"สิทธิชุมชน แปลว่า บ้านกู"

หลายคนคงจำได้ว่า เมื่อไม่นานมานี้หลังจากที่ศาลปกครองจังหวัดระยองได้ประกาศ ให้พื้นที่รอบนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด อันได้แก่ ตำบลเนินพระ ตำบลมาบข่า ตำบลทับมา ซึ่งตั้งอยู่ในอำเภอเมืองและตำบลบ้านฉาง ในอำเภอบ้านฉางเป็นเขตควบคุมมลพิษนั้น คำตัดสินดังกล่าวได้ก่อให้เกิดกระแสสนับสนุนและคัดค้านเป็นคลื่นสองระลอก คือ เกิดความปิติในกลุ่มผู้ได้รับผลกระทบโดยตรงจากมลพิษ กลุ่มต่อสู้เรียกร้องเพื่อสิทธิชุมชนและนักอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ก่อนจะตามมาด้วยกระแสคัดค้านของธุรกิจท่องเที่ยว ผู้ประกอบการในนิคมอุตสาหกรรม และกลุ่มทุนขนาดใหญ่

ในช่วงนั้น เสียงต่อต้านจากฝ่ายหลังดูเหมือนจะได้รับการประสานอย่างดีจากนักการเมือง-เจ้าของธุรกิจ ผู้บริหารบางคนของสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย โดยเฉพาะจากกลุ่มอุตสาหกรรมเหล็ก รวมทั้ง “ม็อบ” ของประชาชนอีกกลุ่มหนึ่ง จนทำให้ดูเหมือนว่าการพิจารณาของศาลปกครองยังไม่รอบด้านเพียงพอและหน่วยงานของรัฐจำเป็นจะต้องเข้ามาอุทธรณ์คำตัดสินครั้งนี้

จะเป็นเพราะกระแสทัดทานการยื่นอุทธรณ์จากภาคประชาชนหรือไม่ก็มิอาจทราบได้ แต่ผลที่สุดปรากฏว่าที่ประชุมคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมเห่งชาติ (สวล.) ซึ่งมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธานนั้นมีมติให้อุทธรณ์คำตัดสินเพียงประเด็นที่ศาลระบุว่าคณะกรรมการฯ ละเว้นปฏิบัติหน้าที่เท่านั้น

สำหรับสื่อมวลชนเองพบว่ามีจำนวนไม่น้อยที่นำเสนอความขัดแย้งนี้ในลักษณะ “เหรียญสองด้าน” เข้าทำนองว่า “ผลกระทบจากนโยบายการพัฒนาย่อมมีทั้งได้และเสีย” เท่านั้น ซึ่งต้องถือเป็นเรื่องที่อันตรายมาก เพราะนอกจากสื่อกำลังปฏิเสธที่จะทำหน้าที่ตรวจสอบนโยบายรัฐแล้ว สื่อยังช่วยตอกย้ำคำตอบแบบขอไปทีของนักธุรกิจและผู้กำหนดนโยบายที่ขาดความรับผิดชอบ ซึ่งนิยมใช้คาถารักษาทุกโรคว่า “ทุกอย่างในโลกมีสองด้านเสมอ มีได้ต้องมีเสีย” โดยไม่สนใจว่าใครคือคนได้และใครเสีย จำนวนเท่าใด

