การโต้กลับของทุนอเมริกัน (1) : เมื่อสหภาพพนักงานของรัฐถูกจับเป็นตัวประกัน
ตีพิมพ์ในคอลัมน์มุมมองบ้านสามย่าน ทัศนะวิจารณ์ กรุงเทพธุรกิจ 28 เมษายน 2554
ถึงแม้กฎหมายที่เป็นต้นตอของความขัดแย้งและการชุมนุมยืดเยื้อในเมืองเมดิสัน วิสคอนซิน จะผ่านสภาของรัฐไปเมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมาแต่กฎหมายดังกล่าวก็ถูกระงับอย่างไม่มีกำหนดโดยผู้พิพากษาของมณฑลเดน (เดนเคาน์ตี้-Dane County) ในวิสคอนซิน หลังจากอัยการได้ยื่นเรื่องว่าเกิดการละเมิดขั้นตอนในระหว่างผ่านกฎหมาย
ภายหลังจากกฎหมายที่เสนอโดยผู้ว่าการรัฐสกอตต์ วอล์คเกอร์ ผ่านการลงมติ ปรากฏว่ามีการฟ้องร้องจากบุคคลถึง 3 กลุ่ม ได้แก่ อัยการของเคาน์ตี้ ผู้บริหารเคาน์ตี้จากเดโมแครตและพนักงานของรัฐที่นำโดยกลุ่มพนักงานดับเพลิง ความคืบหน้าล่าสุด คือ ผู้พิพากษาได้ตัดสินว่าผู้บริหารจากเดโมแครตไม่สามารถฟ้องร้องได้ เพราะขัดกับหลักการที่ห้ามกลไกของรัฐฟ้องร้องการออกกฎหมายของรัฐเอง
ดูเหมือนว่าความพยายามยับยั้งกฎหมายฉบับนี้ไม่ให้มีผลบังคับใช้จะเป็นได้เพียงแค่การซื้อเวลา ขณะที่กระแสสนับสนุนการลดบทบาทของรัฐจากฝ่ายอนุรักษนิยมโดยการนำของกลุ่มทีปาร์ตี้ นับวันก็ยิ่งแรงขึ้นเมื่อใกล้การเลือกตั้งประธานาธิบดีที่จะมีขึ้นในปีหน้า วันเสาร์ที่ผ่านมา (16 เม.ย.) ซาราห์ เพ-ลิน อดีตผู้สมัครรองประธานาธิบดีจากรีพับลิกันเดินทางมาปราศรัยถึงที่ทำการของรัฐวิสคอนซิน ซึ่งเป็นที่ปักหลักชุมนุมยืดเยื้อของกลุ่มต่อต้านกฎหมายฉบับดังกล่าว พร้อมกับประกาศกับกลุ่มผู้สนับสนุนจากทีปาร์ตี้ที่มาให้กำลังใจเธอว่า "การเลือกตั้ง 2012 เริ่มต้นขึ้นที่นี่!"
