มาร์ค กราโนเวตเตอร์:นัยยะของสังคมวิทยาและ "กระบวนการทางสังคม" ต่อนโยบายสาธารณะ

แปลจาก "Mark Granovetter: The Need to Take Social Processes as Seriously as the Economic or Psychological" ที่มา http://www.aapss.org/news/2010/06/01/mark-granovetter-the-need-to-take-social-processes-as-seriously-as-the-economic-or-psychological-1


หลักการเรื่องนโยบายด้านเครือข่ายน่าจะสามารถดึงดูดใจกลุ่มคนที่ต้องการลดบทบาทของรัฐอย่างมาก เพราะเมื่อเรายกระดับความเข้มแข็งของเครือข่ายทางสังคมที่มีอยู่ เราก็ไม่จำเป็นต้องมีระบบราชการขนาดใหญ่ที่มีความสัมพันธ์กับสังคมแบบไม่ราบรื่น ยุ่งยากและต้นทุนสูง ความจริงแล้ว ถ้าเราย้อนดูประวัติศาสตร์ อันนี้คือหนึ่งในอุปสรรคที่ขัดขวางโครงการทางสังคมที่มีดีจำนวนมาก


ในโอกาสที่ The Amercian Academy of Political and Social Science (AAPSS) ประกาศเกียรติคุณให้ ศ.มาร์ค กราโนเวตเตอร์เป็น James Coleman Fellow เมื่อวันที่ 13 พฤษภาคม 2553 เขาได้กล่าวสุนทรพจน์ต่อสมาชิกของสถาบันและแขกในงานนั้นเกี่ยวกับผลงานของเขาและความเชื่อมโยงต่อภาคนโยบายสาธารณะ มีใจความดังต่อไปนี้

"หน้าที่ที่ผมได้รับมอบหมายในคืนนี้และก็ดูเหมือนว่าผมได้ตอบรับมันไปแล้ว ก็คือ พูดถึงอิทธิพลของงานตัวผมเองและของสาขาของผม (สังคมวิทยา: ผู้แปล) ต่อนโยบายสาธารณะ ปัจจุบัน หากนักสังคมวิทยาพูดถึงเรื่องนี้ก็มักจะตีความได้ว่าเขาอยากให้มันมีอิทธิพล มากกว่าเชื่อว่ามันมีจริงๆ เนื่องจากผลกระทบของสาขาของพวกเราต่อนโยบายนั้นมันน้อยมากอย่างน่าเศร้าใจ มันจึงดูเหมือนว่านี่คือสิ่งที่ไม่สามารถเกิดขึ้นได้จริง

ชื่อ "จิม โคลแมน" ตามที่ตำแหน่งวิชาการของผมถูกตั้งชื่อตามนั้น ดูเหมือนเป็นข้อยกเว้นที่สำคัญ ยิ่งไปกว่านั้น ความจริงก็คือคุณูปการที่ยิ่งใหญ่ของจิมต่อนโยบายมาจากรายงานของเขาในปี 1966 เกี่ยวกับโรงเรียนและความไม่เท่าเทียมกัน ซึ่งมีชื่อที่ยาวเยิ่นเย้อจนไม่มีใครจำได้ ทุกคนจึงเรียกมันว่า "รายงานโคลแมน" ที่จริงแล้ว จิมได้เขียนรายงานนี้ในขณะที่อาชีพวิชาการของเขาเพิ่งเริ่มต้น และยิ่งเขาทำงานวิชาการลึกมากขึ้นไป ปรากฏว่าอิทธิพลของเขาต่อนโยบายก็ยิ่งถดถอยตามไปด้วย ตัวผมเองทำงานวิจัยเกี่ยวกับเครือข่ายทางสังคมและสังคมวิทยาเศรษฐกิจ ซึ่งดูเหมือนว่าน่าจะเป็นสาขาที่สามารถมีอิทธิพลต่อนโยบายทางสังคมได้ แต่ก็ยังคงไม่มีสภาที่ปรึกษาทางสังคมเกิดขึ้นเพื่อทำงานเสริมสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจ นอกจากนี้ ที่ปรึกษาด้านสังคมวิทยาก็ยังไม่เคยเป็นที่ต้องการในขั้นตอนการกำหนดนโนบายระดับสูง ซึ่งนำมาสู่คำถามว่าทำไมจึงเป็นเช่นนั้น? มันอาจจะเป็นเพราะว่าคำปรึกษาของนักเศรษฐศาสตร์อาชีพได้ประสบความสำเร็จอย่างเหลือเชื่อในการป้องกันพายุฝนทางเศรษฐกิจและชะลอการถาโถมของคลื่นเศรษฐกิจ ซึ่งข้อสรุปนี้ก็ไม่เป็นจริง จริงๆ แล้ว มีหนังสือที่ดีมากโดยนักประวัติศาสตร์ไมเคิล เบิร์นสไตน์ (Michael Bernstein) ที่ University of California at San Diego (UCSD) ชี้ให้เห็นว่าจริงๆ แล้ว อิทธิพลของนักเศรษฐศาสตร์ต่อภาคนโยบายก็ลุ่มๆ ดอนๆ อย่างมากตลอดช่วงศตวรรษที่ 20 และ 21 และเราไม่สามารถบอกได้เลยว่ามันมีความสำคัญขนาดนั้น

