เมืองกับการต่อต้านทุนนิยม

ผมเชื่ออยู่เรื่องหนึ่งว่าคนเราต้องพยายามใช้ชีวิตให้สอดคล้องกับการเมืองแบบที่ตัวเองเชื่อ เช่น ถ้าหากเราบอกกับตัวเอง (และสังคมโดยรอบ) ว่าเราต่อต้านระบบทุนนิยมที่มีการครอบงำของบรรษัทขนาดใหญ่ เพราะเห็นผลเสียที่เกิดจากกระบวนการผลิตและกระจายสินค้า ทั้งต่อสิ่งแวดล้อม สิทธิแรงงานและสุขภาพของเรา เราก็ควรปฏิเสธที่จะสนับสนุนบรรษัทเหล่านี้ อย่างน้อยในทางตรง คือ ลดและเลิกการอุดหนุนบรรษัทเหล่านี้ และสนับสนุนทางเลือกที่กำหนดพัฒนาหรือเกิดขึ้นแล้ว

อย่างไรก็ดี ความสามารถในการปฏิเสธของคนแต่ละคน ถูกกำหนดจากชุดของเงื่อนไขที่ต่างกันไป โดยเฉพาะฐานะทางเศรษฐกิจ ทางเลือกในการใช้ชีวิต ข้อมูลที่ได้รับและความตระหนักต่อปัญหา ฯลฯ

ทั้งหมดนี้ล้วนเกี่ยวพันกันและกำหนดซึ่งกันและกันอย่างลึกซึ้ง และผมเชื่อว่ามันเกี่ยวข้องกับชนชั้นทางสังคมที่คนแต่ละคนสังกัด ในแง่ที่ว่าคนชนชั้นทำงานย่อมมีเงื่อนไขทางสังคมและเศรษฐกิจที่บีบรัดมากกว่า เช่น รายได้ เวลาในการจับจ่ายซื้อของและประกอบอาหาร รวมทั้งการเข้าถึงแหล่งอาหารทางเลือกที่จำกัด เป็นต้น ดังนั้น คนชนชั้นทำงานจึงน่าจะมี "ชุดของเครื่องมือในการปฏิเสธและต่อรอง" ที่น้อยกว่าคนชนชั้นอื่น

หากเรามองในระดับชีวิตประจำวัน ความไม่สามารถต่อรองและต่อต้านกับการคุกคามของทุนอุตสาหกรรมที่ใกล้ชิดกับเราที่สุด คือทุนอุตสาหกรรมอาหาร ถูกแสดงออกให้เห็นชัดเจนในแง่ของสุขภาพและโอกาสเสี่ยงต่อโรคสมัยใหม่

เมื่อเราดูข้อมูลเกี่ยวกับผลเสียของอาหารสำเร็จรูปรวมทั้งฟาสต์ฟู้ดส์ (ในอเมริกา) ประกอบ จะเห็นว่า ครอบครัวคนชั้นทำงานอเมริกันมีป่วยด้วยโรคอ้วน รวมทั้งโรคเบาหวานมากกว่าคนชนชั้นอื่น โดยไม่ต้องพูดถึงการมีเวลาเพิ่มหรือสามารถปรับตารางเวลาเพื่อออกกำลังกาย อันนั้นเป็นอภิสิทธิ์ที่คนชนช้ันแรงงานไม่มีอยู่ในชุดเครื่องมือของพวกเขา

ทั้งนี้ ต้องให้ข้อสังเกตว่า ในอเมริกา คนที่มีรายได้ประจำจะถูกเรียกว่าชนชั้นกลาง ส่วนชนชั้นแรุงงานที่ไม่มีความมั่นคงในการทำงาน และได้รับรายได้ต่ำว่าค่าจ้างขั้นต่ำ จะถูกเรียกว่าชนชั้นแรงงานหรือชนชั้นล่าง ในที่นี่ ผมใช้คำว่าชนชั้นแรงงานที่กว้าง และบ่อยครั้งครอบคลุมทั้งสองกลุ่มนี้ แต่ป้ายนี้จะยึดหยุ่นไปตามมาตรวัดและสภาพการพัฒนาทางเศรษฐกิจเป็นสำคัญ

ตอนนี้ ผมอยากเน้นไปที่ปัจจัยเชิงภูมิศาสตร์ และอยากเน้นให้เห็นว่าปัจจัยเชิงภูมิศาสตร์เช่นพื้นที่ทางกายภาพและชุมชนทางสังคมมีส่วนสร้างและเป็นอุปสรรคสำหรับการพัฒนาชุดเครื่องมือของการต่อรองและปฏิเสธยังไง

