โรฮิงญา แรงงานข้ามชาติ การพัฒนาเศรษฐกิจและความมั่นคง

ประเด็นผู้ลี้ภัยชาวโรฮิงญาที่เป็นกระแสขึ้นมาพักใหญ่หลังจากการเปิดเผยของสำนักข่าวบีบีซีเมื่อประมาณกลางเดือนมกราคมที่ผ่านมานั้น มักถูกพูดถึงในบริบทของ “ความมั่นคง” หรือสิทธิมนุษยชนเท่านั้น ทั้งที่ประเด็นนี้เกี่ยวพันกับมิติทางเศรษฐกิจและการเมืองด้วยอย่างมาก

ที่กล่าวว่าเกี่ยวพันกับมิติทางเศรษฐกิจและการเมือง เพราะการเพิ่มขึ้นของผู้อพยพทางเรือที่เราเรียกว่ามนุษย์เรือ (Boat People) โรฮิงญาในช่วงสองถึงสามปีที่ผ่านมาส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการขยายตัวของการค้ามนุษย์หรือขบวนการลักลอบขนส่งแรงงานข้ามพรมแดนเพื่อนำไปขายเป็นแรงงานราคาถูก

หากพิจารณาอย่างไม่แยกส่วน ในกรณีของโรฮิงญา ปัจจัยทางเศรษฐกิจถือเป็นเพียงหน้าหนึ่งของเหรียญ ขณะที่อีกหน้าหนึ่งคือปัจจัยทางการเมืองและสังคมที่ผลักดันประชาชนเหล่านี้ให้ออกจากถิ่นที่อยู่ ไม่ว่าจะเป็นสงคราม สภาพความเป็นอยู่ที่ยากไร้ รวมทั้งการถูกละเมิดสิทธิมนุษยชน ซึ่งในกรณีของชาวโรฮิงญา ชนกลุ่มน้อยเชื้อสายอาระกันที่นับถือศาสนาอิสลามเหล่านี้ถูกจำกัดสิทธิในการเดินทาง นับถือศาสนาและสิทธิในการประกอบอาชีพโดยอิสระ (โดยถูกยึดที่ดิน) รวมทั้งตกเป็นเหยื่อของการกดขี่และข่มเหงอย่างไร้มนุษยธรรม ขณะที่ปัจจัยทางภูมิศาสตร์การเมือง (Geopolitics) และวัฒนธรรมก็เข้ามามีส่วนกำหนดทิศทางการเคลื่อนย้ายของผู้ลี้ภัยชาวโรฮิงญา กล่าวคือ มักจะเดินทางไปประเทศที่มีเศรษฐกิจดี มีการจ้างงานและมีสภาพสังคมที่ค่อนข้างเปิดกว้างและเอื้อให้คนเหล่านี้สามารถดำรงวัฒนธรรม ประเพณีและความเชื่อเดิมโดยไม่ถูกกดทับหรือกีดกันอย่างรุนแรงเหมือนในพม่า เมื่อประกอบกับระยะทางที่ไม่ไกลนัก ประเทศอย่างมาเลเซียและไทยจึงกลายเป็นจุดหมายที่พึงปรารถนาสำหรับชาวโรฮิงญา

ในที่นี้ ผมอยากจะพูดถึงกรณีโรฮิงญาในบริบททางเศรษฐศาสตร์การเมือง ซึ่งจะขอเน้นประเด็นแรงงานข้ามชาติและความสัมพันธ์กับปัจจัยทางเศรษฐกิจและการเมืองอย่างเช่น ความต้องการแรงงานราคาถูกภายในประเทศ นโยบายเศรษฐกิจของรัฐ รวมทั้งท่าทีของรัฐและทุนต่อแรงงานข้ามชาติ โดยอยากจะเริ่มต้นทำความเข้าใจเป็นลำดับแรกว่า แรงงานข้ามชาติเป็นปรากฏการณ์ข้ามพรมแดนที่แต่ละประเทศเป็นเพียงส่วนประกอบหนึ่งของระบบที่ใหญ่กว่าและความเข้าใจต่อปัญหานี้มักถูกจำกัดอยู่ในแง่มุมที่แต่ละประเทศเข้าไปเกี่ยวข้องเท่านั้น