กลับมาที่สถานการณ์ของสังคมวิทยา เพื่อนร่วมงานชาวอิตาเลียนของผม คาร์โล ตริกิเลีย (Carlo Trigilia) ได้ตั้งคำถามเมื่อหลายปีก่อนอย่างเจาะจงว่าทำไมสังคมวิทยาเศรษฐกิจ (economic sociology) ที่ดูเหมือนจะมีแนวคิดมากมายเป็นประโยชน์ต่อนโยบายกลับมีอิทธิพลน้อยมาก ข้อเสนอของเขาก็คือ นักสังคมวิทยาเศรษฐกิจส่วนใหญ่มักทำการวิเคราะห์ในระดับมหภาค (macro) และระดับกึ่งกลาง (meso) ระหว่างระดับมหภาคและจุลภาค เมื่อพูดถึงการทำงานของเครือข่ายทางสังคมจึงมีความซับซ้อนมาก และเพราะว่ามันมีความซับซ้อนอย่างนั้นมันก็จึงยากมากที่จะสร้างข้อเสนอเชิงนโยบายออกมา ขณะที่นักเศรษฐศาสตร์ศึกษาแรงจูงใจของปัจเจกบุคคลซึ่งพวกเราเข้าใจว่ามันคืออะไรและนักเศรษฐศาสตร์ก็เสนอให้นโยบายกำกับสิ่งเหล่านี้ ซึ่งมันง่ายที่จะทำความเข้าใจ ถึงแม้ผมจะคิดว่ามันซับซ้อนมากกว่าที่เห็นมากในทางปฏิบัติ อย่างไรก็ตาม ผมอยากจะโต้แย้งว่าในความเป็นจริง มันตรงข้ามกับสิ่งที่คาร์โลเสนอ กล่าวคือ ถึงแม้ผลกระทบของกระบวนการของเครือข่ายทางสังคมจำนวนมากจะยากที่จะทำนาย และถ้าคุณอ่านงานศึกษาเกี่ยวกับเครือข่ายที่ซับซ้อนในปัจจุบัน มันก็ค่อนข้างเป็นเทคนิคและซับซ้อน แต่ผมกลับคิดว่ามีข้อเสนอเชิงนโยบายหลายอย่างที่สามารถเกิดขึ้นได้จากการศึกษาเรื่องเครือข่ายทางสังคมซึ่งในความเป็นจริงค่อนข้างง่ายที่จะเข้าใจ และน่าจะเป็นการพัฒนาแนวทางที่กำลังทำกันอยู่อย่างชัดเจน

