ครอบรอบ 40 ปี Mai 68 กับเทศกาลเมืองคานนส์




ในโอกาสครบรอบ 40 ปีของ “Mai 68” หรือเหตุการณ์เดือนพฤษภาคม ปี 1968 เหตุการณ์ปฏิวัติทางอุดมคติ (๑)ของฝรั่งเศสครั้งสำคัญที่สุดในศตวรรษที่ 20 ที่เวียนมาบรรจบในเดือนนี้ หนึ่งในโปรแกรมของเทศกาลหนังเมืองคานนส์ คือ การฉายภาพยนตร์หลายเรื่องที่พลาดโอกาสฉายเมื่อ 40 ปีที่แล้ว เพราะการจัดงานต้องยุติลงกลางคัน อันเนื่องมาจากวิวาทะและความวุ่นวายที่ปะทุขึ้นจากสถานการณ์ภายนอกและการขบฏจากภายในของกลุ่มผู้กำกับหัวก้าวหน้า

ท่ามกลางสถานการณ์การเมืองที่ร้อนระอุในเดือนพฤษภาคม ปี 68 ซึ่งเริ่มต้นจากนักเรียน นักศึกษาในปารีสลุกขึ้นขบฏต่อ “สังคมจารีต” ของฝรั่งเศส จนแผ่ขยายไปในวงกว้างและลุกลามไปสู่การปฏิวัติของกรรมกร-ชนชั้นกรรมาชีพ ต่อสภาพการเมืองน้ำเน่า (ที่พวกโกลลิสต์ (๒) อยู่ในอำนาจมายาวนานถึง 10 ปี) ,สังคมบริโภคนิยมและการลุกคืบของทุนนิยมในฝรั่งเศส กลุ่มนักศึกษาได้บุกเข้าบริเวณที่จัดเทศกาลหนังในวันที่ 13 พฤษภาคม (งานจัดขึ้นตั้งแต่วันที่ 10) และชุนนุมเพื่อคัดค้านคำสั่งของรัฐมนตรีวัฒนธรรมอังเดร์ มัลโรซึ่งได้ออกคำสั่งให้ถอดนายอองรี ลองลัวส์ออกจากการเป็นประธานคณะกรรมการ

ปรากฏว่า ในวันที่ 18 พฤษภาคม กลุ่มผู้กำกับหัวก้าวหน้าที่ประกอบด้วย ฟรังซัว ทรุฟโฟท์, ฌองลุค โกดาร์ด, โรมัน โปลันสกี, โคลด เลอลูช และอีกหลายคน ได้ลุกขึ้นยึดห้องฉายภาพยนตร์และเรียกร้องให้คณะกรรมการจัดงานยุติเทศกาลหนังโดยทันที เพื่อแสดง “จิตสำนึกทางสังคม” ต่อเหตุการณ์ต่อสู้ของนักศึกษาและประชาชนที่กำลังดำเนินอยู่ภายนอก

ในยุคนั้น กลุ่มผู้กำกับหัวก้าวหน้ากลุ่มนี้ถูกขนานนามว่า Nouvelle Vague ซึ่งแปลว่าคลื่นลูกใหม่ โดยทั้งหมดได้แสดงความไม่พอใจต่อ “ภาวะเพิกเฉย” ของวงการภาพยนตร์ต่อความเป็นไปของสังคม โกดาร์ดได้กล่าวบนเวทีว่าเทศกาลหนังครั้งนั้น ไม่มีแม้แต่ภาพยนต์เรื่องเดียวที่จะพูดถึงการต่อสู้ทางการเมืองของนักศึกษาและผู้ใช้แรงงานที่กำลังดำเนินอยู่ในชีวิตประจำวัน (สามารถชมเทปบันทึกเหตุการณ์พร้อมเสียงในภาษาฝรั่งเศส ยาวกว่า 10 นาทีได้จาก http://www.youtube.com/watch?v=zgWVrZbXmJE )

