ทำไมความยากจนจึงถือเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน!

กัลยาณมิตรท่านหนึ่งเคยบ่นให้ฟังว่าเขาเองไม่สู้จะเห็นด้วยนัก ที่องค์กรพัฒนาเอกชนมักกล่าวว่า ความยากจนเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนรูปแบบหนึ่ง


ประสบการณ์จากการทำงานทำให้ผมมั่นใจว่าปฏิกิริยาเช่นนี้ ไม่ได้เป็นเป็นเรื่องเฉพาะตัวบุคคล แต่มีรากฐานมาจากความเข้าใจเรื่องสิทธิมนุษยชน กับการพัฒนาในสังคมไทยที่ยังไม่เป็นไปในทิศทางเดียวกัน


ถ้าจะกล่าวอย่างอุปมาอุปไมย ก็คือ สาเหตุที่ประเด็นความยากจนไม่เคยถูกพิจารณาในมุมมองสิทธิมนุษยชนนั้นเกิดจาก ข้อต่อของสายโซ่ที่ขาดหายไป 2 ชิ้น นั่นคือ ห่วงโซ่ที่ผูกพันรัฐกับภารกิจในการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิในมิติต่างๆ ของประชาชน รวมทั้งห่วงโซ่ที่ร้อยรัดการพัฒนาในมิติทางเศรษฐกิจเข้ากับมิติทางสังคมและ วัฒนธรรม


จนกระทั่งปัจจุบัน รัฐบาลไทยได้ลงนามและให้สัตยาบันในกติการะหว่างประเทศและอนุสัญญาเกี่ยวกับ สิทธิต่างๆ รวม 6 ฉบับ ซึ่งฉบับที่เกี่ยวข้องกับ "เรื่องปากท้อง" โดยตรง คือ กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรม (International Covenant of Economic, Social and Cultural Rights - ICESCR) ซึ่งไทยได้เข้าเป็นภาคีในปี 2542 และมีผลบังคับใช้ตั้งแต่เดือนธันวาคมของปีนั้น


ตามหลักการ รัฐบาลจึงมีพันธกรณีที่จะต้องดำเนินมาตรการอย่างเหมาะสม เพื่อทำให้ สิทธิในการมีงานทำและมีเงื่อนไขการทำงานที่เหมาะสมเป็นธรรม สิทธิที่จะก่อตั้งสหภาพแรงงานและสิทธิที่จะหยุดงาน สิทธิที่จะได้รับสวัสดิการ และการประกันด้านสังคม สิทธิที่จะมีมาตรฐานชีวิตที่ดีเพียงพอ สิทธิในสาธารณสุข การศึกษาและวัฒนธรรม ฯลฯ เกิดขึ้นเป็นจริงอย่างเต็มที่ โดยเริ่มจากระดับของทรัพยากรที่มีอยู่ และดำเนินการให้เกิดความคืบหน้าขึ้นไปเป็นลำดับขั้น อย่างไม่มีการเลือกปฏิบัติ


อย่างไรก็ตาม ในทางปฏิบัติ เป้าหมายของนโยบายเศรษฐกิจมหภาคของไทยยังถูกกำหนดจากฐานคิดด้านการพัฒนาที่ คับแคบ และละเลยที่จะส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิต่างๆ แม้กระทั่งสิทธิทางเศรษฐกิจอย่างสิทธิในการมีงานทำ และมีเงื่อนไขการทำงานที่เป็นธรรม


นี่ไม่ใช่ปัญหาของผู้กำหนดนโยบาย หรือนักเศรษฐศาสตร์ในประเทศไทยเป็นการเฉพาะ แต่เกิดขึ้นในหลายประเทศที่กระบวนการกำหนดนโยบายถูกครอบงำ โดยความคิดแบบกระแสหลักที่หมกมุ่นกับตัวเลขอัตราเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจและ บูชากลไกตลาดมากเกินไป เพราะหลงในมายาคติว่าการแข่งขันเสรีของระบบตลาดนั้นเป็นข้อเท็จจริง แทนที่จะเป็นเพียงสมมติฐานในทางทฤษฎี


