อย่ามองข้าม Normative Economics ของสติกลิตซ์

การเดินทางมาบรรยายในประเทศไทยของโจเซฟ สติกลิตซ์ (Joseph Stiglitz) นักเศรษฐศาสตร์เจ้าของโนเบล ปี 2544 เมื่อปลายสัปดาห์ที่ผ่านมาทำให้หลายคนอดจับตามองไม่ได้ว่า “ที่ปรึกษาเศรษฐกิจ” กิตติมศักดิ์ของนายกฯ อภิสิทธิ์คนนี้จะมีข้อเสนออะไรที่น่าสนใจให้กับประเทศไทยบ้าง

ในงานสัมมนา “เอเชีย: เส้นทางสู่เศรษฐกิจใหม่” ซึ่งจัดโดยกลุ่มสื่อเนชั่นร่วมกับกระทรวงต่างประเทศ ศาสตราจารย์สติกลิตซ์ซึ่งเป็นผู้กล่าวคนสำคัญ (keynote speaker) ได้วิพากษ์วิจารณ์ความคิดกระแสหลักอย่างถึงราก เมื่อกล่าวว่าวิกฤตภาคการเงินทั่วโลกนี้เป็นภาพแทนความล้มเหลวของเศรษฐกิจระบบตลาดสไตล์อเมริกันและลัทธิเสรีนิยมที่มีรากฐานบนการบริโภคไม่สิ้นสุดหรือความโลภนั้นกำลังทำลายตัวเองและสร้างปัญหาให้กับเราผ่านทางปัญหาสังคมและสิ่งแวดล้อม

อย่างไรก็ตาม การกล่าวโทษระบบทุนนิยมอเมริกันรวมทั้งพาดพิงว่าผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติหรือจีดีพีนั้นไม่ได้เป็นตัวชี้วัดที่ดี ทำให้สติกลิตซ์ถูกตำหนิอยู่บ้างว่าไม่ได้เสนออะไรแปลกใหม่ไปกว่าที่มีการพูดกันมา ยิ่งไปกว่านั้น ข้อเสนอให้ประเทศกำลังพัฒนาอย่างประเทศไทยลดการพึ่งพาการส่งออกไปประเทศตะวันตกยังทำให้เขาถูกโจมตีว่าเสนออะไรที่เป็นไปไม่ได้ ???

ภายหลังจากเกิดวิกฤตเศรษฐกิจโลก ถึงแม้จะมีฉันทามติเกี่ยวกับการยอมรับความล้มเหลวของระบบทุนนิยมอเมริกัน แต่นิ้วทั้งหลายมักพุ่งเป้าชี้ไปที่ความหละหลวมและผิดพลาดของภาคการเงินและสถาบันการเงินเป็นสำคัญ บทสนทนากระแสหลักก็มักวนเวียนอยู่แต่ประเด็นของระบบการกำกับตรวจสอบ “ระบอบการเงิน” (financial regime) ที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยไม่ได้ตั้งคำถามอย่างจริงจังถึงโครงสร้างระบบเศรษฐกิจที่ควรจะเป็นในอนาคตเพื่อลดความขัดแย้งภายในความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ด้วยกัน รวมทั้งระหว่างมนุษย์และสิ่งแวดล้อม

อย่างไรก็ตาม ข้อเสนอในช่วงหลังของสติกลิตซ์กลับให้ความสำคัญกับเรื่อง “ความเป็นธรรมทางเศรษฐกิจและสังคม” (economic and social justice) อย่างมาก ในการบรรยายพิเศษเกี่ยวกับบทบาทของสหประชาชาติกับวิกฤตเศรษฐกิจ ที่สำนักงานของคณะกรรมาธิการเศรษฐกิจและสังคมสำหรับเอเชียและแปซิฟิกของสหประชาชาติหรือยูเอ็นเอสเคป (UNESCAPE) ที่กรุงเทพฯ ก่อนหน้าการสัมมนา “เอเชีย” เพียงหนึ่งวัน ดร. สติกลิตซ์ได้เน้นประเด็นเรื่องความเป็นธรรมและการมีส่วนร่วมของคนจำนวนมากขึ้นในการจัดการกับวิกฤตเศรษฐกิจ เขาได้เสนอให้ประชาคมโลกร่วมกันสร้างสถาปัตยกรรมทางเศรษฐกิจของโลก (global financial architecture) ที่สามารถตอบสนองความต้องการของประเทศทั้งหมด ไม่ใช่แค่ประเทศที่ร่ำรวยเพียงหยิบมือเดียวอย่างกลุ่มประเทศ G8 หรือ G20