นักภูมิศาสตร์เมืองอย่างเดวิด ฮาร์วีย์ได้เสนอไว้ใน Social Justice and The City ว่าทำเลที่ตั้งของที่อยู่ของคนเรา (โดยเฉพาะในเมืองและในระดับความสัมพันธ์กับเมือง) มีส่วนทำหน้าที่ "กระจายรายได้ที่แท้จริง" ให่้กับคนชนชั้นทำงานในแบบที่ต่างจากชนชั้นอื่น

กล่าวคือ ฐานะทางเศรษฐกิจเปิดโอกาสให้คนชนชั้นกลาง (ระดับสูงขึ้นไป) สามารถเลือกที่จะอาศัยในเขตที่มีอากาศดีกว่า (ในเชิงเปรียบเทียบ) และเข้าถึงสินค้าสาธารณะเช่น ความปลอดภัยทางทรัพย์สิน รวมถึงเครือข่ายของการคมนาคมที่สะดวกกว่าคนชนชั้นทำงาน ในทางกลับกัน ทางเลือกในการเลือกทำเลที่อยู่ของคนชนชั้นทำงานนั้นก็ถูกกำหนดจากความจำเป็นในการเข้าหาแหล่งงาน แรงกดดันจากค่าเช่า บริการขนส่งมวลชนที่มีอยู่ เป็นต้น

ในแง่นี้เราจะเห็นว่า ทั้งความสามารถในการเคลื่อนย้ายในเชิงกายภาพของเรา และความสามารถในการควบคุมและบริหารเวลา สัมพันธ์กับสังกัดชนชั้นทางสังคมของเราอย่างลึกซึ้ง

การอธิบายแนวคิดเรื่องการกระจายรายได้ที่แท้จริงโดยทำเลที่ตั้งของที่อยู่อาศัยของฮาร์วีย์ เป็นหน้าต่างสำคัญที่ช่วยให้เรามองเห็นความเชื่อมโยงของปัจจัยที่เป็นเงื่อนไขกำหนดความสามารถในการปฏิเสธและการต่อรองโดยผ่านการบริโภค (ส่วนในปริมณฑลของการผลิตเป็นอีกเรื่องหนึ่งที่สัมพันธ์กัน แต่ขอไม่พูดถึงตอนนี้) ซึ่งกลายเป็นพื้นที่ของการต่อสู้ดิ้นรนที่สำคัญของแรงงานไป

อย่างไรก็ดี จากที่กล่าวมาทั้งหมดข้างต้น ใช่ว่าจะสะท้อนให้เห็นเพียงข้อจำกัดของชนชั้นแรงงานเท่านั้น

โอกาสในการขยายชุดเครื่องมือนี้ ก็สามารถเกิดขึ้นได้จากการรวมกลุ่ม เพื่อสร้างอำนาจการต่อรองแบบรวมหมู่ในเรื่องสินค้าหรือบริการสาธารณะ โดยชุมชนได้เหมือนกัน (นักสังคมวิทยาเมืองอย่างมานูเอล คาสเตลส์ ได้พูดถึงแนวคิดเรื่อง collective struggle over urban public goods ในงานยุคแรกๆ ของเขา)

ทางออกหนึ่งในเชิงหลักการคือ ชนชั้นแรงงานจะเพิ่มความสามารถในการต่อรองและปฏิเสธจากการแบ่งปันชุดเครื่องมือที่เป็นแบบรวมหมู่ หรือพูดอีกแบบหนึ่งคือ ใช้ชุดเครื่องมือร่วมกันในระดับชุมชนนั่นเอง

ในทำนองเดียวกัน สำหรับคนงานระดับสองหรือสาม อย่างเช่น คนงานข้ามชาติ ที่การเคลื่อนย้ายและการรวมกลุ่มกันก็ถูกจำกัดมากกว่าคนงานชาติ ย่อมมีชุดเครื่องมือที่เล็กกว่า และหากคนกลุ่มนี้ ไม่ได้เข้าถึงทรัพยากรอาหารนอกระบบตลาด ก็ย่อมได้รับผลกระทบแง่ลบต่อคุณภาพชีวิตอย่างไม่มีทางหลีกเลี่ยง

ในระบบเศรษฐกิจที่ทุนอุตสาหกรรมขยายตัวและพัฒนาไปเป็นทุนภาคบริการ (การแลกเปลี่ยนและการกระจายสินค้า) การขูดรีดผ่านทางการบริโภคต่อคนชั้นแรงงานจึงมีแนวโน้มสูงขึ้นเป็นเงาตามตัว

ความคิดเห็น

บทความที่ได้รับความนิยม