เสรีนิยมใหม่ พัฒนาการและอิทธิพล (๓)

2. เสรีนิยมสำนักประโยชน์นิยม : ทางเลือกระหว่างความสุขของสังคมและปัจเจกชน

สำนักความคิดเสรีนิยมได้นำเอาความคิดประโยชน์นิยม (Utilitarianism) เข้าแทนที่หลักสิทธิธรรมชาติในเวลาต่อมา โดยอธิบายใหม่ว่าเสรีภาพส่วนบุคคลนั้นเป็นอุดมคติเพราะสามารถนำไปสู่ความสุขสูงสุดของมนุษย์ เสรีภาพจึงเป็นเพียงเครื่องมือไปสู่เป้าหมายสุดท้าย คือ ความสุข แทนที่เสรีภาพจะเป็นจุดหมายปลายทางหรือเป็นอุดมคติในตัวของมันเองอย่างที่จอห์น ลอคเสนอ แนวความคิดประโยชน์นิยมนี้ได้รับการเผยแพร่ในวงกว้างโดยเจเรมี เบนแทม (Jeremy Bentham, 1748-1832) และมีส่วนสำคัญต่อการเกิดทฤษฎีเศรษฐศาสตร์แบบนีโอคลาสสิคที่เน้นเรื่องประโยชน์หน่วยสุดท้ายซึ่งให้ความสำคัญกับมูลค่าสินค้า (หรือประโยชน์จากการบริโภคสินค้า ซึ่งให้น้ำหนักกับการบริโภคและผู้บริโภค) มากกว่ามูลค่าของการผลิต (ซึ่งให้น้ำหนักกับการผลิต รวมทั้งเจ้าของปัจจัยการผลิต)

เบนแทมเกิดในตระกูลมั่งคั่ง บิดาเป็นนักกฎหมายที่มีชื่อเสียง เขาเองจบการศึกษาด้านกฎหมาย แต่ใช้เวลาส่วนใหญ่ของชีวิตในฐานะนักเขียนและเผยแพร่แนวความคิดประโยชน์นิยม ความคิดของเขามีอิทธิพลต่อสาขากฎหมาย การเมืองและเศรษฐศาสตร์อย่างมาก หนังสือที่มีชื่อเสียงของเขาคือ Fragment on Government (1766) และ An Introduction to the Pinciples of Morals and Legislation (1789) ในหนังสือเล่มหลังนี้ เขากล่าวว่า “ธรรมชาติได้ทำให้มนุษยชาติอยู่ภายใต้การควบคุมของนายเหนือหัวสองคน คือความเจ็บปวดและความพอใจ นายสองคนนี้เท่านั้นที่จะกำหนดว่าเราควรทำอะไร เช่นเดียวกับที่กำหนดว่าเราจะทำอะไร”




Jeremy Bentham (left); Bentham at UCL (right)

สำหรับเบนแทม มนุษย์ใช้เหตุผลเพื่อแสวงหาความพึงพอใจและหลีกเลี่ยงความเจ็บปวด (ทั้งทางกายภาพและทางจิตใจ) สองสิ่งนี้จึงเป็นสิ่งขับเคลื่อนสังคมในทรรศนะของเขา (ในลักษณะเดียวกับที่สมิทเชื่อว่าความเห็นแก่ตัวหรือประโยชน์ส่วนตัวคือสิ่งขับเคลื่อนสังคม)

เบนแทมเรียกหลักจริยธรรมของเขาว่าหลักแห่งประโยชน์ (Principle of Utility) ซึ่งประเมินการกระทำใดๆ ด้วยผลที่เกิดขึ้นต่อผู้ที่เกี่ยวข้องนั่นคือ ก่อให้เกิดประโยชน์หรือความสุขที่สูงขึ้นหรือลดลง โดยสามารถปรับใช้ได้ทั้งกับปัจเจกชนและสังคม ในกรณีของสังคม ทำให้เกิดวลีที่โด่งดังว่า การกระทำที่ดีที่สุดคือ การกระทำที่ก่อให้เกิด “ความสุขมากที่สุดของคนจำนวนมากที่สุด (the greatest happiness of the great number)” ทั้งนี้ เขาให้น้ำหนักกับสังคมมากกว่าปัจเจกชน เมื่อมีความขัดแย้งของหลักจริยธรรมระหว่างปัจเจกและสังคม ต้องถือหลักจริยธรรมของสังคมก่อน เขาไม่เชื่อเรื่องการผสานผลประโยชน์ลงตัวอย่างสมบูรณ์เหมือนสมิท แต่เชื่อว่าวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและเหตุผลของมนุษย์สามารถจัดการให้เกิดการผสานผลประโยชน์ในส่วนที่มีความขัดแย้งได้ เขาเสนอว่าควรใช้ระบบการศึกษาเพื่อพัฒนาปัจเจกและปรับปรุงระบบการเมืองและกฎหมายสำหรับสังคม