เขาได้เสนอให้กลุ่มประเทศร่ำรวยอย่าง G20 โอนเงิน 1 เปอร์เซ็นต์ของชุดแผนกระตุ้นเศรษฐกิจ (stimulus package) ให้กับประเทศกำลังพัฒนาเพื่อใช้จัดการกับปัญหาความยากจน เนื่องจากที่ผ่านมา ความมั่งคั่งของเศรษฐกิจโลกตกอยู่ในมือของประเทศหยิบมือเดียว ขณะที่ประเทศต่างๆ ทั่วโลกกลับต้องมาร่วมแบกรับผลกระทบของวิกฤตเศษฐกิจที่มีต้นตอจากประเทศกลุ่มเล็กๆ นอกจากนี้ ปัญหาความยากจนก็ถูกซ้ำเติมอย่างรุนแรงจากวิกฤตเศรษฐกิจ ทำให้คนเหล่านี้ถูกริดรอนสิทธิและโอกาสในการเข้าถึงความจำเป็นขั้นพื้นฐานในชีวิต ไม่ว่าจะเป็นการได้บริโภคน้ำสะอาดหรืออาหารที่ถูกสุขลักษณะ สิทธิในการมีสุขภาพที่ดีและการเข้าถึงศึกษา

ในฐานะประธานของคณะกรรมาธิการผู้เชี่ยวชาญด้านการปฏิรูประบบการเงินระหว่างประเทศของสหประชาชาติ (UN Commission of Experts on Reforms of International Monetary and Financial System) ต้องถือว่าสติกลิตซ์เป็นกระบอกเสียงที่ดีของนายมิเกล เดสโคโต บร็อคแมน ประธานสมัชชาแห่งสหประชาชาติ (UN General Assembly) ซึ่งมีภูมิหลังการทำงานด้านสิทธิมนุษยชนและการพัฒนาในหลายประเทศ ทั้งนี้ ในการประชุมสมัชชาแห่งสหประชาชาติเมื่อเดือนมีนาคม 2552 นายบร็อคแมนได้แถลงว่า “ท่ามกลางวิกฤตเศรษฐกิจและการเงินของโลก สมาชิกทั้งหมดของสมัชชาฯ หรือที่เรียกว่ากลุ่ม G192 เท่านั้นที่จะสามารถนำการปฏิรูปมาสู่ศตวรรษที่ 21 ได้”

ดร. สติกลิตซ์ได้ให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับวิกฤตภาคการเงินกับบรรณาธิการของหนังสือพิมพ์ลอสแองเจลิสไทม์เมื่อเดือนกันยายน ปี 2551 มีใจความตอนหนึ่งว่าวิกฤตทุกครั้งย่อมต้องผ่านไป แต่สิ่งที่จะหลงเหลือจากวิกฤตที่รุนแรงระดับนี้ก็คือ การต่อสู้ทางความคิดในระดับโลกเกี่ยวกับระบบเศรษฐกิจในอนาคตที่จะเป็นประโยชน์ที่สุดกับคนจำนวนมากที่สุด ดังนั้น เขาจึงเชื่อมั่นว่าการเปลี่ยนแปลงไปสู่สังคมที่ดีกว่าจะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อคนจำนวนมากได้รับโอกาสให้เข้าไปมีส่วนร่วมในการตัดสินใจ ในการสัมมนาที่กระทรวงต่างประเทศ เขาจึงพยายามเสนอให้มีการจัดความสัมพันธ์ใหม่ในเรื่องบทบาทของตลาด รัฐและทุกภาคส่วนในสังคม

