Blog-tag กับเรื่อง “ผมและคนอื่น”

หลังจากถูก blog-tag จาก neo-humanism ตามธรรมเนียมปฏิบัติ ผมต้องแนะนำบล็อกต่อไปอีก ๕ บล็อกพร้อมกับพูดถึงตัวเองอีก ๕ ข้อ

คงเป็นเรื่องเหลือเชื่อถ้าหากจะบอกว่าผมเองเป็นคนที่รู้จัก Blog น้อยมาก

แต่ขอยืนยันว่าเป็นเรื่องจริง เพราะ “รู้จัก” ในความหมายของผมนั้น มันมากกว่าแค่เคยได้ยินหรือเคยผ่านตา แต่ครอบคลุมถึงการรู้ว่าเนื้อหาของบล็อกนั้นเป็นอย่างไรและสามารถบอกได้ว่าเจ้าของบล็อกนั้นมีพื้นฐานความคิดและความเชื่ออย่างไร จากการคลุกคลีผ่านตัวอักษร

เหตุมาจากความจริงที่ว่า โดยส่วนตัวแล้ว ผมรู้สึกสบายใจที่จะท่องเว็บไซต์มากกว่าท่องไปในโลกของบล็อก

เพราะในขณะที่เว็บไซต์คือแหล่งรวมข้อมูล ข่าวสารของเรื่องต่างๆ ซึ่งมีลักษณะของความไม่เป็นส่วนตัว (impersonality) การเข้าไปในพื้นที่ของบล็อกนั้น เป็นการก้าวเข้าไปในอาณาเขตส่วนบุคคลของคนอื่น เพราะเจ้าของบล็อกมักจะเล่าเรื่องราวที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวัน รวมทั้ง ความรู้สึกนึกคิดต่อเรื่องต่างๆ ที่เกิดขึ้นรอบตัว

เราจึงเสมือนกำลังก้าวเข้าไปยืนข้างๆ เขาในชีวิตประจำวันหรือเลวร้ายกว่านั้น กำลังก้าวเข้าไปยืนในหัว (สมอง) ของเขา

ลักษณะความสัมพันธ์ระหว่างข้อมูลในบล็อกกับบุคคลที่ ๑ (ผู้เล่าเรื่อง) ซึ่งเปิดสู่ผู้อ่านและเปิดประตูให้กับการสร้างความสัมพันธ์แบบบุคคลที่ ๑ และบุคคลที่ ๒ คือผู้เล่าและผู้ถูกเล่าแบบตัวต่อตัวนั้น คือความเป็นส่วนตัวที่กำลังพูดถึง

ถึงแม้จะไม่มีความสมมาตรระหว่างผู้เล่าและผู้อ่าน เพราะเมื่อเปรียบเทียบกับผู้เล่า (ที่กำลังเปลือยเปล่าล่อนจ้อนอยู่ตรงหน้า) ผู้อ่านยังสามารถเลือกที่จะปกปิด identity และความคิดเห็นของตนได้

และถึงแม้การพบกันจะไม่ได้เป็นไปในลักษณะการเผชิญหน้า (face to face) แต่เป็นการไปนั่งอยู่ข้างๆ เขา (ตามที่นักปรัชญาอย่าง Levinas* ได้เคยอธิบายไว้เกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างเรากับคนอื่น) แต่ความกลัวที่จะเข้าไปสู่รูปแบบความสัมพันธ์แบบนี้ ทำให้ผมหวั่นๆ ที่จะเข้าไปทำความรู้จักกับบล็อกเกอร์อื่น โดยเฉพาะบล็อกเกอร์มืออาชีพ

ผมอาจจะวิตกจริตเกินเหตุ แต่ประสบการณ์ช็อกหลายต่อหลายครั้งที่ได้รับจากการอ่านเพียงเว็บบอร์ด (แค่ผ่านตา) ในอดีตก็ทำให้ผมเข็ดขยาดและไม่อยากจะต้องรู้สึกวิงเวียนกับการรุกรานของความเป็นคนอื่นที่มากเกินไป