อย่างไรก็ตาม เสรีภาพของปัจเจกชนยังคงเป็นสิ่งสำคัญ เพราะปัจเจกชนจะแสวงหาความพอใจได้เต็มที่เมื่อมีเสรีภาพ และที่สำคัญ ไม่มีใครรู้ดีกว่าแต่ละบุคคลเองว่าอะไรจะนำมาซึ่งความพอใจสูงสุด แต่เมื่อใดที่เสรีภาพไปกระทบกับความพอใจของผู้อื่น เมื่อนั้นก็จะต้องออกกฎหมายเพื่อควบคุม ในเรื่องกรรมสิทธิ์ส่วนบุคคล เบนแทมอ้างหลักแห่งประโยชน์ว่ากรรมสิทธิ์จะสร้างแรงจูงใจในการทำงานให้กับบุคล เพราะบุคคลจะได้รับผลของความพยายามของเขาเอง ทำให้ขยันทำงานและผลผลิตของสังคมก็จะเพิ่มขึ้น รัฐจึงควรคุ้มครองกรรมสิทธิ์ส่วนบุคคลและส่งเสริมให้ปัจเจกชนมีสิทธิประกอบกิจการตามต้องการ โดยใช้กฎหมายเพื่อให้รางวัลและกำหนดบทลงโทษ เพื่อผสานประโยชน์ของส่วนรวม ส่วนระบบเศรษฐกิจที่ดีที่สุดสำหรับเบนแทมนั้นคือ ระบบการแข่งขันเสรีในตลาดที่ให้รางวัลกับผู้ผลิตที่ก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่สังคม คือ ใช้ทรัพยากรต่ำสุดเพื่อให้เกิดผลตอบแทนสูงสุด หรืออีกนัยหนึ่ง กำไรสูงสุดเป็นตัวชี้วัดและรางวัลสำหรับปัจเจกชนผู้ประกอบกิจการ ที่สามารถผลิตสินค้าที่สังคมต้องการสูงสุดด้วยวิธีที่ประหยัดที่สุด (หรือต้นทุนต่ำสุดนั่นเอง)

ลัทธิเสรีนิยมตามแบบประโยชน์นิยมนี้ มีลักษณะของประสบการณ์นิยม (Empiricism) แฝงอยู่มาก และต่างจากเสรีนิยมตามแบบสิทธิธรรมชาติที่อ้างอิงกับเหตุผลนิยมเพียงอย่างเดียว ในเสรีนิยมแบบประโยชน์นิยม รัฐสามารถมีบทบาทมากขึ้น ไม่ถึงกับถูกจำกัดให้ทำเฉพาะเรื่องความมั่นคงและบริการสาธารณะ รัฐสามารถใช้กฎหมายเพื่อคุ้มครองสิ่งที่เห็นว่า (หรืออ้างว่า) เป็นประโยชน์สาธารณะได้ อย่างไรก็ตาม มีการวิจารณ์ว่านักประโยชน์นิยมมักไม่คำนึงถึงหลักการหรือวิธีการเท่ากับผลลัพธ์ของการกระทำ เนื่องจากเห็นผลลัพธ์คือประโยชน์และความพอใจเป็นเป้าหมายสำคัญสุด ลัทธิเสรีนิยมตามแบบของเบนแทมนี้เองมีอิทธิพลอย่างมากในเศรษฐกิจการเมืองของอังกฤษในศตวรรษที่ 19 และมีอิทธิพลต่อแนวคิดทางเศรษฐศาสตร์ โดยเฉพาะทฤษฏีประโยชน์หน่วยสุดท้ายของสำนักออสเตรียและนีโอคลาสสิค



