นรกแท้ๆ




จะว่าไปแล้ว การเมืองไทยเริ่มเดินทางเข้าสู่สถานการณ์ที่เป็นอยู่ในวันนี้ นับตั้งแต่การประกาศยุบสภา “อย่างไร้ศักดิ์ศรี” ของอดีตนายกทักษิณ (อันเป็นผลจากความไม่พอใจของสังคมต่อกรณีขายหุ้นเทมาเสก)

ถึงแม้ว่าเราเคยพูดถึง “ทางตัน” ของการเมืองไทยในช่วงหลังยุบสภาฯ แต่ปรากฏว่าสิ่งที่เกิดกับสังคมไทยวันนี้ เลวร้ายยิ่งกว่าและเป็นเหมือน “ฝันร้ายที่เป็นจริง” สำหรับคนไทยทุกคน เพราะรัฐบาลคมช. กำลังทำให้ประเทศไทยถลำลึกเข้าสู่เส้นทางห้วงเหว “อเวจี” ทั้งในทางการเมือง สังคมและเศรษฐกิจ

ในทางการเมือง เรียกว่านับตั้งแต่ยุค “เผด็จการฆ่านักศึกษา” เป็นต้นมาแล้ว ไม่เคยมียุคใดที่ปรากฏการลิดรอนสิทธิและเสรีภาพรุนแรงเช่นนี้มาก่อน

การลิดรอนสิทธิเสรีภาพโดยคมช. และรัฐบาลรักษาการณ์นี้ เกิดขึ้นอย่างเข้มข้น ไม่ว่าจะเป็นการปิดกั้นการแสดงออกทางความคิดเห็นของประชาชน, การเซ็นเซอร์ข่าวและข้อมูลที่เกี่ยวข้องหรือมาจากฝ่ายตรงข้าม เพื่อไม่ให้ประชาชนรับรู้และตัดสินใจ, การเซ็นเซอร์หนังสือ บทความวิชาการ บทความแสดงความเห็น และอื่นๆ ที่วิพากษ์วิจารณ์และประณามการกระทำของคมช. และรัฐบาล ฯลฯ

ถึงแม้การปกครองภายใต้ระบอบทักษิณนั้น จะเลวร้ายอย่างถึงขีดสุดในด้านการละเมิดสิทธิมนุษยชน (และถึงแม้เขาจะยังคงลอยนวลจากการกระทำดังกล่าว) แต่เมื่อเปรียบเทียบกันแล้ว เราก็ยังสามารถแยกแยะตัวร้ายหรือคนร้ายได้ชัดเจนกว่ามาก ไม่ใช่ตัวร้ายที่แฝงมาในบทพระเอกอย่างที่เป็นอยู่ตอนนี้

หลักฐานที่ชัดเจนมาก ซึ่งสะท้อนความรุนแรงของปัญหานี้คือ สถาบันหลักๆ ที่เราหวังพึ่งจะให้เป็นกระบอกเสียงและกลไกตรวจสอบในสังคมต่างพร้อมใจกันเซ็นเซอร์ตัวเอง เพราะอำนาจของกระบอกปืน

ไม่ว่าจะเป็นสื่อมวลชน อย่างทีวีหรือหนังสือพิมพ์ หรือสถาบันที่ควรจะเป็นที่พึ่งสุดท้ายของประชาชนอย่างมหาวิทยาลัย

ในขณะที่หนังสือพิมพ์บางฉบับ (อย่างผู้จัดการ) นั้นได้ตั้งตนเป็นเจ้าลัทธิที่ครอบงำและชี้นำสังคมไปในทางที่ตัวเองต้องการ บางฉบับฉกฉวยโอกาสโดยการหากินกับความเชื่องมงายของประชาชน และซ้ำเติมให้สังคมมอมเมายิ่งขึ้นไป ที่เหลือนั้นเสนอข่าวแต่เพียงด้านเดียว