ผมจึงขอพูดอะไรสักเล็กน้อยเกี่ยวกับแนวความคิดเกี่ยวกับนโยบายกลุ่มหนึ่งที่นักสังคมวิทยาอาจสร้างขึ้น ถ้าหากพวกเขามีเวลาและกำลังและถ้าหากเรื่องนโยบายจะได้รับความสนใจจริงจังมากขึ้นในสาขาวิชานี้ ยังไงก็ตาม สิ่งเหล่านี้จะอาจจะเกิดขึ้นไม่ได้จนกว่าความคิดเชิงนโยบายด้านสังคมวิทยาจะเป็นที่ต้องการของผู้กำหนดนโยบายด้วย ดังนั้น อย่างที่เราเห็นว่ามันมีวงจรอุบาทว์อยู่ เพราะมีพวกเราไม่กี่คนอยากจะเสียเวลาผลักดันเรื่องนโยบายถ้าหากมันไม่มีความสนใจในเรื่องนี้มากนัก แต่ในอีกแง่หนึ่ง ก็ไม่อาจมีความสนใจเกิดขึ้นได้หากเราไม่ได้ทำลงมือทำมัน จะหยุดวงจรอุบาทว์นี้ได้อย่างไรเป็นประเด็นสำคัญ แต่อาจจะต้องพูดคุยกันในโอกาสอื่น ดังนั้น ผมขออนุญาตเสนอแนะอย่างนี้ วิธีง่ายที่สุดที่จะเข้าใจข้อเสนอของผมก็คือ พูดว่ามันมีประสิทธิภาพในแง่ของต้นทุนอย่างมากที่จะใช้ประโยชน์จากกระบวนการเครือข่ายทางสังคมที่มีอยู่แล้ว พวกนายจ้างได้ทำสิ่งเหล่านี้อยู่แล้วตลอดเวลาโดยพวกเขาไม่ได้รู้ทฤษฏี แต่พวกเขารู้ว่าอะไรเวิร์ค ยกตัวอย่าง เวลาพวกเขารับสมัครคนงานใหม่โดยผ่านเครือข่ายทางสังคมของลูกจ้างที่มีอยู่ ก็เพราะพวกเขารู้ว่าพนักงานใหม่จะปรับตัวเข้ากับที่ทำงานได้อย่างรวดเร็วและจะอยู่ภายใต้กลไกการกำกับทางสังคมที่มีประสิทธิภาพโดยผ่านสายสัมพันธ์กับลูกจ้างคนอื่นๆ อันที่จริง นายจ้างเหล่านี้ไม่ได้ลงทุนเพื่อสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจและความสัมพันธ์ที่ทำให้เกิดผลพวกนี้และพวกเขาก็ไม่สามารถจะลงทุนได้ด้วยถึงแม้จะต้องการมันก็ตาม ผมจึงคิดว่าการใช้ประโยชนจากเครือข่ายทางสังคมที่มีอยู่แล้วเป็นสิ่งที่ใกล้เคียงที่สุดกับ "ของฟรี (free lunch)" ในชีวิตประจำวันและอย่างที่เรารู้ ต้นทุนเป็นเรื่องสำคัญมาก เรามีตัวอย่างลักษณะนี้อยู่จำนวนมาก อีกตัวอย่าง คือผู้บริโภคซื้อรถใช้แล้วจากญาติ เพราะพวกเขาคาดว่าจะได้รับข้อมูลที่ตรงกับความจริงมากขึ้นและราคาที่เป็นธรรมมากกว่า จริงๆ แล้วพวกเขาไม่ต้องจ่ายอะไรเพื่อให้ได้ประโยชน์เหล่านี้ มันตรงกันข้ามด้วยซ้ำ หรือคนที่ระดมทุนเพื่อประเด็นทางสังคมก็อาศัยโยงใยของเครือข่ายที่มีเพื่อกระจายความสนใจและสร้างความกระตือรือร้นระหว่างกลุ่มคนที่สนใจในความคิดความเห็นของพวกเดียวกัน นี่คือสิ่งที่ทำให้การระดมทุนจากกลุ่มคนคอเดียวกันมีประสิทธิภาพอย่างมาก อย่างไรก็ตาม ในวงเล็บผมอาจจะต้องพูดว่ามันก็เป็นดาบสองคม อย่างที่เราเรียนรู้จากกรณีอื้อฉาวของการฉ้อโกงแบบเครือข่าย เช่นตัวอย่างของกลวิธีของเบอร์นี แมดดอฟ (Bernie Madoff อดีตที่ปรึกษาและผู้บริหารด้านการเงินซึ่งถูกตัดสินด้วยข้อหาฉ้อโกงเงินในลักษณะคล้ายแชร์ลูกโซ่ ครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ของอเมริกาในปี 2552: ผู้แปล) เรารู้ดีว่าแง่ลบทั้งหมดต้องอยู่แค่ในวงเล็บ

