามฆ่าตัวตายโดยการกระโดดตกสูงถึง 18 ครั้ง และประสบความสำเร็จ 14 ราย

คาดการณ์ว่าอัตราเร่งของความพยายามฆ่าตัวตายของคนงานเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ ในรอบห้าปีที่ผ่านมา แต่มาตรการที่ฟ็อกคอนน์ทำได้ดีที่สุดในเดือนพฤษภาคมปีที่ผ่านมา หลังจากคนงานเสียชีวิตไปแล้ว 11 รายภายในปีเดียวคือ ขึงตาข่ายรอบอาคารของโรงงานเพื่อป้องกันไม่ให้คนงานกระโดดออกจากตึก!

สภาพความกดดันจากการแข่งขันอย่างหนักของแบรนด์อิเล็คโทรนิคส์ในตลาด ทำให้ซัพพลายเออร์อย่างฟ็อกคอนน์จำเป็นต้องคิดค้นวิธีการใหม่ๆ เพื่อให้โรงงานสามารถรีดเฟ้นกำลังแรงงานจากคนงานแต่ละคนให้มากที่สุด ไม่ว่าจะเป็นการจ่ายค่าแรงตามจำนวนชิ้นที่ผลิตได้เพื่อจูงใจคนงานให้ทำงานหนักที่สุด หรือการจำกัดระยะเวลาที่คนงานจะพักจากการผลิตให้น้อยที่สุด ทั้งนี้ นักข่าวสายอิเล็คโทรนิคส์ที่มีโอกาสเข้าเยี่ยมโรงงานฟ็อกคอนน์ในเซินเจิ้นภายหลังข่าวอื้อฉาวดังกล่าวเปิดเผยว่า โรงงานควบคุมคนงานอย่างเข้มงวดถึงขนาดที่คนงานจะต้องยกมือค้างรอไว้หากต้องการเข้าห้องน้ำ จนกว่าจะตำแหน่งของตนในสายการผลิตจะได้รับการดูแลแทน

ถึงแม้ผู้บริหารของฟ็อกคอนน์จะพยายามแก้ต่างว่าสภาพความเป็นอยู่ที่โรงงานจัดหาให้ภายในเขตอุตสาหกรรมพิเศษนั้น ไม่ได้สกปรกและย่ำแย่เหมือน “โรงงานนรก” ที่เคยเห็นกันในประเทศกำลังพัฒนา แต่ประเด็นของเรื่องนี้น่าจะอยู่ที่ว่าเมื่อพิจารณาจากปัจจัยต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นชั่วโมงการทำงานที่ยาวนานของคนงาน ถึงเฉลี่ยวันละ 10-12 ชั่วโมงและอาจมากถึง 15 ชั่วโมง ขณะที่ค่าแรงที่ได้รับนั้นก็ต่ำจนเรียกได้ว่า “ไร้ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์” (แหล่งข่าวบางแห่งระบุว่าคนงานอาจได้รับค่าแรงเพียง 1,350 บาทต่อเดือน) ยิ่งเมื่อพิจารณาถึงผลกระทบจากลักษณะงานที่ต้องทำซ้ำเป็นเวลานาน ภายใต้ความตึงเครียดที่ทำให้คนงานมีอาการซึมเศร้าและน่าจะเป็นสาเหตุให้หลายคนฆ่าตัวตายในที่สุด  และผลกระทบจากการสัมผัสกับสารพิษในระหว่างการทำงานที่ทำให้ต้องล้มป่วย ล่าสุด คนงานฟ็อกคอนน์ในจีน 2 คน คือ กู่ ฮุย เฉียง (Gou Rui-Qiang) และเจีย จิง ฉวน (Jia Jing-Chuan) ได้ร่อนจดหมายเปิดผนึกเพื่อเรียกร้องความเป็นธรรมให้กับคนงานทั้งหมด 137 คนที่มีอาการป่วยจากการสัมผัสสาร N-hexane ที่ใช้ทำความสะอาดจอไอโฟนในขั้นตอนการผลิต คำถามที่ตรงไปตรงมาก็คือ สังคมแบบใดกันที่ปล่อยให้เกิดการละเมิดสิทธิแรงงาน หรือแม้กระทั่งสิทธิมนุษยชนอย่างเป็นระบบภายในกลไกการผลิตและแลกเปลี่ยนในระดับนี้ได้?

