เปิดเมนูเศรษฐกิจและตัวตนของพอล ไรอัน ว่าที่รองปธน.ของสหรัฐ?
(มุมมองบ้านสามย่าน กรุงเทพธุรกิจ 23 ส.ค. 2555)
นายมิตต์ รอมนี (Mitt Romney) ผู้ท้าชิงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ
จากพรรครีพับลิกันแทบจะผูกขาดพื้นที่สื่อกระแสหลักในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมา หลังจากเขาประกาศชื่อนายพอล
ไรอัน (Paul Ryan) สมาชิกสภาคอนเกรสจากวิสคอนซินเป็นคู่ลงสมัครในตำแหน่งรองประธานาธิบดีสำหรับการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ
ที่กำลังจะเกิดขึ้นในเดือนพฤศจิกายน
พอล ไรอันเป็นที่รู้จักดีจากบทบาทประธานคณะกรรมการงบประมาณของสภาจากรีพับลิกัน
ซึ่งมีหน้าที่สำคัญในการเสนอแผนปฏิรูปงบประมาณรายจ่ายของรัฐบาลกลางเมื่อต้นปีที่แล้ว
หากยังจำได้ สาระสำคัญของแผนปฏิรูปดังกล่าวคือ ตัดงบประมาณรายจ่ายด้านบริหารและปรับลดพนักงานของรัฐลง
รวมถึงผ่อนคลายกฎระเบียบที่ควบคุมธนาคารและภาคธุรกิจ ผ่อนคลายภาษีสำหรับผู้มีรายได้สูง
และประการสำคัญ แปรรูประบบประกันสังคม (Social Security system) และโครงการสวัสดิการสาธารณสุข อย่างเมดดิแคร์และเมดดิเคดให้กลายเป็นระบบเอกชนในที่สุด
สื่อกระแสหลักมักกล่าวถึงนายไรอันในฐานะนักการเมืองหนุ่มไฟแรงที่ประสบความสำเร็จ
รักครอบครัวและเชี่ยวชาญด้านงบประมาณหรือการคลัง ขณะที่เขาเองเป็นขวัญใจของกลุ่ม
“ทีปาร์ตี (Tea Party)”
กลุ่มเคลื่อนไหวทางการเมืองที่ปฏิเสธบทบาทของรัฐในด้านสังคม เช่น ประกันการว่างงาน
สวัสดิการสาธารณสุข ฯลฯ และสนับสนุนแนวคิดการคลังแบบอนุรักษ์นิยม
(fiscal conservatism) ที่เสนอให้รัฐลดรายจ่ายงบประมาณลง
เพื่อไม่ให้เกิดการจัดทำงบประมาณแบบขาดดุลและเพื่อให้ลดการจัดเก็บภาษีในอัตราสูง
ไม่เป็นเรื่องน่าแปลกใจที่ประเด็นเรื่องการลด/เพิ่มภาษีและการปฏิรูประบบประกันสังคม
ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของข้อถกเถียงใหญ่เกี่ยวกับขนาดของงบประมาณรายจ่ายจะกลายเป็นโจทย์สำคัญในระหว่างการรณรงค์หาเสียงเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ
ครั้งนี้ หากยังจำกันได้ ข้อถกเถียงเรื่องการลดหรือเพิ่มภาษีเคยเป็นจุดขายที่ต่างกันของผู้สมัครสองคนคือ
นายบารัค โอบามาและจอห์น แมคเคนในระหว่างการหาเสียงเลือกตั้งประธานาธิบดีเมื่อ 4
ปีที่แล้วเช่นเดียวกัน
ในแง่ประวัติศาสตร์การเมือง นักการเมืองที่ใช้แนวนโยบายการคลังแบบอนุรักษ์นิยมจนได้รับการยอมรับคือ
อดีตประธานาธิบดีโรนัลด์ เรแกน (Ronald Reagan) จนทำให้เกิดคำว่า “Reaganomics หรือนโยบายเศรษฐกิจแบบเรแกน” (ค.ศ. 1980 – 1989 หรือ
พ.ศ. 2523- 2532) ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา
นโยบายการคลังแบบอนุรักษ์นิยมจึงกลายเป็นเครื่องหมายการค้าของรีพับลิกันเมื่อพูดถึงเมนูเศรษฐกิจของผู้สมัครจากพรรค
นักเศรษฐศาสตร์อาจเรียกเมนูเศรษฐกิจชุดเดียวกันนี้ในหลากหลายชื่อกันออกไป
ตั้งแต่นโยบายแบบเศรษฐศาสตร์ฝั่งอุปทาน (Supply Side
Economics), สำนักการเงินนิยม (monetarism),
นโยบายแบบตลาดเสรีหรือนโยบายการคลังแบบอนุรักษ์นิยม ทั้งนี้ แต่ละชื่อนั้นมีความเฉพาะเจาะจงแตกต่างกันไป
แต่ในความหมายกว้าง ล้วนหมายถึงชุดนโยบายเศรษฐกิจที่ตั้งอยู่บนฐานของข้อเรียกร้องเชิงปฏิเสธ
กล่าวคือ ลดการใช้จ่ายของรัฐ ลดการเก็บภาษี
ลดการใช้นโยบายการเงินแบบขยายตัวและปฏิเสธเงินเฟ้อในระดับสูง ทั้งนี้ นักการเมืองที่หาเสียงกับชุดนโยบายเศรษฐกิจเชิงปฏิเสธอย่างมิตต์
รอมนีและพอล ไรอัน จึงมักตั้งต้นถามผู้มีสิทธิเลือกตั้งว่า
“คุณคิดว่าคุณพอใจกับชีวิตความเป็นอยู่ในวันนี้มากกว่าสี่ปีที่แล้วหรือไม่?”