มันมีการนำหลักการเหล่านี้ไปปรับใช้เป็นนโยบายสาธารณะอย่างง่ายๆ อยู่ ลองพิจารณาความพยายามที่จะฝึกทักษะใหม่ให้กับคนยากจนและ/หรือคนว่างงานเพื่อที่จะช่วยให้พวกเขาพ้นจากความยากจน ซึ่งได้กลายเป็นนโยบายหลักช่วงหลายปีที่ผ่านมา แต่โครงการเหล่านี้ส่วนใหญ่ในสหรัฐอเมริกากลับถูกออกแบบขึ้นเพื่อเป้าหมายในการปรับทัศนคติ ปรับปรุงทุนมนุษย์ (human capital) และความสามารถในการหางานของผู้ที่เข้าโครงการ ซึ่งเหตุผลที่เรามองมันในแบบนี้ ผมคิดว่าเป็นผลมาจากอิทธิพลของสาขาจิตวิทยาและเศรษฐศาสตร์ต่อภาคนโยบายสาธารณะ ความจริงคือว่าโครงการเหล่านี้ส่วนใหญ่ไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควรและมีโครงการจำนวนน้อยที่ได้ผลดีก็คือโครงการที่ผู้ฝึกอบรมมีความสัมพันธ์แบบเครือข่ายที่ดีกับนายจ้างท้องถิ่นที่พวกเขาได้พัฒนาความสัมพันธ์ขึ้นเพื่อช่วยให้พวกเขามีที่ทางในชุมชนนั้น ทั้งนี้ มีงานวิจัยที่น่าสนใจในเรื่องนี้ ไม่มากนักแต่ก็มีอยู่บ้าง เช่นที่ Edwin Melendez[1] และ Ben Harrison ผู้ล่วงลับได้ทำขึ้น ในปัจจุบัน หลักการเรื่องเครือข่ายเป็นเรื่องง่ายมาก ในตลาดแรงงานทั่วไป คนส่วนใหญ่หางานโดยผ่านความสัมพันธ์ส่วนตัว ถึงแม้คุณจะได้รับการฝึกทักษะและคำปรึกษาด้านจิตวิทยาแต่ถ้าคุณไม่มีคอนเนคชั่นกับนายจ้างแล้ว คุณก็ยังคงเสียเปรียบอยู่ดีเมื่อเทียบกับคนที่รู้จักกับใครบางคนในบริษัทที่ต้องการจ้างงาน ทางออกก็คือพัฒนาโครงการที่บุคลากรบางส่วนรับผิดชอบด้านการสร้างความสัมพันธ์แบบเครือข่ายกับนายจ้าง สร้างความไว้เนื้อเชื่อใจและทำข้อตกลงกับบริษัทว่าจะจัดหาคนงานที่ผ่านการรับรองให้ เพราะเจ้าหน้าที่รู้จักคนงานเหล่านี้จริงๆ แต่สิ่งที่พูดมาทั้งหมดนี้ยังไม่ได้เกิดขึ้นเท่าใดนัก เหตุผลหนึ่งก็คือเรามักจะมองการฝึกอบรมในฐานะปริมณฑลของนักจิตวิทยา ที่แนวคิดเรื่องความเป็นนักวิชาชีพทำให้พวกเขาปฏิเสธงานที่ต่ำต้อยอย่างการเดินทางไปโรงงานที่มีสภาพแวดล้อมไม่น่ารื่มรมย์นักเมื่อเทียบกับสถานที่ฝึกอบรมที่ทันสมัย ดังนั้น ผมคิดว่าสังคมวิทยาของวิชาชีพช่วยให้เราเห็นไม่เพียงแต่ว่านโยบายถูกนำไปผิดทางได้อย่างไรแต่ยังมองเห็นว่าประโยชน์ส่วนตัวทำให้เกิดแรงเสียดทานต่อการเปลี่ยนแปลงต่างๆ ที่เราอยากจะเห็นอย่างไรด้วย

