การครอบงำของสื่อ (ใหม่)


(เผยแพร่ครั้งแรกในเว็๋บสำนักข่าวประชาธรรม 15 ธ.ค. 2555)

ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา คนในวงการสื่อ โดยเฉพาะสื่ออิสระ มักพูดถึงเครือข่ายทางสังคมออนไลน์อย่าง Facebook ในฐานะ "สื่อใหม่" และคาดหวังว่ามันจะช่วยสร้างความเป็นประชาธิปไตยให้กับการรับรู้และการกระจายข้อมูลข่าวสารเพิ่มขึ้น
จะเรียกว่าเป็นประชาธิปไตยหรือไม่ก็ตาม  สิ่งที่เราสังเกตเห็นได้ในวันนี้ ก็คือ การผลิตซ้ำข้อมูลและข่าวสารทำได้ง่ายขึ้น  และดูเหมือนจะมีพื้นที่ใหม่ที่เปิดกว้างอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน สำหรับการแสดงออกทางความคิดและความเห็นในแทบทุกเรื่อง นอกจากนี้ สิ่งที่เกิดขึ้นตามมาอย่างปฏิเสธไม่ได้จากรูปแบบของเทคโนโลยีใหม่ในชีวิตประจำวันก็คือ โอกาสในการเผชิญหน้าระหว่างความเห็นที่ต่างกันและพลวัตรของการจัดความสัมพันธ์ระหว่างผู้ใช้เครือข่ายทางสังคมเหล่านี้

โดยไม่ต้องการตั้งคำถามเกี่ยวกับความคุณค่าของสื่อใหม่ บทความนี้ต้องการเพียงชักชวนให้ผู้ใช้ประโยชน์จากสื่อใหม่ โดยเฉพาะผู้ที่ทำหน้าที่สื่ออิสระและผู้ที่เรียกตัวเองว่า "นักข่าวพลเมือง" ได้ลองตอบคำถามพื้นฐานที่สำคัญว่า ในช่วงเวลาที่ผ่านมานี้ พื้นที่ที่เปิดกว้างขึ้น หรือ "เสรีภาพ" ที่เรารู้สึกว่าได้รับจากพื้นที่นี้ แท้จริงแล้ว ได้เพิ่มอำนาจให้กับพวกเราในการกำหนดวาระทางสังคม และเป็นอิสระมากขึ้นจากการครอบงำของสถาบันหลักของสังคมหรือไม่?? 

สถาบันหลักที่ว่า หมายความรวมถึงสื่อกระแสหลักที่ถูกกำกับด้วยระบบตลาด, กลุ่มผลประโยชน์ทางธุรกิจที่มุ่งแสวงหาเพียงกำไร, สถาบันที่มีลักษณะกดขี่ในสังคม เช่น หน่วยงานความมั่นคง, กลุ่มจารีตนิยมที่ครอบงำสถาบันสำคัญต่างๆ เช่น สถาบันการศึกษา วิจัยและศาล หรือแม้กระทั่ง สถาบันทางการเมืองที่ประชาชนไม่สามารถวิพากษ์วิจารณ์ได้
ความเป็นอิสระจากการครอบงำของสถาบันหลักเหล่านี้ คือ หัวใจที่สำคัญของการเข้าถึง "ความจริง" หรือในรูปธรรม คือ ความเห็นพ้องต้องกันในสภาวะที่เป็นอยู่ และควรจะเป็นของสังคมและสถาบันต่างๆ ในสังคม ซึ่งเป็นเงื่อนไขที่จำเป็นสำหรับการเปลี่ยนแปลงไปสู่สังคมที่ดีขึ้น

แต่อิสรภาพจากการครอบงำของสถาบันเหล่านี้ ไม่อาจเกิดขึ้นได้หากปราศจากอำนาจของประชาชนในการควบคุมทิศทางของข้อมูลและพลังในการสื่อสาร เพื่อสร้างความจริงในแบบของภาคประชาชนเอง

****

อำนาจในการควบคุมทิศทางของข้อมูลและพลังในการสื่อสารมาจากไหน?

ประการสำคัญที่สุด นักข่าวพลเมืองจะต้องเป็นอิสระจากการถูกกำกับและการกำหนดรูปแบบการสื่อสารโดยสื่อใหม่
อิสรภาพที่เรากำลังพูดถึง แน่นอน ต้องไม่ใช่เพียง "เสรีภาพ" ในมุมมองของภาคธุรกิจที่มีความหมายแคบๆ เพียงโอกาสหรือทางเลือกในการได้บริโภคมากขึ้น หากยินดีที่จะจ่ายเพิ่มขึ้น และ/หรือไม่ใช่เพียง "เสรีภาพแบบปัจเจก" ที่เกิดขึ้นได้ บนเงื่อนไขของการผูกขาด กรรมสิทธิเอกชน และการทำลายพื้นที่สาธารณะ ฯลฯ

เพราะเสรีภาพแบบที่ว่านั้นเป็นเพียงสภาวะแห่งการพึ่งพิงที่ลึกซึ้งขึ้น ไม่ต่างจากการตกเป็นทาสของสารเสพติด ที่ยิ่งเสพก็ยิ่งมีผลทำลายความสามารถในการมองเห็นการพึ่งพิงดังกล่าว ไม่ว่าจะเป็นการพึ่งพิงเครือข่ายที่กำหนดโดยธุรกิจการตลาด หรือการกำกับและความเห็นชอบของหน่วยงานรัฐ ที่พยายามสอดส่ายสายตาและมือไม้ที่หยุบหยับเข้ามาภายในเครือข่ายการสื่อสารที่ซับซ้อน แต่เปราะบางนี้

