บทความแปล ใครขโมยวันทำงานสี่ชั่วโมง







ภาพจากแผ่นปลิวรณรงค์ของ IWW ช่วงทศวรรษ​ 1930-1940

อเล็กซ์เป็นคนงานยุ่ง ด้วยสถานะของสามีในวัน 36 และพ่อของลูกสาม เขาต้องเดินทางระยะทางไกลไปทำงานประจำทุกวันที่บริษัทเทเลคอมขนาดใหญ่แห่งหนึ่งในเมืองเดนเวอร์ เมืองที่เขาย้ายเข้ามาจากบ้านเกิดในประเทศเปรูตั้งแต่ปี 2003

ในเวลากลางคืน เขายังมีเรียนหรือการบ้านจากหลักสูตรปริญญาตรีด้านสังคมศาสตร์​ที่เขากำลังศึกษาที่มหาวิทยาลัยใกล้บ้าน ไม่ว่าจะมีหรือไม่มีเสียงปลุกจากนาฬิกา เขาตื่นนอนตอนตีห้าเป็นประจำทุกวัน และเป็นเวลาหลังจากทานอาหารเช้าและชำเลืองดูข่าวบนหน้าหนังสือพิมพ์ ที่เขามีโอกาสทำตามหน้าที่ของเขาในฐานะนักจัดตั้งเพียงคนเดียวในสหรัฐฯ และเว็บมาสเตอร์ของโกลบอลแคมเปญ สำหรับการรณรงค์ในระดับสากลเพื่อวันทำงานสี่ชั่วโมง

"ผมพยายามติดต่อกับองค์กรต่างๆ" เขากล่าว "ถึงแม้ เอาเข้าจริง ผมไม่มีเวลาเลย"

แต่อเล็กซ์มีแผนการณ์ใหญ่ ปลายปีที่สิบของการรณรงค์​เขาวาดภาพ "ขบวนการเคลื่อนไหวที่น่าตื่นเต้นมากๆ" พร้อมกับสาขาทั่วโลกประสานงานกันจนเกิดการหยุดงานที่ต้องการ

หนึ่งร้อยปีที่แล้ว ปฎิบัติการแบบนี้แทบจะดูเหมือนว่าไม่น่ามีปัญหาอะไร เป็นเวลาหลายสิบปีที่ขบวนการแรงงานในสหรัฐฯ ใช้ท้องถนนเป็นพื้นที่ในการเรียกร้องวันทำงานแปดชั่วโมงโดยการประท้วงของคนงานนับแสนคน นั่นเป็นเพียงอีกก้าวหนึ่งของการค่อยๆ ลดชั่วโมงการทำงาน ซึ่งคาดหมายกันว่าจะเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องในอนาคต ก่อนหน้าสงครามการเมือง (ประมาณ​พ.ศ.​ 2404-2408) คนงานหญิงในโรงงานของเมืองโลเวล แมสซาชูเซทส์ ได้ต่อสู้เพื่อลดชั่วโมงการทำงานจากสิบสองหรือมากกว่านั้นลงเหลือสิบชั่วโมง ต่อมา เมื่อเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ปะทุขึ้น (ประมาณ​ทศวรรษ​ 2470) สหภาพแรงงานเรียกร้องชั่วโมงทำงานที่สั้นลงเพื่อให้เกิดการกระจายงานที่น้อยลงออกไปและเพื่อป้องกันการปลดจากงาน บริษัทใหญ่อย่างเคลล็อกก็สมัครใจที่จะทำตามข้อเรียกร้องนั้น แต่ในช่วงที่สงครามโลกครั้งที่สองเกิดขึ้น ระบบการทำงานแปดชั่วโมงก็หยุดชะงัก และทุกวันนี้ คนงานส่วนใหญ่ต้องทำงานมากกว่าแปดชั่วโมง

ขณะนี้ สหรัฐอเมริกาเป็นผู้นำในกลุ่มของประเทศร่ำรวยที่มีชั่วโมงการทำงานต่อปีมากที่สุด คนงานสหรัฐฯ​ต้องทำงานกว่าสามร้อยชั่วโมงต่อปีมากกว่าคนงานในประเทศยุโรปตะวันตก ด้วยสาเหตุหลักคือการขาดวันหยุดที่ได้รับค่าจ้าง (คนงานเยอรมันทำงานน้อยชั่วโมงกว่าคนงานอเมริกันมาก ขณะที่คนงานกรีกทำงานยาวนานกว่ามาก) ผลิตภาพของคนงานเฉลี่ยปรับเพิ่มขึ้นเท่าตัวหลายครั้งตั้งแต่ 1950 แต่รายได้ยังคงอยู่กับที่ นอกจากเราจะพิจารณาคนรวยที่รวยเพิ่มขึ้นมาก มูลค่าที่เกิดจากผลิตภาพที่เพิ่มขึ้นนั้น สุดท้ายก็ต้องไปอยู่ที่ไหนสักแห่ง (และคำตอบ คือตกไปอยู่ในมือคนรวย)