วิสคอนซินจึงเป็นเสมือนสัญลักษณ์ของการต่อสู้ในหลายระดับ สำหรับการเมืองระบบสองพรรค วิสคอนซินเป็นจุดยุทธศาสตร์ที่ทั้งพรรครีพับลิกันและเดโมแครตใช้ประกาศศึกก่อนสงครามที่แท้จริง ส่วนในมุมมองของขบวนการเคลื่อนไหว เช่น ทีปาร์ตี้และฝ่ายแรงงานแล้ว วิสคอนซินสะท้อนภาพการช่วงชิงระหว่างฝ่ายที่สนับสนุนแนวคิดเสรีนิยมทางเศรษฐกิจ ซึ่งต้องการลดบทบาทของรัฐกับฝ่ายที่สนับสนุนความเป็นธรรมภายในระบบทุนนิยม
สำหรับกลุ่มพนักงานของรัฐ ความไม่พอใจเกิดจากกฎหมายฉบับนี้ตัดสิทธิในการเจรจาต่อรองร่วม (Collective bargaining rights) ของคนงานที่มีอยู่เกือบทั้งหมดและมีผลอย่างสำคัญในการลดทอนอำนาจของสหภาพแรงงาน ที่เป็นกลไกสำหรับต่อรองกับรัฐ
กฎหมายใหม่ห้ามไม่ให้พนักงานรัฐนำค่าสมาชิกของสหภาพในรายปีมาหักลดหย่อนจากเงินเดือนอีกต่อไป เท่ากับว่ารัฐเลิกทำการอุดหนุนกิจกรรมของสหภาพโดยตรงอย่างที่เคยเป็นมา นอกจากนี้ ยังกำหนดให้พนักงานของรัฐต้องลงคะแนนทุกปีว่าจะต้องการให้มีสหภาพแรงงานเป็นตัวแทนของตนต่อไปหรือไม่
ขณะที่กฎหมายมีผลในการลดทอนสิทธิในการเจรจาต่อรองร่วมและสิทธิประโยชน์ของพนักงานของรัฐโดยรวม แต่พนักงานของรัฐแต่ละกลุ่มก็ได้รับผลกระทบในระดับที่แตกต่างกันไป เช่น กลุ่มพนักงานของมหาวิทยาลัยวิสคอนซิน เช่น อาจารย์และเจ้าหน้าที่นั้นถูกตัดสิทธิในการเจรจาต่อรองร่วมที่มีอยู่ทั้งหมด (ทั้งที่เพิ่งได้รับมาเมื่อ 2 ปีก่อน หลังจากพนักงานมหาวิทยาลัยเรียกร้องสิทธินี้มาเป็นเวลาถึง 40 ปี) ส่วนพนักงานของรัฐที่ไม่ได้สังกัดมหาวิทยาลัยนั้น หากกฎหมายมีผลบังคับใช้ ข้อตกลงสภาพการจ้างงาน (collective bargaining agreement) จะครอบคลุมเฉพาะเรื่องค่าจ้างเพียงอย่างเดียว โดยไม่ครอบคลุมถึงเรื่องชั่วโมงการทำงาน สภาพการทำงาน ฯลฯ ที่คนงานเคยมีส่วนร่วมกำหนดโดยผ่านกระบวนการเจรจาต่อรองของสหภาพ
ขณะที่สิทธิในการเจรจาต่อรองร่วมนั้นเป็นที่ยอมรับโดยทั่วไปว่าเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่สำคัญของแรงงานในภาคเอกชน เพราะเป็นกลไกในการถ่วงดุลระหว่างนายจ้างและคนงาน เพื่อคุ้มครองคนงานที่ต้องการเรียกร้องสิทธิในเรื่องค่าแรง ฯลฯ จากการถูกเลิกจ้างอย่างไม่เป็นธรรม แต่สำหรับพนักงานของรัฐ ฝ่ายที่สนับสนุนกฎหมายฉบับนี้กลับเห็นว่า สิทธิดังกล่าวเป็นเพียง "อภิสิทธิ์" ที่ได้มาจากการใช้อิทธิพลทางการเมืองกดดันผ่านกลุ่มผลประโยชน์ของตนเท่านั้น