ดังนั้น ผู้ที่ต้องการควบคุมทิศทางและพลังของการสื่อสารย่อมต้องเข้าใจทั้งโอกาสและข้อจำกัดของสื่อใหม่ ซึ่งหมายถึงไม่ละทิ้งโอกาสที่จะใช้สื่อแบบอื่น ไม่ว่าจะเป็นสื่อสิ่งพิมพ์และการใช้ประโยชน์จากพื้นที่สาธารณะ ที่ในทางกลับกัน มีแนวโน้มจะถูกปิดกั้นในแง่เนื้อหาได้ยาก (หรือช้า) กว่า

สื่อใหม่ยังต้องเน้นความสามารถในการสื่อสาร ทั้งในแง่การเข้าถึงผู้รับสื่อจำนวนมากและในสถานที่ที่เหมาะสม โดยเฉพาะในย่านคนชนชั้นแรงงานที่ไม่มีโอกาสพึ่งพาเครือข่ายทางสังคมได้เท่ากับคนชนชั้นกลาง

การเพิ่มอำนาจในการควบคุมทิศทางของข้อมูล รวมทั้งพลังในการสื่อสาร ในแง่หนึ่ง จึงกินความไปถึง การขยายขอบเขตของความหมายสิ่งที่เรียกว่า "สื่อใหม่" ให้กว้างไกลไปกว่าเครือข่ายทางสังคมและโลกอินเตอร์เน็ต เพื่อไม่ให้เนื้อหาของสื่อถูกกำหนดจากรสนิยม บรรทัดฐานทางศีลธรรม หรือแม้กระทั่งความสามารถในการจ่ายของเสียงข้างมากเท่านั้น

แล้วการมีส่วนร่วมทางการเมืองที่เพิ่มขึ้นหละ ??

แน่นอนว่าอำนาจของสื่อใหม่ ส่วนสำคัญมาจากการเปิดพื้นที่ให้คนจำนวนมากขึ้นได้เข้ามีส่วนร่วมในการกำหนดประเด็นของข้อมูลหรือข่าวสารที่สมควรได้รับการดีเบตในสังคม แต่ก็ยังเป็นเรื่องที่ถกเถียงกันได้อยู่ว่าสังคมที่เรากำลังพูดถึงนั้นมีขอบเขตและอาณาบริเวณกว้างไกลแค่ไหน, ผู้รับสื่ออยู่ในพื้นที่ที่สอดคล้องกับประเด็นนั้นหรือไม่ และที่สำคัญ สังคมที่กำลังพูดถึงนั้นเป็นเพียงจินตนาการหรือเป็นพื้นที่จริงที่ผู้คนสามารถสร้างประสบการณ์และความทรงจำแบบรวมหมู่ได้ร่วมกัน

ที่สำคัญไปกว่านั้น การมีส่วนร่วมที่เรากำลังพูดถึงนั้น ต้องไม่ใช่การได้สวมบทบาทใหม่ เช่นเดียวกับที่ผู้บริโภคที่ได้รับความพึงพอใจเพิ่มขึ้นจากการได้มีส่วนร่วมในการประกอบสินค้าอุปโภคด้วยตนเอง (Do It Yourself)  หากเป็นเช่นนั้น การมีส่วนร่วมที่เรากำลังพูดถึง โดยเนื้อแท้แล้ว ก็เป็นเพียงเทคนิคใหม่ที่เกิดขึ้นจากการเปลี่ยนเทคโนโลยีการผลิตและพฤติกรรมการบริโภค ที่มุ่งให้ผลลัพธ์อย่างเดิมคือ กำไรสูงสุดสำหรับธุรกิจ และความพึงพอใจสูงสุด สำหรับผู้บริโภค

*****

บทความนี้ไม่ได้เสนอคำตอบใดๆ เกี่ยวกับสื่อใหม่และบทบาทของนักข่าวพลเมือง แต่จะขอตัดเอาคำพูดตอนหนึ่ง ของMicheal Hardt & Antonio Negri ในบทความล่าสุด (It Begins With Refusal  ใน Adbusters Magazine) มาเพื่อแสดงจุดยืนว่า 
"ใช่ เราต้องการค้นพบความจริง แต่ยิ่งไปกว่านั้น เราจำเป็นต้องสร้างความจริงใหม่ด้วย  (ความจริงใหม่) ที่จะถูกสร้างก็โดยเพียงความเป็นหนึ่งเดียวกันของเครือข่ายที่สื่อสารถึงกันและเป็น/อยู่ร่วมกัน"

******

จะน่าตกใจแค่ไหน หากเราพบว่า "เสรีภาพ" และ "การมีส่วนร่วมทางการเมือง" ในแบบปัจเจก ที่เราพึงพอใจว่าได้รับจากการใช้สื่อใหม่นั้น ในอีกด้านหนึ่ง ช่วยตอกย้ำให้การครอบงำและอำนาจทางเศรษฐกิจของสถาบันที่เป็นปริปักษ์กับเสรีภาพและการมีส่วนร่วมทางการเมืองแบบรวมหมู่นั้นมั่นคงแข็งแรงขึ้น???

ความคิดเห็น

บทความที่ได้รับความนิยม