โลกใหม่ ทุนนิยมใหม่?

ภาวะเศรษฐกิจตกต่ำทั่วโลกตั้งแต่ปลายปีที่ผ่านมาทำให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ระบบทุนนิยม โดยเฉพาะระบบทุนนิยมเสรีแบบอเมริกันอย่างรุนแรง ทั้งจากกลุ่มนักวิชาการและผู้กำหนดนโยบายทั่วโลก

เกือบทุกเวทีของการประชุมระดับผู้นำ จะต้องปรากฏข้อเรียกร้องให้มีการทบทวนและถอดบทเรียนจากระบบการเงินที่ล้มเหลวในการควบคุมตรวจสอบการให้สินเชื่อ การเก็งกำไรและการจัดการความเสี่ยง

ผู้นำประเทศอุตสาหกรรมบางคนถึงกับเรียกร้องให้มีการปฏิวัติทางความคิดเกี่ยวกับระบบทุนนิยมอย่างถึงราก ตัวอย่างที่สำคัญคือประธานาธิบดีนิโกลา ซาร์โกซีของฝรั่งเศส ซึ่งได้ประกาศอย่างท้าทายในระหว่างการประชุม “โลกใหม่, ทุนนิยมใหม่ (New World, New Capitalism)” ที่ปารีสเมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมาว่า “ทุนนิยมเสรี (laisser-faire capitalism) ได้ตายไปแล้ว!”

การประชุมชื่อเต็มว่า โลกใหม่, ทุนนิยมใหม่: คุณค่า การพัฒนาและการกำหนดกฎเกณฑ์ (New World, New Capitalism: Values, Development and Regulation) เกิดจากความคิดริเริ่มของประธานาธิบดีซาร์โกซีและอดีตนายกรัฐมนตรีโทนี แบลร์ของอังกฤษที่ต้องการช่วงชิงฐานะผู้กำหนดวาทกรรมเกี่ยวกับแบบจำลองที่ควรจะเป็น ของระบบเศรษฐกิจโลก (global economy) ซึ่งถูกผูกขาดโดยสหรัฐฯมาเป็นเวลานาน

ในการประชุมดังกล่าว ประเด็นเกี่ยวกับทุนนิยม “เก่า” และ “ใหม่” จึงกลายเป็นหัวใจหลักในการสนทนาซึ่งเน้นหนักไปที่ผลกระทบเชิงลบของโลกาภิวัฒน์ (เช่น ความเหลื่อมล้ำและขาดเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ) วิกฤตภาคการเงินซึ่งเป็นผลจากธรรมชาติของระบบทุนนิยมอเมริกันที่ถือกำไรระยะสั้นเป็นแรงจูงใจและมีระบบควบคุมตรวจสอบ (governance) การดำเนินธุรกิจที่บกพร่อง

ทั้งนี้ ยังมีข้อเสนอให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในระดับกรอบความคิด เพื่อก้าวออกจากทุนนิยมที่กำลังครอบงำเศรษฐกิจโลกไปสู่ทุนนิยมที่มี “จริยธรรม” นั่นคือระบบเศรษฐกิจซึ่งรัฐและธุรกิจมีจิตสำนึกและรับผิดชอบต่อสังคม รวมทั้งเคารพข้อจำกัดด้านสิ่งแวดล้อม

ในเอกสารกำหนดประเด็นการสนทนาซึ่งเตรียมโดยสถาบันวิเคราะห์เชิงยุทธศาสตร์ของฝรั่งเศส (Centre d’analyse stratégique) ยังได้อ้างถึงทฤษฎีเศรษฐศาสตร์ที่เสนอให้นำกลไกเชิงสถาบันที่นอกเหนือจากกลไกตลาด เช่น กลไกการรวมกลุ่มต่อรองทางสังคมมาช่วยจัดสรรทรัพยากรและแทรกแซงให้เกิดสังคมที่เสมอภาคยิ่งขึ้น