มันแทบจะเป็นเรื่องสามัญสำนึกที่ว่าความรุดหน้าทางเทคโนโลยีจะทำให้เกิดเวลาการพักผ่อนเพิ่มขึ้น เบนจามิน แฟรงคลิน อดีตปธน.ของสหรัฐฯ เคยตั้งสมมุติฐานว่า "ถ้าชายและหญิงทุกคนทำงานที่เป็นประโยชน์ให้ได้สี่ชั่วโมงในแต่ละวัน แรงงานเหล่านั้นจะสร้างผลผลิตมากพอสำหรับสนองความต้องการที่มี รวมทั้งให้ความสบายในชีวิต" นิยายวิทยาศาสตร์มักจะทำนายภาพของอนาคตที่ชั่วโมงการทำงานสั้นลงกลายเป็นกฎเกณฑ์ที่ยอมรับทั่วไป นิยายขายดีของเอ็ดเวิร์ด เบลลามีในปี 1888 (พ.ศ.​2431) ที่ชื่อ Looking Backward (มองกลับไปในอดีต) อธิบายว่าในปี 2000 ผู้คนจะทำงานประมาณสี่ถึงแปดชั่วโมง สำหรับงานที่น่าเบื่อก็จะต้องการเวลาน้อยลง ในบริบทของนิยาย Star Trek งานที่เกิดขึ้นก็เพื่อการพัฒนาตนเอง ไม่ใช่เพื่อความจำเป็นทางวัตถุ ในภาพยนต์ Wall-E หุ่นยนต์ทำงานทุกอย่าง ขณะที่มนุษย์กลายเป็นก้อนเนื้อเฉื่อยๆ ที่นอนแผ่นเป็นโซฟาไร้แรงโน้มถ่วง

ในช่วงระหว่างการต่อสู้ที่เข้มข้นเพื่อวันทำงานแปดชั่วโมงในทศวรรษ​ 1930 (ประมาณทศวรรษ​​2470) คนงานกลุ่ม Industrial Workers of the World (IWW) ก็มีแผ่นปลิวการ์ตูนสำหรับสิ่งที่พวกเขาเชื่อว่าจะเป็นก้าวต่อไป วันทำงานสี่ชั่วโมง สัปดาห์ทำงานสี่วันและค่าแรงที่คนมีชีิวิตอยู่ได้

การรณรงค์ของ IWW ตั้งคำถามว่า "ทำไมจะเกิดขึ้นไม่ได้?"


มันเป็นคำถามที่ดี วันทำงานสี่ชั่วโมงพร้อมกับค่าจ้างที่มีชีวิตอยู่ได้สามารถแก้ปัญหาจำนวนมากที่มีส่วนรบกวนชีวิตของเราที่สุด ยกตัวอย่างเช่น ถ้าหากทุกคนทำงานน้อยชั่วโมงลง จะมีงานให้ทำมากขึ้นสำหรับคนที่ตกงาน เศรษฐกิจอาจจะไม่สามารถผลิตได้มากเท่าที่เป็นอยู่ ซึ่งก็หมายความว่ามันจะไม่สามารถสร้างมลพิษได้มากเท่านี้ด้วย ประเทศร่ำรวยที่คนทำงานน้อยชั่งโมงลงมีแนวโน้มจะลดรอยเท้าคอร์บอนลง งานน้อยลงหมายถึงมีเวลาเหลือให้กับครอบครัวและการดูแลเด็ก จบปัญหาเรื่อง "สมดุลระหว่างชีวิตและการทำงาน" สิ่งที่จะหายไปคือปัญหาทำงานมากเกินไป ที่มีส่วนเพิ่มความเสี่ยงต่อโรคหัวใจ เบาหวานและอัลไซเมอรส์อีกด้วย