จะว่าไปแล้ว ความล้มเหลวของรัฐในการดำเนินนโยบาย เพื่อลดความเหลื่อมล้ำและประกันความเป็นอยู่ที่ดีให้กับประชาชน โดยเฉพาะกลุ่มคนชายขอบที่มีฐานะยากจนในแต่ละประเทศ ไม่ว่าจะเป็นเด็กยากจน ผู้หญิงในชนบท คนพิการและชนกลุ่มน้อย ถูกหยิบยกขึ้นมาเป็นประเด็นเรื่องธรรมาภิบาลของการดำเนินนโยบายของรัฐในด้าน การพัฒนา ภายหลังเกิดวิกฤติเศรษฐกิจทั่วโลกครั้งล่าสุด


ผลการศึกษาล่าสุดของสหประชาชาติเกี่ยวกับวิกฤติเศรษฐกิจกับการศึกษา ที่เปิดเผยอย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ 19 มกราคมที่ผ่านมา ได้แสดงให้เห็นว่าช่องว่างระหว่างงบประมาณที่ต้องการสำหรับด้านการศึกษากับ จำนวนที่รัฐบาลจัดให้จริงนั้น กำลังขยายกว้างขึ้นเรื่อยๆ ทั่วโลก โดยเฉพาะช่วงหลังวิกฤติเศรษฐกิจ ซึ่งทำให้เด็กจำนวนมากไม่มีโอกาสได้เข้าเรียน


นักวิชาการและนักเคลื่อนไหวด้านสิทธิ จึงเกิดความตื่นตัวอย่างมากในช่วงหลังวิกฤติ ในการทบทวนกรอบความคิดของการพัฒนาทางเศรษฐกิจของรัฐ ทั้งนี้ งานวิจัยใหม่ชิ้นหนึ่งที่น่าสนใจ คือ Rethinking Macro Economic Strategies from a Human Rights Perspective - Why MES with Human Rights (ทบทวนยุทธศาสตร์เศรษฐกิจมหภาคจากมุมมองทางด้านสิทธิมนุษยชน) ซึ่งเป็นการทำงานร่วมกันของนักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์ สังคมวิทยาและสิทธิมนุษยชน รวมทั้งการพัฒนาจากมหาวิทยาลัยในสหรัฐ อังกฤษ และแอฟริกาใต้ ตามลำดับ


รายงานนี้ได้เสนอการวิเคราะห์ที่ใหม่และรอบด้านอย่างยิ่ง ในแง่ของการประเมินและตรวจสอบนโยบายเศรษฐกิจมหภาค จากมุมมองของการคุ้มครองสิทธิทางด้านเศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรมโดยการดำเนินนโยบายและมาตรการของรัฐ ตามกรอบของกติการะหว่างประเทศ โดยในรายงานวิจัยนี้ มีบทหนึ่งที่แนะนำแนวคิดพื้นฐานเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนให้กับนักเศรษฐศาสตร์ และอีกบทที่แนะนำศัพท์วิชาการในการวิเคราะห์เศรษฐกิจมหภาคให้กับนักสิทธิ มนุษยชน ที่สำคัญ ทีมนักวิจัยได้นำเสนอเครื่องมือที่พัฒนาขึ้น เพื่อใช้ในการวิเคราะห์ปัญหาที่เกิดขึ้นในปริมณฑล ซึ่งประเด็นทางเศรษฐกิจและสิทธิมนุษยชนมาพบกัน


ผมจึงได้แนะนำให้กัลยาณมิตรคนดังกล่าวกลับไปอ่านรายงานวิจัยฉบับนี้ อย่างไรก็ตาม ก่อนจากกัน ผมได้ทิ้งท้ายไว้แบบทีเล่นทีจริง ว่า ผมเห็นด้วยอย่างยิ่งกับเขา เพราะที่ถูกต้องควรจะเป็น "ความยากจนถือเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่รุนแรงที่สุดรูปแบบหนึ่ง ที่รัฐบาลมีหน้าที่รับผิดชอบ"

ตีพิมพ์ในมุมมองบ้านสามย่าน กรุงเทพธุรกิจ 17 มีนาคม 2553

ความคิดเห็น

บทความที่ได้รับความนิยม