แนวทางที่ถูกหยิบยกขึ้นมาหารือเพื่อเป็นทางเลือก จึงไม่ใช่แค่แนวนโยบายแบบเคนส์เซียน (Keynesianism) ที่เราคุ้นเคย ซึ่งเสนอเพียงให้รัฐแสดงบทบาทนำในการกระตุ้นเศรษฐกิจโดยผ่านการใช้จ่าย เพื่อแก้ปัญหาการว่างงานในภาวะที่เศรษฐกิจชะลอตัวหรือตกต่ำ แต่เป็นการปรับเปลี่ยนกระบวนทัศน์เรื่องการพัฒนา โดยเสนอให้นำตัวแปรเช่น “Capabilities” (ขีดความสามารถ: ผู้เขียน) มาใช้เป็นดัชนีวัดทั้งรายได้และความเป็นอยู่ของคนแทนรายได้ประชาชาติต่อหัวของประชากร

ทั้งนี้ “ขีดความสามารถ (capabilities)” เป็นหนึ่งในตัวแปรที่ได้รับการเสนอจากอมาตยา เซ็น (Amartya Sen) นักเศรษฐศาสตร์รางวัลโนเบลตั้งแต่สิบปีที่แล้วและได้รับการพัฒนาขึ้นเป็นลำดับ จนเป็นที่รู้จักในฐานะกรอบความคิดใหม่ที่เรียกว่า Capabilities Approach

เซ็นอธิบายว่าขีดความสามารถ (capabilities) สะท้อนถึงความสามารถของบุคคลที่จะดำเนินกิจกรรมต่างๆ ซึ่งบุคคลนั้นปรารถนาที่จะทำหรือจะเป็น (things that a person may value doing or being) โดยครอบคลุมตั้งแต่ความจำเป็นพื้นฐานในชีวิตประจำวัน เช่น ได้บริโภคอาหารที่ถูกสุขลักษณะหรือได้อุปโภคเสื้อผ้าและเครื่องนุ่งห่มที่สะอาด ไปจนถึงการทำกิจกรรม/ดำรงสถานะ/อยู่ในสภาวะที่ซับซ้อนมากขึ้น เช่น มีส่วนร่วมในกิจกรรมทางการเมือง เป็นต้น

ในบทความล่าสุดของเซ็นเกี่ยวกับระบบทุนนิยมและวิกฤต ที่ชื่อว่า Capitalism Beyond the Crisis (25 กุมภาพันธ์ 2552, เผยแพร่ใน New York Review of Books, 26 มีนาคม 2552) เซนได้ตั้งคำถามที่น่าสนใจอย่างยิ่งว่า จริงๆ แล้ว สิ่งที่เราต้องการในขณะนี้ คือระบบทุนนิยม “ใหม่” ที่มีรูปแบบและวิธีการทำงานแตกต่างไปจากเดิมหรือว่าระบบเศรษฐกิจที่มีความยืดหยุ่น หลากหลายและเคารพระบบคุณค่าทางสังคมและสถาบันที่แตกต่างกันไปในแต่ละสังคมกันแน่

เซ็นกล่าวว่าวิกฤตเศรษฐกิจคราวนี้ทำให้เราหวนกลับมาตั้งคำถามตัวเองเกี่ยวกับเศรษฐศาสตร์ที่เราต้องการ กล่าวคือ วิชาเศรษฐศาสตร์แบบไหนที่เราจะสามารถนำมาใช้เป็นเครื่องมือทำความเข้าใจวิกฤตเศรษฐกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพ สิ่งที่เราอาจต้องทำอันดับแรก คือประเมินเศรษฐศาสตร์ที่ถูกสอนและถูกใช้กันอยู่ในปัจจุบันในฐานะคู่มือชี้นำและกำหนดนโยบายเศรษฐกิจ

นอกจากนี้ เขายังพยายามชี้ให้เห็นว่าความเข้าใจที่ไม่แตกฉานในระบบตลาดและแยกแยะไม่ออกว่ากลไกตลาดนั้น “จำเป็น” หรือ “พอเพียง” ก็เป็นอีกปัญหาสำคัญซึ่งทำให้เกิดการตีความ “มือที่มองไม่เห็น” ของอดัม สมิท (Adam Smith) ผิดเพี้ยนไป