เบนจามิน ไคลน์ ฮันนีคัตต์​ (ฺBenjamin Kline Hunnicutt) นักประวัติศาสตร์ของมหาวิทยาลัยไอโอวา ได้อุทิศชีิวิตการทำงานของเขาในการแก้ไข "การสูญเสียความจำระดับชาติ" เกี่ยวกับสิ่งที่เคยเป็นฝันของคนอเมริกันในการมีเวลาว่างเพิ่มขึ้น ไม่ว่าจะเป็นช่วงเวลาหยุดงานในสุดสัปดาห์ตามหลักศาสนาของชาวยิว ฯลฯ​ หนังสือล่าสุดของดร.ฮันนีคัตต์ เวลาว่าง (Free Time) ตามรอยว่าความฝันนี้ได้เปลี่ยนจากส่ิงที่คนเคยเชื่อว่าเป็นเรื่องจะเกิดขึ้นแน่นอนเนื่องจากเทคโนโลยี กลายเป็นข้อเรียกร้องหลักในศตวรรษของการต่อสู้ของแรงงาน จนกระทั่งเลือนหายไปในสภาพฝันร้ายของปัจจุบันที่งานคุกคามเข้ามาในทุกชั่วโมงของชีวิต

"ฝันเหล่านี้กลับกลายเป็นถูกลืมหมดสิ้น และหายไปในการดิ้นรนอย่างบ้าคลั่งเพื่องานและเงิน"​ ดร.ฮันนีคัตต์ตัดพ้อ






มีสัญญาณเตือนถึงสิ่งที่เกิดขึ้นในบทความของนักเศรษฐศาสตร์เลื่องชื่อ จอหน์ เมยนารด เคนส์ ที่เขียนขึ้นในปี 1930 ชื่อ "ความเป็นไปได้ทางเศรษฐกิจสำหรับรุ่นหลายของพวกเรา (Economic Possibilities for Our Grandchildren)"

ประมาณปี 2030 เคนส์คาดว่าจะเกิดระบบของ "การว่างงานทางเทคโนโลยี" ที่ซึ่งเราจำเป็นต้องทำงานน้อยถึงขนาดสิบห้าชั่วโมงต่อสัปดาห์ และนั่นเพื่อป้องกันไม่ให้เราเสียสติจากการมีเวลาว่างมากเกินไป ยังไงก็ตาม ในระหว่างนี้ "ความโลภ การขีดรีดดอกเบี้ยและความระมัดระวังจะเป็นพระเจ้าของเราไปพลางก่อน" เคนส์เชื่อว่า "เพื่อที่จะนำทางเราออกจากอุโมงของความจำเป็นทางเศรษฐกิจสู่แสงสว่าง"

ด้วยความเชื่อนี้ เขาได้เสนอว่าเราควรทำสัญญากับปีศาจ เชื่อมั่นในความโลภไปอีกนิด และมันจะทำให้รอดพ้นจากตัวเราเอง เพื่ออธิบายส่ิงนี้ เคนส์ได้ตั้งข้อสังเกตที่เหยียดคนยิว (anti-semitic) ว่าเพราะพระเยซูของยิวได้นำทางสู่ชีวิตอมตะมาสู่โลกนี้ อัฉริยะของชาวยิวในการคำนวณดอกเบี้ยจะทำให้เกิดความมั่งคั่งที่สามารถนำพวกเราออกไปจากการเป็นทาสของระบบค่าจ้างอย่างถาวร อย่างไรก็ตาม เคนส์ไม่ได้คาดเอาไว้ว่าปีศาจจะมีอำนาจต่อรองเหนือ เหมือนกับในสัญญากับปีศาจส่วนใหญ่ ความโลภได้จัดการดูดซับผลประโยชน์ทั้งหมดออกไปจากความรุดหน้าทางวิทยาการ

