คนชั้นกลางกับวิกฤตการเมืองไทย

ในระยะหลัง คนชั้นกลางถูกอ้างอิงถึงบ่อยในฐานะต้นตอของความวุ่นวายทางการเมืองที่เกิดขึ้น ไม่น่าแปลกใจนัก เพราะบนเวทีของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (พธม.) แกนนำและผู้ขึ้นอภิปรายประกาศเสมอว่าพธม. เป็นพลังของคนชั้นกลางที่ต้องการทำ “สงครามศักดิ์สิทธิ์” กับ “ทุนนิยมสามานย์”

เพื่ออธิบายความสัมพันธ์ของชนชั้นกลางกับการแบ่งขั้วทางการเมือง อาจารย์นิธิ เอียวศรีวงศ์ได้วิเคราะห์การเปลี่ยนแปลงทางสังคม-เศรษฐกิจของชนชั้นกลางในเมืองและชนบทของไทย และชี้ให้เห็นว่าวิกฤตการเมืองที่กำลังเกิดขณะนี้ เป็นพลวัตรการปรับตัวในระบบการเมืองที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงของคนชั้นกลางทั้งสองกลุ่มดังกล่าว [1]

ผมเห็นด้วยอย่างยิ่งกับอาจารย์นิธิและเห็นว่าการขยายตัวของคนชั้นกลางไทยนั้นได้สร้างการเมืองของชนชั้นกลางขึ้น ในมุมมองของเศรษฐศาสตร์การเมือง ถือเป็นประเด็นที่จะต้องศึกษากันอย่างจริงจังและเป็นระบบ ในบทความนี้ ผมจึงอยากจะพูดถึงแนวคิดเรื่องชนชั้นกลาง โดยจะกล่าวถึงที่มาและลักษณะทางชนชั้นในบริบทของทุนนิยมตะวันตกอย่างพอสังเขป ก่อนจะกลับมาตั้งข้อสังเกตถึงลักษณะของคนชั้นกลางไทยและปัญหาที่เกิดขึ้นกับการเมืองไทย

คำว่า “ชนชั้นกลาง” ถูกใช้กันจนเริ่มเป็นที่ยอมรับในช่วงรอยต่อระหว่างศตวรรษที่ 18 และ19 เมื่อความรุดหน้าของสังคมอุตสาหกรรมได้ก่อให้เกิดกลุ่มทางสังคมกลุ่มใหม่ที่ไม่อาจถูกจัดอยู่ในชนชั้นที่มีอยู่เดิมได้ กล่าวคือ ชนชั้นกลางใช้เรียกกลุ่มคนที่เกิดขึ้นตรงกลางระหว่างชนชั้นนายทุน (bourgeoisie) และชนชั้นกรรมาชีพ (proletariat) ซึ่งเป็นผู้ใช้แรงงานที่มีฐานะยากจน

ในบริบทของประเทศอังกฤษ คำว่า “middle class” ใช้เรียกกระฎุมพีใหม่ที่เกิดจากการปฏิวัติอุตสาหกรรม ซึ่งขึ้นมามีบทบาทท้าทายชนชั้นนำเดิม คือผู้สูงศักดิ์ (nobility) และพวกสังคมชั้นสูง (gentry) ขณะที่ในฝรั่งเศส คำว่า “classes moyennes” ให้ภาพใกล้เคียงกับสิ่งที่คาร์ล มาร์กซ์เรียกว่าชนชั้นนายทุนขนาดเล็ก (petty bourgeois) มากกว่า เพราะนักการเมืองมักใช้คำนี้เพื่ออ้างอิงถึงชนชั้นใหม่ ที่เป็นเจ้าของปัจจัยการผลิตในระดับพอเพียงและโชคดีกว่าชนชั้นกรรมาชีพที่ทำได้แค่หาเลี้ยงชีวิตให้อยู่รอดไปแบบวันต่อวัน คนกลุ่มนี้ได้แก่ เจ้าของที่ดินขนาดเล็ก พ่อค้าและเจ้าของโรงงานขนาดเล็ก รวมทั้งช่างฝีมือและลูกจ้าง ที่สร้างฐานะของตนโดยพึ่งแรงกาย ประกอบกับโอกาสจากการศึกษาและทรัพย์สินที่มีเก็บออมอยู่บ้าง แต่ไม่ใช่จากการสืบทอดมรดก