ส่วนในด้านของมหาวิทยาลัย ล่าสุด มีข่าวการตั้งคณะกรรมการสอบสวนอาจารย์ใจ อึ้งภากรณ์ โดยผู้บริหารคณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ ที่เข้าข่าย “ปิดปากและรังแกนักวิชาการ” เพียงเพราะท่านเขียนหนังสือวิจารณ์คณะรัฐประหารชื่อ A coup for a rich

ข้อมูลจากสำนักข่าวประชาไท ซึ่งได้รับการติดต่อจากอาจารย์ใจโดยตรง ระบุว่าหนังสือดังกล่าวไม่ได้รับอนุญาตให้วางขายที่ศูนย์หนังสือจุฬาฯ (ในขณะที่หาซื้อได้ที่ศูนย์หนังสือ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์) รวมทั้งเกิดกรณีที่สามารถเรียกได้ว่าผู้บริหารคุกคามอาจารย์

แน่นอนนี่ไม่ใช่กรณีแรกของศูนย์หนังสือจุฬาฯ เพราะศูนย์หนังสือจุฬาฯ ก็ปฏิเสธจะวางขายวารสารฟ้าเดียวกันมาตั้งแต่ฉบับที่ ๑๒ “สถาบันกษัตริย์กับสังคมไทย” หรือที่รู้จักกันในนามฉบับ “ปกโค้ก” แล้ว ด้วยเหตุผลอะไรก็คงจะพอเดากันได้

สถานะและศักดิ์ศรีของศูนย์หนังสือจุฬาฯ นั้น จึงไม่ต่างจากร้านหนังสือเอกชนทั่วไป ที่ “ผู้ประกอบการ” มุ่งแสวงหากำไรสูงสุดและเห็นเป็นเรื่องแกว่งเท้าหาเสี้ยนที่จะทำอะไรให้ระคายเคืองอำนาจเผด็จการของรัฐ

อย่างเช่นข่าวล่าสุด ที่ร้านหนังสือซีเอ็ดบุ๊คเซ็นเตอร์ (มีสาขา ๒๓๓ แห่งทั่วประเทศ) ปฏิเสธที่จะวางขายวารสารฟ้าเดียวกัน ฉบับที่ ๑๘ ‘ก้าวต่อไปของสังคมไทย’ โดยอ้างว่า “มีเนื้อหาไม่เหมาะสม”

หากการเซ็นเซอร์นี้เกิดกับธุรกิจเอกชน ก็คงเป็นเรื่องพอเข้าใจได้ แต่การเซ็นเซอร์โดยศูนย์หนังสือของสถาบันการศึกษาที่อ้างตนเป็น “สถาบันอันสูงส่ง” นั้น สังคมก็สมควรตั้งคำถามกับผู้บริหารฯ

ยังไงก็ตาม สิ่งที่น่าสลดใจยิ่งไปกว่าก็คือ สังคมก็พึงพอใจหรือไม่เห็นเป็นเรื่องผิดอะไรต่อการเซ็นเซอร์ตัวเองในลักษณะนี้ !!

ผมเชื่อว่ายังมีคนอีกจำนวนมากที่สนับสนุน (หรืออย่างน้อยก็เห็นว่ามันเป็นเรื่องปกติ) ที่เซ็นเซอร์หนังสืออย่างฟ้าเดียวกัน เพราะคนเหล่านี้เชื่อว่า “เนื้อหาที่ไม่เหมาะสม” นั้นจะก่อให้เกิดความรุนแรงขึ้น โดยอ้างเหตุผลที่ได้ยินบ่อยๆ ว่า “ชาวบ้านที่ไม่มีความรู้อีกเยอะที่อ่านก็อาจจะเชื่อ!” (ผู้เขียนจะหยิบปรากฏการณ์นี้ขึ้นมาคุยกันในโอกาสต่อไป)

เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับอาจารย์ใจ และที่เกิดในศูนย์หนังสือจุฬาฯ นั้นสะท้อนว่าการปิดกั้นเสรีภาพในการแสดงความเห็นทางการเมืองรุนแรงอย่างถึงขีดสุด เพราะลุกลามเข้าไปในรั้วมหาวิทยาลัย ที่ควรจะเป็นปราการสุดท้ายที่คุ้มครองผู้ใช้ปัญญาและรักความเป็นธรรมจากอำนาจมืดและกระบอกปืน

ถึงแม้จะไม่น่าแปลกใจนักที่เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นในรั้วจามจุรีสีชมพู เพราะภูมิหลังทางประวัติศาสตร์และภาพลักษณ์ของสถาบันนั้นก็ไม่เคยสลัดหลุดออกจากผลประโยชน์ ชนชั้นนำและอำนาจ (ผู้เขียนเองก็จบจากสถาบัน “อันทรงเกียรติ” นี้) แต่ก็คงไม่ยุติธรรมนักที่จะเหมาประณามผู้บริหารทุกคนของจุฬาฯ เพราะเชื่อว่ายังมีผู้ใหญ่หลายท่านที่มีจิตสำนึกต่อสังคมและละอายต่อการก้มหัวให้กับอำนาจมืด โดยเฉพาะท่านที่ออกมาแสดงจุดยืนคัดค้านระบอบเผด็จการทหารนี้อย่างเปิดเผย

พวกขี้ขลาดที่สวมหน้ากากนักวิชาการหรือนักประชาธิปไตยจอมปลอม ทั้งในรั้วมหาวิทยาลัยและหน่วยงานราชการ (โดยเฉพาะฝ่ายตุลาการ) ที่สยบยอมและปิดปากเงียบเมื่อความอยุติธรรมเกิดขึ้นตำตาหรือใต้จมูกตัวเองต่างหากที่ควรจะถูกกระชากหน้ากากและประณามให้สังคมรู้ว่า เป็นพวกมองเห็นประโยชน์ส่วนตัวมากกว่าส่วนรวม

ยังไงก็ตาม หลายคนที่มีบทบาทในการบริหารบ้านเมืองหรือมีอิทธิพลต่อการตัดสินใจเชิงนโยบาย (และพยายามเสนอหน้าให้เห็นตามข่าวอยู่ทั่วไปนั้น) อาจไม่รู้ตัวว่าเข้ากลุ่มนี้ เพราะไม่เคยรู้สึกว่าสิ่งที่ตนทำนั้นผิดหรือเลวร้าย

เนื่องจากคนเหล่านี้ก็ดูถูกคนส่วนใหญ่ของประเทศว่าโง่กว่าตน รวมทั้งสำคัญตนผิดว่าเป็นผู้มีคุณธรรม (สูงกว่าคนอื่น) และมีความชอบธรรมที่จะฟาดฟันศัตรูให้ย่อยยับลงได้ ในนามของความถูกต้อง

ซึ่งคนกลุ่มนี้เอง จะต้องมีส่วนรับผิดชอบโดยตรง ที่ทำให้ความคิดเรื่อง “เนื้อหาที่ไม่เหมาะสม” กลายเป็นอคติที่ครอบงำสังคมไทย

ถ้าหากเรายังคงปล่อยให้การเมืองเป็นเรื่องของอำนาจและบารมี (ไม่ใช่นิติรัฐ) และผู้มีอำนาจคือ ผู้สามารถผูกขาดการกำหนดกฎของเกมส์ของสังคมอยู่เพียงผู้เดียวหรือกลุ่มเดียวอย่างที่เป็นอยู่นี้ เราก็คงจะไม่สามารถหลุดออกจากขุมนรก หรือวงจรอุบาทว์นี้ไปได้

ยิ่งกดหรือปิดกั้นการแสดงออกประชาชนมากเท่าใด วันใดที่สิ่งเหล่านี้ระเบิดออกมา รับรองว่า “นรกแตก” แน่นอน

ความคิดเห็น

บทความที่ได้รับความนิยม