ดร.ฮันนีคัตต์ใช้เวลาส่วนใหญ่ของงานในการเก็บรายละเอียดว่ามันเกิดขึ้นอย่างไร ตลอดช่วงเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ แรงกดดันจากนักอุตสาหกรรมใหญ่ได้ทำให้ปธน.รูสเวลท์หันมาต่อต้านระบบชั่วโมงทำงานที่สั้นลง รูสเวลท์ทำให้กฎหมาย Black-Connery Bill สำหรับการทำงานสามสิบชั่วโมงต่อสัปดาห์ที่ผ่านสภาสูงต้องตายในสภาล่าง ด้วยความช่วยเหลือจากแนวคิดของเคนส์เองในเรื่องงบประมาณรายจ่ายขาดดุล นโยบายนิวดีลของปธน.รูสเวลท์ตั้งเป้าหมายของการจ้างงานทุกคน "เต็มเวลา" และกฎหมาย Fair Labor Standard Act ในปี 1938 บัญญัติวันทำงานแปดชั่วโมงเป็นบรรทัดฐาน นั่นคือการลดชั่วโมงการทำงานครั้งสุดท้ายของศตวรรษ การเกิดขึ้นของสงครามเย็นหมายถึงขบวนการแรงงานที่เรียกร้องการทำงานน้อยชั่วโมงลงถูกตีตราว่าเป็นพวกหัวรุนแรงต้องการล้มระบบและคอมมิวนิสต์ คนงานน้อยลงเรื่อยๆ สามารถเข้าร่วมเป็นสมาชิกสหภาพแรงงาน ทุกชั่วโมงของงานมีประสิทธิภาพมากขึ้นและมากขึ้น ขณะที่ชนชั้นเจ้าของปัจจัยเขมิบเอาส่วนแบ่งของประโยชน์ไปมากกว่าที่เคยเป็น

ความฝันแบบอเมริกันใหม่เข้าแทนที่ความฝันอันเก่า แทนที่จะเป็นเวลาว่าง หรือการอดออม การบริโภคกลายเป็นหน้าที่ของผู้รักชาติ บรรษัทธุรกิจสามารถหาข้ออ้างในการทำทุกอย่าง ตั้งแต่การทำลายสิ่งแวดล้อมไปจนถึงการสร้างคุก เพียงเพื่อเสกให้เกิดงานให้ทำมากขึ้น การศึกษาหลักสูตรศิลปศาสตร์ ที่เริ่มแรกมีเพื่อที่จะเตรียมคนสำหรับใช้เวลาว่างอย่างชาญฉลาด ถูกแปลงโฉมให้เป็นระบบการฝึกงานที่ไร้ประสิทธิภาพและราคาแพง อย่างที่เคนส์คิดว่ามันเป็นเรื่องสมเหตุผลที่จะทำ เราได้หยุดจินตนาการว่ารุ่นหลานของพวกเราอาจจะมีชีวิตที่ดีกว่าพวกเรา พวกเราได้แต่หวังว่าพวกเขาจะมีงานทำ บางที ถึงกับเป็นงานที่พวกเขาชอบ

ความฝันใหม่ของการบ้างานได้เข้ามายึดครองพวกเราอย่างมั่นคง แทบไม่มีใครพูดถึงการคาดหวังหรือแม้กระทั่งว่าเราสมควรจะมีวันทำงานที่สั้นลงอีก ที่ดีที่สุดที่เราหวังได้คืองานที่สมบูรณ์ งานที่บังเอิญเป็นงานที่เรารัก ในการตามหาความฝันนี้อย่างบ้าดีเดือด เราไม่แม้แต่จะเสียสละรวมตัวกับพวกรวมงานของเรา เราถูกทำให้คิดถึงตัวเองอย่างเลวร้ายว่าถ้าเรามีเวลาว่างมากขึ้น เราก็จะผลาญเวลานั้น

ยิ่งเราถูกสอนให้บูชางานมากเท่าใด มันยิ่งมีค่าน้อยลงทุกที ตอนที่ผู้หญิงเริ่มเข้าสู่ตลาดแรงงาน รายจากสองแหล่ง (ชายและหญิง) เริ่มกลายเป็นเรื่องจำเป็นสำหรับการสนับสนุบครอบครัว และผู้หญิงยังคงติดแหง็กกับงานบ้านมหาศาลและการดูแลลูก งานล่วงเวลากลายเป็นเรื่องจำเป็นสำหรับคนจำนวนมาก และการมีงานพาร์ทไทม์โดยปกติหมายถึงการทำงานอื่นอีกหนึ่งหรือสองงาน

"คนงานบางคนมีชั่วโมงการทำงานที่สั้นลง แต่สิ่งที่พวกเราไม่มีคืองานที่มั่นคง" แคเรน นอซบัม (​Karen Nussbaum) ประธานของ Working America องค์กรร่วมของสหภาพ AFL-CIO กล่าว

