แปล The Fire of Liberty : Anarchism and Geography (1)
Anarchism*
(แปลจาก The Fire of Liberty: Anarchism and Geography, ใน Dissident Geographies: An Introduction to Radical Ideas and Practice (2000) ของ Alison Blunt และ Jane Wills)
คำภาษากรีก anarchos มีความหมายง่ายๆ ว่า "ปราศจากผู้ปกครอง" และคำว่า anarchy มักถูกใช้เพื่ออธิบายความไร้ระเบียบทางสังคม ความรุนแรงและความวุ่นวายที่เกี่ยวกับการล่มสลายของสิทธิอำนาจ (authority) และการละเมิดกฎหมายอย่างแพร่หลาย ยังไงแล้ว นักอนาธิปัตย์ (anarchists) ปรารถนาให้การไร้ซึ่งสิทธิอำนาจเป็นก้าวที่สร้างสรรค์ไปสู่หนทางแห่งการสร้างสังคมใหม่ ที่เป็นหนึ่งเดียวกับตนเองและกับธรรมชาติ แทนที่จะเป็นคำที่มีความหมายลบ anarchy ได้รับการกล่าวถึงในฐานะของการพัฒนาทางสังคมที่เป็นบวก (positive social development) ที่เปิดโอกาสให้ปัจเจกบุคคลได้เบ่งบานโดยปราศจากข้อจำกัดและการปิดกั้นของสิทธิอำนาจ กฎหมายและการควบคุม อย่างไรก็ดี โดยธรรมชาติของมันแล้ว ขนบของการแข็งขืน (dissent) นี้มีความเป็นสรรพ์(เกิดจากหลายสิ่งปะปนกัน - eclectic) และค่อนข้างยากที่จะชี้ชัดลงไป นักเขียนสายอนาธิปัตย์มักมีแนวโน้มที่จะหลบเลี่ยงแนวทางการเมืองหรือปฏิบัติการในเชิงองค์กรที่ชัดเจนเด็ดขาด และมักมีการประสานงานระหว่างกลุ่มอนาธิปัตย์น้อย อันที่จริง อย่างที่ (Sébastian) Fauré ได้กล่าวไว้ นักอนาธิปัตย์นั้นรวมตัวกันได้เฉพาะในเรื่องการต่อต้านอำนาจทุกรูปแบบ และยิ่งไปกว่านั้น มีความหลากหลายมหาศาลภายในขนบแบบนี้:
อาจมีและที่จริง มีความหลากหลายมากของนักอนาธิปัตย์ ที่ต่างก็มีลักษณะร่วมซึ่งแบ่งแยกพวกเขาออกจากมนุษยชาติที่เหลือ จุดร่วมอันนี้อยู่ที่การปฏิเสธหลักการเรื่องอำนาจผู้ปกครองในการจัดองค์กรทางสังคมและที่ความเกลียดชังต่อข้อจำกัดทั้งมวลที่กำเนิดมาจากสถาบันที่งอกเงยขึ้นบนหลักการดังกล่าว ดังนั้น ใครก็ตามที่ปฏิเสธอำนาจผู้ปกครองและต่อต้านมันย่อมเป็นนักอนาธิปัตย์ (Anarchist) (โดย Fauré อ้างใน Woodcock, 1977: 62; เน้นโดยผู้เขียน)
ถึงแม้จะมีต้นแบบจากการกบฎทั้งหลายของมนุษย์ในอดีต และโดยเฉพาะในการต่อสู้ทางการเมืองช่วงสงครามกลางเมืองอังกฤษและการปฏิวัติฝรั่งเศส สำนึกของขนบแบบอนาธิปัตย์เองนั้นก่อตัวขึ้นในกลางศตวรรษที่ 19 นักคิดสายอนาธิปัตย์อย่าง Pierre Joseph Proudhon, Michael Bakunin, Peter Kropotkin และ Elisée Réclus เป็นส่วนหนึ่งของขบวนการสังคมนิยมที่ใหญ่กว่า และจวบจนกระทั่งทศวรรษ 1870s นักอนาธิปัตย์เริ่มจะแยกตัวเองอย่างชัดเจนออกจากพวกนักมาร์กซิสต์ในข้อโต้แย้งเกี่ยวกับรัฐ ภาวะการนำและกลไกที่จำเป็นสำหรับการเปลี่ยนแปลงทางสังคม ในบทนี้ เราจะเน้นที่ความคิดสำคัญของนักอนาธิปัตย์ในศตวรรษที่ 19 กลุ่มนี้ เราจะสำรวจภูมิศาสตร์ของการจัดองค์กรและการทดลองแบบอนาธิปัตย์ และเราจะพิจารณาถึงนัยทางสาขา(ภูมิศาสตร์)ของความคิดอนาธิปัตย์เท่าที่เกี่ยวข้องกับภูมิศาสตร์ ในแง่นี้ มันเป็นเรื่องสำคัญที่ผู้เผยแพร่ความคิดหลักในประวัติศาสตร์อนาธิปัตย์นิยมนั้นเป็นนักภูมิศาสตร์อาชีพ ความสนใจอย่างลึกซึ้งในเรื่องสิ่งแวดล้อมและในความหลากหลายของการก่อตัวทางสังคมได้เป็นแรงบันดาลใจทั้งต่อภูมิศาสตร์และความคิดอนาธิปัตย์นิยมของ Peter Kropotkin และ Elisée Réclus และในขณะนั้น ทั้งสองคนได้รับการยกย่องในฐานะนักวิชาการด้านภูมิศาสตร์กายภาพและภูมิภาค (physical and regional geography)
ความคิดเห็น