ในระบบกฎหมายแรงงานของสหรัฐ สิทธิในการเจรจาต่อรองร่วมของแรงงานภาคเอกชนได้รับการคุ้มครองเป็นครั้งแรกเมื่อประธานาธิบดีแฟรงคลิน ดี รูสเวลท์ ผ่านกฎหมายแรงงานสัมพันธ์แห่งชาติ (National Labor Relations Act) ในปี 1935 โดยหลักการ กระบวนการที่คนงานรวมตัวกันต่อรองกับนายจ้างเกี่ยวข้องกับ 3 เรื่องหลัก คือ กฎเกณฑ์ที่กำกับความสัมพันธ์ระหว่างสองฝ่าย ค่าจ้างค่าแรงและประเด็นที่เกี่ยวข้องกับประโยชน์ของทั้งคู่ เช่น ลักษณะงาน ชั่วโมงการทำงาน สภาพการทำงาน ความปลอดภัยในการทำงาน การยุติสัญญาการจ้าง เป็นต้น กระบวนการเจรจาต่อรองร่วมนั้นยังเกี่ยวข้องกับการปรึกษาหารือและการแลกเปลี่ยนข้อมูลซึ่งกันและกัน โดยมีเป้าหมาย คือ สัญญาสภาพการจ้างงานที่กำหนดรายละเอียดต่างๆ อันเป็นผลจากการเจรจาต่อรองร่วมเอาไว้ ทั้งนี้ กฎหมายในแต่ละประเทศกำหนดขอบเขตของประเด็นที่นายจ้างหรือฝ่ายบริหารต้องเจรจากับตัวแทนลูกจ้างแตกต่างกันไป
สำหรับหลักการเรื่องสิทธิในการเจรจาต่อรองร่วมของพนักงานรัฐนั้นได้รับการรับรองจากคำสั่งทางบริหารของประธานาธิบดีจอห์น เอฟ เคนเนดี้ ในปี 1962 ซึ่งมีศักดิ์และสิทธิต่างจากกฎหมายแรงงานสัมพันธ์แห่งชาติที่รับรองสิทธิของแรงงานในภาคเอกชน ในทางปฏิบัติ รัฐแต่ละรัฐจึงกำหนดสิทธิในการเจรจาต่อรองร่วมและสิทธิในการนัดหยุดงานของพนักงานรัฐแตกต่างกันไป เช่น ในบางรัฐ คนงานไม่สามารถนัดหยุดงานได้ ต้องใช้กระบวนการไกล่เกลี่ยเมื่อเกิดข้อพิพาทเท่านั้น
สิทธิในการเจรจาต่อรองร่วมของพนักงานในแต่ละรัฐจึงได้มาจากการเรียกร้อง กดดันและใช้อิทธิพลทางการเมืองในระดับที่แตกต่างกัน ดังนั้น จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่พลังต้านการเปลี่ยนแปลงจะเกิดขึ้นแตกต่างกันไปในแต่ละรัฐด้วย เช่น กฎหมายซึ่งได้รับการเสนอแก้ไขโดยผู้ว่าการรัฐโอไฮโอนั้นมีความรุนแรงกว่าที่วิสคอนซินมาก ทั้งในแง่ของการลดอำนาจสหภาพแรงงานและกระทบสิทธิและสวัสดิการของพนักงานรัฐแต่การต่อต้านกลับน้อยกว่าและกฎหมายก็ผ่านไปได้อย่างไม่มีปัญหา
