ค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาท อะไรคือก้าวต่อไปของฝ่ายแรงงาน??


(เผยแพร่ครั้งแรก คอลัมน์มุมมองบ้านสามย่าน กรุงเทพธุรกิจ 12 เมษายน 2555)

อย่างที่ทราบกันดีว่ากระทรวงแรงงานได้ประกาศให้มีการปรับอัตราค่าแรงขั้นต่ำใน 7 จังหวัดนำร่องไปตั้งแต่วันที่  1 เมษายนที่ผ่านมา สำหรับกรุงเทพมหานคร สมุทรปราการ สมุทรสาคร ปทุมธานี นครปฐมและนนทบุรี กำหนดให้อัตราค่าแรงขั้นต่ำเริ่มต้นที่อัตราใหม่ 301 บาท จากเดิม 215 บาทต่อวัน และภูเก็ต เริ่มต้นที่ 309 บาท จาก 221 บาทต่อวัน

การปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำครั้งนี้ถือว่ามีนัยสำคัญสำหรับผู้ใช้แรงงานในสังคมไทยสองประการ กล่าวคือ ประการแรก ถือเป็นการเพิ่มอัตราค่าแรงขั้นต่ำอย่างก้าวกระโดดหรือจะพูดว่าเป็นการปรับค่าแรงในสัดส่วนที่สูงที่สุด นั่นคือร้อยละ 40 ของอัตราค่าจ้างที่ใช้กันอยู่ เท่าที่เคยเกิดขึ้นตั้งแต่มีการกำหนดอัตราค่าแรงขั้นต่ำมาตั้งแต่ปี 2515 ก็ว่าได้ ประการที่สอง การเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญนี้ไม่ได้เริ่มต้นจากเจตนารมณ์ของฝ่ายราชการแต่เกิดขึ้นจากนโยบายของพรรคการเมืองในระหว่างหาเสียงเลือกตั้งทั่วไป นั่นคือ พรรคเพื่อไทย (ความจริง พรรคการเมืองใหญ่แทบทุกพรรคแข่งขันกันเสนอนโยบายนี้ ความแตกต่างจึงอยู่ที่สัดส่วนของอัตราค่าแรงที่เสนอให้ปรับขึ้นเท่านั้น) จึงอาจกล่าวได้ว่า การปรับอัตราค่าแรงขั้นต่ำครั้งนี้ได้แสดงให้เห็นความสำคัญของผู้ใช้แรงงานที่ถือเป็นคนกลุ่มใหญ่ของประเทศในฐานะฐานเสียงของพรรคการเมือง

จึงต้องถือว่าการได้มาซึ่งค่าแรงขั้นต่ำที่เพิ่มขึ้นครั้งนี้ ต่างจากที่ผ่านมาตรงที่ไม่ได้เป็นผลลัพภ์ของการร้องขอและรอความกรุณาจากฝ่ายข้าราชการเพียงอย่างเดียว แต่เป็นการสะท้อนปัญหาในระดับชีวิตประจำวันของผู้ใช้แรงงานผ่านกลไกหรือช่องทางการเมืองที่เป็นทางการ ถึงแม้จะไม่ได้เป็นการรณรงค์จากฝ่ายแรงงานเองตั้งแต่ต้นก็ตาม

แน่นอน เราทราบกันดีอีกเช่นกันว่าการปรับอัตราค่าแรงขั้นต่ำครั้งนี้ไม่ได้เป็นไปอย่างราบรื่บและเป็นไปตามที่ฝ่ายแรงงานคาดหวัง เพราะอุปสรรคสำคัญของการปรับอัตราค่าแรงให้สะท้อนกับความเป็นจริงเรื่องค่าครองชีพนั้นคือ อิทธิพลของฝ่ายนายจ้างและนักอุตสาหกรรมอย่างสภาหอการค้าและสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย รวมถึงกลไกการปรับค่าแรงที่ใช้กันอยู่ก็คือ คณะกรรมการค่าจ้างกลางซึ่งเป็นโครงสร้างที่ถูกครอบงำโดยฝ่ายราชการเป็นหลัก ทั้งสองปัจจัยนี้ทำให้การปรับค่าแรงในอดีตเป็นไปอย่างยากลำบากตลอดมา เสียงของคนงานที่กระจัดกระจายและอ่อนแรงจึงไม่ค่อยได้รับความสนใจจากภาคการเมืองและสื่อกระแสหลักนัก

ผู้ที่ติดตามวิวาทะเรื่องค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาทมาตั้งแต่ต้น ย่อมรู้ดีว่ากระแสต่อต้านการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำที่สำคัญนั้นเกิดขึ้นจากองค์กรผลประโยชน์ของฝ่ายนายจ้างดังกล่าว ล่าสุด ต้นเดือนเมษายนที่เพิ่งมีการประกาศใช้อัตราค่าแรงขั้นต่ำใน 7 จังหวัดนำร่องนั้น นายภูมินทร์ หะรินสุต รองประธานกรรมการหอการค้าไทยได้ให้สัมภาษณ์ว่านโยบายดังกล่าวจะส่งผลกระทบอย่างรุนแรงกับผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดเล็ก (SMEs) ที่มีการจ้างพนักงานตั้งแต่ 1-25 คน ซึ่งมีจำนวนถึง 98% ของสถานประกอบการในประเทศ

