Téléthon เงินและบุญ

เราทุกคนเคยได้ยินประโยคที่ว่า “เงินซื้อทุกอย่างไม่ได้” ซึ่งมักจะถูกเปล่งออกจากปากของตัวละครพระเอก (แน่นอน ต้องยากจน) ที่กำลังถูกพ่อแฟน หน้าตาขี้โกง แต่แต่งตัวดี มีลูกน้องห้อมล้อม ฟาดหัวด้วยซองขาวหนาเตอะหรือเช็ค (หนึ่งใบ ไม่ใช่สมุดเช็ค) แต่เลือกที่จะปฏิเสธ ก่อนหน้าที่จะเดินจากไป โดยไม่หันหลังกลับมาเสียดาย

แน่นอน ฉากนี้คงจะมีแต่ในละครเท่านั้น

แต่สิ่งที่เราได้จากละครคือ ประโยคข้างต้นมีสัจธรรมอยู่ไม่น้อย เพราะเราไม่สามารถซื้อสิ่งบางสิ่ง (ที่ไม่ใช่สินค้า) ด้วยเงิน เช่น ความสุข ความรัก หรือความดี แเต่เราก็ไม่อาจปฏิเสธว่าเงินก็ทำให้หลายคนมีความสุข ช่วยถนอมความรักให้ยืนนาน และสร้างความดีได้

เพราะฉะนั้น ปัญหาไม่ได้อยู่ที่ตัวของเงิน แต่เป็นวิธีการใช้เงิน

ในทางตรงกันข้าม ตัวละครอีกตัวที่อาจจะได้รับเกียรติให้พูดประโยคศักดิ์สิทธิ์นี้ ก็คือ ตัวร้ายแสนเลว ที่ดันเฮงเกิดมามีพ่อรวย แต่กลับต้องลงเอยอย่างไร้เกียรติ

ที่กำลังจะพูดถึงต่อไปนั้นไม่เกี่ยวกับละครหรือหนังไทย วิวาทะระหว่างพระเอก/ตัวร้าย หรือความดี/ความเลว แต่อย่างใด
ผมกำลังจะชี้ให้เห็นความจริงอย่างหนึ่งที่คนมักปฏิเสธ (เพราะเกรงว่าความจริงนี้จะทำให้ใจมัวหมอง) คือเงินนั้นเป็นสิ่งสำคัญ และเงินนั้นเปลี่ยนโลกได้อย่างที่เราไม่คาดคิดที่เดียว

ใช่ครับ เจ้า“เงิน” ปีศาจร้ายตัวนั้นแหละ ที่ทำให้หลายคนมัวเมา และจมปรักอยู่กับความโลภ ใช่ครับ เป็นเงินตัวเดียวกันนั้นแหละ ที่เราตราหน้าว่าเป็นสิ่งล่อลวงตา และพาให้ใจของใครต่อใครใหลหลง จนยอมตนเป็นทาสของมัน

เงินตัวดีนี้แหละครับ ตัวที่มนุษย์สร้างขึ้นมากับมือ แต่กลับบ่นกันนักหนาว่ามีไม่พอใช้

แล้วมันกลับกลายมาเป็นของดีได้ไฉน ?

เป็นเรื่องที่น่าแปลก เมื่อคุณค่าของเงิน กลับเพิ่มมากขึ้น เมื่อมันได้ละทิ้งหน้าที่แรกและหน้าที่สำคัญที่สุดของมัน (คือ ใช้เพื่อเป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยน) นั่นคือ เมื่อมันกลายเป็นสิ่งให้เปล่า ให้โดยไม่หวังสิ่งตอบแทน (กรณีชองเงินบริจาคหรือทาน) โดยสิ่งตอบแทนในที่นี้หมายถึง สิ่งตอบแทนจากผู้รับมอบให้กับผู้ให้ หากจะมีใครหวังบุญหรือหวังให้ผู้รับมีชีวิตที่ดีขึ้น กรณีนี้ไม่นับว่าเป็นสิ่งตอบแทนในความหมายที่กำลังพูดถึง

หากอธิบายในเชิงเศรษฐศาสตร์แบบง่ายๆ เงินบริจาคหรือทานนั้น สร้างความพึงพอใจหรืออรรธประโยชน์ให้กับผู้รับ มากกว่าเมื่ออยู่ในมือของผู้ให้อย่างมากทีเดียว ปรากฏการณ์มหัศจรรย์ของการให้ คือ เงินจำนวนเดียวกัน สามารถมีค่าหรือคุณค่าแตกต่างกัน

นอกจากนี้ สิ่งที่เราได้เรียนรู้จากเงินอีกอย่างคือ ความขัดแย้งในตัวของมันเอง ที่สะท้อนจากความแปรผันในปริมาณและคุณค่าของเงิน กล่าวคือ เงินที่ดีจะต้องมีค่าคงที่ นั่นก็หมายถึงจะต้องมีปริมาณคงที่ด้วยเช่นกัน รวมทั้งถ้าหากเราผลิตมันมาก มันจะมีค่าน้อย(และเป็นจริงในทางตรงกันข้าม) เราจึงไม่สามารถสร้างมันขึ้นมาตามที่เราต้องการ

ลองนึกถึงตัวอย่างที่จับต้องได้ หรือเหตุการณ์ในระดับชาติและนานาชาติสองกรณีตามลำดับ หนึ่ง กรณีของรายการ Téléthon ซึ่งเรื่ยรายเงินบริจาคเพื่อพัฒนาการวิจัย ในการรักษาโรคทางพันธุกรรมในเด็ก ที่รักษายากและการแพทย์ยังขาดความรู้ สองกรณีของ เงินช่วยเหลือจากนานาชาติ โดยเฉพาะจากประเทศที่ร่ำรวย แก่ประเทศยากจน เพื่อให้หลุดพ้นจากความยากจน