ข้อมูลอีกชิ้นที่น่าสนใจก็คือบทบาทในปัจจุบันของสติกลิตซ์ในฐานะประธานของคณะกรรมาธิการว่าด้วยการวัดประสิทธิภาพทางเศรษฐกิจและความก้าวหน้าทางสังคม (Commission on the Measurement of Economic Performance and Social Progress) ซึ่งทำหน้าที่ค้นหาดัชนีทางเลือกที่จะใช้แทนผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติ (จีดีพี) โดยมีแนวทางการศึกษาที่ครอบคลุม 3 ประเด็นสำคัญคือ แนวคิดของจีดีพีในอดีต แนวคิดเรื่องคุณภาพชีวิตและความยั่งยืนทางสังคมและสิ่งแวดล้อม คณะทำงานชุดนี้ถูกตั้งขึ้นโดยประธานาธิบดีซาร์โกซีของฝรั่งเศสเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ปี 2551 และน่าจับตามองอย่างยิ่ง เมื่ออมาตยา เซน นักเศรษฐศาสตร์รางวัลโนเบลผู้สนับสนุนแนวทางการพัฒนาที่เคารพสิทธิและเสรีภาพได้มาเป็นที่ปรึกษาให้สติกลิตซ์ รวมทั้งยังมีสมาชิกที่เป็นนักเศรษฐศาสตร์และนักวิชาการหัวก้าวหน้าจากหลายประเทศ จึงไม่น่าแปลกใจที่ศาสตราจารย์สติกลิตซ์จะหยิบยกประเด็นของจีดีพีที่เป็นปัญหาขึ้นมากล่าวถึงในการสัมมนาครั้งนี้

ศาสตราจารย์จากมหาวิทยาลัยโคลัมเบียท่านนี้อาจทำให้คนไทยหลายคนผิดหวังที่ไม่ได้ยินคำตอบแบบสำเร็จรูปสำหรับเศรษฐกิจไทย แต่นั่นก็เพราะเขากำลังให้ความสำคัญกับเศรษฐศาสตร์เชิงปทัสถาน (Normative Economics) หรือเศรษฐศาสตร์ที่ควรจะเป็น ซึ่งมุ่งเน้นการค้นหารูปแบบของสังคมที่พึงปรารถนา และไม่อาจตัดค่านิยมหรือความเชื่อออกจากการวิเคราะห์ได้

สติกลิตซ์ได้เคยกล่าวเอาไว้อย่างน่าสนใจว่า ถึงแม้ระบบเศรษฐกิจจะโลกาภิวัฒน์ แต่ความรู้นั้นยังคงเป็นเรื่องท้องถิ่น เพราะคุณย่อมรู้ดีกว่าคนอื่นเกี่ยวกับสังคมของตัวคุณเอง ดังนั้น คงไม่มีใครรู้จักเศรษฐกิจไทยดีไปกว่าคนไทยหรอกครับ

--------------------------------------------------------------------------------------------------
มุมมองบ้านสามย่าน, กรุงเทพธุรกิจ 27 สิงหาคม 2552

ความคิดเห็น

่ผ่านมา กล่าวว่า
เข้ามาโดยบังเอิญ จาก keyword Normative Economics แล้วก็สงสัยว่า คนเขียนใช่พี่เกี๊ยง ที่ประประธานรุ่นที่เสดสาดอ้ะป่าว เหมือนเป้นรุ่นพี่ข้าพเจ้าหนึ่งปี :)
Kriangsak กล่าวว่า
ใช่ครับ นี่ใครเอ่ย ขอบคุณที่เข้ามาเยี่ยมเยียน
Meg กล่าวว่า
ขอบคุนค่ะช่วยได้เยอะเลยค่ะ
Kriangsak กล่าวว่า
ช่วยอะไรได้เยอะครับ

เข้าไปเยี่ยมในบล็อกมา เขียนต่อไปนะครับ

บทความที่ได้รับความนิยม