ทั้งรอมนีและไรอันรู้ดีว่าแนวนโยบายแบบอนุรักษ์นิยมนั้นใช้ได้ดีในการหาเสียงกับกลุ่มคนชั้นกลางระดับสูง
(upper middle-class) ที่ส่วนใหญ่เป็นเจ้าของธุรกิจ เหตุผลง่ายๆ
ก็คือ การลดภาษีนั้นสร้างแรงจูงใจให้กับคนกลุ่มนี้มากพอ
เนื่องจากพวกเขามีรายได้ก่อนหักภาษีในระดับสูง นอกจากนี้
คนกลุ่มนี้ยังสามารถเข้าถึงระบบสวัสดิการและประกันสุขภาพของเอกชนที่ครอบคลุมและมีคุณภาพดีกว่าของรัฐ
จึงไม่เห็นความสำคัญของสวัสดิการที่รัฐจัดหาให้ ต่างจากกลุ่มคนชั้นกลางระดับล่างทั่วไป
อย่างไรก็ตาม ใช่ว่าการเสนอเมนูเศรษฐกิจแบบอนุรักษ์นิยมเช่นนี้จะไม่ส่งผลให้เกิดแรงสะท้อนกลับ
การรณรงค์ตอบโต้จากฝั่งเดโมแครตก็พุ่งเป้าไปที่ประเด็นภาษีเช่นเดียวกัน
แต่เป็นเรื่องการจ่าย/หลบเลี่ยงภาษีของนายรอมนี่ ซึ่งส่งผลสะเทือนในทางสาธารณะไม่น้อยท่ามกลางบรรยากาศตื่นตัวเรื่องความเหลื่อมล้ำทางรายได้ในสหรัฐฯ
นอกจากนี้ ข้อเสนอของพอล ไรอันเมื่อไม่กี่วันก่อนให้เฟดหรือธนาคารกลางของสหรัฐฯ
หันมาให้ความสนใจกับระดับเงินเฟ้อเพียงอย่างเดียวและละทิ้งเป้าหมายสำคัญอีกประการของเฟด
คือ ระดับการจ้างงาน ก็ทำให้เกิดปฏิกริยาตอบโต้อย่างรุนแรงจากหลายกลุ่ม
รวมทั้งเฟดเอง
ยิ่งไปกว่านั้น ศาสตราจารย์พอล ครุกแมน (Paul Krugman) นักเศรษฐศาสตร์รางวัลโนเบลจากมหาวิทยาลัยปรินซตันได้วิจารณ์พอล
ไรอันอย่างรุนแรงในคอลัมน์ส่วนตัวของเขาบนหนังสือพิมพ์นิวยอร์คไทม์ว่าข้อเสนอเกี่ยวกับการปฏิรูปงบประมาณของไรอันถูกสร้างขึ้นลอยๆ
บนอากาศโดยไม่มีข้อพิสูจน์เกี่ยวกับที่มาของรายได้รัฐเลย
ครุกแมนยังเห็นด้วยกับนักวิเคราะห์บางคนที่กล่าวว่าไรอันเองไม่ได้เชื่อในนโยบายการคลังแบบอนุรักษ์นิยมอย่างแท้จริง
แต่เป็นคนที่มีความคิดสุดโต่งในการจำกัดบทบาททางสังคมของรัฐบาล ทั้งนี้ เป็นที่รับรู้โดยทั่วไปว่าพอล
ไรอันนิยมระบบตลาดเสรีและลัทธิเสรีนิยมใหม่ (neoliberalism) อย่างสุดขั้ว เขาเปิดเผยต่อสาธารณะว่าข้อเสนอของเขาได้รับอิทธิพลจากปรัชญาการเมืองและสังคมของอายน์
แรนด์ (Ayn Rand) นักเขียนและนักปรัชญาอเมริกันเชื้อสายยิวที่อพยพจากรัสเซียขณะที่ยังเป็นสหภาพโซเวียต
เธอจึงมีประสบการณ์ที่เลวร้ายกับสิ่งที่เรียกว่า “ระบอบคอมมิวนิสต์” อายน์ แรนด์เองเป็นที่รู้จักในฐานะผู้ที่เทิดทูนเสรีภาพส่วนบุคคลอย่างสุดโต่ง
จนถึงขั้นเชิดชูสิ่งที่เรียกว่าความเห็นแก่ตัว (Selfishness) และรังเกียจความเป็นส่วนรวมนิยม (collectivism) กรรมสิทธิร่วมกัน
รวมถึงสังคมนิยมทุกรูปแบบ
ที่น่ากลัวก็คือ ดูเหมือนว่าพอล ไรอันจะท่องจำคำสอนของอายน์
แรนด์มาอย่างตรงตัวอักษร เขาเคยกล่าวว่า “เรากำลังอยู่ในการต่อสู้ระหว่างปัจเจกชนนิยมและส่วนรวมนิยม”
ถ้าหากมิตต์
รอมนีได้รับเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีของสหรัฐฯ คนต่อไปถัดจากนายโอบามาและพอล
ไรอันได้รับตำแหน่งรองประธานาธิบดีของสหรัฐฯ แล้ว
ก็คงไม่ยากที่จะนึกภาพระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยมของสหรัฐฯ ในอีกสี่ปีข้างหน้า
ความคิดเห็น