หนัง (สือ (การ์ตูน)), ความรัก, ชีวิต, และการเมือง






๑.
หนังสือและภาพยนตร์ถูกใช้เป็นเครื่องมือสำคัญในการบอกเล่าเรื่องราวมาเป็นเวลานานแล้ว ไม่ว่าเรื่องราวนั้นจะเป็นเรื่องแต่งหรือถ่ายทอดมาจากชีวิตของคนที่มีตัวตนอยู่จริง

ในแง่ของการเสพย์ ทั้งหนังสือและภาพยนตร์มีความแตกต่างกันมาก เพราะโดยปกติ เราจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเสพหนังสือคนเดียว ขณะที่ภาพยนตร์ถูกสร้างขึ้นมาให้เสพเป็นหมู่คณะ และเสน่ห์ของมันก็มาจาก “พิธีกรรม” ดูหนัง ที่จะว่าไป ก็คือข้อจำกัดที่ถูกสร้าง ทั้งในด้านเวลาและสถานที่ ที่เราจะต้องซื้อตั๋วเข้าไปดูพร้อมๆ กับคนอื่น ในสถานที่และเวลาที่ถูกจัดขึ้นเท่านั้น (กรณีของโฮมเธียเตอร์และหนังแผ่น คงจะไม่เข้าข่าย และทำให้มันขาดเสน่ห์และบรรยากาศไปอย่างเห็นได้ชัด)

จึงเป็นเรื่องค่อนข้างแปลกและน่าสนใจในตัวของมันเอง ที่หนังสือ ซึ่งถูกออกแบบให้บริโภคโดยปัจเจก (ทีละคนหรืออย่างมากก็สอง ส่วนกรณีเล่านิทานให้เด็กเป็นกลุ่มฟัง เป็นกรณีพิเศษ) สามารถสร้างอิทธิพลทางความคิดในระดับสังคมได้ลึกซึ้งและรุนแรงกว่าภาพยนตร์ ที่สามารถดูพร้อมๆ กันเป็นหลักสิบหรือหลักร้อย และอาจจะเป็นพัน ถ้านับรวมจำนวนคนดูในแต่ละโรงที่ฉายในช่วงเวลาเดียวกัน

(เป็นเรื่องของจินตนาการหรือ? ทั้งที่ภาพยนตร์สามารถ เสนอภาพที่จับต้องได้มากกว่า?)

แน่นอน หนังสือมีอายุเก่าแก่กว่าภาพยนตร์มาก แต่หนังสือก็มีลักษณะลึกลับน่าสนใจ ไม่แพ้ที่ภาพยนตร์มีเช่นกัน เพราะหัวใจของหนังสือเองกลับไม่ได้อยู่ที่ “ตัวของหนังสือ” หรือแผ่นกระดาษที่นำมาเย็บรวมติดกัน หากแต่เป็น “ตัวหนังสือ” ที่ถูกนำมาเรียงกัน และร้อยเข้าเป็นองค์เดียวที่มีความต่อเนื่อง หรือจะว่าไป หนังสือก็เป็นแค่สื่อ พาหะหรือพาหนะ ที่บรรทุกสิ่งนามธรรมไว้บนหลัง

ถึงแม้ว่าคนไม่น้อยจะหลงใหลเสน่ห์ของ “ความเป็นหนังสือ” และชื่นชมกลิ่นรสของการอ่านจากหนังสือมากกว่าการอ่านจากจอคอมพิวเตอร์หรืออะไรใหม่กว่านั้น และถึงแม้จะมีคนคลั่งไคล้ศิลปะของการเข้าเล่มหรือการทำให้เป็นหนังสือ (เช่นผู้กำกับเป็นเอก) แต่ในที่สุด เราก็ไม่ได้และไม่เคยยกย่องผู้สร้างหนังสือ เฉกเช่นเดียวกับที่เรายกย่องผู้เขียนหนังสือ

ยังไงก็ตาม หนังสือในความหมายกว้างหรือวรรณกรรมที่ถูกจัดให้เป็นประเภทหนึ่งของศิลปะ ก็แยกไม่ออกจากตัวของหนังสือหรือรูปแบบของมัน รวมทั้งมันยังมีสถานะทางด้านความงามและคุณค่าเหนือกว่าภาพยนตร์หรือหนัง ที่ถึงแม้จะได้รับการยกย่องให้เป็นศิลปะประเภทที่ ๗ (le septième art) ในปัจจุบัน

เพราะโลกยอมรับหนังสือในฐานะสัญลักษณ์ของปัญญาและความรู้อย่างเป็นเอกฉันท์ ขณะที่เอกภาพของความเห็นแบบนี้ต่อภาพยนตร์ในฐานะงานศิลปะหรือต่อการสร้างหนังในฐานะศาสตร์หนึ่งยังห่างไกลจากวันที่เราจะเรียกว่า “ได้วางเสาเข็ม” มากนัก

ความคิดเห็น

บทความที่ได้รับความนิยม