นักปรัชญาสำนักประโยชน์นิยมอีกคนที่มีชื่อเสียงมากคือ จอห์น สจ๊วต มิลล์ (John Stuart Mill, 1806-1873) ซึ่งบิดาของเขา เจมส์ มิลล์ (James Mill, 1773-1836) เพื่อนสนิทของเจเรมี เบนแทม ตัวของมิลล์เองจึงสนิทสนมกับครอบครัวของเจเรมี เบนแทม งานเขียนที่สำคัญของมิลล์คือ System of Logic (1834) และ Principles of Political Economy (1848) ซึ่งถูกใช้เป็นตำราเศรษฐศาสตร์ในอังกฤษและอเมริกาเป็นเวลานาน (ก่อนที่ Alfred Marshall จะเขียนหนังสือที่ถูกใช้เป็นตำราของสำนักนีโอคลาสสิค) หนังสือที่สำคัญที่สุดของมิลล์คือ On Liberty (1859) ซึ่งกลายเป็นข้อเขียนที่สนับสนุนเสรีนิยมของปัจเจกชนที่มีอิทธิพลและถูกใช้อ้างอิงมากที่สุดเล่มหนึ่ง มิลล์เองพยากรณ์ว่าหนังสือของเขาเล่มนี้จะมีความสำคัญในอนาคตอย่างมาก เพราะสังคมอุตสาหกรรมจะคุกคามเสรีภาพของปัจเจกชนมากขึ้นในอนาคต

มิลล์ได้ก่อให้เกิดคุณูปการสำคัญ 2 ประการคือ ประการแรก มิลล์ได้แก้ไขปรับปรุงหลักการประโยชน์นิยมไม่น้อย เขาพยายามเพิ่มเติมว่าประโยชน์หรือความพอใจบางอย่าง เช่นความพอใจทางปัญญาหรือจิตวิญญาณนั้น มีคุณค่ามากกว่าความพอใจทางกาย เขายังเสนอว่า ความพอใจสูงสุดคือ เกียรติ์และศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์และการให้เสรีภาพคือวิธีการส่งเสริมเกียรติ์และศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ด้วย ตามทรรศนะของมิลล์นั้น เสรีภาพจึงเป็นจุดมุ่งหมายสำคัญและเป็นเป้าหมายของสังคมในตัวเอง ซึ่งต่างจากทรรศนะของเบนแทมที่เห็นว่าเสรีภาพเป็นเพียงวิธีการไปสู่เป้าหมายคือ ความสุข

ประการที่สอง มิลล์เป็นนักคิดที่ให้ความสำคัญกับเสรีภาพอย่างเต็มที่ เขากล่าวว่าสิ่งที่เป็นศัตรูที่น่ากลัวที่สุดของเสรีภาพไม่ใช่รัฐบาล แต่เป็น “สังคมทรราช” เพราะต่อสู้ด้วยลำบากที่สุด วลีที่สำคัญของเขาคือ “ถ้ามนุษย์ทุกคนยกเว้นเพียงคนเดียวมีความเห็นอย่างหนึ่ง และคนคนเดียวนั้นมีความเห็นตรงกันข้าม มนุษยชาติก็ไม่มีความชอบธรรมที่จะทำให้บุคคลคนเดียวนั้นเงียบเสียงมากไปกว่าบุคคลนั้น ถ้าเขามีอำนาจมีความชอบธรรมที่จะทำให้มนุษยชาติเงียบเสียง” (On Liberty, บทที่ I, Introductory อ้างใน ฉัตรทิพย์ นาถสุภา ๒๕๕๐) เขาสนับสนุนเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นโดยให้เหตุผลว่าจะทำให้มนุษย์เข้าใกล้ความจริงมากขึ้น เขายังกล่าวอีกว่า การจำกัดสิทธิและเสรีภาพโดยการใช้อำนาจนั้นสามารถทำได้ก็ต่อเมื่อสิทธิและเสรีภาพนั้นไปกระทบหรือเป็นอันตรายต่อผู้อื่น การจำกัดเสรีภาพโดยอ้างประโยชน์ของตัวผู้ถูกจำกัดเสรีภาพเองจึงไม่สามารถทำได้ เพราะโดยธรรมชาติแล้ว เป็นเรื่องยากที่บุคคลจะให้คุณค่ากับประโยชน์ของบุคคลอื่นมากเท่ากับตัวบุคคลนั้นเอง จึงเป็นหน้าที่ที่ตัวบุคคลนั้นจะตัดสินใจและไม่ควรให้บุคคลอื่นหรือสังคมตัดสินใจแทน