ในสิ่งที่เหลืออยู่สำหรับขบวนการแรงงาน แทบไม่มีใครอยากเสียเวลาเรียกร้องวันทำงานที่สั้นลง มันยากพอที่จะได้ค่าแรงที่พอยังชีพ วันลาหยุดที่ได้รับค่าแรง เวลาพักร้อนอีกนิด รวมทั้งวันลาเพื่อเลี้ยงดูบุตร เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเวลาที่เธอเริ่มจัดตั้งคนงานหญิงในทศวรรษ​ 1970 นอซบัม กล่าวว่า "วิกฤตมันแตกต่างกัน มันรุนแรงขึ้นและมันแผ่กระจายมากขึ้น"



แน่นอนว่าคุณคงเคยได้ยินถึงสัปดาห์ทำงานสี่ชั่วโมง หรืออย่างน้อยคุณอาจได้เห็นมันในร้านหนังสือของสนามบิน ที่นักธุรกิจมักแอบชำเลืองมองแบบเลียบเคียงที่ปกราวกับมันเป็นคาตาล็อกขายชุดชั้นในสตรี มันเป็นมนต์เสน่ห์ขายดีที่ค่อนข้างเหงา กับความหวังที่ว่าหากเราทำงานอย่างฉลาดขึ้น ไม่ใช้หนักขึ้น เราอาจจะร่วมกับผู้แต่ง ทิโมธี เฟอร์ริสส์ (Timothy Ferris) ในกลุ่ม "คนรวยใหม่"​ ที่มีเงินลงทุนหนาและการดูแลรักษาตัวเองพอสมควร มันสามารถเกิดขึ้น แค่กับผู้โชคดีไม่กี่คนในบรรดาคนขี้แพ้นับล้านกว่าๆ ที่หลงซื้อหนังสือนี้


แนวคิดของวันทำงานสี่ชั่วโมงที่คนงานจิตนาการถึงเมื่อร้อยปีที่แล้วนั้นแตกต่างกัน มันเป็นฝันสำหรับทุกคน เป็นผลที่จะเกิดขึ้นจากความรุดหน้าทางเทคโนโลยี แต่ในหลายทศวรรษตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่สอง ทุนนิยมไม่สามารถหยิบยื่นวันทำงานที่สั้นลงให้ ดินแดนแห่งการมีเวลาว่างพักผ่อนแบบที่เราฝันถึง ซึ่งเคยเป็นประเด็นปัญหาด้านเทคโยโลยี วันนี้มันกลายเป็นประเด็นทางการเมือง

IWW มองว่าวันทำงานที่สั้นลงต้องไม่แลกมาด้วยการตัดค่าแรง อย่างเช่นคำที่ปรากฎในแผ่นปลิวอันหนึ่ง "มันคือข้อเรียกร้องแห่งการปฏิวัติ (THE Revolutionary Demand)" องค์กรแรงงานที่รู้จักกันในชื่อ "ว็อบบลี่ (Wobblies)" ตระหนักว่าชั่วโมงทำงานที่ลดลงจะเป็นหลักประกันว่าคนงานจะได้ตักตวงจากความรุดหน้าแทนที่จะปล่อยให้ความมั่งคั่งไหลล้นขึ้นข้างบน เพื่อที่ให้ได้มาซึ่งวันทำงานแปดชั่วโมงในระหว่างสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง คนงานตัดไม้ที่จัดตั้งโดย IWW ในเขตตะวันตกเฉียงเหนือของสหรัฐฯ เป่านกหวัดและเดินออกจากงานเมื่อครบแปดชั่วโมงของการทำงาน แผ่นปลิวเร็วๆ นี้ของ IWW เสนอว่าแท็กติกอีกอันหนึ่งที่จะช่วยเน้นให้เห็นผลกระทบของวันทำงานที่ยาวนานต่อครอบครัวคือ ให้ลูกหลากของคนงานถือป้ายประท้วงหน้าที่ทำงาน เพื่อชี้ให้เห็นว่าพวกเขาคิดถึงพ่อแม่ของพวกเขาแค่ไหน




ในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา ยังมีตัวชี้วัดเล็กน้อยของพัฒนาการที่เกิดขึ้น หลังจากถูกกดดันอย่างมากจากคนงานที่จัดตั้ง ปธน.โอบามาประกาศกฎหมายที่เข้มงวดขึ้นในเรื่องค่าแรงล่วงเวลา ในปัจจุบัน รัฐบาลประเมินว่ามีคนงานหลายล้านคนที่ต้องเปลี่ยนไปทำงานพาร์ทไทม์แทนที่จะทำงานเต็มเวลา เพราะพวกเขาสามารถซื้อประกันสุขภาพผ่านระบบใหม่ พอล ไรอัน สมาชิกสภาคองเกรสได้แสดงความกลัวอย่างรวดเร็วเกี่ยวกับระบบประกันสุขภาพที่ถูกลงว่า "แรงจูงใจสำหรับการทำงานจะลดลง" แค่ความคิดว่่่าพวกคนไม่รวยสามารถทำงานลดลง แต่ยังคงมีประกันสุขภาพ ก็ขัดกับความคิดของเขาเกี่ยวกับวิถีแบบอเมริกัน เขายังพูดว่า "มันเพิ่มการดูถูกให้กับบาดแผลที่เกิดขึ้น"