ต่อมาหลังทศวรรษ 1930 การขยายตัวของระบบราชการ บริการสาธารณะและอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ ได้ก่อให้เกิดชนชั้นกลางกลุ่มใหม่ในตะวันตกขึ้น คือพวกมนุษย์เงินเดือน ชนชั้นกลางกลุ่มนี้เริ่มขยับฐานะขึ้นแทนที่ชนชั้นกลางกลุ่มเดิมที่เป็นชนชั้นกลางอิสระ มนุษย์เงินเดือนเหล่านี้ได้แก่ กลุ่มผู้บริหาร ครู หมอ นางพยาบาล วิศวกร ฯลฯ หรือพวกที่ชาร์ลส์ ไวรท์ มิลส์ นักสังคมวิทยาชาวอเมริกันขนานนามให้ว่า “คนงานคอปกขาว” [2]

ในประเทศไทย การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่รวดเร็วหลังทศวรรษ 2510 ทำให้สัดส่วนของคนงานนั่งโต๊ะ ซึ่งประกอบด้วยนักวิชาชีพ เทคนิค ผู้บริหารจัดการ เสมียนและพนักงานขายต่อผู้มีงานทำทั้งหมดเพิ่มขึ้นจาก 3.67% ในปี 2503 (1960) เป็น 7.9% ในปี 2513 (1973), 13.8% ในปี 2534 (1991), และ 21.3% ในปี 2542 (1999) [3]

ในภาพรวม การเกิดขึ้นของระบบทุนนิยม รัฐสมัยใหม่ แนวคิดเรื่องสิทธิและเสรีภาพ ระบบประชาธิปไตยและการบริหารจัดการอย่างมืออาชีพ ฯลฯ ล้วนแต่เป็นนวัตกรรมทางสังคมที่เกิดขึ้นบนงื่อนไขการมีอยู่ของชนชั้นกลางทั้งสิ้น ขณะเดียวกัน สถาบันและคุณค่าเหล่านี้ กลับมาเป็นบันไดให้คนชั้นกลางสามารถขยับฐานะทางสังคมของตนให้สูงขึ้น เมื่อความมั่งคั่งไม่ถูกผูกขาดจากจารีตเดิมในเรื่องสายเลือดหรือวงศ์ตระกูลอีกต่อไป เพราะจารีตใหม่ที่เข้ามาแทนที่ภายในระบบทุนนิยม คือ ความสามารถในการประกอบอาชีพและหลักการให้รางวัลกับความสำเร็จของตัวบุคคล (Meritocracy)

การเติบโตของระบบทุนนิยมจึงทำให้เกิดการขยายตัวของคนชั้นกลางกลุ่มใหม่หรือมนุษย์เงินเดือน และเกิดกระบวนการ “ทำให้เป็นคนชั้นกลาง” ขึ้น เมื่อวัฒนธรรมของคนชั้นกลางกลุ่มนี้ได้กลายเป็นวัฒนธรรมหลักของสังคม ไม่ว่าจะเป็นการยึดมั่นในหลักการเรื่องสิทธิเสรีภาพ มีความเป็นปัจเจกสูงและเชื่อมั่นในคุณค่าจากการทำงาน นักวิชาการฝรั่งยังเชื่อว่าคนชั้นกลางมักมีความคิดเห็นไปในทางโอนอ่อนต่อระบบ (conformist) เมื่อคนชั้นกลางต้องการเลื่อนชั้นทางสังคมจึงจำเป็นต้องวางตัวกลมกลืนกับบรรทัดฐาน นอกจากนี้ การพยายามสร้างรสนิยมเฉพาะของตนโดยคนชั้นกลางในระดับบน เพื่อแยกตัวเองออกจากคนส่วนใหญ่ (คือ คนชั้นกลางระดับกลางและล่าง) และการลอกเลียนรสนิยมของคนชนชั้นสูงกว่า ก็ทำให้เกิดแนวโน้มของปัญหาบริโภคนิยมและวัตถุนิยมในสังคมทุนนิยมรุนแรงขึ้น

