วิกฤตเศรษฐกิจกับแรงงานไทย

ถึงแม้ประเด็นการเลิกจ้างคนงานจะถูกพูดถึงมากขึ้นตามสื่อต่างๆ ในขณะนี้ แต่ข้อมูลที่ปรากฎส่วนใหญ่ยังสะท้อนมุมมองแบบราชการที่ยึดติดอยู่กับตัวเลขเชิงมหภาคและให้ความสำคัญกับข้อห่วงใยจากภาคธุรกิจหรือฝ่ายผู้ประกอบการ แต่ละเลยสภาพปัญหาและความต้องการของแรงงานผู้ได้รับผลกระทบโดยตรงอีกกลุ่มหนึ่ง

ในมุมมองของคนงานจำนวนไม่น้อย การโหมกระแสข่าววิกฤตเศรษฐกิจโดยสื่อกระแสหลักอย่างต่อเนื่อง (แต่ผิวเผินและฉาบฉวย) กลับทำให้ข่าวการเลิกจ้างกลายเป็นเรื่อง “พอเข้าใจได้” ในสามัญสำนึกของคนทั่วไป และกลายเป็นข้ออ้างให้กับนายจ้างสามารถลดคนงานหรือเลิกจ้างเพื่อ “เพลย์เซฟ” ในระยะไม่ปลอดภัย

ในอีกมุมหนึ่ง ข้อโต้แย้งของฝ่ายนายจ้างอาจฟังดูมีน้ำหนัก เมื่อกล่าวว่าไม่มีใครต้องการประสบปัญหาจนกระทั่งต้องปิดกิจการ รวมทั้งสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นกับคนงานนั้นเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ อย่างไรก็ตาม แนวโน้มที่กำลังเกิดขึ้นในช่วงครึ่งหลังปี 2551 กลับแสดงให้เห็นว่าโรงงานหลายแห่งกำลังอ้างเหตุผลในเรื่องวิกฤตเศรษฐกิจเพื่อนำมาตรการบางอย่างที่กฏหมายเปิดช่องให้ มาใช้เพื่อรักษากิจการของตนบนผลประโยชน์ของคนงาน

เช่น กรณีที่นายจ้างจำนวนมากใช้ประโยชน์จากกฎหมายคุ้มครองแรงงานมาตรา 75 ที่เปิดโอกาสให้นายจ้างสามารถหยุดกิจการชั่วคราวได้ โดยไม่ต้องจ่ายค่าแรงให้กับคนงานเต็มจำนวน

กฎหมายคุ้มครองแรงงาน มาตรา 75 ตาม พ.ร.บ. แก้ไขฯ ฉบับที่ 2 พ.ศ. 2551 กำหนดให้นายจ้างที่มีความจำเป็นต้องหยุดกิจการทั้งหมดหรือบางส่วนเป็นการชั่วคราว ต้องจ่ายเงินให้กับลูกจ้างไม่น้อยกว่าร้อยละ 75 ของค่าจ้างตลอดระยะเวลาที่นายจ้างมิได้ให้ลูกจ้างทำงาน และจะต้องทำการแจ้งให้ลูกจ้างและพนักงานตรวจทราบล่วงหน้าไม่น้อยกว่า 3 วันทำการ

ในทางปฏิบัติ นายจ้างจำนวนมากให้คนงานบางคนหรือบางกลุ่มหยุดงานชั่วคราวอย่างสม่ำเสมอ โดยละเลยข้อกำหนดต่างๆ โดยเฉพาะการขออนุญาตจากเจ้าหน้าที่ หรือในบางกรณี ก็ขอร้องให้คนงานตกลงหยุดงานชั่วคราวในลักษณะสมัครใจเพื่อแลกเปลี่ยนกับการจ่ายค่าชดเชยให้ แต่ต่ำกว่าที่กฏหมายกำหนด (เช่น เสนอว่าจะจ่ายให้ 50 เปอร์เซ็นต์ของค่าแรง) โดยให้เหตุผลว่าเศรษฐกิจไม่ดี ถ้าไม่ช่วยกันโรงงานก็อาจอยู่ไม่รอด

ข้อสังเกตุของผมก็คือ เจตนารมณ์ของผู้ร่างกฎหมายฯ คงไม่ได้ต้องการให้ฝ่ายนายจ้างใช้มาตรา 75 เป็นเครื่องมือในการผ่อนปรนภาระต้นทุนเนื่องมาจากปัญหาเศรษฐกิจตกต่ำอย่างแน่นอน การใช้วิธีการนี้จึงน่าจะเข้าข่ายละเมิดสิทธิของคนงาน

นอกจากเรื่องการใช้วิธีการตามมาตรา 75 แล้ว ฝ่ายแรงงานเองยังได้แสดงความวิตกต่อพฤติการณ์อีกหลายลักษณะของนายจ้างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อนเช่น การคัดคนงานออกโดยไม่ชี้แจงหลักเกณฑ์ให้ทราบ การเลิกจ้างที่พุ่งเป้าไปที่กรรมการลูกจ้างหรือกรรมการสหภาพ รวมทั้งการพยายามโยกย้ายการผลิตออกไปจ้างเหมาช่วง เนื่องจากแรงงานเหมาช่วงเป็นกลุ่มที่ไม่มีอำนาจต่อรอง เพราะไม่ถือว่าเป็นพนักงานของบริษัทจึงไม่ได้รับสวัสดิการตามกฏหมาย