ถึงแม้ว่าเสียงของผู้กำกับเหล่านี้จะไม่ได้พัฒนาไปเป็นมติเอกฉันท์ท่ามกลางบรรดาคนทำและคนดูหนังที่อยู่ในห้องฉายภาพยนตร์วันนั้น แต่การณ์ก็ปรากฏว่าคณะกรรมการได้ตัดสินใจยุติเทศกาลหนังในปีนั้นลง และเหตุการณ์ครั้งนั้น ก็ยังคงถูกพูดถึงในฐานะประวัติศาสตร์หน้าสำคัญของวงการภาพยนตร์ฝรั่งเศส และยังคงเป็นความภาคภูมิใจของคนทำหนังจำนวนไม่น้อยในฐานะเมล็ดพันธ์ของต้นกล้าอุดมคติที่ได้ผลิดอกออกผลและทำให้ภาพยนตร์กลายเป็น “ศิลปะแขนงที่ 7” ที่สมภาคภูมิในสายตาของศิลปินวันนี้

คนไทยจำนวนมากขึ้นและมากขึ้นทุกปี แวะเวียนเข้ามาข้องเกี่ยวกับเทศกาลหนังเมืองคานนส์ (และเทศกาลหนังระดับนานาชาติสำคัญอื่นๆ ) ไม่ว่าจะในฐานะคนทำงาน ทีมงานหรือผู้เข้าไปมีส่วนร่วม ได้แต่หวังว่าพวกเราจะข้ามพ้นไปจากมายาที่เคลือบฉาบอยู่บนผิวหน้าอันสวยหรู ข้ามพ้นไปจากพรมแดงและฟองแชมเปญที่เปิดฉลองในงานเปิดตัวหนัง และพิจารณาหนังในมุมมองที่แตกต่างเช่นในฐานะผลผลิตและวัตถุดิบทางสังคม ที่ไม่เพียงแต่สะท้อนและบอกเล่าความจริงหรือความเท็จของโลก แต่ก็มีส่วนกำหนดความน่าจะเป็นของโลกในฐานะเครื่องมือทางอุดมคติหรืออุดมการณ์อีกด้วย

แน่นอน สังคมฝรั่งเศสไม่ต่างจากสังคมอื่น (เช่นเดียวกับสังคมไทย) ที่มีที่มาที่ไป และภายในสังคมนั้น ความเชื่อ ท่าที รวมทั้งทัศนคติของคนและของกลุ่มคนไม่ได้เกิดขึ้นมาจากสุญญากาศ ถ้าหากเรายังจริงจังไม่เป็นกับเรื่อง “บันเทิง” อย่างหนังหรือภาพยนตร์ สังคมไทยก็คงยังห่างไกลจากเป้าหมายของการเป็นสังคมแห่งการเรียนรู้ หรือแม้กระทั่งสังคมของความกล้าหาญทางจริยธรรม

(๑) ควรเน้นไว้ ณ ที่นี้ว่าเหตุการณ์พฤษภาคม 68 เป็นการปฏิวัติทางอุดมคติเป็นสำคัญ เพราะมีต้นตอมาจากความไม่พอใจต่อลักษณะสังคมแบบจารีตที่เป็นอยู่ในขณะนั้นของฝรั่งเศส และเหตุการณ์นี้ได้เปลี่ยนโฉมหน้าสังคมในเชิงลึกอย่างมีนัย
(๒) หมายถึงกลุ่มนักการเมืองฝ่ายขวา ที่สนับสนุนนายพลเดอ โกลล์ และสังกัดพรรค Union des Démocrates pour la République


อ้างอิง
http://www.cannes-fest.com/an1968.htm
http://www.frenchculture.org/spip.php?article1154
http://fr.wikipedia.org/wiki/Mai_68
http://www.youtube.com/watch?v=zgWVrZbXmJE

ความคิดเห็น

ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า
แล้วได้ดูรายการของคานน์ สัมภาษณ์สดทุกวันทาง canal++บ้างหรือเปล่า

บทความที่ได้รับความนิยม