ดังนั้น วิธีการที่อาจจะปฏิบัติได้จริงที่สุดในการเอาชนะให้ได้วันทำงานที่สั้นลงอาจจะเป็นการแยกสิ่งที่จำเป็น เช่น ประกันสุขภาพ ออกจากการจ้างงาน

ปีเตอร์ เฟรส (Peter Frase) บรรณาธิการของนิตยสาร Jacobin และผู้สนับสนุนวันทำงานที่สั้นลงที่สามารถที่สุดคนหนึ่ง เรียกร้องให้มีรายได้พื้นฐานสากล (universal basic income) คนที่สามารถดูแลความจำเป็นพื้นฐานที่สุดของตัวเองจะสามารถเลือกสำหรับพวกเขาเองว่าต้องการทำงานเพิ่มเติมมากแค่ไหน นอกเสียจากว่าขบวนการเคลื่อนไหวจะมีพลังมากพอ นักการเมืองและชนชั้นนำก็จะยังคงอ้างว่ามันไม่มีงานมากพอให้กับทุกคน

คนงานในประเทศที่องค์กรแรงงานเข้มแข็งรู้ดี เมืองโกเธนเบิร์กในประเทศสวีเดน กำลังทดลองใช้วันทำงานหกชั่วโมงสำหรับคนงานขององค์กรปกครองเมือง ขณะที่ในฝรั่งเศส ที่ระบบการทำงานสามสิบห้าชั่วโมงก็เป็นที่ยอมรับทั่วไป สหภาพแรงงานกำลังทดลองกฎที่ต่อต้านการเช็คอีเมล์ที่ทำงานหลังจากชั่วโมงทำงาน

เครื่องมือที่จะช่วยประหยัดเวลา ซึ่งเบนจามิน แฟรงคลินเคยปรารถนานั้นอยู่ที่นี่แล้ว แต่แทนที่จะถูกใช้เพื่อปลดปล่อยทุกคนจากงาน มันกลับถูกใช้เพื่ออำพรางความโลกของธุรกิจในการแทรกซึมเข้ามาในชีวิตของเรา ไม่ว่ากลางวันหรือกลางคืน อาจจะมีคนน้อยกลุ่มมากที่จะยินดีกับการอยู่ที่ทำงานหลังเลิกงานมากเท่ากับพวกวิศวกรของซิลิคอนวัลเลย์​ (ย่านไฮเทค ในคาลิฟอร์เนียของสหรัฐฯ) แต่เอาเข้าจริงแล้ว ใครคือคนได้ประโยชน์จากการนั่งใส่รหัส (โปรแกรมคอมพิวเตอร์)​ ถึงดึกๆดื่นๆ

มันก็คงจะเป็นคนกลุ่มเดียวกันที่ป้องกันไม่ให้ซิลิคอนวัลเลย์ได้มีสหภาพแรงงาน คนที่ไม่สนใจว่าแม่เลี้ยงเดี่ยวจะต้องทำงานสองงาน คนที่หวังจะให้พวกเราเช็คอีเมล์ในการทำงานตลอดเวลา คนที่พูดว่าเราต้องการการเติบโตทางเศรษฐกิจ แทนที่จะปล่อยให้คนว่างงานได้มีส่วนแบ่งเบางานที่จำเป็น

คนพวกนั้น คนที่เคารพนักแสวงหากำไรอย่างนอบน้อม และคนที่ละเลยที่จะรวมตัวจัดตั้งกับเพื่อนร่วมงาน คือคนที่กำลังขโมยวันทำงานสี่ชั่วโมงไปจากพวกเรา

แปลโดยเกรียงศักดิ์ ธีระโกวิทขจร จาก Who Stole the Four-Hour Workday? โดย Nathan Schneider ใน Vice.com (August 2014)

ความคิดเห็น

บทความที่ได้รับความนิยม