หลายคนอาจมองว่าความขัดแย้งที่กำลังเกิดขึ้นนี้ เป็นเพียงภาพสะท้อนอิทธิพลทางการเมืองที่เพิ่มขึ้นของพรรครีพับลิกันภายหลังจากชัยชนะในการเลือกตั้งกลางสมัยในสองสภา แต่หากมองให้ลึกซึ้งไปกว่านั้น มันก็เป็นภาพสะท้อนความเชื่อพื้นฐานและมุมมองที่แตกต่างกันของเดโมแครตและรีพับลิกันเกี่ยวกับบทบาทและหน้าที่ของสหภาพแรงงาน รวมทั้งสิทธิแรงงานในระดับรวมกลุ่มและปัจเจก
ในแง่หนึ่ง อาจจะพูดได้ว่าความพยายามทำลายสิทธิในการเจรจาต่อรองร่วมของพนักงานของรัฐครั้งนี้ เป็นเพียงการส่งสัญญาณถึงการกลับมาของฝ่ายที่เชื่อมั่นในระบบเสรีนิยมแบบสุดโต่ง ที่เชื่อเหมือนกับมาร์กาเร็ต แธตเชอร์ ว่า "there is no such thing as society (ไม่มีหรอก สิ่งที่เรียกว่าสังคม)"
ถึงแม้กฎหมายที่เป็นต้นตอของความขัดแย้งและการชุมนุมยืดเยื้อในเมืองเมดิสัน วิสคอนซิน จะผ่านสภาของรัฐไปเมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมาแต่กฎหมายดังกล่าวก็ถูกระงับอย่างไม่มีกำหนดโดยผู้พิพากษาของมณฑลเดน (เดนเคาน์ตี้-Dane County) ในวิสคอนซิน หลังจากอัยการได้ยื่นเรื่องว่าเกิดการละเมิดขั้นตอนในระหว่างผ่านกฎหมาย
ภายหลังจากกฎหมายที่เสนอโดยผู้ว่าการรัฐสกอตต์ วอล์คเกอร์ ผ่านการลงมติ ปรากฏว่ามีการฟ้องร้องจากบุคคลถึง 3 กลุ่ม ได้แก่ อัยการของเคาน์ตี้ ผู้บริหารเคาน์ตี้จากเดโมแครตและพนักงานของรัฐที่นำโดยกลุ่มพนักงานดับเพลิง ความคืบหน้าล่าสุด คือ ผู้พิพากษาได้ตัดสินว่าผู้บริหารจากเดโมแครตไม่สามารถฟ้องร้องได้ เพราะขัดกับหลักการที่ห้ามกลไกของรัฐฟ้องร้องการออกกฎหมายของรัฐเอง
ดูเหมือนว่าความพยายามยับยั้งกฎหมายฉบับนี้ไม่ให้มีผลบังคับใช้จะเป็นได้เพียงแค่การซื้อเวลา ขณะที่กระแสสนับสนุนการลดบทบาทของรัฐจากฝ่ายอนุรักษนิยมโดยการนำของกลุ่มทีปาร์ตี้ นับวันก็ยิ่งแรงขึ้นเมื่อใกล้การเลือกตั้งประธานาธิบดีที่จะมีขึ้นในปีหน้า วันเสาร์ที่ผ่านมา (16 เม.ย.) ซาราห์ เพ-ลิน อดีตผู้สมัครรองประธานาธิบดีจากรีพับลิกันเดินทางมาปราศรัยถึงที่ทำการของรัฐวิสคอนซิน ซึ่งเป็นที่ปักหลักชุมนุมยืดเยื้อของกลุ่มต่อต้านกฎหมายฉบับดังกล่าว พร้อมกับประกาศกับกลุ่มผู้สนับสนุนจากทีปาร์ตี้ที่มาให้กำลังใจเธอว่า "การเลือกตั้ง 2012 เริ่มต้นขึ้นที่นี่!"
