Capitalism as a Death Making Enterprise

หายไปจากการเขียนและอัพเดทบล็อกหลายปี มีอะไรเปลี่ยนแปลงมากมาย โดยเฉพาะงานวิจัยหลายฉบับที่ทำเสร็จไป และการก่อตั้งสถาบันแรงงานและเศรษฐกิจที่เป็นธรรม โพสนี้เป็นโพสแรกแต่จะขอเขียนสั้นๆ เพื่อแนะนำหนังสือ 2 เล่ม 

-------------------

ทำไมสาธารณูปโภคพื้นฐานด้านสาธารณสุขและการดูแล ในสังคมทุนนิยมจึงไม่สามารถสนับสนุนกลุ่มเปราะบางทางสังคมได้ อย่างที่ควรจะเป็น?

ผมคิดว่าทฤษฏี Social Reproduction Theory (SRT) ช่วยตอบทำถามนี้ได้ดี เลยอยากแนะนำหนังสือสองเล่ม ที่มีอิทธิพลต่อผมอย่างมากในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา คือ Mapping Social Reproduction Theory และ Women and Work ทั้งสองเล่มเขียนโดย Susan Ferguson และพิมพ์โดย Pluto Press

ในวันเมย์เดย์ปีที่ผ่านมา Pluto จัดเสวนาออนไลน์พิเศษเกี่ยวกับประเด็นของ Covid-19 กับ SRT และผมคิดว่าคนที่สนใจทฤษฎีนี้น่าจะฟังสนทนาออนไลน์ Susan Ferguson & Tithi Bhattacharya โดย Pluto Press

หัวใจของคำอธิบายจากทฤษฎีนี้อาจจะสรุปเป็นประโยคสั้นๆ ตามที่เขียนเป็นชื่อโพสนี้คือ "ทุนนิยมคือองค์กรผลิตความตาย" ที่มาจาก Tithi เป็นคนกล่าวในวิดีโอ อาจจะดราม่านิดหน่อย แต่เป็นการพูดเกินจริงเพื่อให้เห็นภาพว่า การจัดวางความสัมพันธ์ทางสังคมในระบบทุนนิยมนั้น มีตรรกของการทำให้ชีวิตของกลุ่มกรรมกรหรือผู้ใช้แรงงาน โดยเฉพาะกลุ่มที่ gendered และ racialized ที่อยู่ชั้นล่างสุดดำรงอยู่แค่ประทังชีวิตไปวันต่อวันเท่านั้น โดยความสามารถในการมีชีวิตอยู่ไปวันๆ กลับผูกเข้าไว้กับ waged work หรือสถานะของการทำงานแลกกับค่าแรงในระบบทุน

คราวนี้ วิกฤตของโควิด 19 ที่เกิดขึ้นจึงเหมือนแว่นขยายหรือไฟฉายวิเศษที่มาส่องให้มันใหญ่เกินขนาดจริง และทำให้ทุนนิยมมันทำงานแบบที่เข้มข้นที่สุด 

แล้วเราได้เรียนรู้อะไรบ้างในเชิงนโยบายจากโควิด19 เมื่อมองภาพเลนส์ของ SRT หรือผมจะขอเรียกว่า Social Reproduction Feminism

1. สิ่งที่รัฐบาลประเทศต่างๆ กำลังทำในวิกฤตนี้ คือ ตั้งโรงพยาบาลพิเศษ จ่ายเงินพิเศษให้คนอยู่บ้าน อุดหนุนงบประมาณพิเศษให้กับคนตกงาน และจ่ายอุดหนุนในด้านสาธารณสุข ฯลฯ ทุกอย่างที่ทำเป็นกรณีพิเศษ คือ ตัวอย่างของระบบสวัสดิการที่สังคมในแบบตรงข้ามกับทุนนิยมควรจะมี 

2. ในทางตรงกันข้าม สิ่งที่เกิดกับกลุ่มเปราะบาง เช่น แรงงานข้ามชาติ ผู้อพยพ ผู้ต้องขัง แรงงานสำคัญในชีวิต (essential workers) เช่น ถูกบังคับให้ทำงานบนความเสี่ยง ถูกกักกันในสภาพของความเป็นอยู่ที่เสี่ยงต่อการติดไวรัส ขาดแคลนปัจจัยสี่ หรือได้รับการปฏิบัติอย่างไร้ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์  กลับสะท้อนความเป็นจริงในสังคมทุนนิยมที่ปกติเราไม่ได้ตั้งใจมอง แต่เมื่อถูกทำให้กระจ่างชัด เรากลับเห็นสภาพที่เข้มข้นขึ้นของสิ่งที่มันเป็น เหล่านี้คือตัวอย่างของสิ่งที่ทุนนิยมทำให้เกิด และควรเปลี่ยนแปลง

ขอแถมด้วยบทสัมภาษณ์ของผมเอง ในวันเมย์เดย์หรือวันกรรมกรสากลเช่นกัน ที่อาจจะมีบางส่วนช่วยอธิบายเติมเต็มในสิ่งที่ไม่ได้เขียน https://waymagazine.org/may-day-and-usa-workers-movement/

ประเด็นที่อยากจะเน้น และคิดว่า SRT เข้ามาช่วยให้เราเข้าใจกระจ่างชัดขึ้นคือ นัยสำคัญและคุณูปการของแรงงานกลุ่ม essential ที่เป็นผู้ผลิตซ้ำระบบทุน และผลิตซ้ำความสัมพันธ์ในเชิงชนชั้นของพวกเขาเองด้วย ทำให้เกิดภาวะที่เป็นดาบสองคมต่อระบบทุน กล่าวคือ เมื่อกลุ่มคนเหล่านี้ตายหรือไม่สามารถทำหน้าที่ผลิตซ้ำกำลังแรงงานตนเอง ไม่สามารถผลิตซ้ำกำลังแรงงานในเชิง generation และไม่สามารถสร้าง value ในระบบทุนนิยมได้ ระบบทุนนิยมก็หยุดชะงักและสุ่มเสี่ยงต่อการพังคลืนเป็นโดมิโนไปด้วย ดังนั้น ระบบนี้ไม่สามารถปล่อยให้มันเกิดขึ้น อำนาจของแรงงานกลุ่มนี้จึงเป็นเหมือนเหรียญอีกด้านของความเปราะบางที่พวกเขามี ซึ่งเป็นลักษณะ dialectics ที่สำคัญ



ความคิดเห็น

บทความที่ได้รับความนิยม