๗๖ ปีที่สูญเปล่า?
ในโอกาสที่วันนี้ เป็นวันครบรอบ ๗๖ ปีของการอภิวัฒน์การปกครองของประเทศไทย ผมขอถือโอกาสนี้ เขียนอะไรสั้นๆ เพื่อรำลึกถึงคุณูปการของคณะราษฎร์ ในฐานะของนักเรียนไทยในฝรั่งเศสคนนึง เนื่องด้วยเหตุการณ์นี้มีความเกี่ยวข้องกับนักเรียนไทยในฝรั่งเศสในอดีตย่างมีนัยสำคัญ
แน่นอนว่าทุกคนทราบดีถึงปัญหาและความวุ่นวายทางการเมืองที่กำลังเกิดขึ้น ซึ่งต่อเนื่องยาวนานมากว่าสามปี และไม่มีทีท่าจะจบลงอย่างสันติ มิหนำซ้ำ ยังไม่ปรากฎเค้าลางของแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์ (ซึ่งคงไม่ใช่หน้าที่ของผมที่จะต้องเท้าความไปถึงสาเหตุและปัจจัยต่างๆ ที่นำมาสู่สภาวะปัจจุบันนี้)
โดยส่วนตัว ผมเชื่อว่าคำถามหลักที่สำคัญที่เรา-คนไทยและสังคมไทย เผชิญมาชั่วระยะเวลาหนึ่ง คือ รูปธรรมของประชาธิปไตยในบ้านเราควรเป็นอย่างไร ?
ผมเชื่อว่าคุณค่าที่เป็นสากลของระบอบการปกครองนี้ จะต้องผ่านการทดสอบและทดลองด้วยตัวเองจากแต่ละสังคม ซึ่งในระหว่างขั้นตอนนี้ สมาชิกของสังคมจะผ่านการเรียนรู้ร่วมกันในกระบวนการสร้าง “ประชาธิปไตย” ให้เป็นรูปธรรม
ภายหลังผ่านการอภิวัฒน์การปกครองมากว่าค่อนศตวรรษ ผมคิดว่าไม่เคยมีครั้งใด ที่คุณค่าของหลักการประชาธิปไตยต้องเผชิญกับบททดสอบในเชิงสติปัญญาที่รุนแรงและเข้มงวดเช่นในปัจจุบัน นั่นอาจเป็นเพราะเราต่างละเลยและเพิกเฉยต่อความผิดพลาดในอดีต และผลักภาระหน้าที่นี้มาจนกระทั่งถึงธรณีประตูของความเปลี่ยนแปลง
ไม่ว่าสังคมไทยจะผ่านมันไปอย่างสง่างามหรืออัปลักษณ์แค่ไหน (เช่น ๖ ตุลาฯ) ผมเชื่อว่า สิ่งเหล่านี้คงไม่สามารถกลับไปทำลายหรือลดคุณค่าเชิงอุดมคติของการอภิวัฒน์ที่เป็นปฐมบทของประวัติศาสตร์การเมืองยุคปัจจุบันของไทยลง เพราะไม่ว่ายังไงก็ตาม ผมยืนยันที่จะขอให้เราแยกแยะระหว่างนามธรรมของคุณค่าบางอย่างที่พึงระลึกยึดถือกับรูปธรรมหรือสิ่งที่เกิดขึ้นจริงระหว่างทางของกระบวนการเพื่อนำไปสู่การบรรลุเป้าหมาย
กล่าวอีกนัยหนึ่ง ถึงแม้โฉมหน้าที่แท้จริงของประชาธิปไตยแบบไทย ซึ่งเป็นผลผลิตของการต่อสู้แก่งแย่งเชิงอำนาจจะอัปลักษณ์น่ารังเกียจเพียงใด เราต้องไม่หลงลืมและไม่ลดละที่จะปกป้องหลักการสำคัญที่คณะราษฎร์ได้วางรากฐานไว้นั่นคือ หลักการเรื่องสิทธิ-เสรีภาพ และอำนาจอธิปไตยสูงสุดของประชาชน
นั่นหมายความว่า ประการแรก เราต้องไม่ละทิ้งและทอดทิ้งให้พื้นที่ทางการเมือง (คำว่า “การเมือง”ในความหมายกว้าง) กลายเป็นพื้นที่ทางการเมือง (ในความแคบ) ของบรรดานักการเมือง หรือนักผลประโยชน์เพียงไม่กี่คน
ผมกำลังเรียกร้องให้พวกเรา อย่างน้อยนักเรียนไทยในฝรั่งเศส หันมามีส่วนร่วมอย่างสนอกสนใจ แทนการมีส่วนร่วมอย่างเฉื่อยชา กับการเมืองในความหมายของกลไกอำนาจและการตัดสินใจที่กระทบกับชีวิตและความเป็นไปของทุกคน
ประการต่อมา หากพวกเราหวงแหนและตระหนักร่วมกันอยู่เสมอถึงคุณค่าของสิทธิ-เสรีภาพทางความคิด- ความเห็น และสิทธิ-เสรีภาพในการแสดงออกความคิดเห็นนั้นบนหลักการของความเสมอภาคและความเป็นธรรมแล้ว เราต้องไม่ลังเล ทุกครั้งเมื่อมีโอกาส ที่จะประณามการใช้เสรีภาพอย่างมืดบอด อย่างเกินขอบเขต ที่ละเมิดสิทธิเสรีภาพของผู้อื่น ไม่ว่าจะกระทำในนามของหลักการสูงส่งเพียงใด ไม่ว่าจะเป็นชาตินิยมบ้าคลั่งหรือกระทำในนามของระบอบความดีความถูกต้องหรือของประชาชนอย่างเลื่อนลอย ที่เอาผลประโยชน์ของตัวเองและพวกพ้องเป็นที่ตั้ง หรือระบอบใดๆ ก็ตามที่ละเมิดหลักการของนิติรัฐและนิติธรรม ผมขอเรียกร้องให้พวกเราประณามสิ่งเหล่านี้ออกมาอย่างเปิดเผย !
แน่นอนว่า ถ้าหากพวกเราทำได้เช่นนี้แล้ว เท่ากับว่าเราสามารถรักษาและเชิดชูหัวใจที่สำคัญของหลักการประชาธิปไตย ที่ถูกหว่านเมล็ดไว้เมื่อ ๗๖ ปีที่แล้ว และไม่ทำให้กลายเป็น ๗๖ ปีแห่งความสูญเปล่า
ความคิดเห็น