วิสคอนซินจึงเป็นเสมือนสัญลักษณ์ของการต่อสู้ในหลายระดับ สำหรับการเมืองระบบสองพรรค วิสคอนซินเป็นจุดยุทธศาสตร์ที่ทั้งพรรครีพับลิกันและเดโมแครตใช้ประกาศศึกก่อนสงครามที่แท้จริง ส่วนในมุมมองของขบวนการเคลื่อนไหว เช่น ทีปาร์ตี้และฝ่ายแรงงานแล้ว วิสคอนซินสะท้อนภาพการช่วงชิงระหว่างฝ่ายที่สนับสนุนแนวคิดเสรีนิยมทางเศรษฐกิจ ซึ่งต้องการลดบทบาทของรัฐกับฝ่ายที่สนับสนุนความเป็นธรรมภายในระบบทุนนิยม
สำหรับกลุ่มพนักงานของรัฐ ความไม่พอใจเกิดจากกฎหมายฉบับนี้ตัดสิทธิในการเจรจาต่อรองร่วม (Collective bargaining rights) ของคนงานที่มีอยู่เกือบทั้งหมดและมีผลอย่างสำคัญในการลดทอนอำนาจของสหภาพแรงงาน ที่เป็นกลไกสำหรับต่อรองกับรัฐ
กฎหมายใหม่ห้ามไม่ให้พนักงานรัฐนำค่าสมาชิกของสหภาพในรายปีมาหักลดหย่อนจากเงินเดือนอีกต่อไป เท่ากับว่ารัฐเลิกทำการอุดหนุนกิจกรรมของสหภาพโดยตรงอย่างที่เคยเป็นมา นอกจากนี้ ยังกำหนดให้พนักงานของรัฐต้องลงคะแนนทุกปีว่าจะต้องการให้มีสหภาพแรงงานเป็นตัวแทนของตนต่อไปหรือไม่
ขณะที่กฎหมายมีผลในการลดทอนสิทธิในการเจรจาต่อรองร่วมและสิทธิประโยชน์ของพนักงานของรัฐโดยรวม แต่พนักงานของรัฐแต่ละกลุ่มก็ได้รับผลกระทบในระดับที่แตกต่างกันไป เช่น กลุ่มพนักงานของมหาวิทยาลัยวิสคอนซิน เช่น อาจารย์และเจ้าหน้าที่นั้นถูกตัดสิทธิในการเจรจาต่อรองร่วมที่มีอยู่ทั้งหมด (ทั้งที่เพิ่งได้รับมาเมื่อ 2 ปีก่อน หลังจากพนักงานมหาวิทยาลัยเรียกร้องสิทธินี้มาเป็นเวลาถึง 40 ปี) ส่วนพนักงานของรัฐที่ไม่ได้สังกัดมหาวิทยาลัยนั้น หากกฎหมายมีผลบังคับใช้ ข้อตกลงสภาพการจ้างงาน (collective bargaining agreement) จะครอบคลุมเฉพาะเรื่องค่าจ้างเพียงอย่างเดียว โดยไม่ครอบคลุมถึงเรื่องชั่วโมงการทำงาน สภาพการทำงาน ฯลฯ ที่คนงานเคยมีส่วนร่วมกำหนดโดยผ่านกระบวนการเจรจาต่อรองของสหภาพ
ขณะที่สิทธิในการเจรจาต่อรองร่วมนั้นเป็นที่ยอมรับโดยทั่วไปว่าเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่สำคัญของแรงงานในภาคเอกชน เพราะเป็นกลไกในการถ่วงดุลระหว่างนายจ้างและคนงาน เพื่อคุ้มครองคนงานที่ต้องการเรียกร้องสิทธิในเรื่องค่าแรง ฯลฯ จากการถูกเลิกจ้างอย่างไม่เป็นธรรม แต่สำหรับพนักงานของรัฐ ฝ่ายที่สนับสนุนกฎหมายฉบับนี้กลับเห็นว่า สิทธิดังกล่าวเป็นเพียง "อภิสิทธิ์" ที่ได้มาจากการใช้อิทธิพลทางการเมืองกดดันผ่านกลุ่มผลประโยชน์ของตนเท่านั้น
