ไทยกับการพัฒนาที่เป็นมิตรกับกระบวนการประชาธิปไตยในพม่า
(เผยแพร่ครั้งแรก คอลัมน์มุมมองบ้านสามย่าน กรุงเทพธุรกิจ 5 ก.ค. 2555)
อาจไม่เกินจริงไปนัก หากจะกล่าวว่าถนนทุกสายกำลังมุ่งหน้าสู่อาเซียน
โดยมีประเทศพม่าเป็นหนึ่งในปลายทางสำคัญของถนนเหล่านี้ แน่นอน คนกลุ่มแรกๆ ที่เบียดเสียดกันมาเต็มรถโดยสารขบวนแรกหนีไม่พ้นนักลงทุนรายใหญ่ชาวต่างชาติ
มีการประเมินว่าเงินลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (Foreign Direct Investment) เข้าประเทศพม่าเพิ่มขึ้นจาก 1
พันล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐฯ เป็นกว่า 3 พันล้านเหรียญภายในเวลาเพียง
1 ปี
ขณะที่พม่าถูกปกครองโดยระบอบเผด็จการทหารมายาวนานกว่า
40 ปี เป็นเรื่องสมเหตุสมผลอย่างยิ่งที่
“มิตร” ของพม่าควรจับตากลุ่มนักลงทุนที่กระตือรือร้นเข้าพม่าล็อตแรกเป็นพิเศษ
ฌอน เทอร์แนล (Sean Turnell) นักเศรษฐศาสตร์จาก Macquarie University ผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐกิจพม่ากล่าวว่าปัญหาโครงสร้างเศรษฐกิจที่สำคัญของพม่า
คือ ขาดสถาบันพื้นฐานของระบบเศรษฐกิจแบบตลาด
ไม่ว่าจะเป็นระบบกรรมสิทธิ์เอกชนและการบังคับใช้สัญญาที่มีประสิทธิภาพ, มีสถาบันทางการเงินและสกุลเงินที่ไร้เสถียรภาพ, การบริหารนโยบายเศรษฐกิจมหภาคเป็นไปอย่างขาดหลักการและไร้ทิศทาง
ฯลฯ ฉะนั้น กลไกที่เป็นเสมือนหลักประกันผลตอบแทนการลงทุนเพียงอย่างเดียวที่ปรากฎให้เห็นในขณะนี้คือ
การแสวงหาค่าเช่าทางเศรษฐกิจ (rent-seeking) หรือพูดในภาษาที่เข้าใจง่ายคือ ผ่านการคอรัปชั่นนั่นเอง
จึงไม่น่าแปลกใจนัก
หากดอว์อองซานซูจี ประธานพรรคเอ็นแอลดีและสมาชิกรัฐสภาของพม่า เลือกกล่าวกับผู้เข้าร่วมประชุม
ณ องค์กรแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) ที่เจนีวา เมื่อเธอเริ่มต้นการเดินทางเยือนยุโรปกลางเดือนมิถุนายน
2555 ว่าสิ่งที่เธอต้องการเห็นสำหรับพม่าคือ
“การเติบโตทางเศรษฐกิจอันเกิดจากการพัฒนาที่เป็นมิตรกับประชาธิปไตย (democracy-friendly
development growth)” เธอเรียกร้องให้การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศช่วยเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับกระบวนการพัฒนาประชาธิปไตยในพม่า
โดยผลักดันให้เกิดความรุดหน้าทางเศรษฐกิจและสังคม ที่เป็นประโยชน์ต่อการปฏิรูปทางการเมือง
ในบริบทของประเทศไทย
เพื่อนบ้านใกล้ชิดที่สุดของพม่า ซึ่งสนับสนุนโครงการท่าเรือน้ำลึกทวาย
(ที่เป็นโครงการของเอกชน) ในฐานะเป็นยุทธศาสตร์ชาตินั้น ขณะที่รัฐบาลพม่ายังขาดกลไกบังคับใช้กฎหมายที่จะป้องกันการแสวงหาประโยชน์อย่างขาดความรับผิดชอบจากเอกชนที่เข้าลงทุนในโครงการพัฒนาขนาดใหญ่
เช่นโครงการทวายฯ รัฐบาลไทยสามารถสนับสนุนการพัฒนาที่เป็นมิตรกับประชาธิปไตยในพม่าโดยกลับไปหารากฐานของแนวคิดการจัดตั้งประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน
ที่รู้จักในชื่อของ “วิสัยทัศน์อาเซียน 2020”