แน่นอนว่าคนชั้นกลางไทยไม่ได้มีลักษณะตามที่ว่ามาทั้งหมด คนชั้นกลางไทยที่ปรับตัวได้เร็วและอยู่ในฐานะที่สามารถเชื่อมโยงกับระบบทุนนิยมโลกได้สะดวกเท่านั้นที่สามารถรับเอาอุดมการณ์เรื่องเสรีภาพทางการเมือง เศรษฐกิจ ความโปร่งใสและประสิทธิภาพมาเป็นวัฒนธรรมหลักของตน (โดยผ่านระบบการศึกษา สื่อและกลไกของรัฐ) ขณะที่ชนชั้นกลางบางส่วนและชนชั้นแรงงานยังระแวดระวังกับอุดมการณ์ทันสมัยเหล่านี้

ผมอยากจะตั้งข้อสังเกตว่ากระบวนการที่เรากำลังพูดถึงอยู่นี้มีความซับซ้อนมากเพราะมีพลวัตรในตัวเองสูง ประกอบกับสังคมไทยก็เต็มไปด้วยความขัดแย้ง/ไม่ต่อเนื่องภายใน เช่นความลักลั่นของการพัฒนาระหว่างเมืองและชนบท รวมทั้งยังปรากฏซากเก่าจากสังคมจารีตที่ถึงแม้จะกระจุกตัวลงแต่ยังคงมีอิทธิพลอยู่ เช่น ลำดับชั้นที่ตายตัว (hierarchy), สิทธิโดยกำเนิดหรือโดยสายเลือดที่เหลืออยู่ (แม้จะถูกแทนที่ด้วยสิทธิทางการศึกษา หรือในบางกรณีสิทธิทั้งสองเข้ามาประกอบกัน) ฯลฯ ปัจจัยเหล่านี้ล้วนมีส่วนทำให้ชนชั้นกลางไทยมีลักษณะเฉพาะตัวและความซับซ้อนมากยิ่งขึ้น

ถึงแม้จะไม่สามารถสร้างแบบจำลองที่ซับซ้อนในบทความนี้ได้ แต่ก็จะขอกล่าวถึงความสัมพันธ์ระหว่างวิกฤตการเมืองกับคนชั้นกลางไทยอย่างคร่าวๆ ดังนี้ ผมเชื่อว่าวิกฤตที่กำลังเกิดขึ้นในสังคมไทย เป็นผลมาจากความขัดแย้ง 2 ลักษณะคือ หนึ่ง การปะทะกันของอุดมการณ์ภายในและระหว่างชนชั้น (อันนี้มีนักวิชาการหลายคนได้พูดแล้ว) สอง ความสับสนหรือวิกฤตศรัทธาของคนชั้นกลางต่ออุดมการณ์สมัยใหม่ ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลโดยตรงจากความไม่ต่อเนื่องและไร้ทิศทางของรัฐและสื่อ ขณะที่อีกส่วนหนึ่งเป็นผลโดยอ้อมจากธรรมชาติหรือวัฒนธรรมของคนชั้นกลางเอง