อาจกล่าวได้ว่ากระแส “ความเชื่อมั่น” ว่าเศรษฐกิจไทยจะซบเซาอย่างหนักในปีหน้าได้กลายเป็นปัจจัยหลักที่เอื้อให้แรงงานสุ่มเสี่ยงต่อการถูกละเมิดสิทธิมากยิ่งขึ้น

สำหรับขบวนการแรงงานเอง ปัญหาที่น่าวิตกกังวลอีกประการคือ คนงานส่วนใหญ่โดยเฉพาะในโรงงานที่ไม่มีสหภาพแรงงานหรือที่ไม่ได้เป็นสมาชิกของสหภาพฯ ยังขาดความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับสิทธิที่ตนควรได้รับจากนายจ้างเมื่อถูกเลิกจ้าง

ในสภาพเศรษฐกิจและบรรยากาศเช่นปัจจุบันนี้ จึงถือว่าแรงงานตกอยู่ในสภาวะที่เปราะบางและไร้ความมั่นคงอย่างสูง ยิ่งไปกว่านั้น อำนาจต่อรองของฝ่ายแรงงานที่มีไม่มากอยู่แล้ว กลับลดลงและแทบสูญเสียความสามารถในต่อสู้เรียกร้องสิทธิไปอย่างสิ้นเชิงเมื่อเกิดข้อพิพาทด้านแรงงานขึ้น เพราะการณ์กลับปรากฏว่ากระบวนการไต่สวนของศาลแรงงานกลับยืดเยื้อยาวนานหลายปีจนคนงานไม่สามารถแบกรับต้นทุนของเวลาและค่าใช้จ่ายได้ ข้อเท็จจริงนี้กลับกลายเป็นผลดีกับฝ่ายนายจ้างและอาจเป็นแรงจูงใจให้นายจ้างเลือกที่จะฝ่าฝืนกฏหมายแรงงาน

ดังนั้น สังคมโดยเฉพาะอย่างยิ่ง ภาคส่วนที่มีบทบาทเกี่ยวข้องโดยตรงอย่างหน่วยงานของรัฐ สื่อมวลชนและขบวนการแรงงานเองจะต้องช่วยกันสอดส่องดูแลการเลิกจ้างที่กำลังเกิดขึ้น เพื่อไม่ให้เกิดการเอาเปรียบคนงานอย่างที่ฝ่ายแรงงานกำลังหวาดวิตก

เจ้าหน้าที่ของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจะต้องข้ามให้พ้นจากกรอบความคิดแบบสำเร็จรูปที่ถูกเสนอตามหน้าหนังสือพิมพ์ และจะต้องพิจารณากรณีการเลิกจ้างเป็นรายกรณี ไม่ยึดติดอยู่กับตัวเลขในลักษณะมหภาคที่ไม่ได้สะท้อนความเป็นจริงในระดับคนงาน

ส่วนนักข่าวที่ตั้งใจดีและพยายามจะเสนอข่าวคนงานถูกเลิกจ้าง ก็จะต้องไปไกลเกินกว่าการเสนอข่าวแบบ “วงเวียนชีวิต” ที่เน้นสะท้อนภาพความทุกข์ยากของคนงานเพียงคนเดียวหรือครอบครัวเดียวและผู้บริโภคสื่อก็ไม่ได้เข้าใจต้นตอของปัญหาอย่างแท้จริง สื่อจะต้องหันมาเพิ่มบทบาทการให้ความรู้กับแรงงานเรื่องสิทธิ สะท้อนปัญหาเชิงโครงสร้างหรือเชิงระบบให้สังคมรับทราบ รวมทั้งเป็นกระบอกเสียงให้กับแรงงานเพื่อผลักดันข้อเรียกร้องเชิงนโยบายไปสู่รัฐบาล

สุดท้าย ขบวนการแรงงานเช่นสหภาพแรงงานในโรงงานต่างๆ จะต้องเป็นกำลังสำคัญเพื่อสอดส่องติดตามการเลิกจ้างในโรงงานของสมาชิกอย่างใกล้ชิด ในเบื้องต้น สหภาพจะเป็นผู้ตรวจสอบที่ดีเยี่ยมว่านายจ้างได้ปฏิบัติตามขั้นตอนที่กฎหมายกำหนดหรือไม่ นอกจากนี้ สหภาพจะต้องมีบทบาทสำคัญในการให้ความรู้กับสมาชิกคนงานเกี่ยวกับสิทธิและการปฏิบัติที่ตนพึงได้รับจากนายจ้าง

ที่สำคัญที่สุด การรวมตัวเชื่อมโยงเครือข่ายระหว่างสหภาพแรงงานจะช่วยสร้างอำนาจต่อรองและทำให้การผลักดันข้อเรียกร้องในระดับนโยบายเข้มแข็งมากขึ้น อย่างน้อยวันนี้ เราก็รู้แล้วว่าหน้าตาของรัฐบาลเป็นอย่างไรและจะต้องต่อรองกับใคร

--------------------------------------------------------------------------
ตีพิมพ์ในคอลัมน์ "มุมมองบ้านสามย่าน" กรุงเทพธุรกิจ 1 มกราคม 2552

ความคิดเห็น

บทความที่ได้รับความนิยม