สำหรับเซ็นแล้ว อดัม สมิทคือนักเศรษฐศาสตร์คนสำคัญที่ชี้ให้เห็นว่า “ผลประโยชน์ส่วนบุคคล” สามารถทำงานได้อย่างน่าทึ่งเพียงใดในการจัดสรรทรัพยากรและเพิ่มความมั่งคั่งให้กับสังคมส่วนรวม และที่สำคัญ สมิทสนับสนุนกลไกตลาดในบริบทของสังคมเศรษฐกิจช่วงศตวรรษที่ 18 ซึ่งการค้าเสรีโดยเอกชน ที่ปราศจากการแทรกแซงจากรัฐ ได้ก่อให้เกิดผลได้ในแง่ของการปรับปรุงสภาพความเป็นอยู่ของประชากร ลดความยากจนและความอดอยากลงอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน อย่างไรก็ตาม พวกที่บูชาตลาดอย่างสุดโต่ง (market fundamentalists) มักจะกล่าวอ้าง “มือที่มองไม่เห็น” ของสมิทอย่างพร่ำเพรื่อ

นอกจากนี้ สิ่งที่นักเศรษฐศาสตร์ยุคหลังมักไม่ค่อยตระหนักเกี่ยวกับงานของอดัม สมิทก็คือ สมิทเห็นว่าตลาดและกลไกตลาดสามารถทำงานได้ดีก็เพียงในปริมณฑลทางเศรษฐกิจเท่านั้น สังคมที่พึงปรารถนายังคงต้องการการสนับสนุนจากสถาบันอื่น เช่น บริการสาธารณะ โรงเรียน ฯลฯ นอกจากนี้ ในงานเขียนหลายชิ้นของเขา สมิทได้ให้ความสำคัญกับคุณค่าอื่นๆ ที่ไม่ใช่กำไร ไม่ว่าจะเป็นความยุติธรรมและมนุษยธรรม

การอธิบายความคิดและความเชื่อของอดัม สมิทในบทความของเซ็น ทำให้เราเห็นว่าเศรษฐศาสตร์นั้นไม่ได้ขาดแคลนองค์ความรู้เกี่ยวกับทุนนิยมแม้แต่น้อย นอกจากนี้ นักเศรษฐศาสตร์ตั้งแต่ยุคของอดัม สมิทก็ได้เตือนให้เราตระหนักถึงข้อจำกัดของกลไกตลาดและระบบเศรษฐกิจที่พึ่งพาเพียงกลไกตลาดโดยลำพังมาเป็นเวลานานแล้ว

การพิจารณาถึง “โลกใหม่ ทุนนิยมใหม่” อาจไม่สำคัญเท่าไรนัก หากเราสามารถเข้าใจโลก “เก่า” ที่เรายืนอยู่ได้อย่างดีเพียงพอ คำถามที่ผมอยากจะเสนอให้เราพิจารณาดูก็คือ เป็นไปได้หรือไม่ว่าวิกฤตที่เรากำลังเผชิญอยู่นี้อาจมีสาเหตุสำคัญมาจากปัญหาเรื่อง “ความรู้ความเข้าใจ” ของเราเองต่อวิธีการทำงานของระบบทุนนิยมมากกว่าส่วนที่มาจากความบกพร่องที่เกิดขึ้นจากตัวระบบเอง

สุดท้ายแล้ว เราอาจตกใจระคนทึ่งหากได้ค้นพบว่าเราเข้าใจสิ่งที่เกิดขึ้นกับ “โลกเก่า ทุนนิยมเก่า” คลาดเคลื่อนไปมากแค่ไหน !

-------------------------------------------
กรุงเทพธุรกิจ หน้าทัศนะวิจารณ์ คอลัมน์มุมมองบ้านสามย่าน วันพฤหัสบดีที่ ๒๓ เมษายน ๒๕๕๒

ความคิดเห็น

บทความที่ได้รับความนิยม