ประการแรก ลักษณะสองมาตรฐานในสังคมไทย ทั้งในแนวดิ่งและในแนวราบ ได้ทำให้คนชั้นกลางที่มีจำนวนมากต้องเผชิญกับความขัดแย้งแบ่งแยกอย่างหนัก ไม่ว่าคนชั้นกลางกลุ่มนี้จะรับเอาอุดมการณ์สมัยใหม่โดยเชื่อว่าเป็นสัญลักษณ์ของการพัฒนาหรือจงใจสร้างความแตกต่างจากคนกลุ่มอื่น คือจากทั้งคนรุ่นเก่าและคนรุ่นเดียวกันก็ตาม (จะสังเกตว่ามีทั้งมิติของเวลาและสถานที่เข้ามาเกี่ยวข้อง) แต่อุดมการณ์สมัยใหม่ของคนชั้นกลางกลุ่มนี้ก็ปะทะขัดแย้งกับอุดมการณ์อื่นของคนชั้นกลางด้วยกัน รวมทั้งขัดแย้งกับอุดมการณ์ของชนชั้นอื่น ที่ยังไม่ยอมเชื่อใจความสมัยใหม่และการพัฒนาในทุกแง่มุม

ประการที่สอง ความขัดแย้งเกิดขึ้นภายในความคิดของคนชั้นกลางสมัยใหม่เอง เมื่อคนชั้นกลางคนเดียวกันนี้ต้องประสบกับการเปลี่ยนแปลงทิศทางของอุดมการณ์หลักของสังคมอย่างกลับหลังหันหลายต่อหลายครั้ง นับตั้งแต่รัฐธรรมนูญปี 2540, การเข้ามาสู่อำนาจของพรรคไทยรักไทย, การเชิดชูระบอบทักษิณ, การรัฐประหาร 19 กันยา, การเปลี่ยนรัฐธรรมนูญและโครงสร้างการเมือง, การโค่นล้มระบอบทักษิณ, การกลับมาของพรรคพลังประชาชน, การชูอุดมการณ์ราชาชาตินิยม, การเมืองใหม่ของพธม ฯลฯ ต้องยอมรับว่าภายในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา รัฐไทยและสื่อกระแสหลักได้สร้างภาวะแห่งความสับสนและวิกฤตศรัทธาต่ออุดมการณ์ของสังคมอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ เมื่อคนชั้นกลางไทยส่วนใหญ่ไม่เคยตั้งคำถามกับสิ่งต่างๆ และแสดงบทเป็นผู้รับอยู่เสมอ การยึดถือรัฐและสื่อเป็นสรณะก็ยิ่งทำให้ความสับสนทวีคูณมากยิ่งขึ้น

สุดท้ายแล้ว เมื่อมนุษย์และสังคม ต่างไม่ได้เป็นทั้งตัวแปรต้นและตัวแปรตามของสมการ เพราะต่างกำหนดซึ่งกันและกันอย่างไม่สิ้นสุด ความสับสนของคนชั้นกลางจึงอาจเป็นเพียงภาพสะท้อนความสับสนของสังคมไทยที่กำลังเกิดขึ้นในปัจจุบัน

หมายเหตุ
[1] การปรับระบบการเมือง ตอน 1 และ 2, มติชนรายวัน, วันที่ 25 และ 31 สิงหาคม พ.ศ. 2551
[2] C. Wright Mills. White Collar: The American Middle Classes. Oxford University Press. 1951
[3] ข้อมูลดัดแปลงจากตารางที่ 11.2 หน้า 460 ในผาสุก พงษ์ไพจิตรและคริส เบเกอร์, เศรษฐกิจการเมืองไทยสมัยกรุงเทพฯ ฉบับเพิ่มเติมและปรับปรุงใหม่

ความคิดเห็น

Isriya กล่าวว่า
สวัสดีครับ ผมเขียนบล็อกตอบบล็อกอันนี้ของคุณไว้ที่นี่ครับ

http://www.isriya.com/node/2218
ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า
ขอบคุณมากเลยนะครับ สำหรับบทความ

บทความที่ได้รับความนิยม