ในกรณีของประเทศไทย ซึ่งถือว่าเป็นประเทศผู้รับแรงงานข้ามชาติ (receiving country) ปัจจัยผลักดันหรือแรงถีบจากภายในประเทศเพื่อนบ้าน (เช่นกรณีของพม่า) ประกอบกับปัจจัยดึงดูดในประเทศไทยเองทำให้แรงงานเหล่านี้ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นชนกลุ่มน้อยที่ด้อยโอกาสหรือได้รับการปฏิบัติในประเทศตนอย่างไม่เป็นธรรม เลือกเดินทางมาเพื่อหางานทำ นอกจากนี้ การที่ระบบเศรษฐกิจไทยพัฒนาบนฐานของการผลิตเพื่อส่งออก โดยเน้นความสามารถในการแข่งขันที่เกิดจากค่าแรงราคาถูก ก็ยิ่งทำให้แรงงานเหล่านี้ถูกดึงดูดเข้ามามากขึ้น โดยเฉพาะเมื่อการขยายตัวของเศรษฐกิจของจีนและเวียดนามและการเชื่อมโยงของตลาดผ่านโลกาภิวัฒน์ทางเศรษฐกิจทำให้การแข่งขันรุนแรงขึ้น

อย่าลืมนะครับว่าการจ้างงานคงไม่สามารถเกิดขึ้นได้ หากอุปสงค์และอุปทานไม่มาพบกัน ดังนั้น แนวคิดและวิธีการจัดการกับปัญหาแรงงานข้ามชาติโดยตั้งสมมติฐานว่าฝ่ายแรงงานเป็นฝ่ายผิดและต้องรับผิดชอบเพียงฝั่งเดียวนั้นออกจะดูตาชั่งเอียงไปซักหน่อย

ถึงแม้บางคนอาจจะอยากปฏิเสธว่าแรงงานข้ามชาติเหล่านี้ไม่ได้เข้าไปมีส่วนร่วมในระบบการผลิตอุตสาหกรรมอย่างจริงจัง และเกือบทั้งหมดยังกระจุกตัวอยู่ในภาคการผลิตที่เน้นแรงงานมากกว่าทุน แต่ก็ต้องยอมรับว่าการจ้างแรงงานข้ามชาติราคาถูกในภาคการจ้างงานที่ไม่เป็นแบบแผน (non-traditional employment) เช่น รับจ้างทำงานบ้าน หรือก่อสร้างและประมงนั้น ล้วนเกิดจากความพยายามที่จะลดต้นทุนของการผลิตสินค้าอุปโภคบริโภค เช่น บริการขั้นพื้นฐาน ที่อยู่อาศัยและอาหาร ซึ่งมีผลช่วยฉุดรั้งไม่ให้ค่าครองชีพและราคาสินค้าพื้นฐานซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของต้นทุนการผลิตสินค้าอุตสาหกรรมพุ่งสูงขึ้น และช่วยไม่ให้ความสามารถในการแข่งขันในตลาดโลกของประเทศไทยลดลง

ดังนั้น พูดอย่างซื่อสัตย์กับตัวเองที่สุดแล้ว ในว่าเราจะเป็นผู้บริโภคที่ต้องการสินค้าคุณภาพดี (แต่ราคาถูก) เป็นเจ้าของบ้านที่ต้องการแรงงานราคาถูกทำงานบ้าน (รวมทั้งไม่เรื่องมากและไม่มีปากเสียง) หรือเป็นผู้ผลิตที่ต้องการลดต้นทุนการผลิตโดยจ้างแรงงานที่สามารถจ่ายค่าแรงเท่ากับ (หรือต่ำกว่า) ค่าแรงขั้นต่ำได้ เราทุกคนล้วนมีส่วนสนับสนันให้เกิดแม่เหล็กขนาดใหญ่ดึงดูดแรงงานข้ามชาติเข้ามาในประเทศทั้งนั้น ไม่มากก็น้อย เราจึงไม่อาจปฏิเสธความรับผิดชอบต่อชะตากรรมของพี่น้องแรงงานข้ามชาติ อย่างเช่นชาวโรฮิงญาที่ต้องเผชิญยถากรรมในการเดินทาง 15 วันกลางทะเลโดยเรือเก่าๆ ขนาดเล็กและยอมแลกชีวิตเพื่อให้ได้มาซึ่งงานที่ได้รับค่าแรงต่ำว่าค่าจ้างขั้นต่ำ