ผมคิดว่าเราไม่สามารถนำจำนวนเสียงสนับสนุนมาเปรียบเทียบแบบง่ายๆ กับเสียงคัดค้านได้ แต่จำเป็นต้องมีการแยกแยะให้ชัดเจนว่ากลุ่มต่างๆ ที่เข้ามาเกี่ยวข้อง มีกลุ่มใดบ้างเป็น “ผู้มีส่วนได้เสีย (stakeholders)” ซึ่งจะต้องมีส่วนร่วมในการตัดสินใจเกี่ยวกับปัญหาโดยตรง และกลุ่มใดบ้างเป็นเพียง “กลุ่มผลประโยชน์ (interest groups)” ที่พยายามสร้างแรงกดดันเพื่อปรับเปลี่ยนนโยบายให้เป็นประโยชน์กับตนหรือป้องกันการสูญเสียในอนาคต ซึ่งความสับสนในการแยกแยะ “ผู้มีส่วนได้เสีย” ออกจาก “กลุ่มผลประโยชน์” ในกรณีของมาบตาพุดทำให้สังคมสับสนประเด็นของผลกระทบจากการพัฒนาอุตสาหกรรมกับเรื่องการท่องเที่ยวและการลงทุนของจังหวัดระยอง ข้อเท็จจริงที่สำคัญที่เราต้องตระหนักคือผลกระทบด้านลบทางสิ่งแวดล้อม ทางสังคมและสุขภาพของผู้คนได้เกิดขึ้นจริง ไม่มีใครปฏิเสธได้และผู้ที่ก่อให้เกิดผลกระทบเหล่านี้ต้องรับผิดชอบ

เมื่อพูดถึงประเด็นนี้มีงานวิจัยที่ชื่อ “อนาคตระยอง เส้นทางสู่สังคมสุขภาพ” ซึ่งสนับสนุนโดยสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ ได้ทำการประเมินผลกระทบของการพัฒนาอุตสาหกรรมที่มาบตาพุดและจังหวัดระยองอย่างรอบด้านแสดงให้เห็นว่า การพัฒนาอุตสาหกรรมที่ผ่านมาจนกระทั่งปัจจุบันได้ก่อให้เกิดผลกระทบอย่างรุนแรงต่อปัจจัยกำหนดสุขภาพ 4 ด้าน คือ ด้านสิ่งแวดล้อม ทรัพยากร สังคมและเศรษฐกิจ

ในด้านสิ่งแวดล้อม ประชาชนในเขตมาบตาพุดต้องรับผลกระทบของปัญหามลพิษอย่างรุนแรงทั้งด้านอากาศ น้ำ ความเสี่ยงจากอุบัติภัยสารเคมีและกากของเสียที่ถูกนำมาทิ้งตามที่สาธารณะ ในส่วนของมลภาวะทางอากาศ อันตรายจากสารอินทรีย์ก่อมะเร็งนั้นถือว่าเข้าขั้นวิกฤต อย่างที่เห็นในกรณีตัวอย่างของคุณลุงน้อย ใจตั้ง ชาวมาบตาพุดที่ต้องสูญเสียสมาชิกในครอบครัวหลายคนไปด้วยโรคมะเร็ง ขณะที่ภรรยาก็กำลังป่วยด้วยโรคนี้ในปัจจุบัน

ในด้านทรัพยากร ชาวระยองที่ได้รับผลกระทบประสบกับปัญหาขาดแคลนน้ำ และความเสื่อมโทรมของทรัพยากรชายฝั่งอย่างรุนแรง ขณะที่ในด้านสังคม การพัฒนาอุตสาหกรรมและเมืองได้ทำลายความเป็นชุมชนท้องถิ่นและสถาบันครอบครัวลง รวมทั้งมีปัญหาต่างๆ ที่มากับการขยายเมืองตามมา ไม่ว่าจะเป็นปัญหายาเสพติด การติดเชื้อเอดส์ การล่วงละเมิดทางเพศ ฯลฯ