ผมคิดว่ามีการประยุกต์ใช้หลักการเรื่องเครือข่ายในลักษณะดังกล่าวให้เป็นนโยบายได้หลายเรื่อง รวมถึงงานที่สำคัญเกี่ยวกับการสืบหาผู้ก่อการร้ายตั้งแต่ในระยะเริ่มต้น ซึ่งก็ถือเป็นปัญหาเรื่องเครือข่ายเช่นเดียวกัน หรือผู้ที่ศึกษาด้านสาธารณะสุขก็คงจะตระหนักอยู่พอสมควรถึงความจำเป็นของการค้นหาและกำหนดเป้าหมายสำคัญหรือศูนย์กลางที่ส่วนต่อการแพร่กระจายโรคหรือพฤติกรรมเสี่ยงเช่นการสูบบุหรี่หรือการใช้สารเสพติด รวมทั้งความสำคัญของการทุ่มเทความพยายามไปให้ถูกจุดเพื่อลดผลกระทบของสิ่งเหล่านี้ เพราะมันเป็นการใช้งบประมาณอย่างมีประสิทธิภาพมากกว่าการพุ่งเป้าไปที่ผู้ใช้หรือกลุ่มพฤติกรรมเสี่ยงแบบสุ่ม ยังไงก็ตาม ความคิดที่เป็นระบบเกี่ยวกับเครือข่ายทางสังคมยังไม่ได้เข้าไปสู่วาทกรรมของนโยบายในภาพรวมเท่าใดนัก ซึ่งผมคิดว่าเราจำเป็นต้องทุ่มเทกำลังไปในทิศทางนี้ให้มากขึ้นและผมอยากจะเสริมว่าความริเริ่มเหล่านี้มีความเป็นกลางทางการเมือง อันที่จริง หลักการเรื่องนโยบายด้านเครือข่ายน่าจะสามารถดึงดูดใจกลุ่มคนที่ต้องการลดบทบาทของรัฐอย่างมาก เพราะเมื่อเรายกระดับความเข้มแข็งของเครือข่ายทางสังคมที่มีอยู่ เราก็ไม่จำเป็นต้องมีระบบราชการขนาดใหญ่ที่มีความสัมพันธ์กับสังคมแบบไม่ราบรื่น ยุ่งยากและต้นทุนสูง ความจริงแล้ว ถ้าเราย้อนดูประวัติศาสตร์ อันนี้คือหนึ่งในอุปสรรคที่ขัดขวางโครงการทางสังคมที่มีดีจำนวนมาก

ทั้งหมดนี้คือข้อเสนอที่รวบรัดมากเพื่อให้พวกเราเข้าใจว่าการให้ความสำคัญกับกระบวนการทางสังคมในแบบเดียวกับปรากฏการณ์ทางเศรษฐกิจและจิตวิทยาจะช่วยปรับปรุงและเพิ่มประสิทธิภาพของนโยบายสังคมได้อย่างไร และหากว่าคำวิจารณ์ของผมในโอกาสนี้จะทำให้เกิดการขยับเคลื่อนไปข้างหน้าแม้เพียงนิดเดียว ผมก็จะรู้สึกปลาบปลื้มใจอย่างมาก"

*มาร์ค กราโนเวตเตอร์ เป็นศาสตราจารย์ด้านสังคมวิทยาแห่งมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด ประเทศสหรัฐอเมริกา มีบทบาทอย่างสูงในการศึกษาเกี่ยวกับความสัมพันธ์ของโครงสร้างทางสังคม โดยเฉพาะในรูปของเครือข่ายทางสังคมต่อการทำงานของระบบเศรษฐกิจ บทความที่มีอิทธิพลอย่างสูงคือ "The Strength of Weak Ties" และ "Economic Action and Social Structure: The Problem of Embeddedness" ที่เผยแพร่ใน American Journal of Sociology ในปี 1973 และ 1985 ตามลำดับ บทความชิ้นหลังนี้ได้มีส่วนในการก่อให้เกิดสำนัก "สังคมวิทยาเศรษฐกิจใหม่ (new economic sociology)" ในสหรัฐอเมริกา

Note
[1]ดูประวัติการศึกษาและผลงานวิชาการได้ที่ http://www.newschool.edu/lang/faculty.aspx?id=1670

ความคิดเห็น

บทความที่ได้รับความนิยม