ดังนั้น ในการจัดการกับปัญหาเรื่องโรฮิงญา รวมทั้งแรงงานข้ามชาติกลุ่มอื่นๆ จึงไม่อาจพิจารณาเพียงมิติของความมั่นคงของชาติ ซึ่งคับแคบและละเลยความเป็นมนุษย์ของผู้ลี้ภัยกลุ่มต่างๆ เพราะประเด็นนี้สลับซับซ้อนและมีมิติหลากหลายซ้อนทับกันตามที่ได้เรียนไปแล้ว นอกจากนี้ หากเราตระหนักว่าเราทุกคนมีส่วนก่อให้เกิดปัญหานี้ไม่ทางตรงก็ทางอ้อม ทัศนคติของคนไทยรวมทั้งท่าทีของรัฐบาลไทยในการจัดการกับปัญหาแรงงานข้ามชาติจึงควรถูกทบทวน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง แนวคิดเรื่อง “ความมั่นคง” จะต้องถูกรื้อใหม่ เพราะไม่ได้ช่วยให้สามารถจัดการกับปัญหาที่ต้นตอแต่อย่างใด ซ้ำร้ายยังทับถมและสร้างปัญหาใหม่ให้เกิดขึ้น ทั้งนี้ รัฐไทยจะต้องหันมายึดถือหลักการ “ความมั่นคงของมนุษย์” ซึ่งยึดถือเอาคนไม่ว่าจะเชื้อชาติเผ่าพันธุ์ใดเป็นตัวตั้งแทน

ความมั่นคงของมนุษย์จะเป็นพื้นฐานของความมั่นคงในทุกระดับ ไม่ว่าจะเป็นระดับชุมชน ชาติหรือภูมิภาค เพราะความมั่นคงของมนุษย์ครอบคุมถึงทุกมิติ ทั้งการมีงานทำ มีอาหารที่สะอาดและเพียงพอ มีสุขภาพแข็งแรง มีสภาพแวดล้อมที่ดี มีสังคมที่สงบสุขและอยู่ในระบบการเมืองที่สร้างสรรค์ การใช้แนวคิดเรื่องความมั่นคงของมนุษย์เป็นพื้นฐานในการพัฒนาจึงเหมาะสมกับสังคมไทยในปัจจุบันที่เต็มไปด้วยความขัดแย้งและความเหลื่อมล้ำเป็นอย่างยิ่ง

หากรัฐไทยไม่รู้จริงๆ ว่าจะเริ่มต้นอย่างไรในการเปลี่ยนแปลงกระบวนทัศน์การพัฒนาและจัดการกับปัญหาแรงงานข้ามชาติโดยใช้แนวคิดเรื่องความมั่นคงของมนุษย์ ผมอยากขอให้เริ่มต้นจากการพึงระลึกไว้เสมอว่ารัฐและสังคมมีหน้าที่ส่งเสริมและรักษา โดยไม่แบ่งแยกและเลือกปฏิบัติ ให้สมาชิกทุกคนเป็นอิสระจากภัยคุกคามพื้นฐานสองประการ คือ “อิสระจากความกลัว” เช่น อันตรายจากความรุนแรงหรือสงครามและ “อิสระจากความต้องการ” เช่น ความหิวโหย ขาดการเข้าถึงการศึกษาและทรัพยากร ซึ่งเป็นหลักการพื้นฐานที่สุดของการพัฒนาที่เคารพมิติของความเป็นมนุษย์

หากเจ้าหน้าที่ของรัฐไทยพึงระลึกและปฏิบัติได้ตามที่ว่านี้แล้ว ก็ไม่ต้องกลัวจะถูกใครครหาเรื่องละเมิดสิทธิมนุษยชนเลยละครับ
------------------------------------------------------------------

บทความโดยเกรียงศักดิ์ ธีระโกวิทขจร ตีพิมพ์ในคอลัมน์ "มุมมองบ้านสามย่าน" นสพ.กรุงเทพธุรกิจ วันพฤหัสบดีที่ 12 กุมภาพันธ์ครับ

ความคิดเห็น

บทความที่ได้รับความนิยม