ผู้เขียนเชื่อว่านี่เป็นตัวอย่างที่ชัดเจนของความพยายามบิดเบือนประเด็นเรื่องความสามารถในการแข่งขันที่ต่ำของเอสเอ็มอีไทย ซึ่งเป็นผลจากปัจจัยต่างๆ เช่น การขาดแหล่งเงินทุนและสาธารณูปโภคที่ทันสมัย การขาดความรู้ในเรื่องการบริหารจัดการและนโยบายการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจ ให้กลายเป็นเพียงเรื่องค่าแรง นอกจากนี้ ฝ่ายนายจ้างยังไม่เคยเสนอความจริงอีกครึ่งหนึ่งที่ว่าการแข่งขันบนฐานของการกดค่าแรงให้ต่ำนั้นส่งผลเสียต่อการพัฒนาศักยภาพของผู้ประกอบการเอสเอ็มอีไทยเองในระยะยาว ยังไม่ต้องพูดว่างานวิจัยจำนวนมากก็ชี้ให้เห็นว่าประสิทธิภาพการผลิตของคนงานไทยสูงกว่าค่าแรงที่พวกเขาได้รับอยู่มาก

ประเด็นสำคัญก็คือ ฝ่ายนายจ้างพยายามเรียกร้องให้การตัดสินใจปรับค่าแรงขั้นต่ำกลับไปผ่านกลไกคณะกรรมการค่าจ้างกลางเหมือนที่ผ่านมา เพราะทราบดีว่านี่เป็นกลไกที่ฝ่ายนายจ้างสามารถควบคุมได้ง่ายกว่าและพวกเขาได้ประโยชน์จากกลไกนี้มาโดยตลอด  ยิ่งไปกว่านั้น แนวโน้มที่เกิดขึ้นหลังวันที่ 1 เมษายนก็คือ โรงงานหลายแห่งในพื้นที่นำร่อง 7 จังหวัดเริ่มส่งสัญญาณว่าต้องการปรับตัวเพื่อรักษาอัตรากำไรเดิมโดยไม่สนใจความเป็นอยู่ของคนงาน ไม่ต้องพูดถึงการปรับปรุงศักยภาพการบริหารของกิจการ คนงานจำนวนหนึ่งจึงได้รับคำบอกกล่าวล่วงหน้าแล้วว่าพวกเขาจะถูกตัดลดสวัสดิการการจ้างงานที่เคยได้รับ ไม่ว่าค่าทำงานล่วงเวลา ค่าที่พักหรือค่าอาหาร ที่ถือเป็นส่วนสำคัญที่สนับสนุนให้คนงานสามารถรับมือกับค่าครองชีพที่สูงในปัจจุบันได้ การขึ้นค่าแรงขั้นต่ำครั้งนี้จึงสุ่มเสียงที่จะกลายเป็นเพียงการเล่นกลหลอกตาของฝ่ายนายจ้าง

ถึงแม้อัตราค่าแรงขั้นต่ำใน 7 จังหวัดจะประกาศใช้ไปแล้ว รวมถึงอีก 70  จังหวัดที่เหลือที่กำลังจะรอปรับตามไปในวันที่ 1 มกราคมศกหน้า แต่ประเด็นสำคัญที่ยังรอคอยฝ่ายแรงงานและสังคมไทยอยู่ข้างหน้าก็ยังคงเป็นเรื่องอำนาจต่อรองที่เหลื่อมล้ำระหว่างคนงานกับฝ่ายนายจ้าง ทั้งภายในและภายนอกโรงงาน (ที่มีระบบข้าราชการอ่อนแอเป็นผู้คุมกฎกติกา) สุดท้าย แนวโน้มที่พี่น้องคนงานจะได้รับประโยชน์จากนโยบายปรับค่าแรงขั้นต่ำคงไม่มีมากนักหากคนงานและฝ่ายแรงงานเองไม่อาจฉกฉวยโอกาสที่เริ่มแง้มออกเล็กน้อยนี้ เพื่อสอดแทรกเอาตัวเข้าไปยืนในพื้นที่การต่อรองเรื่องค่าจ้างให้มั่นคงขึ้นกว่าที่เป็นอยู่ การรวมกลุ่มจัดตั้งเพื่อการต่อรองอย่างเข้มแข็งเท่านั้นที่จะช่วยให้คนงานมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นได้ ไม่ใช่การรอรับความกรุณาจากฝ่ายราชการหรือฝ่ายการเมือง ยิ่งไม่ต้องพูดถึงฝ่ายนายจ้างที่เล็งเห็นแต่กำไรสูงสุดของตัวเองเป็นหลัก

สวัสดีปีใหม่ไทย

ความคิดเห็น

บทความที่ได้รับความนิยม