ในภาษาของอาเซียน
วิสัยทัศน์ 2020 เป็นเสมือนคำประกาศเจตนารมณ์ของผู้นำอาเซียนทั้ง 10 ประเทศในปี
2540 ที่กัวลาลัมเปอร์ เพื่อจัดตั้งประชาคมอาเซียน อันประกอบด้วย 3 เสาหลัก คือ ประชาคมเศรษฐกิจ
สังคมวัฒนธรรมและการเมืองความมั่นคงขึ้นภายในปี 2020 (ต่อมา ถูกเลื่อนขึ้นมาเป็น ค.ศ. 2015 หรือ พ.ศ. 2558) เป้าหมายสำคัญอันหนึ่งคือ
การลดช่องว่างทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศสมาชิก
อันที่จริง แนวคิดเรื่องการลดช่องว่างระหว่างประเทศสมาชิก
เกิดจากวิสัยทัศน์ของอดีตนายกรัฐมนตรีมหาเธร์ โมฮัมหมัด ที่รู้จักกันในชื่อ “prosper-thy-neighbors policies” หรือนโยบายช่วยเพื่อนบ้านให้รวย
(ตรงข้ามกับ “beggar-thy-neighbors” หรือปล้นเพื่อนบ้าน) ตามแนวคิดของอดีตนายกฯ มหาเธร์ ประเทศเพื่อนบ้านที่ยากจนจะส่งผลกระทบแง่ลบผ่านพรมแดนมาเป็นอุปสรรคต่อการเจริญเติบโตและความสงบของประเทศเราเอง
ดังนั้น การพัฒนาให้ประเทศเพื่อนบ้านมีความกินดีอยู่ดีและมีความมั่นคงจะสนับสนุนให้ทั้งสองประเทศพัฒนาควบคู่กันไปในระยะยาว
ทั้งนี้ ดร. มหาเธร์มักยกตัวอย่างญี่ปุ่นเป็นต้นแบบของประเทศที่ให้ความช่วยเหลือด้านการพัฒนากับประเทศมาเลเซีย
และมาเลเซียเองก็ทำเช่นเดียวกันต่อประเทศที่ยากจนกว่า เขาเชื่อว่านโยบายช่วยเพื่อนบ้านให้รวย
ทำให้ทุกประเทศได้ประโยชน์หรือเป็นวิน-วินเกมส์ ขณะที่นโยบายปล้นเพื่อนบ้านทำให้เพียงฝ่ายเดียวได้รับประโยชน์จากความสัมพันธ์นั้น
ในช่วงวิกฤตเศรษฐกิจปี
2540 ดร.มหาเธร์เป็นหนึ่งในผู้นำประเทศกำลังพัฒนาน้อยรายที่กล้าแสดงความเห็นอย่างเปิดเผยเรื่องความเลวร้ายของบรรษัทข้ามชาติในการแสวงหากำไรระยะสั้นจากประเทศกำลังพัฒนา
รวมทั้งการลงทุนในรูปของโครงการพัฒนาขนาดใหญ่ที่ไม่ได้ช่วยพัฒนาความกินดีอยู่ดีของประชาชน
แต่หวังเพียงกอบโกยเอาทรัพยากรของประเทศเจ้าบ้าน ในเดือนกันยายน ปี 2540 หลังจากวิกฤตในภูมิภาคปรากฏรูปเต็มที่ ดร. มหาเธร์กล่าวสุนทรพจน์อันโด่งดังที่เต็มไปด้วยวิสัยทัศน์เกี่ยวกับข้อเสนอแนวทางการพัฒนาที่หลุดพ้นจากการครอบงำในงานประชุมประจำปีของธนาคารโลกที่ฮ่องกง
ทั้งนี้ แนวคิดเรื่องการลดช่องว่างระหว่างประเทศที่เกิดจาก “prosper-thy-neighbors
policies” กลายเป็นส่วนหนึ่งของวิสัยทัศน์อาเซียน 2020 ถึงแม้อาเซียนจะยังคงเดินตามแนวทางการพัฒนาแบบตะวันตกต่อไป แต่วิสัยทัศน์ของดร.
มหาเธร์ก็นำไปสู่วาทกรรม “ชุมชนแห่งการแบ่งปันและเอื้ออาทร” ที่ช่วยทัดทานวาทกรรมการพัฒนากระแสหลักไม่มากก็น้อย
อันที่จริงแล้ว ประเทศในอาเซียน
โดยเฉพาะไทยและพม่า กำลังยืนอยู่บนทางแยกที่สำคัญ ที่รอการตัดสินใจที่เด็ดเดี่ยวของผู้นำรัฐบาลว่า
จะเดินต่อไปบนเส้นทางที่เคยเดินมา ที่สะดวกสบาย แต่ทำให้คนกลุ่มเดิมเพียงกลุ่มเดียวได้รับประโยชน์
หรือจะเลือกเส้นทางใหม่ที่อาจจะลำบาก
แต่เป็นเส้นทางที่เป็นมิตรกับกระบวนการพัฒนาประชาธิปไตย ที่สำคัญ เป็นเส้นทางที่จะทำให้ทุกคนก้าวเดินไปพร้อมกันฉันท์มิตรอย่างแท้จริง
ความคิดเห็น