ประเด็นท้าทายของการปฏิรูปประเทศไทย

คอลัมน์มุมมองบ้านสามย่าน นสพ. กรุงเทพธุรกิจ
โดยเกรียงศักดิ์ ธีระโกวิทขจร
วันที่ 21 กรกฎษคม 2553
-----------------------------------------------------------------------

อย่างที่ทราบกันดีว่าคณะรัฐมนตรีได้มีมติแต่งตั้งคณะกรรมการปฏิรูปประเทศขึ้นมา 2 ชุดคือ คณะกรรมการปฏิรูปและคณะกรรมการสมัชชาปฏิรูปประเทศไทย ซึ่งมีอดีตนายกฯ อานันท์ ปันยารชุนและนายแพทย์ประเวศ วะสีเป็นประธาน ตามลำดับ ทั้งนี้ คณะกรรมการชุดแรกประกอบด้วยอดีตข้าราชการ ผู้บริหารองค์กรพัฒนาเอกชนและนักวิชาการที่เป็นที่รู้จักและยอมรับในความเชี่ยวชาญจำนวน 19 คน ขณะที่คณะกรรมการชุดหลังประกอบด้วยตัวแทนของสาขาอาชีพ กลุ่มผลประโยชน์ สถาบันการศึกษาและภาคส่วนต่างๆ อีก 27 คน

ความรู้ความเชี่ยวชาญของคณะกรรมการปฏิรูปชุด “อิน-จัน” นี้คงไม่ใช่สาระสำคัญที่สุดในการผลักดันให้เกิดการปฏิรูปเปลี่ยนแปลงประเทศ ประการแรก ผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการทั้งสองล้วนมีบทบาทในสังคมกันมาอยู่ก่อนแล้ว ไม่ว่าจะในฐานะของปัญญาชนสาธารณะ นักเคลื่อนไหวหรือผู้ที่มีโอกาสชี้นำการตัดสินใจเชิงนโยบายด้านต่างๆ กรรมการบางท่านก็ได้มีโอกาสเสนอแนะแนวความคิดของท่านในเรื่องปฏิรูปมาอย่างต่อเนื่อง ประการต่อมา ถึงแม้ว่าวิกฤตสังคมในช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมาจะสะท้อนให้เห็นถึงการขาดแคลนองค์ความรู้ในการจัดการความขัดแย้งและต้องการข้อเสนอที่เป็นรูปธรรมก็ตาม แต่ประเด็นของการปฏิรูปกลับไม่ได้อยู่ที่ปัญหาเฉพาะหน้า แต่เป็นเรื่องการสร้างบรรยากาศทางการเมืองและปัจจัยทางสังคมที่เอื้ออำนวยให้พลัง “ก้าวหน้า” ที่ต้องการการเปลี่ยนแปลงสามารถทำงานได้ อย่างเช่นที่เคยเกิดขึ้นภายหลังเหตุการณ์เดือนพฤษภาคม ปี 2535 อันนำไปสู่การร่างรัฐธรรมนูญฉบับปี 2540 และการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางการเมืองขนานใหญ่ในขณะนั้น

ภารกิจหลักของคณะกรรมการทั้งสองชุด จึงไม่น่าใช่การหาคำตอบว่าเราจะปฏิรูปอะไรและอย่างไร แต่เป็นการทำให้เกิดเงื่อนไขของการปฏิรูป ซึ่งความท้าทายอยู่ที่การทำให้ทุกภาคส่วนและทุกฝ่ายของความขัดแย้งยอมรับและสนับสนุนการปฏิรูปและการทำงานของคณะกรรมการปฏิรูปทั้งสองชุดดังกล่าว

เงื่อนไขของการปฏิรูปจะเกิดขึ้นได้อย่างไร ?

