ถอดรหัส Babel

ภาพยนตร์เรื่อง Babel ทำให้เรามองเห็นความเชื่อมโยงระหว่างผู้คนที่อาศัยอยู่ในแต่ละมุมโลก ซึ่งถึงแม้จะแตกต่างกันในภาษา วัฒนธรรมและรูปแบบการดำเนินชีวิต แต่โลกาภิวัตน์ทางการสื่อสารและวัฒนธรรม ทำให้คนเหล่านี้ผูกโยงกันด้วยเส้นด้ายบางๆ ที่โยงใยในลักษณะโครงข่ายซับซ้อนและมองไม่เห็นด้วยตาเปล่า แต่เราสามารถสัมผัสและรับรู้ได้เมื่อพิจารณาผลกระทบของเหตุการณ์ที่ส่งถึงกันอย่างรวดเร็วและรุนแรง

โดยสรุป Babel คือภาพสะท้อนของความหลากหลาย ความซับซ้อน และความสับสน ในโลกปัจจุบัน

ความสับสนที่ว่านี้มีสิ่งเร้าคือ ความรวดเร็วในการสื่อสารผ่านปลายนิ้วและความล้นหลามของข้อมูลข่าวสาร ทั้งที่ถูกและผิด ชัดเจนและไม่ชัดเจน เราทุกคนจึงมีโอกาสที่จะผลีผลามพุ่งเข้าใส่ข้อสรุปที่ผิดได้ หากไม่ชั่งใจหรือตรวจสอบกับข้อมูลที่ได้รับ

ในไบเบิล ส่วนของการกำเนิดโลก (La Genèse) ได้มีการพูดถึงหอคอยบาเบล (la tour de Babel) เอาไว้หลังจากเหตุการณ์น้ำท่วมและการสร้างกฎเกณฑ์ใหม่ของโลก โดยในขณะนั้น มนุษย์ทุกคนต่างใช้ภาษาเดียวกัน หลังจากที่พวกเขาเดินทางไปทางตะวันออก ก็ได้พบกับสถานที่ที่ต้องการจะตั้งหลักแหล่ง และก็ได้ลงความเห็นกันว่าจะสร้างเมืองที่นั่น รวมทั้งสร้างหอคอยให้สูงเสียดฟ้า

« Allons ! Bâtissons-nous une ville et une tour dont le sommet pénètre les cieux ! Faisons-nous un nom et ne soyons pas dispersés sur toute la terre ! »

หลังจากนั้น พระเจ้าได้ลงมาเพื่อดูเมืองและหอคอยที่มนุษย์สร้าง และตัดสินใจที่จะทำให้มนุษย์กระจัดกระจายไปทั่วโลกและใช้ภาษาที่ต่างกัน

ในขณะที่พระเจ้าทำลายหอคอยนี้ พระเจ้าได้เอ่ยคำว่า Bavel หรือ Babel ซึ่งใกล้เคียงกับคำในภาษาฮิบรูที่แปลว่า “ความสับสน” ที่แห่งนี้เองที่เราให้ชื่อว่าบาเบล สถานที่ซึ่งพระเจ้าสร้างความสับสนในภาษาให้กับมนุษย์และทำให้เรากระจัดกระจายไปทั่วบนพื้นโลกใบนี้

Jacques Derrida (1930-2004) นักปรัชญาที่มีชื่อเสียงของฝรั่งเศส มักจะอ้างอิงถึงหอคอยบาเบลตามความเชื่อในไบเบิล เมื่อกล่าวถึงแนวความคิดเรื่องความไม่สามารถแปลจากภาษาหนึ่งไปยังภาษาหนึ่งได้สมบูรณ์

กล่าวคือ Derrida ต้องการชี้ให้เห็นจากคำบอกเล่าเกี่ยวกับหอคอยบาเบลว่า ในเมื่อมนุษย์ต่างใช้ภาษาที่แตกต่างกัน การทำความเข้าใจซึ่งกันและกัน รวมทั้งการเรียนรู้จากภาษาอื่นนั้น ก่อให้เกิดความจำเป็นของการแปลภาษา อย่างไรก็ตาม เราต่างก็พบกับอุปสรรคในการแปลจากภาษาหนึ่งไปยังอีกภาษาหนึ่ง และพบว่าเราไม่สามารถแปลจากภาษาหนึ่งไปยังอีกภาษาหนึ่งได้สมบูรณ์ (แง่มุมอื่นของ Babel สามารถศึกษาได้จากงานของ Derrida)

เราทุกคนจึงควรตระหนักถึงอุปสรรคของการสื่อสาร รวมทั้งอุปสรรคของการทำความเข้าใจระหว่างภาษาและวัฒนธรรมที่แตกต่าง และหลากหลายบนโลกใบนี้ ความสับสนอาจเกิดขึ้นระหว่างกันได้ง่าย โดยเฉพาะบนโลกที่กระแสข้อมูลหลั่งไหลท่วมท้น สิ่งต่างๆ สามารถส่งผลกระทบถึงกันอย่างรวดเร็วและรุนแรงอย่างที่เราไม่อาจคาดถึงได้

References
1. La Bible : La Bible de Jérusalem, les éditions du CERF 1998
2. Jacques Derrida, par Geoffrey Bennington et Jacques Derrida, Seuil 1991

ความคิดเห็น

ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า
two thumbs up jaaa
Mr.Bhumindr BUTR-INDR กล่าวว่า
หน้าสนใจมากครับ ผมพึ่งรู้เลยนะว่าคำนี้มาจากต้นตออย่างที่อธิบายไว้

แล้วข้อมูลที่อ้างอิงนี่ไปเอามายังไงละครับนี่

บทความที่ได้รับความนิยม