ถึงแม้มิลล์จะเป็นผู้สนับสนุนเสรีภาพของปัจเจกชนแบบสุดขั้ว ข้อเสนอของมิลล์เองก็มีความเป็นสังคมนิยมผสมผสานอยู่ไม่น้อย กล่าวคือ ถึงแม้เขาจะสนับสนุนให้ตลาดทำงานเสรีโดยปราศจากการแทรกแซง แต่นั่นหมายถึงเสรีภาพในด้านการผลิต มิลล์มองว่าเรื่องของการจัดสรรรายได้เป็นคนละเรื่องกับการผลิต เพราะการจัดสรรรายได้ขึ้นอยู่กับสถาบันทางสังคม นอกจากนี้ เขายังเคยกล่าวเปรียบเทียบในทำนองว่า ถ้าหากระบบเศรษฐกิจเสรีนิยมทำให้เกิดการกดขี่ขูดรีดแรงงานอย่างที่เป็นอยู่ในขณะนั้นโดยไม่สามารถแก้ไขอะไรได้แล้ว ระบบคอมมิวนิสต์ที่ถึงแม้จะด้อยกว่า ก็ยังดูเหมือนจะก่อให้เกิดปัญหาน้อยกว่ามาก เขาเองยังเสนอให้ปรับปรุงระบบวิสาหกิจเอกชนและกรรมสิทธิ์ส่วนบุคคลโดยสนับสนุนให้เก็บภาษีที่ดิน ภาษีมรดก (เขาเห็นว่าสิทธิที่จะมอบมรดกนั้นเป็นสิทธิที่ควรได้รับความเคารพ เพราะเป็นเจตจำนงของปัจเจกชน แต่การรับมรดกโดยไม่มีข้อจำกัดเป็นอันตรายต่อเสรีภาพของปัจเจกเพราะทรัพย์สินไปสะสมอยู่ในที่ใดที่หนึ่ง) และให้ยกเลิกระบบค่าจ้างและการจ้างงานในระยะยาว โดยหันมาใช้ระบบสหกรณ์แทน (ซึ่งเป็นอิทธิพลของสังคมนิยมยูโธเปียและนักคิดฝรั่งเศสอย่างแซงต์ ซีมง)

ความคิดเห็น

Kriangsak กล่าวว่า
บทความที่น่าสนใจที่วันนี้ได้อ่านจากประชาไท คือ เราจะไปทางไหนดี ของกลุ่มประกายไฟ
http://blogazine.prachatai.com/user/iskra/

ที่นำเสนอแนวทฤษฎีแบบมาร์กซิสม์ ในสายลัทธิแก้ ของเบิร์นสไตน์ ที่เน้นการประนีประนอมกับนายทุน(หรือทุนนิยม)

นอกจากตรรกะแบบมาร์กซิสม์กระแสหลักและสายลัทธิแก้แล้ว ในบทความนี้ มีส่วนที่พยายามอธิบายการล่มสลายของทุนนิยมรัฐสวัสดิการตามเงื่อนไขและข้อจำกัดทางประวัติศาสตร์ รวมทั้งการเข้ามาแทนที่ของเสรีนิยมใหม่

ผมได้คัดลอกส่วนสุดท้ายมาให้อ่านเป็นตัวอย่าง

++++++++++++++++++++++++++++++++++
บทสรุปพรรคสังคมประชาธิปไตยหลังเสรีนิยมใหม่

พรรคสังคมประชาธิปไตยหลังจากเผชิญวิกฤติและข้อจำกัดในระบบทุนนิยม จึงมีการพัฒนาแนวทางใหม่ เรียกว่าแนวทางที่สาม ซึ่งพัฒนาโดยแนวคิดของ แอนโทนี กิดเดนส์ ซึ่งเมื่อศึกษาแนวทางของพรรคเหล่านี้เราจะเห็นถึงปลายทางของลัทธิแก้ที่สุดท้ายแล้ว แนวทางที่สามได้ประกาศจุดยืนในการประนีประนอมกับระบบทุนนิยม มากขึ้นกล่าวคือ การจัดสวัสดิการให้กับสังคมสามารถทำได้ตราบเท่าที่ประเทศสามารถแข่งขันในตลาดโลกได้ แนวทางนี้ยังมีการเรียกร้องให้สภาพแรงงานลดท่าทีที่แข็งกร้าวลงเพื่อเศรษฐกิจภาพรวมของประเทศ และสร้างบรรยากาศการลงทุน ซึ่งเป็นภาพสะท้อนว่าท้ายที่สุดแล้วหากเราประนีประนอมกับระบบทุนนิยม ปฏิรูปไปพร้อมๆกับปกป้องมัน เราก็จะติดอยู่ในกับดักของชาตินิยม ซึ่งท้ายที่สุดแล้ว รัฐชาติในระบบทุนนิยมก็มิได้เป็นอะไรมากกว่าเครื่องมือของชนชั้นนายทุนในการกดขี่ชนชั้นกรรมาชีพ

++++++++++++++++++++++++++++++++++

บทความที่ได้รับความนิยม