ปรากฏว่า กรณีแรกนั้น ถือเป็นความสำเร็จอย่างมากในหลายประเทศ โดยเฉพาะฝรั่งเศส เมื่อเงินบริจาคจำนวนมหาศาลนั้นสามารถสร้างความรุดหน้าทางการวิจัยและเปลี่ยนแปลงชีวิตของเด็กพิการและครอบครัวจำนวนมาก ส่วนในกรณีหลังนั้น เราเห็นความสำคัญของมันได้จาก คำวิจารณ์ของนักเศรษฐศาสตร์จำนวนมากต่อประเทศพัฒนาแล้วหลายประเทศ ที่เจียดเงินช่วยเหลือประเทศในอาฟริกาเป็นสัดส่วนที่เทียบไม่ได้กับที่ใช้ในการทำสงคราม

เป็นเรื่องน่าคิด เมื่อเราพบว่า เราจะสามารถพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนบางกลุ่มได้ ก็ต่อเมื่อเรามีเงินมากพอที่จะซื้อของที่ผลิตโดยตัวเราเอง ในกรณีของ Téléthon อาจจะซับซ้อนกว่าที่กล่าวมา เพราะผลจากการวิจัยไม่สามารถซื้อได้จากเงินโดยตรง แต่ก็เป็นผลของเงินที่ได้รับร่วมกับเทคนิค ระยะเวลา และความเชี่ยวชาญของนักวิจัย (ซึ่งต่างก็ล้วนเป็นฟังก์ชั่นของเงินไม่มากก็น้อย)

นอกจากนี้ เป็นเรื่องน่าคิดอีก และคงจะน่าละอายด้วยไม่น้อย หากเรารู้ว่าเราใช้เงินไปในทางที่ไม่ควรมากเท่าใด ทั้งในฐานะของบุคคล และในฐานะขององค์รวม เช่น ใช้ซื้อเหล้า บุหรี่ การพนัน อาวุธ

อย่างไรก็ตาม อุปสรรคที่สำคัญของการเปลี่ยนแปลงโลก คือการทำให้คนส่วนใหญ่มองเห็นผลของการกระทำในเชิงองค์รวม (Collective action) เช่นเดียวกับกรณีของการรณรงค์ให้ร่วมกันรักษาสิ่งแวดล้อม ซึ่งเราเองอาจไม่เชื่อเลยว่าหากเราลงมือทำพร้อมๆ กันจริงๆ มันจะเป็นเรื่องง่ายมากที่จะเปลี่ยนแปลงอะไรบางอย่างในระดับโครงสร้าง

ในฐานะของการให้ เงินบริจาคหรือทานสร้างสัญลักษณ์ของความดีที่ทำลายอัตลักษณ์ของความโลภและการบริโภคนิยมในตัวของเงินลง เราอาจจะทำลายอุปสรรคของความตระหนี่และเห็นแก่ตัวในระดับปัจเจกลงได้ โดยใช้บุญเข้าล่อ แต่ในระดับของสังคมแล้ว เป็นเรื่องยากมาก ที่จะใช้เพียงสิ่งล่อเชิงสัญลักษณ์ดังกล่าว

ความคิดเห็น

fay's world กล่าวว่า
ในสังคมโลกที่กำลังตื่นตัวกับการรณรงค์เรื่องสิ่งแวดล้อม เรื่อง global warming ความร่วมมือกันระหว่างนานชาติเป็นเรื่องที่จำเป็นอย่างยิ่ง

สัดส่วนในการช่วยเหลือด้านเงินทุนของแต่ละชาติมันไม่เท่ากัน เพราะประเทศใหญ่ย่อมทำลายสิ่แวดล้อมมากกว่าประเทศเล็ก เพราะงั้นตัวแปรที่จะช่วยในการคำนวณว่าใครจ่ายเท่าไหร่ มันจึงเป็นเรื่องยาก และประเทศต่างๆก็ยอมรับมาตราฐานการช่วยเหลือด้านเงินทุนต่างกัน

ข้อสรุปเรื่องเงินช่วยเหลือของแต่ละประเทศต่อวิกฤตการณ์โลกร้อนจึงยังไม่มี เพราะแต่ละคนก็ออกมาไม่ยอมที่จะจ่ายมากกว่าอีกคน ทั้งๆที่ตัวเองทำลายโลกมากกว่าอีกคน ...

ถ้าเพียงแต่เราสามารถได้รับเงินบริจาคการช่วยเหลือสิ่งแวดล้อมได้อย่างที่ téléthon ทำได้!
Mr.Bhumindr BUTR-INDR กล่าวว่า
การทำให้คนส่วนใหญ่มองเห็นผลของการกระทำในเชิงองค์รวม (Collective action) เช่นเดียวกับกรณีของการรณรงค์ให้ร่วมกันรักษาสิ่งแวดล้อม ซึ่งเราเองอาจไม่เชื่อเลยว่าหากเราลงมือทำพร้อมๆ กันจริงๆ มันจะเป็นเรื่องง่ายมากที่จะเปลี่ยนแปลงอะไรบางอย่างในระดับโครงสร้าง อันนี้น่าคิดนะครับว่ามันขัดกับนิสัยพื้นฐานของเราเองรึป่าว

บทความที่ได้รับความนิยม