ในระบบกฎหมายแรงงานของสหรัฐ สิทธิในการเจรจาต่อรองร่วมของแรงงานภาคเอกชนได้รับการคุ้มครองเป็นครั้งแรกเมื่อประธานาธิบดีแฟรงคลิน ดี รูสเวลท์ ผ่านกฎหมายแรงงานสัมพันธ์แห่งชาติ (National Labor Relations Act) ในปี 1935 โดยหลักการ กระบวนการที่คนงานรวมตัวกันต่อรองกับนายจ้างเกี่ยวข้องกับ 3 เรื่องหลัก คือ กฎเกณฑ์ที่กำกับความสัมพันธ์ระหว่างสองฝ่าย ค่าจ้างค่าแรงและประเด็นที่เกี่ยวข้องกับประโยชน์ของทั้งคู่ เช่น ลักษณะงาน ชั่วโมงการทำงาน สภาพการทำงาน ความปลอดภัยในการทำงาน การยุติสัญญาการจ้าง เป็นต้น กระบวนการเจรจาต่อรองร่วมนั้นยังเกี่ยวข้องกับการปรึกษาหารือและการแลกเปลี่ยนข้อมูลซึ่งกันและกัน โดยมีเป้าหมาย คือ สัญญาสภาพการจ้างงานที่กำหนดรายละเอียดต่างๆ อันเป็นผลจากการเจรจาต่อรองร่วมเอาไว้ ทั้งนี้ กฎหมายในแต่ละประเทศกำหนดขอบเขตของประเด็นที่นายจ้างหรือฝ่ายบริหารต้องเจรจากับตัวแทนลูกจ้างแตกต่างกันไป
สำหรับหลักการเรื่องสิทธิในการเจรจาต่อรองร่วมของพนักงานรัฐนั้นได้รับการรับรองจากคำสั่งทางบริหารของประธานาธิบดีจอห์น เอฟ เคนเนดี้ ในปี 1962 ซึ่งมีศักดิ์และสิทธิต่างจากกฎหมายแรงงานสัมพันธ์แห่งชาติที่รับรองสิทธิของแรงงานในภาคเอกชน ในทางปฏิบัติ รัฐแต่ละรัฐจึงกำหนดสิทธิในการเจรจาต่อรองร่วมและสิทธิในการนัดหยุดงานของพนักงานรัฐแตกต่างกันไป เช่น ในบางรัฐ คนงานไม่สามารถนัดหยุดงานได้ ต้องใช้กระบวนการไกล่เกลี่ยเมื่อเกิดข้อพิพาทเท่านั้น
สิทธิในการเจรจาต่อรองร่วมของพนักงานในแต่ละรัฐจึงได้มาจากการเรียกร้อง กดดันและใช้อิทธิพลทางการเมืองในระดับที่แตกต่างกัน ดังนั้น จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่พลังต้านการเปลี่ยนแปลงจะเกิดขึ้นแตกต่างกันไปในแต่ละรัฐด้วย เช่น กฎหมายซึ่งได้รับการเสนอแก้ไขโดยผู้ว่าการรัฐโอไฮโอนั้นมีความรุนแรงกว่าที่วิสคอนซินมาก ทั้งในแง่ของการลดอำนาจสหภาพแรงงานและกระทบสิทธิและสวัสดิการของพนักงานรัฐแต่การต่อต้านกลับน้อยกว่าและกฎหมายก็ผ่านไปได้อย่างไม่มีปัญหา
หลายคนอาจมองว่าความขัดแย้งที่กำลังเกิดขึ้นนี้ เป็นเพียงภาพสะท้อนอิทธิพลทางการเมืองที่เพิ่มขึ้นของพรรครีพับลิกันภายหลังจากชัยชนะในการเลือกตั้งกลางสมัยในสองสภา แต่หากมองให้ลึกซึ้งไปกว่านั้น มันก็เป็นภาพสะท้อนความเชื่อพื้นฐานและมุมมองที่แตกต่างกันของเดโมแครตและรีพับลิกันเกี่ยวกับบทบาทและหน้าที่ของสหภาพแรงงาน รวมทั้งสิทธิแรงงานในระดับรวมกลุ่มและปัจเจก
ในแง่หนึ่ง อาจจะพูดได้ว่าความพยายามทำลายสิทธิในการเจรจาต่อรองร่วมของพนักงานของรัฐครั้งนี้ เป็นเพียงการส่งสัญญาณถึงการกลับมาของฝ่ายที่เชื่อมั่นในระบบเสรีนิยมแบบสุดโต่ง ที่เชื่อเหมือนกับมาร์กาเร็ต แธตเชอร์ ว่า "there is no such thing as society (ไม่มีหรอก สิ่งที่เรียกว่าสังคม)"
ความคิดเห็น