อาการวิงเวียนนี้เกิดขึ้นบ่อยครั้งเมื่อผมได้ก้าวเข้าไปในความสัมพันธ์ส่วนตัวก่อนที่จะทำความรู้จักแบบผิวเผิน หรือพูดง่ายๆ ว่าเมื่อเรากระโดดข้ามก้าวแรกของความสัมพันธ์ (คือระดับผิวเผิน)ไปสู่ระดับที่ลึกซึ้งกว่า จึงมีโอกาสที่จะเกิดอาการสำลักความคุ้นเคย (ในกรณีที่เรารู้จักคนๆ นั้นอยู่แล้ว การได้รู้จักมากขึ้นจากการรับรู้ความคิดหรือกิจวัตรกลับส่งผลตรงกันข้าม)

และในทำนองเดียวกัน ผมก็กลัวที่จะรื้อถอนป้อมปราการที่ขวางกั้นอาณาเขตส่วนตัวกับดินแดนสาธารณะ

โดนสรุป การแนะนำบล็อกเพียง ๕ บล็อกจึงเปรียบเสมือนเป็นงานช้าง !
...

หลังจากความพยายามใช้ search engine ให้เกิดประโยชน์ แต่ไม่เป็นผลนักเพราะผมไม่ได้รู้จักบล็อกที่หาเจอจริงๆเลย ยังไงก็ตาม ผมกลับค้นพบข้อเท็จจริงจากการวิจัยย่อยๆ นี้ว่า “โลกของบล็อกกลมและแคบกว่าที่คิดมาก”

ในบรรดาบล็อกที่เราสามารถเรียกได้ว่าแอ็กทีฟอยู่นั้น มีบล็อกเกอร์กลุ่มหนึ่งที่เป็นแกนกลางและถูกลิ้งค์โดยบล็อกอื่นๆ แทบจะเกือบทุกบล็อก ทำให้เกิดความสัมพันธ์แบบงูกินหาง

หรือนี่สอดคล้องกับที่มีคนพูดว่า คนเราทุกคนมีคนอย่างน้อย ๖ คนที่รู้จักร่วมกัน เหมือนเป็นสายโซ่แห่งความสัมพันธ์ เป็นไปได้ แต่ผมขอเรียกบล็อกกลุ่มนี้ว่ากระแสหลักของบล็อกเกอร์น่าจะเหมาะ

มองจากความนิยม นี่อาจจะสะท้อนคุณภาพในแง่ของเนื้อหาหรือสไตล์การเขียน หรืออาจจะเป็นความซื่อสัตย์ต่อสิ่งที่เขียน ??

นอกเรื่องมาซะนาน ถ่วงเวลาได้อีกซักนิด เรื่องที่จะ tag นั้นเอาไว้คราวหน้าละกัน รออีกซักนิด อย่างน้อยก็คงจะมีบล็อกเกอร์ใหม่เกิดซักราย


*Emmanuel Levinas (1906-1995) นักปรัชญาฝรั่งเศส ที่สนใจอย่างมากเกี่ยวกับ “คนอื่น” และความสัมพันธ์ระหว่างเราและคนอื่น

ความคิดเห็น

ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า
"ในอดีตก็ทำให้ผมเข็ดขยาดและไม่อยากจะต้องรู้สึกวิงเวียนกับการรุกรานของความเป็นคนอื่นที่มากเกินไป" "เมื่อเรากระโดดข้ามก้าวแรกของความสัมพันธ์ (คือระดับผิวเผิน)ไปสู่ระดับที่ลึกซึ้งกว่า จึงมีโอกาสที่จะเกิดอาการสำลักความคุ้นเคย (ในกรณีที่เรารู้จักคนๆ นั้นอยู่แล้ว การได้รู้จักมากขึ้นจากการรับรู้ความคิดหรือกิจวัตรกลับส่งผลตรงกันข้าม)"

นั่นคือความแตกต่างระหว่าง "เพื่อน"และ"คนอื่น"

บทความที่ได้รับความนิยม