สุดท้าย ในทางเศรษฐกิจ การพัฒนาเศรษฐกิจที่มุ่งแต่สนองความต้องการของภาคอุตสาหกรรมได้ทำลายโครงสร้างทางเศรษฐกิจที่เคยสมดุลของระยองลง กล่าวคือ จากในปี 2524 ที่ภาคเกษตรกรรม อุตสาหกรรม เหมืองแร่ การค้าและบริการเคยสร้างผลผลิตได้ในสัดส่วนที่ใกล้เคียงกัน ประมาณ ร้อยละ 36, ร้อยละ 35 และร้อยละ 29 ตามลำดับ ปรากฏว่าในปี 2549 สัดส่วนดังกล่าวได้เปลี่ยนไปเป็นร้อยละ 3, ร้อยละ 79 และร้อยละ 18 ซึ่งกลายไปเป็นโครงสร้างที่บิดเบี้ยวมาก
งานวิจัยนี้ยังชี้ให้เห็นข้อมูลที่น่าตกใจในแง่ของความเหลื่อมล้ำ และการกระจุกตัวของรายได้ รวมทั้งระบบการจัดเก็บและจัดสรรภาษีที่ไม่เป็นธรรม เพราะการขยายตัวทางเศรษฐกิจเกิดขึ้นในอุตสาหกรรมหลักเพียงไม่กี่ประเภท ซึ่งส่วนใหญ่เป็นอุตสาหกรรมที่พึ่งพาการนำเข้า จากนั้นปัญหาการกระจุกตัวของรายได้ยังถูกซ้ำเติมจากระบบภาษีที่เงินภาษีกว่าร้อยละ 80 ถูกจัดเก็บเข้ากรุงเทพฯ เพราะบริษัทเหล่านี้จดทะเบียนในกรุงเทพฯ ดังนั้น หากเปรียบเทียบสัดส่วนของผลผลิตที่เกิดขึ้นในระยองกับงบประมาณที่ได้รับการจัดสรรแล้ว ปรากฏว่า ระยองได้รับจัดสรรงบประมาณคิดเป็นเพียงร้อยละ 2.71 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในจังหวัดเท่านั้น!

ประสบการณ์และบทเรียนจากมาบตาพุดและระยองนั้นไม่ได้เป็นเรื่องใหม่สำหรับประวัติศาสตร์การพัฒนาของประเทศไทยแต่อย่างใด การพัฒนาเศรษฐกิจที่มุ่งเน้นแต่ผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติและให้ความสำคัญกับค่าเฉลี่ยของรายได้ต่อหัวได้พิสูจน์ให้เห็นนับครั้งไม่ถ้วนแล้วว่าผิดพลาดและอันตราย เพราะไม่ได้สนใจชุมชนและมนุษย์ รวมทั้งไม่เคารพวิสัยทัศน์และความต้องการของชุมชนผู้เป็นเจ้าของท้องถิ่น ในกรณีของมาบตาพุด สิ่งที่ภาครัฐเรียกว่า “ความเจริญ” เกิดขึ้นบนต้นทุนมหาศาล นั่นคือ การล่มสลายของภาคเกษตรกรรม ความยากจน การทำลายชุมชนและลดค่าความเป็นมนุษย์ของคนในเขตนิคมอุตสาหกรรมให้กลายเป็นเพียงปัจจัยการผลิต

ในเมื่อภาครัฐอ่อนแอและเชื่องช้าเกินกว่าที่จะเรียนรู้และแก้ไขความผิดพลาดอันเกิดจากแนวทางการพัฒนาของตน ผมคิดว่าเป็นหน้าที่ของชุมชนซึ่งเป็นเจ้าของพื้นที่และเป็นผู้ได้รับผลกระทบของการพัฒนาโดยตรงที่จะต้องต่อสู้และเรียกร้องเพื่อสิทธิในการกำหนดชะตาชีวิตตนเอง อย่างเช่นที่ชาวมาบตาพุดแสดงให้เราเห็น

สุดท้ายนี้ผมขออนุญาตจบบทความโดยอ้างอิงประโยคง่ายๆ แต่ได้ใจความ ซึ่งตัดมาจากสุทรพจน์อันคำคายและลึกซึ้งของคุณ “กรณ์อุมา พงษ์น้อย” ภรรยาของคุณเจริญ วัดอักษร ที่ได้กล่าวเอาไว้ในโอกาสครบรอบ 5 ปีการเสียชีวิตของคุณเจริญ วัดอักษร “นักต่อสู้เพื่อสิทธิชุมชนบ่อนอก” เมื่อวันอาทิตย์ที่ 21 มิถุนายน 2552 ว่า ”สิทธิชุมชน แปลง่ายๆ ว่า “บ้านกู” และ สิทธิมนุษยชนก็แปลว่า “มึงก็คน กูก็คน”

===========================================================================
ตีพิมพ์ในคอลัมน์มุมมองบ้านสามย่าน กรุงเทพธุรกิจ 26 มิถุนายน 2552

ความคิดเห็น

บทความที่ได้รับความนิยม