ในปี 2554 แอปเปิ้ลทำกำไรเฉลี่ยต่อพนักงานหนึ่งคนเท่ากับ 4 แสนเหรียญสหรัฐ (ประมาณ 12,000,000 บาท) ขณะที่โครงสร้างตลาดที่บิดเบี้ยวทำให้อัตรากำไรของแอปเปิ้ลเพิ่มขึ้นเป็นสองเท่าภายในสี่ปี ขณะที่อัตรากำไรของฟ็อกคอนน์กลับลดลงเกือบ 50% ภายในช่วงเวลาเดียวกัน แรงกดดันนี้ทำให้ผู้รับจ้างเหมาช่วงอย่างฟ็อกคอนน์ต้องพยายามทุกวิถีทางเพื่อลดต้นทุนการผลิตให้ต่ำที่สุด แน่นอนว่า เราต้องไม่มองเรื่องนี้เป็นเพียงปัญหาของฟ็อกคอนน์หรือแอปเปิ้ลโดยเฉพาะ เพราะแบรนด์ข้ามชาติอื่นก็กำลังโอนถ่ายกิจกรรมการผลิตไปให้กับผู้รับจ้างเหมาช่วงในประเทศค่าแรงต่ำมากขึ้น โรงงานแบบฟ็อกคอนน์จึงเกิดขึ้นมากมายและแข่งขันกันอย่างบ้าคลั่งภายในเขตเศรษฐกิจพิเศษของประเทศเหล่านั้น รวมทั้งประเทศไทย

นี่เป็นปัญหาเชิงโครงสร้าง ทั้งในแง่กฎหมายและระบบคุณค่าภายในสังคมก็ว่าได้ ในแง่ของกฎหมายนั้น เราทราบกันดีอยู่แล้วว่าเรามีกฎหมายและกลไกคุ้มครองแรงงานที่อ่อนแอและสร้างความได้เปรียบให้กับนายจ้างเสมอ ปัญหานี้ยิ่งรุนแรงมากขึ้นภายใต้ระบบการเมืองแบบตัวแทนที่ไม่โปร่งใส ในระดับที่ลึกซึ้งกว่านั้น จะเห็นว่าสังคมปัจจุบันทำให้พวกเรากลับบูชาวัตถุ เทคโนโลยีหรือเงินตรามากกว่าจะมองเห็นคุณค่าความเป็นมนุษย์ของคนอื่น โดยเฉพาะคนยากจนที่กลายเป็นปัจจัยการผลิตที่ถูกแทนที่ใหม่ได้เสมอ สุดท้าย ผมไม่ได้ต้องการให้พวกเราปฏิเสธเทคโนโลยีหรือเงินหรือเพียงประนามนักธุรกิจเป็นพวกโลภมากไม่รู้จักพอเพียงเท่านั้น แต่หวังว่าบทเรียนจากกรณีของฟ็อกคอนน์และแอปเปิ้ลน่าจะทำให้เราเห็นว่ามีสิ่งผิดปกติเกิดขึ้นกับระบบเศรษฐกิจและสังคมแบบนี้ ที่ทำให้เราสมยอมเป็นส่วนหนึ่งของระบบที่คร่าชีวิตคนได้ เพียงเพื่อแลกเปลี่ยนกับโทรศัพท์มือถือรุ่นใหม่ที่มีราคาถูกลง ซึ่งในที่สุดก็จะถูกแทนที่ด้วยรุ่นใหม่กว่าในอีกในกี่เดือนข้างหน้า

ความคิดเห็น

บทความที่ได้รับความนิยม