ไม่ว่าคณะกรรมการปฏิรูปทั้งสองชุดจะประกอบไปด้วย “คนดี” หรือ “คนเก่ง” มากเพียงใด ในสังคมประชาธิปไตย การตัดสินใจว่าจะปฏิรูปโครงสร้างส่วนไหน อย่างไรนั้น ไม่สามารถเกิดขึ้นจากการปรึกษาหารือกันของ “ผู้รู้” เพียงกลุ่มหนึ่งได้ คณะกรรมการทั้งสองชุดจึงเป็นเพียงกลไกหรือผู้อำนวยให้เกิดการปฏิรูปเท่านั้น นอกจากนี้ การตัดสินใจในเรื่องการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างเป็นประเด็นการเมืองที่จะส่งผลให้เกิดการจัดสรรทรัพยากรใหม่ในสังคม กระบวนการตัดสินใจในเรื่องการปฏิรูปจึงต้องได้รับความไว้วางใจจากคนส่วนใหญ่และจะต้องมีจุดเชื่อมโยงกับประชาชนโดยวิธีการแบบประชาธิปไตย ดังนั้น คณะกรรมการสมัชชาปฏิรูปหรือกรรมการชุดของหมอประเวศจึงต้องมุ่งเน้นในเรื่องการมีส่วนร่วมของประชาชนในวงกว้างอย่างจริงจังที่สุด เพื่อให้สังคมส่วนรวมยอมรับว่าการปฏิรูปที่กำลังเกิดขึ้นจะผลักดันไปสู่สังคมในรูปแบบที่เขารับได้ร่วมกัน

อย่างไรก็ตาม เมื่อหันกลับมาดูเงื่อนไขและบรรยากาศในสังคมท่ามกลางการคงประกาศใช้พระราชบัญญัติการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน (พ.ร.ก. ฉุกเฉิน) ปรากฏว่ายังคงมีกลุ่มคนจำนวนมากที่ถูกกีดกันออกจากกระบวนการปฏิรูปประเทศ ไม่ว่าจะโดยถูกริดลอนสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นโดยตรงหรือถูกผลักออกไปจากกระบวนการโดยทางอ้อม เนื่องด้วยความหวาดกลัว คับข้องใจ ความระแวงหรือความคับแค้น อันเกิดจากผลของเหตุการณ์ปะทะในเดือนเมษายนและ/หรือการสลายชุมนุมที่เกิดขึ้นในเดือนพฤษภาคมที่กระบวนการตรวจสอบและค้นหาความจริงยังคงไปไม่ถึงไหนก็ตาม

ดังนั้น การยกเลิกการประกาศใช้พ.ร.ก ฉุกเฉินเพื่อการเปิดพื้นที่สำหรับความเห็นที่แตกต่าง โดยเฉพาะคู่กรณีในความขัดแย้งกับรัฐโดยตรง นั่นคือ กลุ่มคนเสื้อแดง จึงเป็นเงื่อนไขที่จำเป็นประการแรกสำหรับการผลักดันให้การปฏิรูปสามารถเดินหน้าไปได้ นอกจากนี้ รัฐบาลจะต้องสนับสนุนและผลักดันให้กลไกที่สำคัญอย่าง คณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อความปรองดองแห่งชาติ (คอป.) ที่มี ศ.ดร. คณิต ณ นคร เป็นประธานนั้นสามารถทำหน้าที่อย่างอิสระและไม่เนิ่นนานจนเกินไป เพราะความปรองดองถือเป็นเงื่อนไขที่สำคัญอย่างยิ่งยวดสำหรับกระบวนการปฏิรูปที่จะเกิดขึ้นด้วย

ไม่ว่าผลสรุปของการศึกษาเรื่องการปฏิรูปประเทศจะออกมาอย่างไร ถ้าหากว่ารัฐบาลได้แสดงความจริงใจในการเปิดพื้นที่ให้กับคนที่อยู่อีกด้านของความขัดแย้งและสร้างการมีส่วนร่วมอย่างแท้จริงจากพลังทุกส่วนในสังคมแล้ว คณะกรรมการปฏิรูปประเทศทั้งสองชุดก็น่าจะได้รับการยอมรับและสนับสนุนอย่างดีจากคนทุกกลุ่ม รวมทั้งกระบวนการปฏิรูปก็น่าจะเริ่มต้นขับเคลื่อนได้จริง

ในทางตรงกันข้าม ถ้าหากว่ารัฐบาลภายใต้การบริหารของนายกฯ อภิสิทธิ์ยังคงเลือกที่จะละเลยคนบางส่วนของประเทศ เพียงเพราะพวกเขาไม่ได้นิยมชมชอบพรรคประชาธิปัตย์แล้วละก็ การปฏิรูปประเทศซึ่งถือเป็นการทำงานระยะยาวและเกี่ยวข้องกับปัญหาเชิงโครงสร้างและสถาบัน ก็ไม่น่าจะเกิดขึ้นได้ ซ้ำร้าย เราก็อาจจะยิ่งซ้ำเติมปัญหาเฉพาะหน้า โดยการบ่มเพาะความเกลียดชังและไม่ไว้เนื้อเชื่อใจในสังคมให้มากขึ้นด้วย

ความคิดเห็น

บทความที่ได้รับความนิยม